posttoday

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช"

23 มกราคม 2560

ครบรอบ 20 ปีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ชีวิตใหม่ของคนเคยล้ม "ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ....วิศิษฐ แถมเงิน

20 ปีก่อน คงไม่มีใครลืมวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หรือฟองสบู่แตกลงได้

หลังรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจพังครืน เศรษฐีกลายเป็นยาจกชั่วข้ามคืน ผู้คนตกงาน จำนวนไม่น้อยตัดสินใจฆ่าตัวตายจนเป็นข่าวรายวัน ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือบาดแผลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 

ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ คือหนึ่งในตัวละครสำคัญ อดีตเซียนหุ้นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย มีหนี้สินติดตัวนับพันล้าน ต้องผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายแซนด์วิชข้างถนน ด้วยหัวใจไม่ยอมแพ้ กัดฟันสู้ล้มแล้วลุก จนกลับมายืนได้อีกครั้ง ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งประเทศ 

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีวิกฤตฟองสบู่ ชายวัย 67 ปีผู้นี้จะมาถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่าแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา เพื่อเป็นอนุสติแก่คนที่กำลังท้อแท้ ท่ามกลางสถานการณ์น่าเป็นห่วงในยุคปัจจุบัน

ย้อนรอยวิกฤตฟองสบู่แตก วันที่คนไทยล้มทั้งยืน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2540 นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่มีใครไม่รู้จักศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์เอเซียจำกัด โบรคเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า อัศวินม้าขาว จากผลงานการทำกำไรหลายพันล้านให้กับบริษัทมากมาย 

"หลังเรียนจบด้านบริหารการเงินจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ก็กลับมาทำงานตามบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ จนได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์เอเซียจำกัดตั้งแต่อายุ 29 ช่วงนั้นตลาดการลงทุนบูมสุดๆ ผมเคยทำกำไรจากหุ้นได้มากสุดวันละสิบล้าน มีสื่อเชิญไปออกรายการมากมาย เรียกได้ว่าเป็นไอดอลของนักลงทุน ผมหาเงินได้เยอะมาก เป็นคนที่ไม่ว่างเลย ต้องโทรศัพท์ตลอด เช็คข่าวเช็คหุ้น พอมีเงินก็ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ช่วงนั้นผมพักอาศัยอยู่คอนโดมิเนียมเดียวกับคุณเจริญ ศิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับต้นๆของเมืองไทย

ก่อนจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ ไทยถูกมองว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย ทุกคนใช้เงินลงทุนกันเพลิน นักลงทุนเมื่อคิดใหญ่แล้วเงินไม่พอก็ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศซึ่งสามารถกู้ได้โดยตรงไม่ต้องผ่านแบงค์ แถมดอกเบี้ยน้อยกว่าในประเทศ ก็เลยแห่กันไปกู้เงินจำนวนมากมาทำธุรกิจ 

ผมกู้เงินลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมที่เขาใหญ่ห้องละ 5 ล้าน ขายเฉพาะคนรวยเท่านั้น ใช้การลงทุนในตลาดหุ้นแบบมาร์จิน (Margin) อธิบายง่ายๆคือ กู้เงินมาลงทุน พอหุ้นตกก็ถูกบังคับขาย (Forced Sell) พอขายหุ้นจนหมดที่เหลือก็คือหนี้ ยกตัวอย่างเช่น มีหนี้อยู่ 100 ล้าน พอหุ้นตกก็ขายได้ 70 ล้าน เหลือหนี้ 30 ล้าน ดอกเบี้ยก็เดินไปเรื่อยๆ พอเศรษฐกิจมีปัญหา คอนโดที่ผมขายถูกลูกค้าทิ้งเงินดาวน์ ลูกค้าซื้อห้องราคา 30 ล้าน เงินดาวน์ 10 % เป็นเงิน 3 ล้านบาท เมื่อลูกค้าทิ้งเงินดาวน์ ส่วนที่เหลือ 27 ล้าน ผมก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งเศรษฐกิจตอนนั้นจะไปขายใครก็ไม่ได้ ผมถูกบังคับให้ขายหุ้นไปแล้ว 70 % แต่ 30 % ยังอยู่ ดอกเบี้ย 17-19 % ทบกันไปมาสุดท้ายจากหนี้ไม่กี่ล้านกลายเป็นพันล้าน"

ศิริวัฒน์จำได้แม่นถึงวันที่เรียกประชุมพนักงานบริษัทซึ่งมีอยู่ 40 คน เพื่อแจ้งว่าบริษัทต้องปิดตัว ตอนนั้นพนักงานครึ่งหนึ่งลาออก อีกครึ่งหนึ่งกำลังมืดแปดด้าน ไม่มีที่ไป เพราะช่วงนั้นมีแต่บริษัทปิดตัว งานหายาก ลูกน้องจึงมองเขาไม่ต่างจากที่พึ่งสุดท้าย

"คำสอนหนึ่งที่ได้มาจากคุณพ่อคุณแม่คือ อย่าทิ้งลูกน้อง เพราะเขาเหมือนครอบครัวเดียวกับเรา ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่มีวันนี้ ผมปรึกษาภรรยาว่าจะช่วยพวกเขายังไงดี ลำพังตัวคนเดียวอาจจะไปขายประกัน หรือทำบริษัทขายตรงก็ได้ แต่งานเหล่านั้นมันเลี้ยงคนไม่ได้ สุดท้ายภรรยาบอกว่า งั้นเรามาทำแซนด์วิชขายกันเถอะ"

นี่คือจุดเริ่มต้นของตำนานคนสู้ชีวิตที่จะได้รับการกล่าวขานในอีกหลายสิบปีถัดมา

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช"

จากเศรษฐีร้อยล้านสู่พ่อค้าแซนด์วิชข้างถนน

หลังจากศิริวัฒน์คิดได้ว่าเขาไม่ใช่เซียนหุ้น ไม่ใช่เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์คนเก่าอีกต่อไป  บทเรียนแรกที่ได้รับในวันที่ล้มคือ อย่าอายทำกิน 

"เหตุผลที่เลือกขายแซนด์วิชเพราะไม่ต้องลงทุนมาก ผมเช่าตึกแถวห้องเดียวที่ถนนจันทร์ เอาโต๊ะ 4-5 ตัวมาวางพลาสติกคลุมก็ทำแซนด์วิชกันตรงนั้นเลย วันแรกวางขายที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เขาให้พื้นที่เป็นโต๊ะเล็กๆ 1 ตัว ทำไปขาย 20 ชิ้น ชิ้นละ 25 บาท ถือว่าแพงมาก เจ้าอื่นขายแค่ชิ้นละ 8-10 บาท กว่าจะขายหมดใช้เวลา 6 ชั่วโมง หักลบต้นทุนแล้วเหลือไม่เท่าไหร่ ขืนยังเป็นแบบนี้คงไปไม่รอดแน่ๆ 

ผมจึงเริ่มขายเอง เอาหน้าตัวเองนี่แหละเป็นพรีเซนเตอร์ เอาหน้าตัวเองไปให้คนเห็นว่าผมนี่แหละเซียนหุ้น ทำธุรกิจเจ๊ง ต้องมาขายแซนด์วิช อุดหนุนผมหน่อย (หัวเราะ) ใช้วิธียืนถือกล่องคล้องคอขาย แรกๆยืนขายหน้าธนาคาร คนไม่รู้จัก มองอย่างเดียวแต่ไม่ซื้อ บางวันรปภ.มาไล่ พอไล่ผมก็เดินหนี เผลอก็กลับมายืนใหม่ ข้อดีของการขายสินค้าเคลื่อนที่คือ จุดไหนขายไม่ดี ก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย แค่เดินย้ายจุด"

ครั้งหนึ่งขณะกำลังยืนขายแซนวิชอยู่ริมถนนพระราม 4 เพื่อนคนหนึ่งขับรถผ่านมาเปิดกระจกตะโกนถามว่า'เดี๋ยวนี้ขายแซนด์วิชแล้วเหรอ' การทักทายอันห่างเหินเย็นชาแทนที่จะลงมาทักทายโอภาปราศัยตามประสาเพื่อนเก่ากลับเปิดกระจกคุยกันราวกับคนแปลกหน้า ทำให้ศิริวัฒน์รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

"ถามว่าอายไหม อายนะ แต่หลังพิงฝาแล้ว ตอนนั้นเมียผมเซ็นค้ำประกันไว้ต้องแบกรับหนี้ 500 ล้าน ลูกคนโต 16 ขวบ คนกลาง 14 ขวบ คนเล็ก 9 ขวบ ไหนจะต้องเลี้ยงลูกน้องให้อยู่รอด ก็บอกตัวเองว่าต้องหน้าด้านต่อไปวะ ยืนตากแดดแบกกล่องแซนด์วิชขายตามหน้าธนาคาร หน้าโรงเรียน วัด สถานท่องเที่ยว เดินไปตามตรอกซอกซอยยันริมฟุตบาท เคยโดนเทศกิจจับขึ้นรถมาแล้วแต่พูดจนเขายอมปล่อยตัว แม้กระทั่งรุ่นพี่ผมยังเคยชี้หน้าด่าว่า ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น ใช้หัวสมอง ความรู้ความสามารถ คอนเนกชั่น ทำอย่างอื่นที่มันใหญ่กว่าการขายแซนด์วิช ก็ตอบไปว่าผมติดแบล็คลิสต์จะยืมเงินญาติเขาก็ไม่ให้ ก็เลยต้องพึ่งตัวเอง"

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช"

กลเม็ดการขายตามแบบฉบับของศิริวัฒน์แซนด์วิชคือ ไม่ตื๊อ ไม่ยัดเยียด หากลูกค้าต้องการก็จะเดินมาซื้อเอง วันนี้อาจลองซื้อชิม วันหน้าถ้าติดใจเขาจะกลับมาซื้อเอง แค่ทำสินค้าให้ดีไว้ในทุกๆวันก็พอ

"ที่ราคาแซนด์วิชผมแพงเพราะใช้ขนมปังอย่างดีของยามาซากิ เราเน้นใช้ของสด ขายแบบวันต่อวัน ขายไม่หมดก็ให้ลูกน้องเอากลับไปกินที่บ้านหรือไม่ก็บริจาค จะไม่มีการนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อขายในวันรุ่งขึ้นเป็นอันขาด เพราะคุณภาพมันจะเปลี่ยน คนมาซื้ออาจซื้อเพราะสงสารเห็นใจผม แต่ความสงสารมันมีอยู่แค่ชิ้นแรกชิ้นเดียวเท่านั้น ถ้าคุณไม่ซื่อสัตย์กับเขา ไม่สด ไม่สะอาด ไม่อร่อย เขาจะไม่ซื้อชิ้นที่สองชิ้นที่สาม แล้วอาจไปบอกต่อก็ได้ว่า 'เฮ้ย ไอ้ศิริวัฒน์แม่งโกง อย่าไปอุดหนุนมัน' ดังนั้นผมบอกพนักงานทุกคนอยู่เสมอว่าเราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า คนที่สงสารจะซื้อแค่ชิ้นเดียว แต่คนถูกใจจะซื้อเราทุกวัน นี่คือสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอด"

ศิริวัฒน์บอกอีกว่า เถ้าแก่ต้องลงมือเอง ยิ่งธุรกิจขนาดเล็ก ยิ่งต้องลุยเอง เพราะความเอาใจใส่จะทั่วถึง

"ถ้าธุรกิจไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก การที่เถ้าแก่ลงมาใส่ใจรายละเอียด นอกจากจะได้ใจลูกค้า เช่น พอเขาเห็นผมมายืนขายแซนด์วิชก็บอก 'โอ้โห เถ้าแก่ลงทุนมาขายเองเลย' สิ่งที่ได้รับตามมาคือ เถ้าแก่สามารถรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ดีกว่าให้ลูกจ้างมานั่งรายงานเมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้ว อีกอย่างที่เป็นผลพลอยได้คือลูกจ้างจะไม่อู้ เพราะเถ้าแก่อยู่ด้วยตลอดเวลา

การจะประสบความสำเร็จ คุณต้องขยัน ท้อได้แต่ต้องอดทน ไม่ใช่ว่าขายไม่ดีแล้วเลิก ผมขายน้อยได้น้อย ดีกว่าขายเยอะแล้วเจ๊ง ผมเดินมาถึงจุดที่รู้ซึ้งแล้วว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน คุณต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมเคยเล่นหุ้นได้วันละสิบล้าน วันนึงต้องมาขายแซนด์วิชได้กำไรไม่กี่ร้อย ผมก็ต้องทำ วันก่อนไปถนนข้าวสารขายของได้ 675 บาท ดีใจมาก เฮ้ย กูไม่ได้กลับบ้านมือเปล่าโว้ย (หัวเราะ) ต่างจากสมัยก่อนเล่นหุ้นได้ 2 แสน ก็จะอยากได้เพิ่้มเป็น 4 แสน ความโลภอยากได้เยอะๆมันทำให้เราไม่มีความสุข บทเรียนที่อยากจะฝากไปยังผู้ประกอบการรุ่นใหม่คือ การเริ่มธุรกิจควรเริ่มจากขนาดเล็กๆ ลองผิดลองถูกไปก่อน หากไปได้ดีค่อยขยายเพิ่มเติม ในทางกลับกันถ้าไปไม่รอดจะได้ไม่เจ็บตัวมาก ระวังอย่าทำอะไรใหญ่เกินตัวหรือโลภ เพราะโอกาสผิดพลาดมีสูงมาก ยิ่งถ้าไม่ใช่เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน มีเงินเท่าไหร่ก็หมด"

คำสอนอีกข้อที่ศิริวัฒน์ให้ลูกๆให้จำไว้เสมอและทำให้ดูอยู่ตลอดคือ พึ่งตัวเอง 

"ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเราพึ่งตัวเองมากๆ สิ่งที่ได้รับระหว่างการทำธุรกิจคือประสบการณ์ที่โรงเรียนไหนก็ไม่มีสอน อยากให้คิดว่าที่เราเหนื่อยคือการลงทุน วันหนึ่งเมื่อประสบความสำเร็จ นอกจากเงินทองที่ได้รับแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความภาคภูมิใจ"

คืนความสุขให้สังคม

ไม่น่าเชื่อว่า ผ่านมา 20 ปีวันนี้ศิริวัฒน์ลุกขึ้นสู้จนสามารถปลดหนี้พันล้านบาทได้สำเร็จ พ้นจากสถานะบุคคลล้มละลาย กลายเป็นตำนานคนสู้ชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนนับล้าน

ปัจจุบัน บริษัท ทีจีไอเอฟ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด ดูแลธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ตั้งแต่แซนด์วิช ซึชิข้าวกล้องห่อสาหร่าย ปิต้าแซนด์วิช ข้าวกล้องอบกรอบ และน้ำเม่าเบอร์รี่ รวมทั้งยังเปิดบริการร้าน SIRIdeli ในโรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลพญาไท 3 ความฝันของศิริวัฒน์คือ อยากจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน

"สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือ โครงการศิริวัฒน์แซนด์วิชช่วงปิดเทอมให้เด็กๆที่สนใจหารายได้พิเศษมาช่วยขาย ทำมา 13 ปีแล้ว ประสบความสำเร็จมาก ทำให้เด็กๆได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเรียนรู้การทำธุรกิจด้วยตัวเอง สองเดือนที่ปิดเทอม บางคนหาเงินได้ 2 หมื่น บางคนได้ถึง 5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับความขยัน

อีกโครงการที่ผมภูมิใจคือ น้ำเม่าเบอร์รี่ ทำตั้งแต่ปี 2553 สมัยก่อนเกษตรกรอ.ภูพาน สกลนคร ปลูกลูกเม่าขายได้แค่กิโลละ 20-25 บาท ขายใส่ถาดละ 7-8 บาท บางทีเหลือมากๆเขาเททิ้งเลยนะ เพราะคนไม่ค่อยกินกัน ผมเห็นว่าสินค้าตัวนี้ดี เป็นผลไม้ท้องถิ่นของไทย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ผมต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยเลยทำเป็นน้ำมะเม่ามาขายตามห้าง แต่ลูกค้าไม่มั่นใจเลยไม่กล้าซื้อ ตอนหลังพอเปลี่ยนชื่อเป็นน้ำเม่าเบอร์รี่วางขายที่มินิบิ๊กซีทั่วประเทศ ปรากฎว่าคนชอบเพราะดื่มแล้วสดชื่น มีประโยชน์ ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ถวายเป็นน้ำปาณะให้พระก็ได้ เดี๋ยวนี้เกษตรกรสกลนครหันมาปลูกลูกเม่ากันเยอะ ราคาตอนนี้พุ่งเป็นกิโลกรัมละ 50 บาทแล้ว" เขายิ้มกว้างอย่างปลาบปลื้ม

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช"

ศิริวัฒน์บอกว่า ทุกวันนี้แนวคิดการทำธุรกิจจะนึกถึงเกษตรกรเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำอาหารหรือเครื่องดื่ม วัตถุดิบจะต้องเป็นผลผลิตที่ขึ้นจากแผ่นดินไทยเท่านั้น

"สมัยก่อนผมทำธุรกิจแบบเห็นแก่ตัว คิดคนเดียว ทำคนเดียว รวยคนเดียว ยามมีปัญหาก็เลยเจ๊งไปคนเดียวตามยถากรรม เพราะว่าไม่เคยเผื่อแผ่ใคร จึงไม่มีใครมาช่วย วันนี้ผมกลับมาใหม่ สร้างธุรกิจให้อยู่อย่างยั่งยืน ไม่ทำให้ตัวเองรวยคนเดียว คืนความสุขและเงินให้คนที่ผมร่วมงานด้วยอย่างโรงงานและเกษตรกร ทำให้ผมมีความสุขอย่างแท้จริง แม้จะไม่ได้รวยเป็นร้อยล้านพันล้าน ผมอยากเป็นเศรษฐีที่แบ่งปันให้กับสังคม นั่นคือ ช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ที่มีภูมิปัญญาแต่ไม่มีโอกาส หมายความว่าปลูกเป็น ทำเป็น แต่ขายไม่เป็น กำไรจากการขายน้ำเม่าเบอร์รี่ ผมจะนำส่วนหนึ่งไปใช้ในการเป็นเจ้าภาพร่วมพิธีบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์และเณรตามวัดต่างๆที่ขาดแคลนปัจจัย ถ้าคุณอุดหนุนน้ำเม่าเบอร์รี่ผม คุณก็จะได้ความอร่อย มีประโยชน์ แถมยังอิ่มบุญด้วย"

ที่ผ่านมา คำถามที่ได้รับอยู่บ่อยครั้งก็คือ ถ้าวันหนึ่งรวยแล้วยังจะมายืนคล้องคอขายแซนด์วิชไหม ศิริวัฒน์ยืนยันว่าต่อให้บริษัทเข้าตลาดหุ้น ก็จะเห็นประธานบริษัทคนนี้เดินคล้องคอขายแซนด์วิชเหมือนเดิมแน่นอน เพื่อเตือนสติว่ารากเหง้าของเขานั้นมาจากข้างถนน

"ทุกวันนี้ยังออกไปขายอยู่นะ (หัวเราะ) แต่ไม่ได้ยืนแบกกล่องขายเองคนเดียว 4-5 ชั่วโมงแล้ว แบกไม่ไหว เดี๋ยวนี้ต้องไปกับลูกน้อง สมมติเอาไป 50 ชิ้นเหลือ 20 ชิ้น มากูแบกเอง ต่างจากสมัยก่อน 50 ชิ้น ผมแบก ลูกน้องยืน เพราะต้องเอาตัวเราเป็นจุดขาย เวลาผมไปขายลูกค้าจะเข้ามาชื่นชม ให้กำลังใจ อุดหนุนผม ถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะหยุดออกไปเดินตามถนน ก็จนกระทั่งผมไม่ไหวแหละครับ แต่วันนี้ผมอายุ 67 ยังเดินไหวอยู่"

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ศิริวัฒน์ยังเดินสายบรรยายเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การเงิน ตลาดหลักทรัพย์ และประสบการณ์ชีวิตทั้งในและนอกประเทศมากกว่า 200 แห่ง รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนรวมทั้งสิ้นกว่า 500 ครั้ง พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าชีวิตของเขานั้นควรค่าแก่การศึกษา

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช"

วันนี้ขอรวยแบบพอเพียง

ในฐานะอดีตนักลงทุน เซียนหุ้น นักธุรกิจ มองสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันอย่างไร ศิริวัฒน์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า

"วันนี้เรากินบุญเก่าจนหมดแล้ว บุญเก่าที่คนรุ่นก่อนสะสมมา สังคมเราเดินทางผิด ฟุ้งเฟ้อมาตลอด วันนี้ถึงมีหนี้สินภาคครัวเรือนมากกว่า 80 % ของจีดีพี ประเทศเรามี 67 ล้านคน กว่า 30 ล้านคนเป็นหนี้อยู่ถึง 10 ล้านล้านบาท ผมเคยบอกไว้ว่า ปี 57 เศรษฐกิจไม่ดี ปี 58 จะแย่กว่า ปี 59 จะแย่กว่าปี 58 แล้ววันนี้ปี 60 ก็จะหนักขึ้นไปอีก เพราะหนี้มันไล่เรามาเรื่อย และนี่คือหนี้ของคน 30 ล้านคน สมัยปี 40 ที่เจ๊งคือนายทุน 2 แสนคน แต่นี่ 30 ล้านคนมันคนละเรื่องกันเลยนะ ฉะนั้นผมแนะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ สร้างภูมิคุ้มกัน เดินสายกลาง พึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งคนอื่น ปี 40 ผมล้มทั้งยืน ผมอดทน ยอมประหยัดทุกอย่าง ใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะกลับมาได้ถึงจุดนี้ ฉะนั้นวันนี้คุณจะเดินต่อทางเดิมหรือจะหยุดแล้วเปลี่ยนแปลงชีวิตเสียใหม่"

จากเคยเป็นเศรษฐีแล้วเจ๊งเป็นบุคคลล้มละลาย อยากจะกลับมารวยอีกไหม  

"บอกตรงๆว่าอยากจะกลับมาเป็นเศรษฐี แต่แนวคิดเปลี่ยนไปจากเศรษฐีที่ไม่รู้จักพอ มาเป็นเศรษฐีแบบพอเพียง สมัยก่อนมีหนึ่งล้านก็อยากได้สิบล้าน มีสิบล้านก็อยากได้ร้อยล้าน พันล้าน ผมโลภ ลืมตัว หลงไปกับความหอมหวานจอมปลอมของเศรษฐกิจ ทำให้ล้มละลาย เมื่อผ่านมาได้จะไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นซ้ำสองอีก

ผมเคยร่ำรวย แต่รวยคนเดียว ในที่สุดผมก็เจ๊ง วันนี้ผมพลิกกลับมาได้เพราะสังคมช่วยผม อุดหนุนผม เขาช่วยเรา ทำให้ชีวิตเรามีค่า วันนี้ชีวิตผมเป็นคนมีค่าแล้ว ผมก็ต้องทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า เหมือนกับที่สังคมทำให้ชีวิตผมมีค่า บทเรียนชีวิตที่ได้มาจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมาคือ รู้จักพอ อย่าประมาท อย่าโลภ พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี อย่าไปเบียดเบียนคนอื่น ประสบการณ์ชีวิตที่ได้มาไม่ใช่เงินทองยศฐาบรรดาศักดิ์ที่จะทำให้เรารวยอย่างมีความสุข หรือประสบความสำเร็จในชีวิต ผมเคยได้ยินเจอประโยคหนึ่งแล้วชอบมากๆคือ ชีวิตที่มีค่าไม่ใช่ชีวิตที่ร่ำรวย มีเกียรติ หรืออายุยืน แต่ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเองเป็นคนมีคุณค่า และทำให้ชีวิตคนอื่นมีค่า"

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนล้ำค่าที่แลกมาด้วยการล้มลุกคลุกคลาน หยาดเหงื่อ และคราบน้ำตา เป็นสิ่งที่ศิริวัฒน์เต็มใจจะบอกเล่าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น ภายใต้ความหวังว่าจะไม่มีใครผิดพลาดเหมือนเขาอีก

หมายเหตุ-ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "เถ้าเเก่(ข้างถนน)สอนลูกรวย" สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี

ติดตามความเคลื่อนไหวของศิริวัฒน์แซนด์วิชได้ที่ https://www.facebook.com/sirivatsandwich/?fref=ts

 

20 ปีวิกฤตฟองสบู่แตก วันนี้ของ "ศิริวัฒน์แซนด์วิช" ภาพจาก Sirivat Sandwich ศิริวัฒน์แซนด์วิช