posttoday

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?

01 กุมภาพันธ์ 2560

มองต่างมุม "ร่างพรบ.จราจรทางบกฉบับใหม่" เพิ่มโทษแรงขึ้น ลดกระทำผิดซ้ำซาก ใช้กล้องตรวจจับแทนตั้งด่าน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... หรือเรียกให้เข้าใจง่ายว่า"กฎหมายจราจรใหม่" ท่ามกลางการจับตามองของผู้ใช้รถใช้ถนน

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาเซ็งแซ่ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นการเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น ลดการกระทำผิดซ้ำซาก ช่วยให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น ขณะที่ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งยังเพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการจับกุม งานนี้มีสิทธิ์โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

กฎหมายจราจรใหม่...ติดดาบให้ตำรวจ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติจราจรทางบก ถูกมองว่าเก่าแก่ล้าสมัย ส่งผลให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างตำรวจจราจรกับผู้ขับขี่เป็นประจำ ทั้งหมดนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายจราจรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) เปิดเผยว่า สาเหตุหลักของการแก้ไขกฎหมายจราจรครั้งนี้คือ 1.กฎหมายฉบับเก่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย 2.โทษเบาเกินไป ทำให้ประชาชนไม่เกรงกลัวกฎหมาย กระทำผิดซ้ำซาก โดยเฉพาะการไม่ยอมไปจ่ายใบสั่ง แต่ละปีมีผู้ไปจ่ายใบสั่งเพียง 20% เท่านั้น นอกจากนี้คือการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ลดอุบัติเหตุ

"ทุกประเทศเวลาแก้ไขกฎหมายจราจรจะเน้นหลัก 3 E ประกอบด้วย 1.ด้านให้ความรู้ (Education) เพื่อให้คนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย เมื่อรู้ก็จะมีวินัย ไม่กระทำผิด 2.ด้านวิศวกรรม (Engineering) จัดการจราจรให้มีความปลอดภัย เช่น ติดป้ายสัญลักษณ์ ทางม้าลาย ไฟกะพริบ เป็นต้น 3.ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ที่ผ่านมาโทษปรับของจราจรต่ำมาก ทำให้คนไม่กลัว ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ปัญหาใหญ่สุดคือ ประชาชนไม่ยอมจ่ายใบสั่ง เนื่องจากติดขัดด้านข้อกฎหมายบางประการ ไม่ครอบคลุม ทำให้ระบบการเชื่อมต่อระหว่างตำรวจจราจรกับกรมขนส่งทางบกไม่สมบูรณ์ เมื่อในโลกโซเชียลพูดต่อๆกันไปว่า โดนแจกใบสั่งเก็บไว้หนึ่งปีไม่ต้องไปจ่าย เดี๋ยวใบสั่งก็โมฆะ หรือไม่จ่ายใบสั่งก็ยังต่อภาษีประจำปีได้ตามปกติ บางคนโดนยึดใบขับขี่แต่ไปแจ้งความเท็จว่าใบขับขี่หาย ไม่รู้เลยว่าผิดกฎหมายอาญา ทั้งหมดนี้่ทำให้คนละเมิดกฎจราจรอยู่เรื่อย ฝ่าไฟแดง วิ่งช่องทางด่วน ขับย้อนศร จอดในที่ห้ามจอด ขับเร็วเกินกำหนด ตามมาด้วยปัญหารถติดและอุบัติเหตุต่างๆนานา"

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง? พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร.

สำหรับสาระสำคัญที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงในร่างพรบ.จราจรฉบับใหม่ มีทั้งสิ้น 12 ประเด็นสำคัญดังนี้

1.แก้ไขน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจากเดิม 1,600 กิโลกรัม เป็น 2,200 กิโลกรัม ไม่ต้องขับในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือช่องที่ใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง

2.ผู้โดยสารในรถทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย จากเดิมกำหนดเฉพาะผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าเท่านั้น

3.ให้ตำรวจออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ขับขี่ที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งให้มาชำระค่าปรับภายใน 15 วัน หากยังไม่ปฏิบัติตามก็ให้ชะลอการรับชำระภาษีประจำปีไว้ก่อน โดยให้นายทะเบียนมีอำนาจยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลนั้น

4.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมีอำนาจสั่งให้ทดสอบลมหายใจ ปัสสาวะ เลือด หรือวิธีการอื่นว่าผู้ขับขี่สุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

5.สามารถยึดรถที่ใช้ในขณะกระทำความผิดในบางข้อหาได้ เช่น เมาแล้วขับ ขับรถประมาทหวาดเสียว แข่งรถ โดยเจ้าของรถต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษารถเอง

6.เพิ่มโทษความผิดฐานแข่งรถโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 6,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ จากเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท

7.รวมกลุ่มหรือมั่วสุมแข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 3,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

8.เพิ่มโทษความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอื่นๆ เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต และยึดรถในชั้นศาล (ไม่เกิน 7 วัน) ด้วย จากเดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท

9.เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ จำคุก 1 – 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 – 6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต เมาแล้วขับจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 – 10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

10.ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ได้ ซึ่งผู้สั่งยึดใบขับขี่อาจบันทึกการยึดและคะแนน ดำเนินการอบรมทดสอบผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งใน 1 ปี รวมทั้งสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ที่เสียคะแนนมากของผู้ขับขี่นั้นโดยมีกำหนดครั้งละไม่เกิน 90 วัน

11.ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้เพิ่มจำนวนค่าปรับขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจำนวนค่าปรับที่ได้ชำระในความผิดครั้งก่อน

12.ผู้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยรถแท็กซี่ที่ไม่จอดรถ ณ สถานที่ที่กำหนด โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จากเดิม 1,000 บาท

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?

พล.ต.ต.จิรสันต์ บอกต่อว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) ยังออกนโยบายให้ 88 สน.และ บก.จร. หันมาใช้วิธีจับกุมผู้กระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ด้วยการใช้กล้องถ่ายรูปแทนการตั้งด่าน โดยจะเริ่มวันที่ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป

"เมื่อพรบ.ฉบับใหม่บังคับใช้ ไม่จ่ายใบสั่งก็ต่อภาษีรถไม่ได้ เราจึงออกนโยบายใช้กล้องแทนตั้งด่านเสริมไปด้วย ต่อไปตำรวจอาจไม่ต้องตั้งด่านแล้ว ใช้กล้องถ่ายรูปแล้วส่งทางไปรษณีย์แทน คุณไม่จ่ายก็จะต่อภาษีรถประจำปีไม่ได้ ปัจจุบันเรามีทั้งกล้องตรวจจับความเร็ว กล้องตรวจจับตามสี่แยกไฟแดงใหญ่ๆทั่วกทม. นอกจากนี้เราจะเพิ่้มกล้องในจุดที่คนฝ่าฝืนกฎหมายบ่อยๆ เช่น คอสะพาน ที่มักจะมีรถไปเบียดแทรกตรงทางขึ้น ทำให้รถติดขัด

ข้อดีของการตั้งด่านคือมันมีผลทางจิตวิทยา พอคนเห็นด่านตรวจ นอกจากจะกวดขันวินัยจราจร ยังช่วยป้องปรามเรื่องอาชญากรรมด้วย ข้อเสียคือเกิดเหตุปะทะกับประชาชนอยู่บ่อยครั้ง การใช้กล้องแทนตั้งด่านจะลดปัญหาตรงนี้ลงได้ คนใช้รถใช้ถนนไม่รู้ว่ากล้องอยู่จุดไหนบ้าง เขาจะระมัดระวังตัวไม่กล้าทำผิด แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ พอมีแต่กล้อง คนที่คิดจะก่อเหตุอาชญากรรมก็ไม่เกรงกลัว เพราะไม่มีตำรวจตั้งด่าน เช่น พกพาอาวุธ ขนยาเสพติด นักเรียนตีกัน วิ่งราวลักจี้ชิงปล้น"

ผู้การตำรวจจราจร เชื่อว่า กฎหมายจราจรฉบับใหม่จะช่วยปลดล็อกทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้่น ประชาชนเกรงกลัวไม่กล้าละเมิดกฎหมาย ลดการกระทำผิดซ้ำ ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับประชาชนลงได้ด้วย

"ทุกวันนี้ยอมรับว่าตำรวจจราจรทำงานลำบากมาก ถ้าประชาชนรู้กฎหมายจริงๆก็โอเค เรายอมรับ สามารถโต้แย้งได้ แต่ประชาชนบางคนทำผิดชัดเจน แถมไม่รู้กฎหมาย เอะอะอะไรก็ควักกล้องมาถ่ายลงโซเชียลไว้ก่อน คิดว่าถ้าถ่ายคลิปตำรวจจะไม่กล้าจับ ประชาชนมีสิทธิ์ถ่ายคลิปการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้ครับ ดีเสียอีกถือเป็นการตรวจสอบการทำงานให้เจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส แต่ถ้าทำผิด แล้วเถียงข้างๆคูๆ ทู่ซี้ ก็จะทำให้ยิ่งวุ่นวายกันไปใหญ่"

ใช้ระบบไอทีจัดทำประวัติความผิดซ้ำ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า เห็นด้วยการกับแก้ไขกฎหมายจราจรเพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพต้องคำนึงถึง 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.ต้องทำให้ผู้กระทำความผิดมีโอกาสถูกตรวจพบ  2.ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงพอจะยับยั้งไม่ให้คนกล้าผิด

"การยับยั้งไม่ให้คนกระทำความผิด (Deterrent) ต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีโอกาสถูกตรวจจับ ไม่ว่าจะด้วยกล้องหรือตั้งด่านกวดขัน เช่น ขับรถเร็ว ไม่ใส่หมวกกันน็อก เมาแล้วขับ และเมื่อถูกตรวจจับแล้ว บทลงโทษก็ต้องรุนแรง ประเมินดูแล้วว่าไม่คุ้มที่จะเสี่ยงทำผิด ซึ่งบทลงโทษก็ควรเชื่อมโยงกับจำนวนครั้งของการทำผิดด้วย เช่น เมาแล้วขับครั้งที่ 1 ถูกปรับ 5,000 บาท แต่ถ้าเมาแล้วขับครั้งที่ 2 บทลงโทษก็น่าจะแรงขึ้นอีกหนึ่งเท่า นั่นคือ ปรับ 10,000บาท ครั้งที่สามจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ในต่างประเทศก็ทำกัน อย่างเวียดนาม ทำผิดครั้งแรกปรับ ครั้งสองปรับเพิ่มเป็นสองเท่า ครั้งที่สามก็ยึดรถ แบบนี้คนจะเกรงกลัวกฎหมาย"

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนท้องถนน มองว่า การใช้เทคโนโลยีกล้องมาใช้จับกุมผู้กระทำผิดแทนตั้งด่าน เพื่อลดปัญหากระทบกระทั่งขัดแย้ง สะท้อนว่าคนไทยไม่เชื่อมั่นตำรวจ

"เวลาเห็นตำรวจตั้งด่าน ในหัวจะคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ ต้องโดนเรียกแน่ วันนี้ซวยแน่ ด่านตรวจมักถูกเชื่อมโยงกับเรื่องการเสียค่าปรับ ตามมาด้วยการโต้เถียงปะทะคารม แต่ถ้านำกล้องมาใช้ คนทำผิดก็จะเถียงไม่ได้ เพราะมีหลักฐานชัดเจน ที่ผ่านมาการใช้กล้องตรวจจับแล้วส่งใบสั่งทางไปรษณีย์มันไม่เวิร์ค เพราะคนรู้ช่องโหว่ ไม่จ่ายใบสั่ง เดี๋ยวครบหนึ่งปีก็หมดอายุความ ไม่จ่ายใบสั่งก็ไปต่อทะเบียนได้ปกติ การแก้ไขกฎหมายคราวนี้จะทำให้คนระมัดระวังมากขึ้น เมื่อใบแจ้งข้อกล่าวหามาที่บ้าน เชื่อว่าคนก็จะรีบไปจ่าย"

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?

นพ.ธนะพงศ์ บอกอีกว่า จุดอ่อนของกฎหมายจราจรเมืองไทยคือ ไม่มีระบบจัดเก็บประวัติการกระทำความผิดของผู้ต้องหา

"ที่ผ่านมาคนที่ทำผิดกฎจราจร จะไปสืบค้นประวัติยากมาก เพราะใบสั่งมันไม่ได้เก็บเป็นอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ แต่เป็นใบกระดาษซึ่งสุดท้ายก็โละไป ไม่เหมือนคดีอาญา เช่น เมาแล้วขับ ดังนั้นการจัดทำประวัติการกระทำผิดเป็นอิเล็กทรอนิกไฟล์ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะจะตรวจสอบได้ว่าใครทำผิดซ้ำ จากนั้นก็จะได้ดำเนินการลงโทษให้รุนแรงขึ้น

ขณะเดียวกัน การปรับอย่างเดียวในคดีเมาแล้วขับอาจไม่ตอบโจทย์ กรณีนี้คนรวยจะไม่กลัว เพราะบางทีจ่ายค่าเหล้าอาจจะแพงกว่าค่าปรับอีก เขาก็ไม่ซีเรียส บทลงโทษที่ควรเพิ่มเติมมากกว่าแค่ปรับคือ โทษกักขัง อบรม หรือคุมประพฤติ เพราะบทลงโทษเหล่านี้จะทำให้เขาเสียเวลา รวมถึงการยึดรถ บ้านเราไม่นิยมใช้เพราะเป็นภาระรับผิดชอบของตำรวจ ไหนจะหาที่จอด ไหนจะต้องคอยดูแล ดังนั้นการยึดรถก็ควรระบุในข้อบังคับเลยว่า การเก็บรักษารถเป็นภาระของผู้กระทำความผิด เหมือนในต่างประเทศ คุณต้องมาหาบริษัทมาลากรถไปจอดเอง เก็บเงินทั้งหมดที่คุณ ถ้าถูกอบรมคุณก็ต้องเป็นคนจ่าย

นอกจากนี้ อยากให้บ้านเราให้ความสำคัญกับพฤติกรรมอันตราย โดยแยกบทลงโทษให้ชัดเจนและรุนแรงกว่าโทษประมาททั่วไป เช่น เมาแล้วขับ ฝ่าไฟแดง  ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ข้อหาเหล่านี้ในต่างประเทศโทษแรงมาก เพราะคุณขับรถบนท้องถนนทำอันตรายต่อตัวเองแล้วยังทำอันตรายต่อผู้อื่นด้วย แต่บ้านเรายังถูกเหมารวมเป็นบทลงโทษประมาท ซึ่งโทษเบามาก หลายคดีแค่รอลงอาญา"

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?

 "ยกเลิกเปอร์เซนต์ใบสั่ง"ข้อเรียกร้องของชาวสองล้อ

ขณะที่ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นประจำทุกวันอย่าง ภีรสิทธิ์ จิระวงศ์ไพศาล แอดมินเพจปลดแอกชาวสองล้อ มองว่า ภาพรวมของการแก้ไขกฎหมายจราจรฉบับใหม่ถือว่ายังแก้ไม่ตรงจุด ไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งระบบ ที่สำคัญไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญๆที่ประชาชนเรียกร้องเลย

"กฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้มาตลอด เช่น กฎหมายที่บังคับให้มอเตอร์ไซค์วิ่งชิดซ้าย กฎหมายนี้ใช้มา 40 ปี วันนี้สภาพรถ สภาพถนนเปลี่ยนไปแล้ว ร้อยเปอร์เซนต์ของคนขับรถมอเตอร์ไซค์ปฏิบัติตามไม่ได้หรอก เพราะไหนจะท่อระบายน้ำ ไหนจะรถตู้ รถแท็กซี่ รถประจำทางจอดแช่ ก็ต้องวิ่งขวา หรือกฎหมายห้ามวิ่งระหว่างช่องจราจร จะให้วิ่งต่อท้ายรถคันหน้าอย่างเดียวมันไม่ใช่ เพราะรถมอเตอร์ไซค์ถูกออกแบบมาให้คล่องตัว ต้องมีวิ่งระหว่างรถบ้าง เพราะรถมันติด หรือกฎหมายกำหนดความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถามว่าใครทำได้บ้าง แม้ตำรวจจะอะลุ้มอล่วย แต่ถามว่าทำไมไม่แก้กฎหมายให้มันเป็นลายลักษณ์อักษรไปเลย ทั้งหมดเกิดจากความล้าสมัยของกฎหมาย ดังนั้นถ้าประชาชนจึงปฏิบัติตามไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นำไปสู่การกระทบกระทั่งขัดแย้งอย่างที่เห็นในทุกวันนี้"

ภีรสิทธิ์ บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดไม่จ่ายค่าใบสั่งไม่สามารถต่อภาษีรถประจำปีได้

"การออกใบสั่งเป็นอำนาจของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ใบสั่งทุกใบตำรวจมีผลประโยชน์จากเปอร์เซนต์ใบสั่ง ซึ่งปีนึงใบสั่งทั้งหมดมีมูลค่าเป็นพันล้าน เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตำรวจจะใช้ดุลยพินิจอย่างเป็นธรรมได้ยังไง เหมือนเซลล์ขายของ ขายได้เยอะก็ได้ส่วนแบ่งเยอะ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้กฎหมายจราจรจริงๆ ผมขอเรียกร้องให้ยกเลิกเปอร์เซนต์ใบสั่ง เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากเปอร์เซนต์ใบสั่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คนเจอข้อหาแปลกๆและไม่เป็นธรรมเยอะมาก บางคันจับบางคันไม่จับ บางข้อหาขนส่งบอกถูกต้อง แต่ตำรวจกลับบอกว่าผิด ซึ่งมาจากดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น

ส่วนนโยบายใช้กล้องแทนตั้งด่าน ผมไม่เชื่อว่าทำได้จริง เป็นแค่แนวคิดสวยหรู สร้างภาพ เราเคยสำรวจพบว่ากรุงเทพฯมีการตั้งด่านมากที่สุดในโลก วันธรรมดาตั้งด่านกันมากกว่า 100 ด่าน คิดดูว่ารายได้จะขนาดไหน วันหนึ่งถ้าบอกว่าจะเลิกตั้งด่าน หันมาใช้กล้องแทน มันใช้ได้กับบางข้อหาที่พิสูจน์ได้ชัดเจน เช่น ฝ่าไฟแดง ย้อนศร  ขึ้นฟุตบาท แต่สำหรับข้อหาที่ไม่พิสูจน์ได้ชัดเจน เช่น วิ่งขวา คุณส่งใบสั่งถึงบ้าน เราไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใดๆเลย เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจล้วนๆ แบบนี้พวกเราโดนทั้งขึ้นท่องล่อง"

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?

แอดมินเพจปลดแอกชาวสองล้อ ทิ้งท้ายว่า อยากให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนบ้าง เรื่องการแก้ปัญหาจราจร เท่าที่ฟังการให้สัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจของบ้านเมือง ข้อมูลที่ได้รับคนละเรื่องกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

"การจะแก้ไขกฎหมายจราจร อย่ารีบร้อน ควรฟังเสียงประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถบรรทุก ซึ่งทุกวันนี้เดือดร้อนกันมาก พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้พูดเลย คนที่แก้กฎหมายดันเป็นคนที่อยู่ในห้องแอร์ ไปไหนมาไหนมีรถนำขบวน ไม่เคยขับไปเจอรถติดทุกวัน ไม่เคยวิ่งขวา หรือขึ้นสะพานแล้วโดนจับเหมือนพวกเรา เรื่องจราจรมันส่งผลกระทบกับรถทุกชนิด ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นล้านคน จึงอยากเสนอให้มีเวทีปฏิรูปกฎหมายจราจรทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม ชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันรับฟัง แสดงความคิดเห็น ตั้งแต่ผู้ใช้รถใช้ถนน คนขับรถโดยสาร ตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก นักวิชาการ แต่คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเมื่อใดที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้าแตะ"

แม้วันนี้ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทว่าจากการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นสำคัญหลายข้อ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คงต้องรอดูว่ากฎหมายจราจรฉบับใหม่นี้จะสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่คาดหวังไว้หรือไม่. 

ส่อง "กฎหมายจราจรใหม่" เมื่อคนไทยไร้วินัยจึงต้องใช้ยาแรง?