posttoday

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลุยงานใหญ่ปั้น SME

25 ธันวาคม 2559

"ส่วนที่ผมดูแลจะต้องเห็นผลการพัฒนาสอดรับกับการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 ที่ต้องแข่งขันมากขึ้น และให้มีความเข้มแข็ง ขยายตลาดเพิ่ม"

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

ชื่อของ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ถูกปรากฏในรายชื่อการปรับคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรอบล่าสุด ซึ่งได้รับโอกาสให้เข้ามานั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ ภายใต้โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลคาดหวังจะให้เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดย รมช.พาณิชย์คนใหม่ ได้คลุกคลีอย่างคร่ำหวอดตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจจนเข้ามาสู่แวดวงการเมืองในปัจจุบัน

“การผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น คือจะต้องมองว่าจะมาสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างไร การสร้างพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างไรถือเป็นงานหลัก โดยในช่วงก่อนที่จะเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมจนมานั่งตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ปัจจุบันนั้น เคยได้ก่อตั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งขณะนั้นมีการรวมตัวเอสเอ็มอีกันอยู่ แต่ว่ายังมีจุดรวมที่น้อยอยู่ จึงได้ก่อตั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอีขึ้นมา มีสมาชิกทั่วประเทศ ทุกจังหวัด และยังเคยเป็นบอร์ดสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ทำให้ผมได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง” สนธิรัตน์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

สำหรับงานที่สนธิรัตน์ได้รับมอบหมายจากการแบ่งงานของ รมว.พาณิชย์ ประกอบไปด้วย กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นงานเดิมที่ รมช.พาณิชย์คนเดิม คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ ดูแลอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างออกไป คือ สนธิรัตน์ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านพาณิชย์จังหวัด เพื่อให้การทำงานทั้ง 3 กรมนั้น ซึ่งดูแลงานภายในประเทศจะได้มีกลไกในการขับเคลื่อนมากขึ้น

“ถ้าพูดถึงเอสเอ็มอีแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเป็นปลายน้ำของกระบวนการสร้างเอสเอ็มอี เพราะกระทรวงพาณิชย์อยู่กับงานด้านการพัฒนาด้านการตลาด ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอี เพราะว่าภาคตลาดจะเป็นตัวบอกว่าจะกลับไปสู่พัฒนาสินค้าได้อย่างไร จะไปสู่การพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์ได้อย่างไร หรือจะเป็นตัวตอบว่าจะไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะพัฒนาให้เกิดการแข่งขันได้อย่างไร ดังนั้นบทบาทการพัฒนาเอสเอ็มอีของกระทรวงพาณิชย์ ต้องเป็นแกนหลักในการพัฒนาปลายน้ำ เพื่อสะท้อนกลับไปสู่กลางน้ำของกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วสะท้อนไปสู่ต้นน้ำของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” สนธิรัตน์ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม การเข้ามานั่งตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ สนธิรัตน์ตั้งเป้าหมายที่จะเชื่อมบทบาทต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้มากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งต้องการจัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีให้มีการทำงานเชิงบูรณาการที่ไม่ใช่ว่าบูรณาการงบประมาณ แต่ต้องบูรณาการในเชิงการทำงานได้มากขึ้น เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเอสเอ็มอี

“ผมมีความตั้งใจที่จะให้เกิดการทำงานร่วมกันในระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งในต่างประเทศนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงพาณิชย์แยกกันไม่ได้ แต่ประเทศไทยแยกกันมานาน แต่ที่ถูกต้องแยกกันไม่ได้ เหมือนไก่กับไข่ต้องอยู่คู่กัน ดังนั้นเรื่องนี้ก็จะหารือกับ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าจะร่วมกันตรงนี้ได้อย่างไร และอาจจะปรับไปถึงบทบาทของ สสว. เพราะในมุมมองของผมน่าจะเพิ่มบทบาท สสว.เป็นตัวหลักในการจัดการบูรณาการแผนและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี รวมทั้งประเมินวัดผลเป้าหมายของการพัฒนาที่มีการใช้งบของรัฐต่างๆ บทบาทเหล่านี้ก็คงพูดคุยกันในการจัดบทบาท” สนธิรัตน์ กล่าว

สนธิรัตน์ ระบุว่า การจัดบทบาทมีความสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณในการพัฒนาต่อเนื่อง แต่ถ้าการจัดบทบาทครั้งนี้ทำสำเร็จ จะช่วยลดการพัฒนาที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน แล้วไปเพิ่มการพัฒนาต่อยอด ถือเป็นประโยชน์มากขึ้น ดังนั้นเป็นส่วนที่ตนตั้งใจมาเชื่อมร้อยตรงนี้ให้ เและที่มอง สสว.ควรเป็นแกนหลัก เพราะ สสว.มีแผนการพัฒนาเอสเอ็มอีเหล่านี้อยู่แล้ว คือต้องมองเอสเอ็มอีในการพัฒนาให้เป็นวงจร เหมือนกับการให้ยาเม็ดเดียวไม่ได้ ต้องไปดูไลฟ์ไซเคิลตั้งแต่เริ่มเป็นสตาร์ทอัพ เริ่มเข้ามาสู่ขั้นตอนการเติบโต และพัฒนาไปสู่เอสเอ็มอีไซส์เอส ไซส์เอสเอส ไซส์เอ็ม

ขณะที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีที่ปลายน้ำ คือการเข้าไปดูแลงานด้านการตลาด ถือเป็นบทบาทสำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อเวลาถามว่าเอสเอ็มอีมีปัญหาด้านใดบ้าง มากกว่าครึ่งหนึ่งของเอสเอ็มอีทั้งประเทศจะตอบว่ามีปัญหาด้านการเงิน รองลงมาจากปัญหาการเงินคือปัญหาการตลาด ต่อมาจึงเป็นปัญหาการผลิต ปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาการจดทะเบียนต่างๆ ดังนั้นแกนหลักจริงๆ ของปัญหาเอสเอ็มอี คือ 2 ปัจจัยใหญ่ นั่นคือปัญหาการเงินและปัญหาตลาด

“บทบาทของกรมพัฒนาธุรกิจ เราต้องแบกรับปัญหาตลาด เพราะถ้าทำการพัฒนาเรื่องตลาดได้ดี ก็สามารถช่วยเอสเอ็มอีเข้มแข็งและแข่งขันได้ และยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะมีเรื่องอี-คอมเมิร์ซเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยน การใช้แนวคิดตลาดแบบเดิมๆ คือ นำสินค้าวางขายห้าง หรือไปเปิดตลาด เป็นกลไกที่เก่าแล้ว แต่วันนี้มีกลไกใหม่ๆ ซึ่งเติบโตขึ้นและหนีไม่ได้ คืออี-คอมเมิร์ซ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานภาครัฐด้วยเช่นกัน ในการทำให้สิ่งเหล่านี้ไปส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างไร ให้เอสเอ็มอีมีหนทางการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นงานของกรมพัฒนาธุรกิจที่ทำอยู่แล้วร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” สนธิรัตน์ กล่าว

แม้ว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศเกิดเยอะขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มองว่าเมื่อมีเอสเอ็มอีเกิดเยอะขึ้น ก็จะมีเอสเอ็มอีที่ตายมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างกลไกที่จะชะลอเอสเอ็มอีให้ตายช้าลง เพราะเมื่อเอสเอ็มอีตายช้าลงก็มีโอกาสที่เอสเอ็มอีเหล่านี้จะฟื้นตัวและก้าวไปสู่ผู้ประกอบการที่เข้มแข็งได้

“เอสเอ็มอีจำนวนเยอะคือสิ่งที่อยากเห็น เพราะสังคมผู้ประกอบการทั้งโลกก็เป็นแบบนั้น นั่นคือรัฐบาลส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ให้กระจายออกไป เมื่อเกิดมากขึ้นการล้มหายตายจากก็ต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงต้องมีกลไกในการอุ้มชูเอสเอ็มอีให้ตายช้าลง หรือต้องทำให้เกิดเยอะ ตายช้า เพราะการตายช้ามีโอกาสรอด คือบางทีเอสเอ็มอีต้องอาศัยประสบการณ์ อาศัยการอยู่ไประยะหนึ่งถึงอยู่รอด เหมือนเด็กเล็กที่ไม่สบาย ต้องช่วยประคองเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ เหมือนกับเอสเอ็มอีเพราะถ้าอยู่ได้นานก็จะมีพัฒนาการและยืน 2 ขาได้” สนธิรัตน์ อธิบาย

อย่างไรก็ดี สนธิรัตน์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้จีดีพีเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 50% ของจีดีพีประเทศ จากปัจจุบันที่จีดีพีเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 42% ของจีดีพีประเทศ เพราะในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอี 50% ขึ้นไป ทำให้เศรษฐกิจประเทศไม่ได้พึ่งพิงรายใหญ่เท่านั้น ทิศทางเหล่านี้คือภาพใหญ่แล้วก็ต้องผลักดันการทำงานให้ไปสู่ทิศทางนี้ให้ได้ 

ขณะที่งานดูแลเรื่องราคาสินค้านั้น สนธิรัตน์มองว่ากระทรวงพาณิชย์มีกลไกอยู่แล้วในการจับตาดูแลราคาสินค้า อธิบายง่ายๆ คือถ้าราคาสินค้าปรับตัวไม่เป็นธรรม กระทรวงก็จะเข้าไปดูแล เพราะกรมการค้าภายในมีบัญชีสินค้าติดตามในการดูแลหลายร้อยรายการดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือความสม่ำเสมอคือการติดตามตรวจสอบดูแล และพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมใกล้ชิด และสร้างสมดุลต้นทุน

“ราคาสินค้ามี 2 เรื่องที่อยู่ในนั้น เรื่องแรก ราคาที่เป็นธรรมสอดรับกับกลไกการเพิ่มของต้นทุนหรือไม่ เป็นเรื่องที่จุับต้องได้ทางตัวเลข เช่น น้ำมันราคาขึ้นเท่านี้ จะกระทบราคาสินค้าเท่าไหร่ กลไกที่สองคือความรู้สึก บางครั้งไม่ได้แพงขึ้น อย่างขณะนี้ราคาหมู ไก่ ไข่ ไม่ได้แพงขึ้นมากว่า 2 ปี ผักก็ขึ้นลงตามฤดูกาล ลักษณะนี้เป็นการแพงขึ้นโดยความรู้สึก ต้องบริหารความรู้สึกของประชาชนด้วยการสื่อสาร และการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นงานหลักของรัฐบาลที่ทำอยู่แล้ว” สนธิรัตน์ กล่าว

ด้านการวัดผลการทำงานนั้น นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับทุกกระทรวงว่าปี 2560 เป็นปีที่ต้องการผลลัพธ์ เพราะ 2 ปีแรก เป็นปีแห่งการเข้ามาปรับฐาน ทำความสงบเรียบร้อย โดยปีแรกการปรับฐานได้เริ่มทำมาแล้ว ปีที่ 2 เป็นการปรับทิศทางและยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะแข่งขัน โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการปรับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่รับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกันได้ทำไปมากในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2560 เป็นปีที่ต้องเอาผลมาทำงานในเรื่องต่างๆ

“ส่วนที่ผมดูแลจะต้องเห็นผลการพัฒนาสอดรับกับการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 ที่ต้องแข่งขันมากขึ้น และให้มีความเข้มแข็ง ขยายตลาดเพิ่ม สร้างกลไกที่จะขายของปริมาณเท่าเดิม แต่ได้ราคาสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องขยับ และต้องไปคู่กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คือต้องไปด้วยกัน แยกกันไม่ออก เพราะเมื่อเพื่อนบ้านเศรษฐกิจดี ก็ส่งผลมาถึงไทยด้วย ที่จะค้าขายได้มากขึ้น มองให้เป็นตลาดเดียวกันด้วยการสร้างพาร์ตเนอร์ชิป หรือพันธมิตรร่วมกัน” สนธิรัตน์ทิ้งท้าย