posttoday

หนุนแก้พรบ.สงฆ์ เร่งสกัดจุดอ่อนมหาเถรสมาคม

24 มีนาคม 2560

การใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาธรรมกาย สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมแบบปกติกับการตามจับธัมมชโยได้ เพราะว่ายังมีความเป็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดย...พัชรศรี ปิ่นแก้ว

การจัดการกับปัญหาวัดพระธรรมกายและการล่าตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี ที่ลากยาวมาเกือบ 1 ปีนับแต่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ขณะที่รัฐมีนโยบายปฏิรูปวงการสงฆ์ควบคู่ไป มุมมองนักวิชาการมองแนวทางที่เกิดขึ้นขณะนี้อย่างไร

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถเรียกว่าการปฏิรูปสงฆ์ได้ ถ้าจะปฏิรูปจริงต้องแยกศาสนากับรัฐให้เป็นอิสระออกจากกัน รัฐต้องไม่เข้ามายุ่งกับเรื่องความเชื่อ ต้องปล่อยให้ถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผล เพราะการนับถือศาสนาเป็นเรื่องเสรี แต่รัฐต้องมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการเงินของวัดโดยอาศัยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทั้งนี้การเงินของวัดต้องมีความโปร่งใส เพราะถ้าพระมีรายได้ก็ควรเสียภาษีค่าบวชด้วย หรือถ้าศาสนานั้นมีความเชื่อที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองและสังคม เช่น ลัทธิความเชื่อการฆ่าตัวตาย รัฐสามารถเข้ามาจัดการได้

สำหรับการใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาธรรมกาย สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมแบบปกติกับการตามจับธัมมชโยได้ เพราะว่ายังมีความเป็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการใช้มาตรา 44 อาจเกิดความเสียหายในสายตาของนานาชาติ และถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยในสายตานานาชาติก็เสียหายไปด้วย ที่สำคัญคือมันทำให้เสียระบบยุติธรรมไป และทางศาสนาก็เกิดความขัดแย้งกันจึงเป็นปัญหาอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เพราะการเมืองกับรัฐบาลเข้ามายุ่งกับความเชื่อและเสรีทางศาสนามากเกินไป

“การกระทำของรัฐบาลต่อการหาตัวพระธัมมชโยถือว่าใช้อำนาจมากเกินไป ใช้งบประมาณมหาศาล และส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพทางมนุษยชน ซึ่งเป็นการดำเนินคดีเพียงแค่พระธัมมชโย แต่การเข้ามาเร่งรัดทั้งที่คดีความมีเวลา 15 ปี ทำให้พระและทหารมาเผชิญหน้ากัน ส่งผลให้มีทั้งผู้ป่วยและบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย”

ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน ประธานกรรมการมูลนิธิหยดธรรม เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ต้องมีการปฏิรูปสงฆ์ โดยต้องแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ให้ทันสมัยและปรับโครงสร้าง เพราะมหาเถรสมาคมเกิดจากกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยยอมรับกับความคิดอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะระบบสมณศักดิ์เป็นระบบที่ทำลายคณะสงฆ์อย่างมาก เนื่องจากการที่พระมียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาจนทำให้เสียหายต่อระบบของสงฆ์ ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็ดูไม่ได้จริงจังกับระบบสมณศักดิ์เท่ากับประเทศไทย นอกจากนี้ระบบการเรียนของสงฆ์ก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบสมณศักดิ์ ดังนั้นควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ทิ้งเพราะเป็นระบบที่อันตราย

“โครงสร้างคณะสงฆ์เป็นสาเหตุที่ทำให้ธรรมกายเข้ามายึดคณะสงฆ์ไปอย่างง่าย เพราะว่าระบบสมณศักดิ์การให้ยศจะดูที่อายุถึงก็รับตำแหน่ง ซึ่งบุคคลนั้นเมื่ออายุมากบางครั้งการรับฟังจะเกิดขึ้นเพียงฝ่ายเดียว” ถนอมสิงห์ กล่าว

ถนอมสิงห์ กล่าวว่า การที่รัฐเข้ามาจัดการกับวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะธรรมกายไม่ได้มีปัญหาแค่ความเชื่อที่สอนไม่ตรง หรือต่อให้สอนตรง ธรรมกายก็ยังผิดอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญหาแค่เรื่องความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่ต้องมารับฟังข้อกล่าวหาและไม่ยอมมา จะมากล่าวว่าพระมีอภิสิทธิ์ไม่ไปขึ้นศาลก็ไม่ได้

ถนอมสิงห์ กล่าวต่อว่า รัฐและศาสนาไม่ควรแยกออกจากกัน เพราะทั้งสองฝ่ายมีการเอื้อกันมาโดยตลอดไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ถ้าไม่มีรัฐสนับสนุน ศาสนาคงอยู่ยาก การแยกศาสนาจากรัฐมีหลายประเทศที่ทำไปแล้ว แต่ประเทศที่เห็นว่าแยกกันชัดเจน คือ เกาหลีเหนือ ส่วนประเทศอื่นคิดว่ามีแต่ในตัวหนังสือเพราะไม่ได้มีการทำจริง เช่น ญี่ปุ่น ที่ดูเหมือนแยกรัฐกับศาสนาแต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดีที่จะเริ่มต้นให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะการจัดการกับธัมมชโยเป็นตัวอย่างเรื่องการทำความผิด แต่พยายามจะอยู่เหนือกฎหมาย หากไม่ได้ทำผิดแล้วจะหนีทำไม ที่สุดถ้าฝ่ายรัฐสามารถแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ให้ทันสมัยขึ้นได้ ประเทศไทยก็จะพัฒนาไปอีกก้าวได้