posttoday

วิบากกรรม! "ธาริต" รูดม่านชีวิตราชการ

25 เมษายน 2560

ถือเป็นวิบากกรรมของนายธาริต และเป็นอุทาหรณ์สำหรับข้าราชการที่คิดกระทำผิดหาผลประโยชน์

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ร่อนหนังสือชี้มูลความผิด “ธาริต เพ็งดิษฐ์”อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ลงโทษไล่นายธาริตออกจากราชการ

แจ่มแจ้งขึ้นเมื่อ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของนายธาริต ส่งหนังสือชี้แจงมีคำสั่งลงโทษไล่นายธาริต ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากการทุจริตต่อหน้าที่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นการดำเนินการตามที่ประธาน ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติร่ำรวยผิดปกติเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังพบว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ และหนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 346 ล้านบาท พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินไปนับ 100 ล้านบาท

ประกาศิตไล่ออกนายธาริต ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ สื่อมวลชนได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อสอบถามรายละเอียด นายธาริต แต่ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อได้ ตรวจสอบพบว่าเปลี่ยนหมายเลขใหม่แล้ว แน่นอนว่าคดีนี้ สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มคอการเมือง ในอดีตที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอย่างโดดเด่น

แม้นายธาริต จะถูกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 8/2557 เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557 ให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ จนถึงปัจจุบัน แต่ห้วงเวลาที่ผ่านมา “ธาริต”พยายามต่อสู้ชี้แจงทุกข้อครหากับ ป.ป.ช. เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่า ทรัพย์สินทุกอย่างได้มาอย่างถูกต้อง ไม่ได้มีการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจและโยกย้ายนายธาริต เข้ากรุช่วง 2-3 ปีนี้ก็ไม่ค่อยปรากฏตัวที่สาธารณะเหมือนอดีต

การถูกดำเนินคดีปมร่ำรวยผิดปกติ เริ่มต้นจากการถูกร้องเรียนเรื่องการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรู ในพื้นที่ป่าสงวน จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดีดังกล่าว อันคือมรสุมชีวิตของนายธาริต จนชีวิตราชการเสียศูนย์ และมติไล่ออกเองนี้อาจทำให้กระทบกับสวัสดิการทางราชการอย่างบำเหน็จบำนาญได้

“เพราะผมตกเป็นเป้าหมายถูกดำเนินการ จากบทบาทอธิบดีดีเอสไอที่เข้าไปรับผิดชอบคดีสำคัญหลายคดี ทำให้ถูกฟ้องมากถึง 30 คดี และศาลตัดสินยกฟ้องไปแล้ว 19 คดี ผมจึงมั่นใจในศาลยุติธรรม ทุกคดีผมพร้อมต่อสู้จนถึงชั้นฎีกา ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน”ธาริต กล่าวชี้แจงประเด็นร่ำรวยผิดปกติ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2558

วิบากกรรม! "ธาริต" รูดม่านชีวิตราชการ

ขณะที่ นางจรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) กล่าวว่า มาตรการลงโทษข้าราชการถึงขั้น "ไล่ออก" ถือว่ารุนแรงสูงที่สุดในระบบราชการ เพราะจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการที่ทำงานมาตลอดชีวิตการงาน ส่วนมาตรการลงโทษ "ให้ออก" กับ "ปลดออก" ข้าราชการคนนั้นยังมีสิทธิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญอยู่ อย่างเช่นกรณี นายสุภัฒ สงวนดีกุล อดีตรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา คดีขโมยรูภาพในโรงแรมญี่ปุ่น

“แต่กรณีนายธาริต แม้จะถูกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีไล่ออก แต่ก็มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ต่อคณะกรรมการ ก.พ.ค. เพราะนายธาริต เป็นข้าราชการพลเรือนคนหนึ่ง ซึ่งคำสั่งไล่ออกนายธาริต เป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะนายธาริต ถูกโยกย้ายมาจากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี”

ส่วนการอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร หากนายธาริต พอใจหรือไม่พอใจต่อผลคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. นายธาริตยังมีสิทธิ์ฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน ว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีไม่เป็นธรรม

นางจรวยพร กล่าวว่า กรณีเปรียบเทียบคล้าย นายธาริต เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ข้าราชการระดับสูงที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ชี้มูลความผิดส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการไปแล้ว อาจมีอยู่หนึ่งกรณี คือ กรณี นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปกติ แต่นายสุพจน์ ชิงลาออกไปก่อน นายสุพจน์จึงไม่ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. แต่อย่างใด

เช่นเดียวกับกรณี ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าฯททท. ร่ำรวยผิดปกติ เป็นคนละกรณีกันเนื่องจาก ททท.เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือน ขั้นตอนหรือกระบวนการทางกฎหมายจึงแตกต่างกัน

 

วิบากกรรม! "ธาริต" รูดม่านชีวิตราชการ

สำหรับชีวิตโลดโผนทางการเมืองเริ่มต้น เมื่อ“พรรคประชาธิปัตย์” ก้าวขึ้นเป็นรัฐบาล มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โอนย้ายนายธาริต นั่งเก้าอธิบดีดีเอสไอ หลังสั่งเด้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอในขณะนั้น ห้วงเวลานี้เองทำให้ฟากฝั่งตรงข้ามทางการเมืองเชื่ออย่างสนิทใจว่านายธาริต คือเด็กในคาถาของพรรคประชาธิปัตย์

กระทั่งเกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. นายธาริต สวมหัวโขนรับบทกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทำหน้าที่แถลงข่าวครั้งสำคัญในฐานะทีมโฆษก และยังเดินหน้าทำคดีที่เกี่ยวข้องกับแกนนำการชุมนุม เช่น คดีก่อการร้าย ที่ดำเนินการอย่างรวดเร็ว

ไม่นานการเมืองผลัดใบ“พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐบาล หลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายแรกที่ต้องกำจัดคือนายธาริต แต่พลิกความคาดหมายของหลายฝ่าย รัฐบาลกลับเลือกใช้งาน แถมตอบสนองนโยบายรับลูกกับรัฐบาลเป็นอย่างดี ลุยทำคดีฝ่ายตรงข้าม รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่เขาเคยร่วมทำงานมา จนมีการตั้งฉายาว่า “ธาริต เปลี่ยนสี” ล้อมาจากนามสกุลของ “ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

หลังจากนี้นายธาริต ยังคงถูก ป.ป.ช. ดำเนินการตามล่าหาทรัพย์สินที่อาจมีการยักย้ายถ่ายเทไปยังบุคคลอื่นอีก ถือเป็นวิบากกรรมของนายธาริต และเป็นอุทาหรณ์สำหรับข้าราชการที่คิดกระทำผิดหาผลประโยชน์จากหน้าที่โดยมิชอบ