posttoday

คำถามที่สะเทือนสีกากี “มีตำรวจเอาไว้ทำไม”

26 มกราคม 2560

เวทีเสวนา เรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” หยิบยกกรณีศึกษาปมการโกงสอบคัดเลือกตำแหน่งนายสิบตำรวจ รวมถึงกรณีต่างๆ ที่สร้างผลเสียหายให้กับตำรวจ และจากฝีมือตำรวจเอง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เวทีเสวนาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในหัวเรื่อง “ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร” เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา หยิบยกกรณีศึกษาปมการโกงสอบคัดเลือกตำแหน่งนายสิบตำรวจ รวมถึงกรณีต่างๆ ที่สร้างผลเสียหายให้กับตำรวจ และจากฝีมือตำรวจเอง เพื่อสังเคราะห์ปัญหาและร่วมหาทางออกในการเปลี่ยนแปลงตำรวจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมได้กังขาเกี่ยวกับความโปร่งใสของตำรวจอย่างกว้างขวางแล้วในขณะนี้

พล.ต.อ.วศิษฐ์ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรมช.มหาดไทย วิพากษ์ถึงวงการสีกากีบนเวทีเสวนาว่า กับคำถามที่ว่ามีตำรวจเอาไว้ทำไม ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ประชาชนได้ตั้งคำถามนี้มานาน และจะดังขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดข้อสงสัยว่าตำรวจทำอะไรจึงเกิดคำถาม ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ทราบกันดีว่าตำรวจมีไว้เพื่อป้องกันทรัพย์สิน และรักษาชีวิตของประชาชน และคำถามดังกล่าวสะท้อนอะไร คำตอบคือสะท้อนการทำงานของตำรวจว่าทำตามหน้าที่ดีแล้วหรือไม่

หากมองลงไปในพ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2547 มาตรา 6 กำหนดหน้าที่อำนาจของตำรวจเอาไว้ ที่ชัดแจ้งคือข้อ 3 ระบุว่า ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา และข้อ 4 คือ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยให้ประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร และนี่คือคำตอบว่ามีตำรวจไว้ทำไม แต่เมื่อเกิดคำถามมาโดยตลอด ก็สะท้อนให้เห็นว่าตำรวจกำลังบกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดเอาไว้

6 ปัญหาของตำรวจที่ไม่ได้รับการแก้ไข

พล.ต.อ.วิศิษฐ์ ย้ำว่า ผลการศึกษาถึงปัญหาของตำรวจมีหลายหน่วยงานเข้ามาดำเนินการ ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และแม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็ตาม และผลการศึกษาก็ทำให้เห็นว่า การที่ตำรวจไม่สามารถทำตามหน้าที่ได้ มีอยู่ 6 เรื่องสำคัญ คือ 1.การบริหารราชการเป็นรูปแบบการรวมอำนาจ แม้กฎหมายจะกำหนดให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ก็เพียงแค่ตัวหนังสือ เพราะความจริงตำรวจไม่ได้ดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ และไม่สอดคล้องกับประชาชนในแต่ละพื้นที่

2.ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจ กลับถูกบรรจุอยุ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งการตรวจคนเข้าเมือง การป้องกันรักษาป่า การท่องเที่ยว เป็นต้น ส่งผลให้ต้องใช้บุคลลากรในภารกิจที่กระทบต่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ที่เป็นภารกิจหลัก 3.กระบวนการสอบสวนที่ขาดความเป็นอิสระ และไม่ได้รับการพัฒนา เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับตำรวจ เพราะเมื่อไม่มีอิสระ มีการครอบงำ การสอบสวนก็จะถูกบิดเบือนเพื่อให้ได้ตามที่อาชญากร หรือผู้ที่ทุจริตต้องการ

4.ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ หากเทียบเงินเดือนกับภารกิจหน้าที่ของตำรวจเพื่อให้สอดรับกับความเป็นอยู่ จะเห็นได้ว่าไม่เหมาะสมกันอย่างยิ่ง หากเดินบนท้องถนนและเห็นตำรวจพกปืนข้างเอว บอกได้เลยว่าเป็นปืนที่ตำรวจซื้อมาเอง ไม่ใช่ของหลวง และทุกวันนี้ปืนพกก็กระบอกละนับแสนบาท 5. การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งไม่คำนึงถึงคุณธรรม เกิดการเล่นพรรคเล่นพวก คิดถึงผลประโยชน์เป็นหลัก เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้นับตั้งแต่มีการตั้งตำรวจขึ้นมาในประเทศไทย คนที่ผลงานดี อาวุโสถึง กลับไม่ได้ตำแหน่ง คนที่ประจบสอพลอกลับเติบโต และ 6.ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานตรำวจ และร่วมตรวจสอบ แม้จะมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่หลักความจริงกลุ่มคนพวกนี้คือลูกน้องตำรวจแทบทั้งสิ้น การตรวจสอบใดๆ จึงไม่เกิดขึ้น

“ผลการศึกษาสะท้อนปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ไม่มีสักครั้ง หรือสักคนที่จะเริ่มแก้ไขปัญหานั้น กระทั่งส่งผลกระทบที่สะสมจนเกิดคำถามมาโดยตลอดว่าตำรวจมีหน้าที่อะไรกันแน่ และเรามีตำรวจไว้ทำไมกัน” พล.ต.อ.วศิษฐ์ วิพากษ์ถึงปัญหา

อดีตนายตำรวจใหญ่ผู้นี้ เสริมว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความต้องการที่จะเปลี่ยแปลง ปรับปรุง และปฏิรูปตำรวจ และตั้งกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่กรรมการที่ว่าก็โยนงานกลับไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปฏิรูปกันเอง ทำให้ผลการปฏิรูปก็ไม่คืบหน้า เพราะตำรวจระดับใหญ่ไม่ได้ต้องการปฏิรูป

ตำรวจคือคนที่สร้างอาชญากรรมให้ประชาชน

ขณะที่สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยรังสิต มองตำรวจเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เสียงจากสังคมที่ทวงถามหาหน้าที่รับผิดชอบของตำรวจจะดังขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่านี้หากไร้ซึ่งการเปลี่ยนแปลง เสียงทุกด้านจากประชาชนกำลังแสดงออกถึงความเดือดเนื้อร้อนใจเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตำรวจ และหากผู้มีอำนาจเมินเสียงของประชาชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ ก็ถือว่าเป็นคนที่ร้ายกาจอย่างมาก

“การปฏิรูปตำรวจจะต้องต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตำรวจที่เราต้องปฏิรูป ผมไม่เข้าใจว่าทำไมการปรับปรุงองค์กรตำรวจถึงได้ยากเย็นขนาดนี้ และขอให้ปรับปรุงเพียงนิดเดียว ประชาชนก็ยังไม่ได้เห็น และการกระทำของตำรวจเองคือผลสะท้อนที่ทำให้ประชานเกลียดตำรวจ เพราะตำรวจเองก็เป็นคนในองค์กรระดับชาติที่ไปสร้างอาชญากรรมให้กับประชาชน” สังศิต ย้ำ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสังศิตนำมาพูดในวงเสวนา โดยเฉพาะกับสายตาของงานวิชาการต่างชาติ ที่มององค์กรตำรวจของเมืองไทยว่านี่คือธุรกิจ ธุรกิจที่มีการซื้อขายกัน โดยเฉพาะค่าตำแหน่ง การสอบแข่งขัน ทุกอย่างเป็นการซื้อขาย สิ่งนี้สะท้อนได้ชัดเจนว่าตำรวจควรจะต้องปฏิรูปมากที่สุด

“เมื่อ 3 ปีก่อนผมพูดว่า องค์กรตำรวจคือองค์กรแรกที่ต้องได้รับการปฏิรูปมากที่สุด ผมถูกตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟ้องทันที เพื่อหาว่าผมไปหมิ่นเกียรติ หมิ่นศักดิ์ศรีของตำรวจ”

สังศิต เสริมว่า แต่ผมเชื่อว่าการปฏิรูปตำรวจ จะสร้างคมเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้มากที่สุด และจะเป็นสิ่งที่นำเอาเกียรติภูมิของตำรวจกลับมา แต่เสียงของประชาชนก็ถูกเพิกเฉย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยทำให้ความต้องการของประชาชนเป็นจริง งานเปลี่ยนแปลงตำรวจจึงเป็นเรื่องยากในทุกวันนี้

"ขนาด รัฐบาลคสช.ที่เข้ามาบริหารด้วยวิธีพิเศษก็ยังทำไม่สำเร็จ แต่อีกด้าน หากรัฐบาลอยากเห็นประชาชนมีคามสุข ก็ต้องกล้าปฏิรูปตำรวจ คำถามคือทำไมรัฐบาลไม่ทำ คำตอบคือ เพราะกลัวจะเกิดแรงต้านตามมาจากตำรวจ ผมเห็นมากับตาแล้วว่าอดีตตำรวจระดับนายพลจะรวมพลังค้ดค้านทันที เพราะเขาจะสูญเสียอำนาจ สูญเสียผลประโยชน์”

แสนล้านให้ตำรวจ แต่ประชาชนได้อะไร?

ตามแนวคิดของสังศิต น่าสนใจตรงที่ว่าประชาชนคือจุดศูนย์กลางของรัฐบาลที่ต้องได้รับการใส่ใจเช่นกัน และประชาชนก็ใกล้ชิดกับตำรวจในบทบาทของสังคม แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับจากตำรวจกลับเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม สังศิตมองเรื่องนี้ว่า งบประมาณในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปีละแสนล้านบาท แต่ให้มองภาพรวมว่าประชาชนได้อะไรจากงบประมาณนี้บ้าง และความหายนะที่ตำรวจสร้างให้กับประชาชนมันมากเท่าไหร่ มันคุ้มกับเงินงประมาณที่ลงไปในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่

"ผมเคยเสนอไปว่า ให้ตำรวจเป็นตำรวจจังหวัด ความยุติะรรมจะเร็วขึ้น และดูแลเฉพาะจังหวัดของท่าน ให้ประชาชนได้รับความยิตูรรมขึ้นมาเล็กน้อยก็ยังดี โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้าง ตำรวจจังหวัดจะทำให้ระบบตรวจสอบได้กระชับและรวดเร็วขึ้น อย่างเช่น ตำรวจญี่ปุ่นจับคนขโมยภาพไป สองวันขึ้นศาลเลย แต่ของเราไม่รู้นานเท่าไหร่ ดังนั้น กระบวนการยุติธรามต้องให้ประโยชน์กับประชาชนบ้าง แม้มันจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นมาเพียงเล็กน้อยก็ยังดี"

สังศิต กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการปรองดองกับประชาชน มากกว่าการให้นักการเมืองปรองดองกัน เพราะประชาชนก็มีจำนวนมากกว่าพรรคการเมืองเสียอีก รัฐบาลต้องให้ประชาชนมากกว่านี้

“ผมยังไม่เห็นว่าตำรวจมีประโยชน์อะไรต่อสังคม ต่อประชาชนบ้าง ตำรวจจำนวน 2.1 แสนคนเรามีเอาไว้ทำไม คำถามนี้ผมตอบไม่ได้จริงๆ"

"แต่การปรองดองที่รัฐบาลกำลังทำคือการสร้างความปรองดองของชนชั้นนำระหว่างกัน แล้วประชาชจะไปสนับสุนนได้อย่างไร แต่หากทำให้เกิดความโปร่งใส กล่้าเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ผมว่าประชาชนทั้งแผ่นดินจะปรบมือให้เลย”สังศิต ให้ความเห็น

เอายศให้ตำรวจเท่ากับละเลยประชาชน

อีกมุมมองในวงการตำรวจ อย่าง พ.ต.อ.วิรุฒม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตำรวจในสายตาประชาชนถือว่าเลวร้าย และชั่วร้ายมาก ผลพวงมาจากสาเหตุที่ขาดการถ่วงดุลอำนาจ ขาดการตรวจสอบ นับตั้งแต่ที่มีการแยกการควบคุมออกจากกระทรวงมหาดไทย และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะหากนายกฯ ไม่คิดจะเปลี่ยนตำรวจ ทุกอย่างก็จบ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับตำรวจมันยิ่งแน่นแฟ้น เป็นผลประโยชน์ระหว่างกัน

“ตำรวจไทยสวนทางกับตำรวจในโลกสากล เพราะตำรวจต่างประเทศจะถือเป็นงานพลเรือน แต่ของไทยกลับถูกควบรวมเป็นงานเหล่าทัพ นายร้อยตำรวจก็ไปเรียนกับทหาร ซึมซับวัฒนธรรมและรับแนวคิดแบบทหารมา ซึ่งงานทหารกับงานรักษากฎหมายมันคนละเรื่องกัน งานตำรวจควรจะเป็นงานพลเรือน แต่เอาชั้นยศไปติดกับตำรวจ”

พ.ต.อ.วิรุฒม์ มองว่า ตำรวจไทยถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจติดอันดับโลก เพราะมีทั้งปืน และมีทั้งสำนวนอยู่ในมือ ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน การใช้อำนาจที่เกินขอบเขตจึงกลายเป็นปัญหาที่ประชาชนได้เห็น เพราะตำรวจคือระบบศักดินา เอายศไปให้ทำให้ตำรวจคิดใหญ่ขึ้น กินมากขึ้น แย่งกันกินแย่งกันอยู่ สะท้อนไปถึงตำแหน่งที่ต้องเลื่อนขั้นเลื่อนขั้นเพื่อให้เป็นใหญ่ จนละเลยงานที่ต้องรับใช้ประชาชน

“ผมบอกได้เลยว่า ทุกวันนี้การวิ่งเต้นมีมากถึง 100% แต่การซื้อตำแหน่งผมเชื่อว่ามี 90 % ทุกวันนี้มันมีหลากหลายรูปแบบในการซื้อขาย ทั้งการดูแลกัน ผ่อนส่งบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านรู้กันดี แต่ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวแห่งชาติก็ไม่เคยออกมายอมรับแม้แต่ครั้งเดียว จึงไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง"

แม้จะมีอำนาจจากรัฐบาลพิเศษ โดยเฉพาะความเด็ดขาดจากการบริหารงานของคสช. แต่สำหรับ พ.ต.อ.วิรุฒม์ มองว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะตำรวจ เพราะบ่อนการพนันยังมีอยู่ทั่วไป ตำรวจก็ยังดำเนินการตามปกติ ถ้าพื้นที่มีบ่อนแสดงว่าตำรวจต้องรับเงิน ถ้าไม่รับบ่อนไม่กล้าลง ไม่กล้าเปิดเล่น

“แค่ตกใจชั่วคราวตอนที่เกิดรัฐประหาร แต่พอจับทิศทางได้ ตำรวจก็เหมือนเดิม บ่อนก็มีเหมือนเดิม” พ.ต.อ.วิรุฒม์ ย้ำ

อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ทิ้งท้ายว่า การคัดเลือกตำรวจเข้ารับราชการก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะตรวจสอบแค่ว่าไม่มีประวัติคดีเป็นอันจบ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าคนที่จะเข้ามาเป็นตำรวจมันมีจิตใจดีหรือไม่ เป็นคนจิตใจร้ายที่ต้องการแต่งเครื่องแบบ ได้พกปืนหรือเปล่า เราไม่มีการตรวจสอบ ถ้าเช่นนี้เข้ามาก็โกง ทุจริต ดังนั้นผมไม่ตื่นเต้นกับเรื่องทุจิรตสอบนายสิบ เพราะระดับนายพลเขายังโกงกันจนเป็นเรื่องปกติ

“ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องการให้ปฏิรูปทั้งนั้น เขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตำรวจหาเลี้ยงนาย มันเหนื่อย มันคือระบบขายตรง ที่เอาสิ่งผิดกฎหมายในประเทศเข้ามาหากิน ตำรวจที่มีสิทธิ์ทำเงินได้ถึงหลักร้อยล้านบาทมันมีไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เช่น การจัดการรถตู้ รัฐบาลก็ยังทำไม่สำเร็จ เพราะเขาจ่ายส่วยกัน เพื่อให้เสียค่าปรับตั๋วเด็ก (ราคาถูกลง)” พ.ต.อ.วิรุฒม์ วิพากษ์ตำรวจ

ปปง.ต้องกล้ายึดทรัพย์

ร.ต.อ.วิเชียร ตันศิริคงคล อดีตนายตำรวจที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการด้านตำรวจ จากมหาวิทยาลัยบูรพา เสริมในวงเสวนาว่า กรณีทุจริตสอบคัดเลือกนายสิบตำรวจ เป็นเรื่องที่ชวนคิดว่า การที่จะเข้าไปเป็นตำรวจจะต้องจ่ายเงินระดับแสนบาทเพื่อคดโกงข้อสอบ แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็ได้รับเงินเดือนน้อย เริ่มต้นเมื่อรวมทุกอย่างเพียงแค่ 1.1 หมื่นบาทเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นจะเข้าไปทำไม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อใส่เครื่องแบบแล้วมันจะมาพร้อมกับอำนาจ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ปืน เป็นต้น และสิ่งนี้เองที่นำไปสู่ปัญหาในปัจจุบัน

กรณีประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวทีเ่กิดปัญหาในวงการตำรวจ แต่หลายประเทศกลับเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะยุคที่อยู่กับการเคลื่อนตัว ทั้งสิทธิมนุษยชน ที่นับเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และหน่วยงานไหนที่ละเมิดมากที่สุด คำตอบคือตำรวจ จนกลายเป็นกระแสที่ต้องเกิดการปฏิรูป รวมถึงความเป็นประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อให้นำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นอกจากนี้ ยังมีกระแสการเติบโตของเทคโนโลยี จุดนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการตำรวจ ที่เทคโนโลยีถูกนำมาใช้งาน และประสิทธิภาพประสิทธิผลของตำรวจที่ปฏิบัติงาน ที่ต้องเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

"ทั้งหมดนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจทั่วโลก ยกเว้นเมืองไทยที่ทำในระดับที่ตำ่กว่าประเทศอื่นทำ เราอยู่ในระดับการปฏิรูปที่ต่ำมาก สื่อหลายแขนงสะท้อนออกมาเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจ ทุกวันนี้บ่อนหลายแห่งก็กลายเป็นทหารและฝ่ายปกครองเข้าไปจับ มันสะท้อนถึงคามเฉื่อยชา และผลที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจกับตำรวจ"

ร.ต.อ.วิเชียร กล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดนี้มาด้วยอำนาจพิเศษ หลายคนตั้งความหวังว่า การปฏิรูปภาครัฐอย่าจริงจังน่าจะเห็นผล แต่ปรากฎว่าสองปีที่ผ่านมาการปฏิรูปตำรวจกลับถอยหลัง เกิดการย้อนเวลา โดยเฉพาะงานสอบสวนที่ถือเป็นกระดูกสันหลังของตำรวจ เพราะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้ากระบวนการสอบวนไม่แก้ไข หรือทำได้ไม่ดี เราก็จะเจอแพะอีกไม่รู้กี่ตัว

“สังเกตได้ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือปปง.ไม่เคยยึดทรัพย์นายตำรวจที่ร่ำรวยผิดปกติแม้แต่รายเดียว ทั้งๆ ที่ว่ากันตามจริง เงินเดือนข้าราชการจะทำให้มีทรัพย์สินมากมายขนาดนั้นหรือไม่ ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายที่เราคิดว่ามันดีจะต้องครอบคลุมได้ทั้งหมด ปปง.ก็ต้องเริ่มเข้ามาตรวจสอบ เงินที่ตำรวจหามาอย่างมิชอบ คิดว่าเก็บไว้ให้ลูกหลาน ต่อไปนี้ลูกหลานของเขาก็ต้องไม่ได้ใช้เงินที่ผิดๆ แบบนี้ ต้องเอาให้เขาคิดใหม่ ต้องจริงจัง”ร.ต.อ.วิเชียร เสนอทางแก้ปัญหาตำรวจ