posttoday

ทหารต้องถอยออก "ปรองดอง" ถึงจะเดินหน้า

22 มกราคม 2560

"ไม่จำเป็นต้องไปทำสัตยาบันอะไรทั้งสิ้น คุณจะไปบังคับคนให้มากินเหมือนกันหมด มันทำไม่ได้ แต่ละคนไม่ใช่เด็กๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือกลุ่มภาคประชาชนทุกสี"

โดย...ศุภชัย แก้วขอนยาง และ ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา คสช.ขับเคลื่อนประเทศในหลายด้าน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม

แต่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้นกลับยังไม่มีความคืบหน้าเท่าไหร่นัก ทั้งที่เป็นนโยบายลำดับต้นๆ ที่ คสช.ประกาศว่าจะทำให้สำเร็จก่อนส่งมอบประเทศผ่านการเลือกตั้ง

กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ดำเนินการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เพื่อเดินหน้าในสองเรื่องสำคัญของประเทศ คือ การปฏิรูปประเทศ และการสร้างความปรองดอง

ทว่าในมุมมองของ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานกับทุกกลุ่มการเมืองมาก่อนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลับนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ว่าการเริ่มต้นการปรองดองในเวลานี้ แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วยังเป็นปัญหาอยู่ อันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรองดองอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ คสช.ตั้งใจไว้

อดุลย์ มองว่า การตีฆ้องร้องป่าวเรื่องการสร้างความปรองดองครั้งนี้น่าจะมีความตั้งใจกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะประชาชนได้มีการเรียกร้องมาตลอดตั้งแต่ คสช.เข้ามาทำการยึดอำนาจ ประชาชนเฝ้ารอมาตลอด จนกระทั่งตอนนี้ 3 ปีแล้วก็เพิ่งจะมาเอาจริง ที่ผ่านมา สปช.ได้ทำการศึกษาไว้ครบถ้วนแล้ว ซึ่งไม่ได้เริ่มต้นจากการนิรโทษกรรม

“การตั้งคณะกรรมการปรองดองยังมีข้อสงสัยอยู่ เพราะทำไมคนที่มาทำหน้าที่ถือธงนำในการปรองดองจึงเป็นทหารทั้งหมด มันไม่ถูก เพราะทำให้อึดอัด เราจึงมองว่าโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้นน่าจะมีปัญหา ถ้ามีปัญหาเมื่อไหร่ รัฐบาลกับคณะกรรมการปรองดองชุดนี้จะถูกมองว่ายื้อเวลาเหมือนเดิม”

“จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคนที่ธงนำ คือ คสช.เป็นคู่กรณีเอง หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทุกเหตุการณ์กองทัพก็เป็นคู่กรณี ผู้นำในการยึดอำนาจรัฐประหารเป็นคู่กรณีทั้งนั้น เมื่อเป็นคู่ขัดแย้งแล้วจะมาเป็นกรรมการกลางมันจะเกิดอะไรขึ้น”

ฝ่ายทหารพยายามอ้างว่าปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากการที่ประชาชนสองฝ่ายขัดแย้ง ทหารจึงเป็นคนกลางที่เข้ามาห้าม ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา? อดุลย์ ตอบว่า

“อันนี้คงจะฟังไม่ได้ เพราะช่วงหนึ่งที่ประชาชนถูกนักการเมืองหรือรัฐบาลและฝ่ายค้านปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาทะเลาะกัน ช่วงนั้นเห็นชัดว่าทุกฝ่ายเรียกร้องให้ทหารออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรง ทำไมตอนนั้นทหารไม่ทำหน้าที่
แต่กลับปล่อยให้บานปลายจนหาทางออก และคุณก็เข้ามา”

“ประชาชนไม่ได้โง่นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่คุณจะเรียกทุกฝ่ายเซ็นเอ็มโอยูปรับความเข้าใจ ผมก็ต้องถามว่าแค่นั้นเหรอ คุณจะฮั้วกันแค่นี้เหรอ แล้วประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดเขาจะเห็นด้วยเหรอ”

"ยืนยันว่าการสร้างความปรองดองไม่ได้ล้มเหลว เพียงแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่คราวนี้เมื่อมีการเริ่มต้นจะทำ ผมก็ถือว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย การเริ่มต้นตอนนี้ก็ยังดี การประนีประนอมต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร การจะทำให้สำเร็จต้องมาจากความจริงใจและต้องหาคนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยไม่ได้เป็นคนที่เป็นคู่ขัดแย้ง อีกทั้งเท่าที่ทำงานและประสานงานกับหลายฝ่ายที่ผ่านมา พบว่าอยากได้คนกลางเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้"

ทหารต้องถอยออก "ปรองดอง" ถึงจะเดินหน้า

อดุลย์ ขมวดว่าโมเดลที่จะทำให้การสร้างความปรองดองประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากความจริงใจ โดยให้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมาเป็นผู้ถือธงนำ ส่วน คสช.ต้องถอยออกมาและคอยสนับสนุนในฐานะผู้มีอำนาจ
เต็มเท่านั้น

“ในเชิงกระบวนการถือว่าใช้ได้ ซึ่งประชาชนก็เห็นด้วย แต่วิธีการโดยทหารมานำนั้นมันไม่ใช่ โดยทหารควรนั่งอยู่ข้างๆ คอยสนับสนุนเท่านั้น เพราะทหารเป็นคู่กรณีด้วยจึงมาอ้างว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องไม่ได้ ถ้าจะทำให้การปรองดองประสบความสำเร็จต้องมีเงื่อนไข คือ รัฐบาลต้องจริงใจที่อยากให้ประสบความสำเร็จ มิฉะนั้นก็เสียของเหมือนเดิม”

“รัฐบาลในฐานะภายใต้การสนับสนุนของร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการแต่งตั้ง สว.ในอนาคต อย่างไรก็แล้วแต่เราเห็นภาพชัดว่า
พล.อ. ประยุทธ์ จะต้องเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแน่นอน และผมก็เห็นด้วย มันไม่มีทางออกอย่างอื่น อย่าไปตีกันอีกเลย อยากจะเป็นก็เป็นเลย เพราะบ้านเมืองเดินมา 3-4 ปีแล้ว ถ้าขืนไปเปลี่ยนคนใหม่ก็ต้องมีรูปแบบอีกและจะยุ่งกันอีกรอบ บอกตรงๆ จึงไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก”

“ไม่จำเป็นต้องไปทำสัตยาบันอะไรทั้งสิ้น คุณจะไปบังคับคนให้มากินไข่เจียวเหมือนกันหมด กินแกงใต้เหมือนกันหมด จะไปให้กินแจ่วเหมือนกันหมดเหรอ มันทำไม่ได้ แต่ละคนไม่ใช่เด็กๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือกลุ่มภาคประชาชนทุกสี ทุกคนมีศักดิ์ศรีที่ถูกบ่มเพาะมายาวนาน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร”

สำหรับเรื่องของคนกลางที่จะสามารถถือธงนำการสร้างความปรองดองได้นั้น ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 จะต้อง
เป็น “นพ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส และ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี  เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและ
ไว้วางใจ

“เวลานี้นายกฯ ประยุทธ์ ถือไพ่เหนือกว่าใครทุกคน มีอำนาจมาตรา 44 เต็มที่ 100% แต่การจะทำให้สำเร็จต้องหาตัวบุคคลที่นำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งผมคิดว่าบุคคลที่ให้การยอมรับสูง คือ นพ.ประเวศ ซึ่งมาจากภาคประชาชนโดยแท้ และไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ท่านอายุมากแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านจะรับหรือไม่”

“อีกคน คือ ท่านนายกฯ อานันท์ ท่านยังเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอยู่ ซึ่งแม้แต่ทหารก็น่าจะยอมรับ เพราะท่านเองสามารถทำให้ความบาดหมางระหว่างญาติวีรชนในเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 กับทหาร ได้จางลงไป แม้จะไม่ยุติโดยสมบูรณ์แต่ก็สามารถทำให้เกิดความประนีประนอมยอมกันได้ อย่าว่าแต่เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. ผมคิดว่าท่านอานันท์ได้รับการยอมรับสูง”

“ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว เพียงแต่ละเดินหน้าสร้างกระบวนการให้เป็นที่ยอมรับ หากนายกฯ ประยุทธ์ซึ่งจะเป็นนายกฯ คนต่อไปถ้าเอาจริงมันก็ไม่มีปัญหาหรอก ท่านเดินต่อได้เลย ใช้กระบวนการกฎหมายปกติทั้งในส่วนของตำรวจ อัยการ ศาล ก็เดินไปได้” อดุลย์ ระบุ

สาเหตุและปัจจัยที่มีผลให้การสร้างความปรองดองไม่มีความคืบหน้าเกิดจากอะไร? อดีตกรรมการศึกษาการปรองดอง สรุปว่า ประกอบด้วย 1.ปัญหาอุดมการณ์ทางการเมือง 2.ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และ 3.ขาดความจริงใจจาก คสช.และรัฐบาล

“หนึ่ง ปัญหาเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะแต่ละคนยึดในคัมภีร์ของตัวเองไม่ยอมให้กันเลย สอง คู่ขัดแย้งไม่ไว้วางใจ เพราะไม่มีคนมาทำให้ไว้วางใจ และหาคนที่สามารถไว้วางใจมาเป็นคนกลางไม่ได้ สาม รัฐบาลและ คสช.ยังไม่จริงใจที่จะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ ไม่มีความตั้งใจจริง”

“เท่าที่เคยประสานงานกับนักการเมืองและกลุ่มการเมืองพบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดการปรองดอง เพราะเขาถือว่าการปล่อยให้เป็นในสภาพแบบนี้ ประเทศชาติจะมีความเสียหายหนักเดินหน้าไปไม่ได้ และนับวันจะเสียหายหนักมากขึ้น เขายอมรับว่าในเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วการที่ คสช.จะสืบทอดอำนาจต่อไป ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

“สิ่งที่ต้องคำนึง คือ เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้และคุณก็คิดว่าได้เวลาอันเหมาะสมที่จะเริ่มการสร้างความปรองดองแล้ว ก็ต้องทำให้มันสำเร็จ เพราะถ้าทำไม่สำเร็จ ผมขอบอกตรงๆ เลยว่าไม่กล้ามโนเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

“มีอดีตนายกฯ อย่างน้อย 3-4 คนพูดกับผมว่าตราบใดที่การปรองดองและความสามัคคียังไม่เกิดขึ้น อย่าหวังว่าบ้านเมืองจะเดินไปสู่การปฏิรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทหารตั้งเป้าไว้ ไม่มีทางเลย เพราะอย่างไรก็แล้วแต่จะต้องมีคนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย” อดุลย์ สรุป