posttoday

สมควรแก่เวลา? ปลดล็อก"กระท่อม-กัญชา"เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

12 กุมภาพันธ์ 2560

มุมมองนักวิชาการจากเวทีสัมมนาหัวข้อ "กระท่อม-กัญชาคือพืชยาไม่ควรเป็นยาเสพติด"

เรื่อง...พรพิรุณ ทองอินทร์

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง "กระท่อม กัญชาคือพืชยาไม่ควรเป็นยาเสพติด" โดยกองทุนศาสตร์ตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วิฑูรย์  อึ้งประพันธ์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

เป็นที่ทราบกันว่า "กระท่อม" และ "กัญชา" คือพืชสมุนไพรที่ถูกตราหน้าว่าเป็นยาเสพติดมายาวนาน ภายใต้กฎหมายควบคุมห้ามเสพ ห้ามปลูก ห้ามขาย ทว่าในทางกลับกันสรรพคุณของพืชทั้งสองชนิดนี้มีประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยรักษาโรคได้ ดังนั้นแนวคิดที่จะ"ปลดล็อก"กระท่อม-กัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด จึงถูกหยิบยกมาพูดถึงดังๆอีกครั้งว่า สมควรแล้วหรือยังที่จะทำให้ถูกกฎหมาย?

ไพศาล  ลิ้มสถิตย์  กรรมการบริหาร ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปี 2558 มีปริมาณคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเข้าสู่การพิจารณาของศาลถึง 268,666 คดี ประกอบด้วย คดีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) มีการกระทำความผิดมากที่สุด จำนวน 192,953 คดี คดีพืชกระท่อม  55,004 คดี และคดีกัญชา  20,709 คดี

"กระท่อมเป็นพืชที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นยาเสพติดมานานกว่า 70 ปี จัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 5 ในพระราชบัญญัติยาเสพติดยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ละปีมีคดีเกี่ยวกับกระท่อมในชั้นศาลนับหมื่นคดี สิ้นเปลืองงบประมาณและการใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบำบัดโรคเพื่อสุขภาพ ในกฎหมายระหว่างประเทศ กระท่อมไม่ถือเป็นยาเสพติด การที่เราบัญญัติให้กระท่อมเป็นยาเสพติดในกฎหมายไทย เป็นการบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่บัญญัติให้กระท่อมเป็นยาเสพติด ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่ามีกฎหมายเข้มที่สุดในโลก"

ผู้คร่ำหวอดด้านกฎหมายสุขภาพของไทยรายนี้ เสนอแนะว่า อยากให้มีการพิจารณาทางเลือกอื่นๆในพืชกระท่อม ควรมีมาตรการควบคุมให้แตกต่างกับยาเสพติด

"เรื่องขอบเขตใบกระท่อม กัญชา และกัญชง ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องการวิจัยทางการแพทย์ ส่วนเรื่องการควบคุมก็ยังคงห้ามนำเข้าและส่งออกอยู่ แต่ควรมีข้อยกเว้นในปริมาณที่ไม่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิด ควบคุมการจำหน่าย การ ครอบ การใช้เสพ ยกเว้นการเสพเพื่อสุขภาพ หรือบำบัดอาการติดยาเสพติด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์"

สมควรแก่เวลา? ปลดล็อก"กระท่อม-กัญชา"เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ด้าน รศ.สมสมร ชิตตระการ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ใบกระท่อมนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้ สามารถระงับอาการปวดได้อย่างชัดเจน แก้อักเสบ ลดการท้องเสีย ลดระดับน้ำตาลในเลือด เบาหวาน และความดันสูง อีกทั้งสามารถใช้บำบัดอาการติดยาเสพติดได้อีกด้วย

ดร.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก รองประธานสมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ที่พบคือ ถูกความรู้ชุดหนึ่งซึ่งเป็นความรู้แบบวิทยาศาสตร์มาฟันธงว่าทั้งกัญชาและใบกระท่อมเป็นสิ่งต้องห้ามอันตราย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเป็นการตัดสินที่มีอคติ เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรกลับมาทบทวน

"ทั้งกัญชาและใบกระท่อมเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในวัฒนธรรมของชนชาติเรา เป็นวิถีชีวิตโดยเฉพาะชาวบ้านภาคใต้ ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เติบโตที่นั่น เราคุ้นเคยเป็นเรื่องปกติ หมอพื้นบ้านยืนยันว่าถึงแม้จะผิดกฎหมายแต่ก็ยังมีการใช้อยู่ แต่เป็นลักษณะของการลักลอบมากกว่า เพราะจะปลูก หรือทำอะไรค่อนข้างจะมีปัญหา

ขณะที่ พิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ความเห็นว่า ในทางกฎหมายยังคงให้กระท่อมและกัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีการผ่อนปรนให้ปลูกเพื่อวิจัยและใช้สำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป แต่ยังไม่ชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมาย เพราะยังต้องอยู่ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด 

สมควรแก่เวลา? ปลดล็อก"กระท่อม-กัญชา"เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

"ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น เอาข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีการดำเนินการแล้วไปยืนยัน แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาเชิงผลกระทบในเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด สังคมและเศรษฐกิจ ส่วนกัญชาก็อยู่ในระหว่างศึกษาข้อดีและข้อเสีย ผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นโดยจะใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาตัดสินใจ แนวทางในขณะนี้ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดแต่จะเปิดช่องทางให้ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์มากขึ้น การใช้เฉพาะตัวจะต้องได้รับอนุญาตเป็นรายๆไป จะเอาแนวทางของการควบคุมพืชกัญชงเป็นพื้นฐาน เพราะมีพระราชบัญญัติพืชกัญชงออกมาแล้ว แต่จะใช้จริงในอีก 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามอาจจะต้องมีคณะกรรมการ ลงทะเบียนและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภูมิภาคส่วน เป็นแนวทางที่คณะปปส.จะดำเนินการในเร็วๆนี้"

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่า จะสามารถปลดล็อกพืชกระท่อม-กัญชาให้ถูกกฎหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ในเร็วๆนี้ แต่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป.

สมควรแก่เวลา? ปลดล็อก"กระท่อม-กัญชา"เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์