posttoday

ถึงเวลาติดดาบเอาผิด มหา’ลัยพร่องจริยธรรม?

04 มกราคม 2560

"มหาวิทยาลัยบางแห่งยอมทำผิดจริยธรรมเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ บางที่มีเบี้ยประชุมครั้งละ 1 หมื่นบาท นายกสภาฯ มีเงินรับรองสูงมาก ส่งผลให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์กันในสภา"

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

“มหาวิทยาลัยทุกแห่งมี พ.ร.บ.เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะในกำกับรัฐหรือของเอกชน มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการตัวเอง เป็นไปตามแนวคิดเมื่อ 15 ปีก่อนที่มองว่า สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งเป็นเหมือนคนดี ที่เมื่อมีเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ทุกแห่งก็จะนำไปปฏิบัติเหมือนๆ กัน แล้วหากที่ไหนไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้จะทำอย่างไร ก็ต้องตอบว่า ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีบทลงโทษกำหนดไว้”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “การตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลในรั้วสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมปัญญาชน ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ตามที่ สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุ

เหตุที่ต้องมีการตั้งคำถามเรื่องนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาพบปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื้อรังจน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เข้าไปกำกับดูแล

13 ก.ค. 2559 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมเพื่อเข้าไปเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง ที่ถูกใช้มาตรา 44 ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล คือ มหาวิทยาลัยบูรพาไร้ซึ่งอธิการบดีมายาวนานกว่า 6-7 ปี เกิดการฟ้องร้องและความแตกแยกในสถาบัน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มีปัญหาความขัดแย้งภายใน

เลขาธิการ กกอ. เล่าว่า ปัญหาธรรมาภิบาลที่พบในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งระดับผู้บริหาร อย่างสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี ผู้มีอำนาจในการบริหารงานมหาวิทยาลัยที่เป็นอิสระ เป็นปัญหาเรื่องคน ความขัดแย้งเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงาน อำนาจ และผลประโยชน์

“ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนปัญหาในสถาบันอุดมศึกษามากมาย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า 50% ของเรื่องที่ร้องเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีมูล หรือเป็นเพียงการร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งกัน และใน 50% ที่เป็นเรื่องที่มีมูล มีเพียง 25% เท่านั้นที่นับว่าเป็นปัญหาจริงๆ เพราะหลายเรื่องเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยแก้ไขกันเองเป็นการภายในได้ เพราะมีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว

แต่ละเดือนมีปัญหาร้องเรียนมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หลายร้อยเรื่อง ช่องทางการร้องเรียนของรัฐนั้นไม่แยกว่าเรื่องไหนจริง ไม่จริง เราต้องเข้าไปตรวจสอบทั้งหมด

ปัญหาที่พบมาก เช่น เรื่องของผู้สอนที่ไม่มีคุณสมบัติตรวจวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ถ้าไม่มีการร้องเรียน เราก็ไม่มีทางรู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละแห่งบ้าง นักศึกษาทั้งหมดแต่ละปี มีประมาณ 2 ล้านกว่าคน มีมหาวิทยาลัย 155 แห่ง ถ้ามีการจัดการเรียนการสอนที่ต่ำกว่าเกณฑ์เกิดขึ้น เราทำได้แค่เข้าไปตักเตือน ไปขอความร่วมมือ บอกให้ไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น หรือหากไปตรวจตามที่มีการร้องเรียนและพบว่าสถาบันนั้นๆ ผิดจริง สิ่งที่เราหวังได้ก็คือ สถาบันนั้นจะเกิดความละอาย กลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง”

เลขาธิการ กกอ. ระบุว่า ปัญหาธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการบริหารสถาบันอุดมศึกษาเป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องตระหนัก กรณีที่มีการร้องเรียนจากนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง ในเรื่องปัญหาเชิงคุณภาพ การเรียกรับผลประโยชน์แลกกับผลการเรียน รวมไปถึงพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตส่งผลเสียหายต่อคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย แต่กรณีดังกล่าวก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น

ปัจุบัน สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนรวมกันทั้งหมด 9,000 กว่าหลักสูตร ทั้งโครงสร้างและเนื้อหาเป็นเรื่องที่ สกอ.เข้าไปกำกับดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้ ที่พบเป็นปัญหามากที่สุด คือ การศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งเรื่องมีสถาบันบางแห่งไม่มีสถานภาพเป็นศูนย์นอกสถานที่ตั้งและที่พบมากที่สุดคือเรื่องคุณภาพ เรื่องผู้สอนไม่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด เรียนจบไม่ตรงสาขา โดยพบว่ามีการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งที่ไม่มีคุณภาพสูงถึง 80%

“อีกประเด็นหนึ่งที่เรายกเลิกเกณฑ์กำกับไปเมื่อ 15 ปีก่อน และปัจจุบันกลายเป็นปัญหาในบางสถาบัน นั่นก็คือสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา เช่น ต้องจ้างอาจารย์ 1 คนต่อนักศึกษา 80 คน การยกเลิกเกณฑ์นี้ไปเมื่อปี 2547 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพการสอนตามมาในที่สุด

มีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บอกว่ารับนักศึกษามาแล้ว 3,000 คน เราถามว่า มีอาจารย์ผู้สอนกี่คน เขาก็บอกมาว่ามี 12 คน สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันดังกล่าว คือจัดการเรียนการสอนแบบ 1 : 600 แต่จากการตรวจสอบในรายละเอียดก็พบด้วยว่า แม้ผู้สอนจะมีคุณสมบัติตรงตามหลักสูตร แต่ในจำนวนอาจารย์ 12 คนนั้น 6 คน มีสถานะกำลังอยู่ในระหว่างไปเรียนต่อ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริงตามที่ได้แจ้งไว้

เราพบอีกว่ามหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดบางแห่งเปิดสอนหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ โดยมีอาจารย์ผู้สอน 10 คน แต่รับนักศึกษาเข้ามาเรียนถึง 6,000 คน แม้จะพบว่าเป็นอย่างนี้ เราก็ทำอะไรสถาบันนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีเกณฑ์เอาผิด แต่ละคณะวิชามีสภาวิชาชีพกำหนดสัดส่วนอาจารย์ เช่น คณะนิติศาสตร์นั้นต้องมีอาจารย์ต่อนักศึกษา 1 : 50 แพทย์ 1 : 4 พยาบาล 1 : 6 สิ่งเหล่านี้เป็นช่องโหว่ให้เกิดการหากินกับนักศึกษา เรื่องนี้เป็นปัญหาธรรมาภิบาลของสภามหาวิทยาลัย”

สุภัทร ระบุว่า มหาวิทยาลัยบางแห่งยอมทำผิดจริยธรรมเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ บางที่มีเบี้ยประชุมครั้งละ 1 หมื่นบาท นายกสภาฯ มีเงินรับรองสูงมาก ส่งผลให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์กันในสภา เงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการโน้มน้าวให้เกิดการละเลยจริยธรรม

“สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการเปิดหลักสูตร เขาแค่แจ้งและให้เราตรวจสอบตอนแรกว่าหลักสูตรทำตามเกณฑ์ สกอ.แล้ว เฉพาะตอนขอเปิดหลักสูตร แต่เมื่อเปิดสอนจริงอาจจะมีการแอบเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เรื่องแบบนี้สภามหาวิทยาลัยเองก็อาจจะไม่รู้เพราะไม่เคยเปิดดูรายละเอียดคณะที่ขอเปิดเลยด้วยซ้ำ ขณะที่ สกอ.ก็ไม่มีทางรู้ได้เลย ถ้าไม่มีการร้องเรียนในเรื่องที่ว่านี้

ทำไมถึงอยากเปิดหลักสูตรหรือคณะวิชา เพราะระบบที่ออกแบบกันไว้ กำหนดให้เงินค่าลงทะเบียนเรียน 80% ตกเป็นของคณะ สมมติว่าคณะนั้นๆ ทำเงินได้ 100 ล้านบาท จะมีเงิน เพียง 20% เท่านั้นที่มอบให้ส่วนกลาง เพราะถือว่าคณะเป็นผู้หาเงินเอง รายได้ของมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องส่งคืนคลัง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อเปิดคณะวิชาเพื่อหาเงินโดยไม่สนใจคุณภาพ หนักกว่านั้นคือไม่ต้องเรียนก็จบการศึกษาได้ เพราะจ่ายค่าลงทะเบียนครบ การทำอย่างนี้คืออาชญากรการศึกษา ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าทำอย่างนี้จริงแล้วทำไม สกอ.จึงไม่มีอำนาจจัดการพวกเขาไปจากระบบการศึกษา ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาอีก”เลขาธิการ กกอ. กล่าว