posttoday

จับจริงปรับจริง มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า

31 ธันวาคม 2559

คนเดินเท้าในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชน อันเกิดจากการขาดจิตสำนึก ไม่เคารพกฎหมายขับขี่จักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

คนเดินเท้าในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชน อันเกิดจากการขาดจิตสำนึก ไม่เคารพกฎหมาย กฎระเบียบของบ้านเมือง เห็นแก่ความสะดวกรวดเร็วของตนเองจึงขับขี่จักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า ภาพเช่นนี้มีให้พบเห็นทั่วทุกแห่ง

ที่ผ่านมาทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล จัดโครงการ “คืนความปลอดภัยบนทางเท้าให้ประชาชน” เพื่อคุมเข้มบังคับใช้กฎหมายกับรถจักรยานยนต์ที่ฝ่าฝืนวิ่งบนทางเท้า โดยจะให้ทุก สน.ไปสำรวจจุดพื้นที่ที่มีปัญหา สน.ละ 1 จุด มุ่งเน้นบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้า หน้าสถานศึกษา และจุดที่ปัญหารถติด หลังจากนั้นจะให้แต่ละ สน.จัดกำลังพลสายตรวจจราจรหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันออกตรวจตรา หากพบผู้กระทำความผิดสามารถจับปรับได้ทันที โดยมีอัตราโทษปรับ 400-1,000 บาท ตามมาตรา 43 (7) ว่าด้วยห้ามเดินรถบนทางเท้า พ.ร.บ.จราจร พ.ศ. 2522

ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบสถิติการจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เฉพาะในปี 2559 มีจำนวนถึง 9,514 ราย รวมยอดค่าปรับกว่า 7.2 ล้านบาท แม้จะมีกฎหมาย 2 ฉบับ ในการควบคุมดูแลความปลอดภัยให้คนเดินเท้า แต่จำนวนผู้ละเมิดกฎหมายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จับจริงปรับจริง มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำทันทีคือ การแก้ปัญหารถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งได้รับการร้องทุกข์จากประชาชนทั่วทุกพื้นที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก  6 เส้นทางที่มีปัญหาสูงสุด ได้แก่ 1.ถนนสุขุมวิท 2.ถนนพระราม 4 3.ถนนเพชรบุรี 4.ถนนพหลโยธิน 5.ถนนรัชดาภิเษก และ 6.ถนนจรัญสนิทวงศ์ จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจทุกสำนักงานเขต ลงพื้นที่เข้มงวดกวดขัน จับจริง ปรับจริง สูงสุด 5,000 บาท หากประชาชนพบเห็นสามารถแจ้งร้องเรียนบริเวณที่มีปัญหาได้ที่สายด่วน 1555

ทางฝั่งของสังคมโซเชียลกำลังร่วมกันรณรงค์สร้างจิตสำนึกผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อาทิเพจ “ลงขันความคิด ปฏิรูปประเทศไทย” และ “เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์” ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอภาครัฐ จากนั้นทำการทดลองด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทางเท้าเป็นสิทธิที่จะเดิน ดังนั้นอย่าหลบให้, สกรีนเสื้อระบุข้อความ “ขึ้นทางเท้ามีโทษปรับ 5,000 บาท” และทำป้ายแสดงว่าพื้นที่นี้ติดตั้งกล้องซีซีทีวี ผลปรากฏว่าหลากหลายวิธีไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายได้ ยกเว้นวิธีที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราเป็นกิจวัตรจึงจะแก้ปัญหาได้แน่นอน ดังนั้นการปฏิบัติงานของตำรวจและเทศกิจอย่างจริงจัง เท่านั้นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้หมดไปได้