posttoday

"หมดเวลาของถ่านหินแล้ว" ประสิทธิชัย หนูนวล

26 กุมภาพันธ์ 2560

ทำไมต้องปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหิน? เหตุผลจากปากของ ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

การเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ต้องยุติลงชั่วคราวหลังถูกต่อต้านจากประชาชนและองค์กรเอกชน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาและทำความเข้าใจ พร้อมจัดทำ EIA และ EHIA ใหม่ เน้นให้ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หนึ่งในแกนนำผู้ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนกระทั่งบรรลุผลสำเร็จ หนีไม่พ้น ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

กว่า 10 ปีเต็มที่เขาต่อสู้และยืนยันมาตลอดว่า “กระบี่และประเทศไทยไม่ต้องการถ่านหิน”

ทำไมต้องต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ทั้งโลกเขารู้ว่าถ่านหินอันตรายมาประมาณ 10 ปีแล้ว เริ่มจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่ทำงานวิจัยพบว่า มีเด็กเป็นโรคพิการทางสมองปีละ 3 แสนคนตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ มีการออกประกาศเตือนจากรัฐบาลว่าห้ามกินสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติใน 39 รัฐ เพราะมีสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่บารัก โอบาม่า สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้ประกาศสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในปี พ.ศ.2558 ถึง 94 โรง และในปีพ.ศ. 2559 อีก 41 โรง รวมทั้งยืนยันว่าในอนาคตต้องปิดให้หมดทั้งประเทศ

ที่เมืองสตุ๊ตการ์ทประเทศเยอรมันมีงานวิจัยว่าคนเสียชีวิตเพราะโรคที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถึงปีละหมื่นคนและทำให้คนยุโรปมีอายุสั้นลง 11 ปี โดยประเทศที่ประกาศชัดแล้วว่าจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ แคนาดา สวีเดน และอังกฤษที่บอกว่าจะปิดให้หมดทั้งประเทศภายในปีค.ศ.2030 ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางในยุโรปและอเมริกา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ถ้าเขาจัดการกับความอันตรายและมลพิษได้จริง คงไม่จำเป็นต้องปิดโรงไฟฟ้า เพราะการปิดโรงไฟฟ้า 1 โรง ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่แฟชั่นที่ทำตามกัน แต่หมายถึงการสูญเสียพลังงานไปจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้เลือกที่จะปิดเพราะเขาคิดเรื่องต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสภาพอากาศโลกเป็นหลัก

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก พอมารีวิวดูแล้วมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่บอกว่า ฉันจะทำถ่านหินด้วยเทคโนโลยีสะอาด ทั้งที่บนโลกใบนี้ ประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเขาบอกว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดจัดการกับถ่านหินได้ นอกจากต้องปิดมัน ปิดอย่างเดียวเลย ไม่เว้นแม้แต่จีน ที่น่าจะเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมากที่สุดในโลก เมื่อเขาทราบว่ามีคนได้รับผลกระทบในเรื่องระบบทางเดินหายใจปีละเป็นล้านคน ก็ได้ประกาศปิดโรงงานไป 100 โรง และบอกว่าจะทยอยปิดลงเรื่อยๆ  ทั้งหมดคือรูปธรรมว่าทำไมเราถึงค้านถ่านหิน เพราะถ้าสะอาดจริง คงไม่มีใครค้าน ทุกคนอยากได้ไฟฟ้าหมด แต่เมื่อมันมีทางเลือกอื่นก็ต้องเลือกทางเลือกที่ดีกว่า ถ่านหินมันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้วไม่ว่าที่ใดในโลก มันเป็นความเห็นของโลกใบนี้ไปแล้ว

มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจากประเทศญี่ปุ่น

ในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดูทิศทางแล้วเขาน่าจะเชียร์ถ่านหินซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร แต่คิดว่าเป็นเพราะหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด อย่างไรก็ตามถ้าเราดูสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นจะพบว่าค่อนข้างเพิ่มขึ้น บริษัทบ้านปูของไทยก็ไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่นั่น คือทิศทางค่อนข้างชัดว่าเขาต้องหาพลังงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ และเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะอยากขายเทคโนโลยีด้วยก็เป็นได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ หลายประเทศมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ก็จริง แต่มันไม่มีประเทศไหนออกมายืนยันว่ามันสะอาด

ตอนถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหาร มีคนจากกระทรวงพลังงานมานั่งพูดคุย เราถามเขาไปว่า ที่อ้างญี่ปุ่นนั้นของานวิจัยประกอบได้ไหม จะได้รู้ว่ามันปลอดภัย ถ้างานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการพิสูจน์จากองค์กรระหว่างประเทศว่าถูกต้องและเชื่อถือได้จริง เราจะเลิกค้านทันที การที่คุณอ้างว่าไปดูงานมาแล้ว ญี่ปุ่นไม่มีมลพิษ น้ำสะอาด คุณภาพชีวิตคนเขาดี แบบนี้มันง่ายเกินไป เวลาพูดต้องเอาข้อเท็จจริงมาตั้ง ไม่อย่างนั้นเราก็พูดกันไปเรื่อย เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ปรากฎว่าเขาไม่มีงานวิจัยมายืนยัน

ผมเลยคิดว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อโฆษณาแปรสภาพให้ถ่านหินที่สกปรกนั้นสะอาด แต่ไม่ได้แปรสภาพโดยใช้เทคโนโลยีจริงๆ มากกว่านั้นเวลาพูดเรื่องถ่านหิน มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดวิจัยแล้วว่า มันมีมลพิษมากกว่า 80 ชนิด แต่ประเทศไทยพูดอยู่เพียงแค่ 3 ชนิด ซัลเฟอร์ คาร์บอน ไนโตรเจนออกไซด์ ไอ้ตัวที่ร้ายแรงไม่พูด แคดเมียม ปรอท ไม่พูด แล้วมันยังไม่มีเทคโนโลยีใดจัดการความอันตรายของพวกนี้ได้

"หมดเวลาของถ่านหินแล้ว" ประสิทธิชัย หนูนวล

รัฐบาลบอกว่า สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินของไทยยังนับว่าน้อยหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

แนวโน้มคือต้องเลิกไม่ใช่เพิ่ม ก็ดีแล้วที่ประเทศเรามีน้อย คือเราไม่ได้ฮาร์ดคอร์ขนาดเสนอให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ เพราะรู้ว่าลำบาก แต่โรงใหม่ต้องไม่เพิ่ม

งานวิจัยก็มี ทิศทางโลกก็ชัดเจนแล้ว เหตุใดรัฐบาลยังอยากได้โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม

ผมค้นหาเหตุผลมานาน สรุปได้ตัวเดียวคือ เขาต้องการขายถ่านหิน บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มี 3 บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน ปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน 11-12% มูลค่าราว 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในเหมืองถ่านหิน ที่ตั้งอยู่ในเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย

ทีนี้บริษัทมีถ่านหินอยู่ในมือ คำถามคือจะขายที่ไหนในโลกใบนี้ เพราะว่าเขาไม่ซื้อกันแล้วและลดลงเรื่อยๆ ประเทศอย่างพม่าก็ประกาศยุติเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไอ้ที่สร้างอยู่ในอาเซียนมีเพียงแค่เวียดนามและลาว ประเด็นคือสองประเทศนี้ คนถือหุ้นใหญ่ในบริษัทคือนายทุนจากไทย พูดง่ายๆ ว่า ในอาเซียนคนที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินคือไทย เมื่อถ่านหินมีจำนวนมากก็ต้องผลักดัน เช่น กฟผ.อินเตอร์ฯ ที่มีโรงไฟฟ้าในเวียดนาม หรือโรงไฟฟ้าหงสา ในลาวที่คนถือหุ้นใหญ่คือ ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. และ บ้านปู ที่เป็นของเอกชน พอสัมปทานมากๆ ก็ต้องหาที่ระบาย ต้องใช้กลไกทั้งอำนาจรัฐและการสื่อสารเพื่อให้คนเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสะอาด ข้ออ้างเรื่องสัดส่วนเชื้อเพลิงที่เหมาะสมนั้นไม่ใช่ เพราะผลลัพธ์ที่เราต้องการคือไฟฟ้าไม่ใช่สัดส่วนที่เหมาะสม มันมีวิธีการได้มาซึ่งไฟฟ้าที่ไม่ทำร้ายใคร

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เอาแค่ตัวอย่างนะครับ ในแง่สิ่งแวดล้อม 1.การขนถ่ายถ่านหิน ปรากฎว่าทุกที่ที่มีท่าเรือถ่านหินมันเคยล่มทุกที่ เมื่อเรือล่มผงถ่านหินจะกระจายไปสู่ระบบนิเวศ ลงทะเล ทำลายปะการัง แพลงก์ตอน และอื่นๆ 2.การดูดและปล่อยน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า ตอนดูดก็ดูดสัตว์เล็กสัตว์น้อยเข้าไปด้วย ตอนปล่อยน้ำออกมาก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ ซึ่งทำลายระบบนิเวศทั้งหลาย 3.ขี้เถ้าถ่านหิน จำนวนมหาศาลเวลาไปกองที่ไหน มันจะทำลายระบบนิเวศที่นั่น เวลาฝนตกก็เรี่ยราด กระจายไปทั่ว 4.ควัน มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดวิจัยว่าไปได้ไกลกว่า 900 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับกระแสและทิศทางลม

ในแง่การท่องเที่ยว กระบี่มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องการดำน้ำดูปะการัง แน่นอนว่าเส้นทางการขนถ่ายถ่านหินจะกระทบกับเรื่องนี้ ถ้าเกิดเรือล่มสักลำ อะไรจะเกิดขึ้น ระบบนิเวศทางทะเลเป็นระบบน้ำวนด้วย ผลกระทบจะเกิดขึ้นทั่วพื้นที่รอบอันดามัน การท่องเที่ยว 4 แสนล้านก็เจ๊ง จริงๆ  เอาแค่เรือผ่านเข้ามาก็ทำให้ตะกอนขุ่น ฟุ้ง หญ้าทะเลที่เป็นอาหารของสัตว์นานาชนิดก็เกิดปัญหาแล้ว พื้นที่บริเวณนั้นยังเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) เมื่อเรือเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของกระบี่และอันดามัน

ด้านสุขภาพ งานวิจัยทั่วโลกมีจุดร่วมกันคือ ผลกระทบด้านโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและโรคมะเร็ง เป็นเรื่องที่กระบี่หนีไม่พ้นเช่นกัน

ในด้านเศรษฐกิจ เราเคยสำรวจนักท่องเที่ยวสองรอบ รอบแรกกว่า 800 คน รอบที่สองกว่า 1,000 คน 90% บอกว่าถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาจะไม่กลับมาที่นี่อีกเลย ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อไม่มากระบี่ก็หมายถึงไม่มาอันดามันรวมถึงไม่มากรุงเทพฯ ด้วย  เพราะเวลานักท่องเที่ยวยุโรปเขามา เขาวางแผนกันเป็นเดือน มากรุงเทพฯ ไปเที่ยวอันดามันแล้วขึ้นไปเชียงใหม่ ทีนี้ถ้าตัดสินใจไม่มาอันดามันก็เท่ากับที่อื่นๆ กระทบไปด้วย

"หมดเวลาของถ่านหินแล้ว" ประสิทธิชัย หนูนวล ภาพถ่ายทางอากาศ สภาพพื้นที่ชุ่มน้ำปากอ่าว ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้ากระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และพื้นที่ที่จะก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือ

กระแสสนับสนุน-คัดค้านจากคนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

กลุ่มคนที่หนุน ต้องยอมรับว่า กฟผ.อยู่กับกระบี่มา 30 ปี เดิมเขามีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 60 เมกะวัตต์ที่ปิดไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้เป็นโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา เพราะงั้นเขาเกื้อกูลกันมาตลอด คนเชียร์มีอยู่จริง แต่ถามว่าเป็นชาวบ้านจำนวนเยอะไหม ไม่ คนเชียร์เป็นพวกกำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนที่การไฟฟ้าหยิบมาเป็นแกนนำ มีการเคลมว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน รวมทั้งมีการใช้อำนาจรัฐในการเกณฑ์คนในหมู่บ้านไปสนับสนุนด้วย แต่เมื่อไปถามชาวบ้านชัดเจนเลยว่าพวกเขาปฎิเสธ เราดูง่ายๆ นะครับถ้าคนกระบี่ที่เชียร์ถ่านหิน เชียร์ด้วยการตกผลึกแล้วว่า ถ่านหินนั้นดี ป่านนี้ได้ตีกันแล้วกับฝ่ายที่คัดค้าน แต่ประเด็นคือ เขาไม่ได้เชียร์แต่ไปตามแกนนำ ไม่ได้สนใจว่าสร้างได้หรือไม่ เขาไม่ได้ทะเลาะหรือขัดแย้งกัน เพราะจริงๆ แล้วไม่มีปัญหากัน บางคนได้เงินก็ไปร่วมกับเขาดีกว่าอยู่เปล่าๆ 2 ชั่วโมงก็กลับบ้าน

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีสั่งให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)  ใหม่ ปัญหาของครั้งที่แล้วคืออะไร

มันมีทั้งกระบวนการและเนื้อหา กระบวนการขาดการมีส่วนร่วม มันไม่ได้เรื่องมาตั้งแต่ต้น ขณะที่เนื้อหา เมื่อกระบวนการมันไม่ดี ทำให้ประชาชนไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรบ้างที่คุณต้องประเมินผลกระทบ บริษัทที่รับจ้างทำสำรวจเขาก็สามารถเขียนเองได้ว่า ฉันจะประเมินเฉพาะหัวข้ออะไรบ้าง หัวข้อไหนไม่ประเมิน เพราะงั้นโดยเนื้อหามันก็เพี้ยนไปแล้ว ยังไม่นับว่าสิ่งที่ประเมินนั้นมันผิดพลาดอีก

ตอนทำรายงานฉบับนี้เสร็จเขาก็ให้กรรมการพิจารณาในรอบแรก และถูกชี้ว่ามีข้อบกพร่องประมาณ 150 ข้อ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โดยเนื้อหาเขาก็บกพร่องจากกระบวนการที่บกพร่อง เพราะงั้นเราไม่ควรเอาความบกพร่องมาเป็นเครื่องมือของการเกิดโรงไฟฟ้า

ข้อเสนอใหม่คืออะไร

เราเสนอว่า ยกเลิก EIA และ EHIA ออกไป ถ้าอยากสู้คุณต้องมาทำกติกาใหม่ที่เป็นธรรมทั้งในด้านกระบวนการและเนื้อหา ต้องมาวางรายละเอียดกัน จะไม่เป็นแบบเดิมที่ให้บริษัทรับจ้างไปทำฝ่ายเดียว ต้องมีกรรมการชุดหนึ่งมากำกับกระบวนการว่าควรเป็นอย่างไร และเมื่อตกลงเชิงกระบวนการได้แล้ว จึงไปลงมือทำ ซึ่งในกระบวนการลงมือทำกรรมการต้องกำกับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของ EIA แถมต้องเป็น EIA ฉบับพิเศษด้วยเพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นแรมซาร์ไซด์ เราคิดว่าถ้าทำตามนี้ ถ่านหินไม่มีทางอยู่แล้วที่จะผ่าน เพราะกฎหมายบอกว่า จะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเฉพาะภาคท่องเที่ยวนับแสนคนก็ไม่เอาแล้ว มันจบแล้ว แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ถามภาคท่องเที่ยว ตัดออกไปเลยแล้วเกณฑ์แต่คนสนับสนุนมาอยู่บนเวที

คราวนี้ถ้าการไฟฟ้าอยากลอง EIA มีสองฉบับนะครับ ทั้งท่าเรือและโรงไฟฟ้า ท่าเรือ 3 ปี โรงไฟฟ้า 3 ปี ถ้าอยากลองก็ลองไป ไม่มีปัญหา แต่เชื่อว่าไม่มีทาง เรากล้าหาญพอที่จะให้การไฟฟ้าพิสูจน์ถ้าคิดว่าดีจริงก็มาพิสูจน์ดู ภายใต้การประเมินอย่างรอบด้านและเป็นธรรม

"หมดเวลาของถ่านหินแล้ว" ประสิทธิชัย หนูนวล

ถ้าไม่ใช้ถ่านหิน มีทางเลือกอื่นไหม

จริงๆ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานต้องตั้งสติก่อนว่า ผลลัพธ์ที่ประชาชนต้องการคือไฟฟ้านะ ไม่ใช่ถ่านหิน เมื่อผลลัพธ์เป็นอย่างนี้ โจทย์ที่ต้องตั้งก็คือ เราจะได้ไฟฟ้าจากไหน แล้วมาทำแอ็คชั่นเเพลนระดมสมองกับคนกระบี่ว่าจะได้ไฟฟ้ามาอย่างไร ที่มันเป็นปัญหาเพราะคุณไปตั้งโจทย์ว่า คุณจะเอาถ่านหินไง มันเลยเกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นทางออกคือ เรามาตั้งโจทย์กันใหม่แล้วมาช่วยกันคิด มันมีทางออกที่ดีกว่านี้แน่นอน ไม่ใช่นิยาย ไม่ใช่มโน เพราะในต่างประเทศมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้ว

แต่ผมว่าการไฟฟ้าไม่มีทางจะทำให้ประชาชนในกระบี่ทำพลังงานหมุนเวียนได้ เพราะถ้ากระบี่ทำได้ จังหวัดอื่นๆก็ทำได้ ลองคิดดูทำจังหวัดละแค่ 1,000 เมกะวัตต์ก็พอ 10 จังหวัดก็ 1 หมื่นเมกะวัตต์แล้ว สิ่งที่เขากลัวที่สุดก็คือเมื่อประชาชนผลิตไฟฟ้าเองได้ นายทุนจะตาย ในอเมริกาชัดเจนว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าขาดทุนปีละ 1-2 หมื่นล้านจากการที่คนอเมริกาเริ่มเอาโซล่าเซลล์ไปวางไว้บนหลังคา

ทุกวันนี้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟปีละประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยการผลิตไฟฟ้า 100% ในประเทศ ตัวเลขกลมๆ 40% เป็นของการไฟฟ้า อีก 60% เป็นของเอกชนผลิต ลองคิดดูว่า 60%ของ 6 แสนล้านนั้นเท่าไหร่ ที่ได้กับคนไม่กี่ตระกูล มันไม่ยุติธรรม จริงๆ มันควรได้กับคนทั้งประเทศ มันคืออธิปไตยด้านพลังงาน

มีคนบอกว่าการใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดอื่นอาจทำให้ค่าไฟแพงขึ้น

เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานโกหก โอเคเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมันมีราคาแตกต่างกันจริง แต่มันไม่ได้มีนัยจนกระทั่งทำให้ค่าไฟแพงสูงลิ่วเกินเหตุเหมือนที่อ้าง สาเหตุที่แท้จริงของค่าไฟแพงมาจากค่าความพร้อมจ่ายในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง

ตัวอย่างเช่นตอนนี้เราผลิตไฟฟ้าเกินอยู่ราว 1 หมื่นเมกะวัตต์ ไอ้การเกินเหล่านี้เป็นต้นทุน คือเราทำสัญญาไว้แล้ว ใช้ไม่ถึงคุณก็ต้องจ่าย เขาเรียกค่าความพร้อมจ่าย ปีที่ผ่านมา ค่าความพร้อมจ่ายมีมูลค่าสูงถึง 9 หมื่นล้านบาท แล้วใครจ่ายล่ะ ประชาชนทุกคนไง นี่แหละคือต้นทุนที่ทำให้ค่าไฟแพง ทุกวันนี้เรามีกำลังไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40% ตามมาตรฐานโลกคือให้มีกำลังสำรอง 15% เท่านั้น แต่คุณไม่พูดตรงนี้ เอาแต่พูดว่าถ้าใช้พลังงานหมุนเวียน ค่าไฟก็จะแพงขึ้น ประชาชนรับได้หรือเปล่า แล้วจริงๆ พลังงานหมุนเวียน มันไม่แพงอย่างที่เขาบอกแน่นอน ลองไปดูข้อมูลจากองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ  (IRENA) ปรากฎว่าตอนนี้ ต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ถูกลงโดยหลายประเทศใช้วิธีการประมูลว่าจะผลิตไฟฟ้าจากอะไร ซึ่งที่ชิลีโซล่าเซลล์เอาชนะถ่านหินได้แล้ว เพราะต้นทุนถูกกว่า ขณะที่ซีอีโอบริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าในอเมริกา เคยบอกไว้ว่า ถ่านหินจบแล้ว นี่เราไม่ได้พูดเรื่องมลพิษนะ แต่พูดเรื่องต้นทุน มันจบแล้วเพราะมันแพงกว่าโซล่าเซลล์

*************************

โพสต์ทูเดย์ถามคำถามสุดท้ายกับ ประสิทธิชัย ว่า "ไม่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไหนในประเทศไทยก็ไม่เอาใช่หรือไม่?" เขาตอบหนักแน่นและชัดเจน "ใช่ ไม่เอา"

"หมดเวลาของถ่านหินแล้ว" ประสิทธิชัย หนูนวล