posttoday

"ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ" เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย?

13 กุมภาพันธ์ 2560

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ วิพากษ์กรณีความขัดแย้งระหว่างคนให้อาหารสุนัขจรจัดในที่สาธารณะกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกลุ่มคนรักสัตว์ที่ชอบให้อาหารสุนัขจรจัดในที่สาธารณะกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

บ้างมองว่าทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ปล่อยสุนัขขับถ่ายเรี่ยราด มีส่วนทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น จากโต้เถียงปะทะคารม เขียนป้ายด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรง ถึงขั้นลงมือทะเลาะวิวาทขึ้นโรงพัก

วันนี้ โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย จะมาวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของความขัดแย้ง ใครถูกใครผิด ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย

ในฐานะเอ็นจีโอผู้ช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดมานานหลายสิบปี โรเจอร์ ยอมรับว่า การให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะแล้วสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

"การให้อาหารสุนัขจรจัดแบบไม่มีกติกา เช่น เดินๆไป เอากระดาษวาง เอาอาหารวาง ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสกปรกเลอะเทอะ โดยเฉพาะตามฟุตบาท หน้าอาคารพาณิชย์ ตามตลาด เรารณรงค์ตลอดว่าจะเมตตาก็ขอให้เมตตาอย่างมีกติกา อย่าให้มีปัญหา อย่าให้สังคมเขาด่า คุณควรจะหามุมให้อาหารมุมใดมุมหนึ่ง แต่คนรักสัตว์บางคนคิดว่าถ้าให้จุดใดจุดหนึ่ง หมาจะไม่มากิน เขาคิดผิด ถ้าคุณให้อาหารหมาเป็นประจำ เราเดินไปไหน หมามันก็เดินตาม ต่อให้ย้ายไปตรงไหน มันก็ตามไปตรงนั้น ฉะนั้นคุณสามารถย้ายจุดให้อาหารไปในมุมที่เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่เดิน 3 ก้าววางจุดนึง เดินอีก 3 ก้าวก็วางอีกจุดนึง

วิธีที่ถูกต้องคือ ให้เป็นจุดๆไม่ใช่ให้เป็นรายตัว และให้ในที่ที่ไม่ไปสร้างความสกปรกหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่คนอื่น เสร็จแล้วก็ต้องเก็บกวาดให้เรียบร้อย กติกามีง่ายๆแค่นี้ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณไปให้บนฟุตบาท หน้าอาคารพาณิชย์ แบบนี้คุณไม่มีความรับผิดชอบ พวกป้าๆที่ให้อาหารมักอ้างว่ายุ่งยาก แต่ลองหวนคิดดูว่า การให้อาหารหมาจรจัดทุกวันมันก็ยุ่งยากอยู่แล้ว หมดเงินหมดทอง ไหนจะไปตลาด หาซื้อโครงไก่มาต้ม หุงข้าว บางคนเลิกกับสามีเพราะไม่มีเวลาทำกับข้าวให้สามีกิน มัวแต่ทำกับข้าวให้หมา ทุกวันนี้มันยุ่งยากอยู่แล้ว ก็ยุ่งยากอีกสักนิดนึงจะเป็นอะไรไป เพื่อให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อย เขาจะได้ไม่มาด่าหมาเรา"

สำหรับประเด็นที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิด นั่นคือ ให้อาหารหมาจรจัดจะทำให้จำนวนหมาจรจัดเพิ่มขึ้น

"เหตุผลที่ทำให้สุนัขจรจัดเพิ่มจำนวนขึ้นมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.เจ้าของไม่รับผิดชอบ ปล่อยออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านจนตั้งท้อง เพราะไม่ยอมทำหมัน พอเลี้ยงไม่ไหวก็ทิ้ง 2.ฟาร์มเพาะสุนัขที่มีเกลื่อนกลาดตามห้าง บางรายธุรกิจเจ๊ง ก็เลหลังขาย โละสต๊อก แจกฟรี หรือไม่ก็เอาไปแอบทิ้ง การให้อาหารสุนัขจรจัดก็เหมือนกับเราไปบริจาคของ ไปช่วยเหลือ ให้ทานคนจน ถามว่ามันเป็นเหตุให้คนจนเพิ่มจำนวนขึ้นรึเปล่า การให้ทานนั้นเป็นเรื่องของกุศล เป็นเรื่องของน้ำใจ คนจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือลดน้อยลงมันขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน ตกงาน

สุนัขจรจัดก็เหมือนกัน การให้ทานสุนัขจรจัดทำให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง มีอาหารการกิน ไม่อดตาย พอแข็งแรงมันก็ไม่เป็นโรค ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวสุนัขและเป็นกุศลต่อคนให้อาหาร ไม่ได้มีส่วนในการเพิ่มจำนวนสุนัข บางคนบอกว่าสุนัขแข็งแรงขึ้นก็มีลูก ความจริงคือ สุนัขไม่แข็งแรงมันก็มีลูกได้เช่นกัน ถ้ามันทับกัน อีกส่วนที่ไม่จริงคือ คนมักพูดว่า การให้อาหารสุนัข ทำให้สุนัขจรจัดมารวมตัวกันเยอะ สุนัขเต็มซอยไปหมด ความจริงคือ การให้อาหารแค่ทำให้หมามารวมตัวกินข้าว พอเสร็จแล้วมันก็แยกย้ายกันไป ตราบใดที่เราไม่ปิดฝาถังขยะ สุนัขจรจัดมันก็มาอยู่ดี"

"ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ" เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย?

ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน+ร้องเรียนเขต...ชาวบ้านทำได้หากถูกละเมิดสิทธิ์

สิ่งที่หลายคนสงสัยหนีไม่พ้นคำถามว่า หากสุนัขจรจัดในที่สาธารณะเหล่านั้นไปสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ขับถ่ายเหม็นสกปรก เห่าเสียงดัง กระทั่งไปกัดคนอื่น ใครจะรับผิดชอบ?

โรเจอร์ตอบว่า ไม่ว่ากฎหมายใดก็ตาม การให้อาหารสุนัขจรจัดไม่ถือว่าเป็นเจ้าของ

"กรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยออกข้อบัญญัติว่า นิยามความเป็นเจ้าของให้รวมถึงผู้ที่ให้อาหารเป็นประจำด้วย ปรากฎว่าถูกศาลฎีกาสั่งให้ถอนออก เพราะมันจะครอบคลุมไปถึงคนที่ให้อาหารสัตว์อื่นๆ เช่น คนให้อาหารนกพิราบ ถือเป็นเจ้าของนกพิราบไหม แต่ขณะเดียวกัน ถ้าคุณไปเที่ยวบอกคนอื่นว่าหมาตัวนี้เป็นของฉัน ฉันดูแลอยู่ ใครอย่ามาแกล้ง หรือคุณไปสร้างคอกแล้วเอาสุนัขไปไว้ในนั้น แบบนี้ถือว่าคุณครอบครองเป็นเจ้าของ เพราะกฎหมายระบุผู้ครอบครอง ไม่ใช่ผู้ที่ให้อาหาร ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาหลายชุมชนติดป้ายด่าเพราะตีความผิด หน่วยงานเองก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ เที่ยวให้ข้อมูลผิดๆ เพราะต้องการขู่คนรักสัตว์"

ทางออกที่ดีที่สุดคือ ขอให้พูดคุยกันอย่างสันติ อย่าด่าหรือติดป้ายประชัดประชัน ปัญหาจะไม่จบ

"ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปห้ามคนอื่นไม่ให้อาหารหมา และคนให้อาหารหมาเองก็ไม่มีสิทธิ์ปล่อยให้มีขยะเกลื่อนกลาด สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ทางที่ดีคือ ขอให้คุยกันตรงๆเลย พี่ครับ ช่วยให้อาหารหมาเป็นระเบียบหน่อยได้ไหม คนรักสัตว์ก็ต้องฟัง ถ้าให้ไม่เป็นระบบ ก็ต้องแก้ไข ต้องทำตามกติกาสังคม เปลี่ยนจากด่าทอกัน มาปรึกษาหารือกันว่าจะทำยังไงดีกว่ามาด่า หรือติดป้ายประชดประชันกัน แบบนี้มันไม่จบ

ถ้ามีปัญหากับสุนัขจรจัด ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ควรเรียกเทศบาลหรือเขตให้มาจัดการ เช่น สุนัขมาขี้เยี่ยวหน้าบ้านเป็นประจำ ก็โทรแจ้งเจ้าหน้าที่จะมาดูว่าเป็นปัญหาไหม ผิดกฎหมายสาธารณสุขไหม เป็นหน้าที่ของเขาในการเข้าดูแลจัดการ แต่ถ้าเป็นสุนัขมีเจ้าของ เช่น ตอนเช้าชอบปล่อยหมาหรือจูงหมาไปขี้เยี่ยวนอกบ้านแล้วไม่ยอมเก็บกวาด ก็ถ่ายรูปส่งให้เทศบาลหรือเขต เดี๋ยวนี้หลายบ้านมีกล้องวงจรปิด ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ถ่ายภาพไว้เลยว่าคนๆนี้จูงหมามาขี้เยี่ยวหน้าบ้านฉัน หรือเห็นใครเอาหมามาปล่อยทิ้งก็จะโดนมาตรา 23 พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ส่งหลักฐานให้ตำรวจ หรือกรมปศุสัตว์ ปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท"

"ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ" เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย?

เปลี่ยนคนให้อาหารเป็นอาสาสมัครดูแลสุนัขจรจัด

ความจริงอีกประการหนึ่งที่ยากจะปฏิเสธคือ ปัจจุบันเมืองไทยมีสุนัขจรจัดมากกว่า 800,000 ตัว จะฆ่าทิ้งก็ไม่ได้ จะทุ่มทุนสร้างสถานพักพิงก็ไม่มีวันพอ เนื่องจากต้นเหตุแท้จริงเกิดจากความไม่รับผิดชอบของผู้เลี้ยง ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องยอมรับความจริง แล้วร่วมกันคิดวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา

"ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถฆ่าหมาจรจัดได้ ไม่สามารถสร้างสถานสงเคราะห์เอาหมาไปไว้ในคอกได้ทั้งหมด สิ่งที่เราทำได้คือ เอาหมาเกเร และหมามีปัญหาออกจากถนน ฉีดวัคซีน ทำหมันแล้วให้คนรักสัตว์ดูแล โดยเจ้าหน้าที่มีหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ขึ้นทะเบียนหมา ฝังไมโครชิฟ ขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะหมา

การแก้ปัญหาสุนัขจรจัด ผมขอเสนอว่าอยากให้หน่วยงานราชการเปลี่ยนพวกป้าๆคนรักสัตว์ทั้งหลาย จากคนเคาะกะละมังเรียกหมามากินข้าว เป็นอาสาสมัครของทุกเขต ทุกเทศบาล ถามเลยว่า ป้าให้อาหารหมาจรจัดกี่ตัว แล้วขึ้นทะเบียนหมาทุกตัวของป้าให้หมด ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของแต่ขึ้นทะเบียนเป็นอาสาสมัคร สมมติว่าป้าดูแล 20 ตัวก็ให้ป้าควบคุมพฤติกรรมสุนัขและพฤติกรรมตัวเอง ให้อาหารเป็นจุด เป็นที่เป็นทาง พอถึงเวลาก็ชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่จับไปทำหมัน ฉีดวัคซีน ราชการต้องใช้กำลังคนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะมองว่าเขาเป็นศัตรู"

เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา โครงการทำหมัน-ฉีดวัคซีนหมาจรจัดไม่เคยสำเร็จ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เคยจับหมาจรจัดได้

"ทุกวันนี้เวลามีโครงการทำหมันหมาจรจัด ราชการจับได้แต่หมาอุ้ม หมายถึงหมามีเจ้าของอุ้มมาให้ฉีดถึงที่ แต่จับหมาจรจัดไม่ได้สักตัว เพราะไม่รู้มันมีกี่ตัว ไปหลบอยู่ไหนกันบ้าง เจ้าหน้าที่ทำตามหน้าที่ เขาไม่ใช่คนรักสัตว์ ไม่ตากแดดวิ่งไล่จับให้เหนื่อย เงินเดือนก็เท่าเดิม แต่พวกป้าๆจะรู้หมด ชอบไปหลบแดดนอนที่ไหน เขาเรียกได้ เจ้าหน้าที่แค่เป่าลูกดอก ใช้สวิงจับขึ้นรถ ถ้าทุกคนมัวแต่ด่ากัน ราชการควรเลิกหัวโบราณ อ้างว่าไม่มีอำนาจ หันมามองความเป็นจริง ทุกฝ่ายนั่งคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านที่เดือดร้อน คนรักสัตว์ที่ชอบให้อาหาร ปัญหาหมาจรจัดในเมืองไทยมันแก้ง่าย แค่นั่งคุยแล้วเอาความจริงมาพูดกัน"

การให้อาหารสุนัขจรจัดในที่สาธารณะไม่ต่างจากปัญหาโลกแตกที่ดูเหมือนจะไร้ทางออก แต่หากทุกฝ่ายเห็นอกเห็นใจกัน พูดคุยหารือกันดีๆแทนที่จะมัวทะเลาะกันอย่างเป็นเอาตาย เชื่อว่าความกระทบกระทั่งขัดแย้งจะมีให้เห็นน้อยลง.

"ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ" เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย?

 

"ให้อาหารหมาจรจัดในที่สาธารณะ" เมื่อคนรักสัตว์ตกเป็นจำเลย? โรเจอร์ โลหะนันท์