posttoday

พรบ.โค้ดมิลค์ เสียงหนุน ‘เลี้ยงลูกนมแม่’ ทลายกับดักการตลาดนมผง

27 ธันวาคม 2559

ปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยต่ำกว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยต่ำกว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจัยอะไรที่ทำให้แม่มือใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง แล้วหันไปใช้นมผงแทน?

ที่ผ่านมาแม้คนไทยต้องเผชิญกับพายุการโฆษณา และส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงที่โหมกระหน่ำตั้งแต่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยขององค์การอนามัยโลกยืนยันชัดเจนถึงอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดที่ไม่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์นมผง ซึ่งใช้กลยุทธ์หลากหลายและงบประมาณมหาศาล ส่งผลโดยตรงให้แม่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร หรือไม่ให้เลย รวมถึงให้อาหารเสริมก่อนลูกอายุ 6 เดือน ยิ่งเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากบุคลากรสาธารณสุข ประกอบกับสภาพแวดล้อมการทำงานในสถานประกอบการก็ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทั้งหมดนี้ยิ่งซ้ำเติมให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยถดถอยลงเรื่อยๆ

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทย ได้ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....  (ร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์) เพื่อควบคุมการโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันกฎหมายดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มบริษัทนมผงที่จะเสียประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขจำนวนหนึ่ง ที่ออกมาแถลงข่าวคัดค้านรุนแรง โดยให้เหตุผลว่าระยะเวลาในการควบคุมนานเกินไปถึง 3 ปี เพราะเด็กควรเริ่มกินอาหารเสริมในวัย 1 ขวบขึ้นไปจนฝ่ายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ออกมาตั้งคำถามถึงกลุ่มคัดค้านมีผลประโยชน์ ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตนมหรือไม่

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เล่าถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายนี้ เพื่อปกป้องแม่ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับนมแม่มากขึ้น

สาระสำคัญของกฎหมายจะช่วยป้องกันการโน้มน้าวจากโฆษณาและการส่งเสริมการขายด้วยการแจกคูปองส่วนลด ขายพ่วง การแจกตัวอย่างสินค้าที่เข้าถึงแม่เด็ก โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนแทนบริษัทนมผง พร้อมกับทำหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ ส่วนกรณีจำเป็นที่ต้องใช้อาหารทารกและเด็กเล็กแทนนมแม่ จะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยบุคลากรทางการแพทย์จะร่วมเฝ้าระวังการส่งเสริมการตลาด และไม่เป็นส่วนหนึ่งในการรับสิ่งของที่มีสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์นมผง 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีการห้ามโฆษณานมผงตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ควบคุมไม่ให้มีการโฆษณานมผงที่ใช้สำหรับเด็กที่มีอายุ 0-3 ขวบอยู่แล้ว ในนมสูตร 1 และสูตร 2 แต่ยังพบว่ามีการโฆษณาแบบข้ามผลิตภัณฑ์ หากจะออกกฎหมายใหม่แล้วลดการควบคุมลงคงไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ องค์การอนามัยโลก เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 มีข้อแนะนำให้ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ครอบคลุมอาหารสำหรับเด็กถึงเด็กอายุ 3 ขวบ และมีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กไทยทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ จะสามารถป้องกันการสูญเสีย รายได้ถึง 6,818 ล้านบาท/ปี จากความสามารถของสมองที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ ดร.เรณู การ์ก หัวหน้าฝ่ายโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยยังต่ำมาก มีเด็กที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน ไม่ถึง 12.3% ขณะที่องค์การอนามัยโลก แนะนำว่าควรอยู่ในอัตราร้อยละ 50% ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีอัตราต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้หรืออาเซียน

บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งติดตามกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผง กล่าวว่า การส่งเสริมการตลาดนมผงส่วนใหญ่ใช้กลวิธี 5 รูปแบบที่บูรณาการร่วมกันและส่งผลต่อการตัดสินใจของแม่เป็นอย่างมาก ประกอบด้วย 1.การโฆษณา 2.การส่งเสริมการขาย 3.การตลาดทางตรง 4.การตลาดทางอินเทอร์เน็ต และ 5.พนักงานขาย

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ CODE ห้ามโฆษณานมผงสูตร 1 และ 2 หรือนมผงสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก 6 เดือน-3 ขวบ แต่การโฆษณาทางโทรทัศน์และรถเมล์กลับเอาสูตร 3 และ 4 มาโฆษณา โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับนมผงทารก ทำให้แม่สามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในการเลือกซื้อ

บวรสรรค์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสื่อสารการตลาดนมผงในปัจจุบันได้สร้างมายาคติให้แม่เข้าใจว่า นมผงเท่ากับนมแม่ ด้วยการโฆษณาว่าใส่โอเมก้า อัลฟา-แล็คตัลบูมิน ซึ่งไม่เป็นความจริง ประกอบกับเมื่อแม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำงาน ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อนมผงง่ายขึ้น เพราะเข้าใจว่านมผงเท่ากับนมแม่ อีกทั้งยังมีความสะดวกกว่า และยังพบการละเมิดเกณฑ์สากลการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ขององค์การอนามัยโลก โดยการติดต่อสื่อสารกับแม่โดยตรงผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เฟซบุ๊ก รวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษในโรงพยาบาลและตามงานต่างๆ เพื่อแจกนมผงทดลองถึงแม่และผู้ปกครองโดยตรง

บวรสรรค์ ย้ำว่า การออกกฎหมายมาควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ขวบ จึงเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้การทำการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบไม่สามารถทำได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก่อน ที่จะตัดสินใจเลือกนมที่จะใช้เลี้ยงลูก และเมื่อไม่มีการส่งเสริมการตลาดนมผงก็ควรจะต้องถูกลงถึง 20-25%