posttoday

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่

30 มกราคม 2560

เสียงสะท้อนจากผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยในวันที่ต้องเผชิญอุปสรรคด้านข้อกฎหมายที่ล้าสมัย

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

กระแส "คราฟต์เบียร์ (Craft Beer)" หรือเบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิตรายเล็กซึ่งต้องการอิสระเเละสร้างสรรค์เบียร์ด้วยตัวเอง กำลังร้อนแรงในเมืองไทย หลังจากชายหนุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจับกุมข้อหาผลิต จัดจำหน่าย และครอบครองเครื่องมือทำสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนำไปสู่การตั้งคำถามและรณรงค์เรียกร้องให้รัฐเปิดเสรีการหมักเบียร์ที่ปัจจุบันยังถือว่าผิดกฎหมาย

ปรับกฎหมายให้ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ

ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 อนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้ 2 ประเภทคือ 1.หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี  2. โรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew Pub) โดยให้บริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวดและต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี  

ทั้งนี้การผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท นับเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคสำคัญที่ผู้ผลิตรายเล็กมองว่าไม่เป็นธรรม

ฟาง-ปณิธาน ตงศิริ ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทยแบรนด์ "Stone Head"  ซึ่งตัดสินใจไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในไทย เผยว่า ข้อจำกัดในบ้านเราสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงข้อกฎหมายให้ทันกับยุคสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้าง

"ประเทศอื่นเขาออกกฎหมายเพื่อประชาชน ทุกคนมีส่วนร่วมในการผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆในสังคม  เมื่อมีการเรียกร้อง เขาจะทยอยอัพเดทเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เกิดความทัดเทียม ล่าสุดประเทศเกาหลีใต้มีการแก้ไขกฎหมาย ลดข้อจำกัด และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ผลิตเบียร์รายเล็กมากขึ้น ขณะที่เมืองไทยใช้ พ.ร.บ.สุรา มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2493"

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่ ภาพจาก Stone Head Thai Craft Beer

ในมุมมองของปณิธาน เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดอุปสรรคและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตรายเล็กจะส่งผลดีต่อสังคมและภาครัฐ ทั้งในแง่ของการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตัวเลือกการบริโภค การเรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มและการสังสรรค์ ตลอดจนผลประโยชน์ทางด้านภาษีอากร

"1.ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกในการดื่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่น้อยมาก ตลาดเมนสตรีมในไทยมีอยู่ชนิดเดียวคือ เบียร์ลาเกอร์ 2.เมื่อรายเล็กสามารถผลิตเบียร์เองได้ ความที่เขาด้อยกว่ารายใหญ่ทุกเรื่องในแง่การผลิต ทั้งเทคโนโลยี เงินทุน ช่องทางการจัดจำหน่าย สิ่งเดียวที่เขามีก็คือ ความคิดสร้างสรรค์และความคล่องตัว เขาจะเอาตรงนี้มาผลักดันการแข่งขันในตลาด จนนำไปสู่สิ่งใหม่ๆที่เราจินตนาการไม่ถึง 3.ภาครัฐเองก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษี และช่วยลดการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าเบียร์ต่างประเทศ”

เจ้าของคราฟต์เบียร์ไทยรายนี้ บอกว่า การมีผู้ผลิตเบียร์คราฟต์เพิ่มขึ้นไม่ได้การันตีว่าตลาดเบียร์โดยรวมจะเติบโตและทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่แต่อย่างใด เพราะประวัติศาสตร์ในต่างประเทศยืนยันแล้วว่าตลาดไม่ได้เติบโตขึ้น เพียงแต่คราฟต์ได้ส่วนแบ่งมากขึ้นต่างหาก 

“เรากำลังพูดถึงความหลากหลาย ความทัดเทียม โอกาสในการแข่งขัน โดยมีเพดานกฎหมายกำกับที่ลดต่ำลงมา ที่น่าคิดและน่าแปลกใจก็คือ  ทำไมสุรากลั่นชุมชนและไวน์นั้นสามารถผลิตได้ง่ายกว่าเบียร์ ประเทศที่พยายามจะพัฒนาตัวเอง เขามักจะสนับสนุน เปิดโอกาสให้ชุมชนได้สร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อเพิ่มมูลค่า เรามีผักผลไม้ทุกอย่างที่เอามาสร้างมูลค่าได้มาก และเป็นตลาดที่ใหญ่จริงๆ”

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

มีคุณค่ามิใช่แค่เมามาย

"มันคือการสร้างสรรค์ผลงานด้วยความพิถีพิถัน มีสายใยระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นศิลปะและจรรโลงใจให้คนใจเย็น อาจเป็นกิจกรรมในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงก็ได้  ซึ่งตัวผมเองก็เริ่มกินเบียร์กับครอบครัวก่อน” เสียงจาก เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ผู้ปลุกกระแสคราฟต์เบียร์ไทย

ชายหนุ่มวัย 28 ปี บอกว่า หากสังคมไทยเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคราฟต์เบียร์ เริ่มเรียนรู้ มองเป็นศิลปะ และให้คุณค่ากับมันเสียแล้ว จะไม่ดื่มเพื่อความเมาอย่างเดียว แต่จะเห็นเป็นตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้ถึงค่านิยมการดื่มอย่างมีคุณค่า  

"ทุกวันนี้เราดื่มเบียร์แบบเอาเมาเละเทะ เฮ้ย รุ่นน้อง มาเอาไปกิน มึงไม่แดกไม่เก๋าเว้ย หรือเฮ้ย ไม่หมดไม่เลิก อะไรแบบนี้ สังคมส่วนใหญ่รู้จักเบียร์แบบนั้น ซึ่งผมก็เคยเป็นจนกระทั่งมารู้จักคราฟต์เบียร์ ทำให้เราเข้าใจการดื่ม และเกิดการเรียนรู้ค่านิยมการดื่มใหม่ๆ”

เท่าพิภพเล่าว่าเคยทำงานในบาร์เบียร์ ทำให้รู้จักและเรียนรู้ประวัติที่มา กระทั่งรสชาติของเบียร์หลากหลายชนิด รวมทั้งได้สัมผัสกับนักดื่มจำนวนมากที่ไม่ได้มีเป้าหมาเพียงแค่ความเมา แต่ยังต้องการซาบซึ้งอิ่มเอิบไปกับที่มาและรสชาติของคราฟต์เบียร์แต่ละชนิดด้วย

"ที่มาและรสชาติของแต่ละค่ายน่าสนใจมาก อย่างของ Punk IPA (พังค์ ไอพีเอ) จากค่ายบรูวด็อก (BrewDog) ประเทศสก็อตแลนด์ ก่อตั้งจากคนไม่มีอะไร และเกือบเจ๊งด้วย จนได้รับการระดมทุน เป็นสตาร์ทอัพที่มาแรงมากของวงการคราฟเบียร์โลก พวกเขาทำให้คนในสหราชอาณาจักรตื่นตัวและเริ่มหันกลับมาดื่มคราฟต์เบียร์กัน รสชาติมันมีความเป็นกบฎในตัว เขาใส่สไตล์อเมริกันเข้าไปโดยเพิ่มฮ๊อปและผลไม้เขตร้อน หรือคราฟต์เบียร์ของไทยอย่าง LEMONGRASS KOLSCH จาก Stone Head ซึ่งผสมผสานวัตถุดิบของไทย โชว์กลิ่นตะไคร้ ก็เป็นอีกหนึ่งคอนเซปต์ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจินตนาการและดีไซต์ของผู้ผลิต"

ผู้ผลิตคราฟเบียร์หนุ่มรายนี้ บอกอีกว่า การค้าเบียร์สามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ผลิตเบียร์ของพวกเขาได้ ไม่ใช่แค่กำไรจากตัวผลิตภัณฑ์เอง แต่ยังรวมไปถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่ต่อยอดและเผื่อแผ่ไปถึงใครต่อใครที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและชุมชนที่อยู่รายรอบพวกเขา

“คนเราควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือก ที่จะทำ จะห้ามหมดเลยมันโบราณ และไม่ใช่หนทางที่ดีของประเทศที่เจริญแล้ว”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ระบุว่า ตลาดเบียร์ไทยในปี 2559 มีมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท โดย อันดับหนึ่งคือ ลีโอ (ค่ายเดียวกับสิงห์) ครองส่วนแบ่ง 53 % รองลงมาคือ ช้าง ครองส่วนแบ่ง 38 - 39 % สิงห์ครองส่วนแบ่ง 5-6 % ไฮเนเก้น 4-5% ตามลำดับ

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่

 

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่ เจษฎา ชื่นศิริกุล เจ้าของและผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อ Triple Pearl

ผลิตเมืองนอก...ต้นทุนสูง-สูญเสียเอกลักษณ์

วินาทีนี้มีคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยอยู่ราว 10 ยี่ห้อที่หนีข้อจำกัดทางกฎหมายโดยการทำสัญญาผลิตเบียร์ร่วมกับโรงงานในต่างประเทศ ก่อนนำเข้ามาโดยเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต หนึ่งในนั้นคือ เจษฎา ชื่นศิริกุล เจ้าของและผู้ผลิตเบียร์ยี่ห้อ Triple Pearl  

เจษฎาเปรียบเทียบให้ฟังว่า คนทำเบียร์เหมือนกับคนทำอาหาร เริ่มต้นจากการอยากทำของที่ถูกปากตัวเอง หรือคนในครอบครัว เพื่อนฝูง โดยพยายามทำออกมาให้ดีและสะท้อนความเป็นตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งการผลิตในเมืองนอกและนำกลับเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย มีอุปสรรคที่ทำให้สูญเสียรสชาติ เอกลักษณ์ที่ต้องการนำเสนออย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนนำไปสู่ราคาขายที่ค่อนข้างสูง

"ถ้าผลิตได้ในเมืองไทย จะเกิดข้อดีหลายส่วน หนึ่งคือส่วนผสม เราสามารถใส่ในสิ่งที่มีความเป็นไทยลงไปได้ อย่างเช่นมะพร้าว ถ้าไปต้มเมืองนอก การจะนำมะพร้าวไปก็ลำบาก หรือกลิ่นตะไคร้ในเมืองไทย คือ เดินไปซื้อที่ตลาดแล้วเอามาหั่นใส่ลงไป แต่ถ้าไปต้มต่างประเทศ มันลำบากกว่ากับการนำส่วนผสมเหล่านั้นไป

"เหมือนเราอยากทำต้มยำไทย แต่ต้องไปทำที่เมืองนอก แน่นอนว่ามันไม่เหมือนกัน ส่วนผสมอย่างมะกรูด ก็ไม่ใช่มะกรูดบ้านเรา ตรงนี้แหละเป็นเหมือนศาสตร์และศิลป์ในการทำ ไหนจะเรื่องต้นทุนการผลิต ค่าเช่า ค่าขนส่ง และภาษีการนำเข้าด้วย เพราะงั้นถ้ามีโอกาสได้ทำในบ้านตัวเองก็เป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก"

เจษฎา ยืนยันว่า สิ่งที่ผู้ผลิตรายเล็กกำลังเรียกร้องไม่ใช่การต่อสู้กับผู้ผลิตรายใหญ่หรือกรมสรรพสามิต แต่กำลังต่อสู้กับกฎหมายที่ถูกตั้งคำถามว่าล้าหลังและถึงเวลาปรับปรุงแล้วหรือไม่ 

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่ วิชิต ซ้ายเกล้า

เอาชนะด้วยผลงานและความสำเร็จ 

ถ้าหากไม่เลือกออกไปตั้งโรงงานผลิตในเมืองนอกก็ต้องต่อสู้ในเมืองไทย ตัวเลือกที่ง่ายที่สุดคือ การทำ Brewpub หรือโรงเบียร์ประเภทที่มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในร้านเท่านั้น ห้ามบรรจุขวดขาย และกำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตร แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตรต่อปี

วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของเเบรนด์ Chitbeer อยู่ระหว่างผนึกกำลังกับพรรคพวกก่อตั้ง "โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์" โรงเบียร์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ต้ม ชิม และ แชร์ อย่างถูกกฎหมาย

"การต่อสู้กับข้อจำกัดนั้นมีสองทาง หนึ่งคือออกไปตั้งโรงงานผลิตที่ต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาขายในบ้านเรา สอง คือเปิดโรงเบียร์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งยากหน่อย แต่เป็นภารกิจที่เรากำลังจะทำสำเร็จ"

วิชิต มองว่า ปัจจุบันวงการคราฟต์เบียร์ไทยกำลังเดินมาถึงระยะที่ 2 หลังจากระยะแรกได้สร้างการรับรู้ สาธิต และประกาศว่าพวกเราสามารถทำเบียร์กันได้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่วนระยะที่สองเป็นเรื่องของการเจรจาขอใบอนุญาตก่อตั้ง Brewpub

“โรงเบียร์มิตรสัมพันธ์จะเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน น้องๆจะมารวมตัวกัน Brew (ต้มเบียร์) ชุบตัวที่นี่และจ่ายภาษีทุกหยด ข้อกำหนดแสนลิตรที่กฎหมายกำหนดจะกลายเป็นเรื่องขี้ๆ และผู้ผลิตทุกคนก็จะได้พัฒนาและถูกตัดสินว่าดีหรือแย่จากผู้บริโภค”

เจ้าของเเบรนด์ Chitbeer บอกต่อว่า ในระหว่างที่เปิดโรงเบียร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่จะได้เรียนรู้ก็คือ จำนวนภาษีที่ต้องจ่าย ผลงานมากมายที่นำเสนอ ผลกระทบจากนักท่องเที่ยว  ตลอดจนผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ก่อนเก็บสถิติเพื่อนำเสนอเป็นรายงาน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในอนาคต

“เชื่อว่าวันนั้นรัฐมนตรีก็อยากจะได้รายงานฉบับนี้ เรียกร้องอย่างเดียวมันไม่ค่อยพลัง ไม่มีคนเชื่อ ไม่มีตัวเลข หรืออะไรที่อธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรม  เราจะชนะและสร้างผลกระทบด้วยผลงานและความสำเร็จ  ถ้าไม่ทำ เราก็จะมานั่งเถียงกันแบบไทยๆ ไม่จบไม่สิ้น เถียงกันแบบใช้ความเชื่อ อะไรดี ไม่ดี  วันนั้นการเปลี่ยนแปลงจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าวันนี้ที่นายกรัฐมนตรียังไม่รู้เลยว่าคราฟต์เบียร์คืออะไร” วิชิต พูดถึงเป้าหมายของตัวเองในช่วง 3 ปีหลังเปิดโรงงานสำเร็จกลางปีนี้

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่ ภาพโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ จากเพจเฟซบุ๊ก Chitbeer

 

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่

"สิงห์"ประกาศหนุนเต็มที่

ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า บุญรอดฯ สนับสนุนแนวคิดแก้ไขกฎหมายกรมสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมการผลิตคราฟต์เบียร์อย่างถูกต้อง พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐนำผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพ มอบความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ บุญรอดฯ มองว่าการทำธุรกิจคราฟท์เบียร์ สามารถดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยแนวโน้มตลาดคราฟต์เบียร์ในประเทศไทย ตัวเลขในเชิงปริมาณมีราว 10 ล้านลิตร ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตได้อีกมากจากเทรนด์เกิดขึ้นในยุโรป ส่วนพฤติกรรมในไทย ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ต้องการเครื่องดื่มที่มีความแตกต่าง แปลกใหม่ และเชื่อว่าคราฟต์เบียร์จะเข้ามาช่วยสร้างสีสันภาพรวมตลาดเบียร์ในเชิงปริมาณ 2,000 ล้านลิตรให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น

ปิติ บอกอีกว่า ปัจจุบันบุญรอดฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุน ชมรมคราฟต์เบียร์ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ และบริษัทยังมีบรูมาสเตอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการปรุงเบียร์ให้ดีมีคุณภาพที่พร้อมให้ข้อมูลความรู้กับผู้สนใจและต้องการแลกเปลี่ยน และหากพันธมิตรหรือสตาร์ทอัพทำคราฟต์เบียร์ที่ดีมีคุณภาพ ก็พร้อมจะสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกันในธุรกิจคราฟต์เบียร์  

ปรากฎการณ์ "คราฟต์เบียร์ไทย" เมื่อยักษ์เล็กรวมพลังสู้ยักษ์ใหญ่

ความนิยมยังไม่มากพอจะเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

การลดเพดานและอุปสรรคทางด้านกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเบียร์รายย่อย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ และได้รับความนิยมอย่างแท้จริงจากสังคม เพื่อเป็นแรงกดดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายในที่สุด

สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต บอกว่า การแก้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญมาก กระบวนการต้องผ่านการพิจารณา มองอย่างรอบด้านจากหน่วยงานและกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบ ตลอดจนกระแสสังคม กระบวนการเรียนรู้และเสียงตอบรับในขณะนั้น ไม่ใช่ว่ากรมสรรพสามิตจะสามารถขับเคลื่อนเองได้ทันที

“เรื่องเบียร์พูดยากนะ จริงๆ เราก็มีการปรับปรุงกฎหมายและเงื่อนไขต่างๆ มาตลอด อย่างสุราปัจจุบันก็มีกฎหมายรองรับสุราชุมชนให้เกิดขึ้นได้ เมื่อรัฐเห็นว่าเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมีกรอบและกติกาควบคุมว่าต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ทั้งสภาพแวดล้อม สุขภาพ และอื่นๆ”

อธิบดีกรมสรรพสามิต บอกว่า การเรียกร้องนั้นต้องใช้เวลาและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่า คราฟต์เบียร์เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย อาจจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ สนับสนุน และพัฒนาไปสักระยะก่อน

“เมื่อก่อนยังไม่มีวิธีคิด ไม่มีใครพูดถึง กรอบกฎหมายก็เลยยังไม่มีการพิจารณาหรือพูดไปถึงเรื่องนั้นๆ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบเพราะมีผลกระทบต่อสังคมหลายด้าน” 

ปรากฎการณ์ที่ผู้ผลิตคราฟเบียร์ตัวเล็กๆออกมารวมตัวเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างสำคัญอันจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการเบียร์ไทยในอนาคต