posttoday

ถกกฎหมายคอมพิวเตอร์ หวั่นดุลยพินิจผู้ใช้อำนาจ

23 ธันวาคม 2559

ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่รู้จะมีทัศนคติต่อการใช้กฎหมายนั้นอย่างไร

โดย......ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 3  เรื่อง “ก้าวต่อไปของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาฯ

ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า สาระสำคัญของกฎหมายภาพรวมถือว่าดี แต่ยังมีข้อห่วงกังวลในส่วนของร่างประกาศกระทรวง ที่มุ่งเน้นไปยังรัฐและเอกชนเป็นหลัก จึงอยากให้ห่วงเรื่องประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เพราะในร่างประกาศกระทรวงที่จะออกตามมาตรา 15 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยการพ้นผิดของผู้ให้บริการ หากดำเนินการระงับการเผยแพร่และลบข้อมูลที่มีความผิด จากระบบการแจ้งเตือน มีข้อห่วงกังวลว่า จะเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ สำหรับการให้ผู้ให้บริการทำการระงับการเผยแพร่และลบทำลายข้อมูล ทั้งที่ ยังไม่มีการชี้ถึงความผิดของข้อมูลนั้น จึงควรมีการระบุความผิดให้ชัด เพื่อไม่ก้าวล่วงศาล และให้ผู้ให้บริการสบายใจ

ส่วนหลักเกณฑ์การแจ้งเตือนร่างประกาศ กำหนดให้ผู้ร้องเรียนต้องใส่ข้อมูลตัวตันที่แจ้ง ไปยังผู้ให้บริการแล้วส่งต่อให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วยนั้น มันจะกลายเป็นการทำให้ เอกชน 3 ฝ่าย ต้องมาทะเลาะกันจากมาตรการของรัฐหรือไม่ และแน่นอนว่า ในทางปฏิบัติอำนาจการตัดสินใจนี้จะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ

ทั้งนี้ เป็นไปได้ 2 ทาง คือ เอาลงตามรายงานแจ้งเตือน และไม่เอาลง เนื่องจากรู้ว่าข้อมูลนั้นไม่ผิดแน่นอน หรือไม่ก็ต้องการคุ้มครองเสรีภาพของผู้บริการ เนื่องจากยังไม่มีใครชี้ว่าผิด อีกทั้ง มองว่ามาตรา 15 และร่างประกาศที่เกี่ยวข้องควรมีลักษณะตั้งต้น ด้วยการพิสูจน์เจตนาตามหลักกฎหมายอาญาก่อน หากพิสูจน์ได้ ก็ไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการนี้

สำหรับมาตรา 20 ของพ.ร.บ.นี้ จะต่างจากมาตรา 15 เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอำนาจศาลในการสั่งระงับการเผยแพร่และลบข้อมูล ถือว่าดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง และการละเมิดศีลธรรมอันดีนั้น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณา

ทว่า แต่จากประกาศที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้ มีเงินเดือน ก็กังวลว่า คณะกรรมการนี่ จะเฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมงเลยหรือไม่ นอกจากคณะกรรมการกลางชุดนี้แล้ว ยังมีคณะกรรมการเฉพาะด้านที่ยังไม่เห็นว่า จะมีด้านใดบ้าง จึงอยากเรียกร้องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดเผยมาก่อน

“เมื่อมีคำสั่งศาลให้ระงับและลบการเผยแพร่ข้อมูลแล้ว ร่างประกาศกำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับได้เองหรือสั่งผู้ให้บริการดำเนินการได้ จุดที่น่ากังวลที่สุด คือ การระงับหรือลบของมูลข้องเจ้าพนักงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ต้องเข้าไปในฐานข้อมูลของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการก็จะเสี่ยงต่อการถูกเจาะข้อมูลส่วนอื่นจากหลังบ้าน ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความผิดนั้นได้ หมายความว่า เขาจะเข้าถึงข้อมูลเราได้ทั้งหมด

แล้วหากตอนลบเกิดความผิดพลาด ผลกระทบจะเกิดอย่างมหาศาลในทันที และความน่ากลัวอีกจุดหนึ่งในประกาศ ที่กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ ให้มีการตั้ง ศูนย์กลางบริหารจัดการ เพื่อทำการระงบและลบการเผยแพร่ ที่ทำให้เจ้าที่เข้าถึงฐานข้อมูลผู้รับบริการจากผู้ให้บริการได้ ดังนั้น จึงเสนอให้ความรับผิดชอบนี้ ควรเป็นของผู้ให้บริการ เพราะมีความชอบธรรมจากคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปยุ่งกับผู้ให้บริการ”

ขณะที่ ศรัทธา หุ่นพยนต์ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Lazada (Thailand) สำหรับธุรกิจแล้วมาได้กลัวกฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่รู้จะมีทัศนคติต่อการใช้กฎหมายนั้นอย่างไร โดยธุรกิจการขายของออนไลน์นั้นจะโดยเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล ที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค จะใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นตัวหลักในการตรวจสอบความผิด

ส่วนมาตรา 15 ของกฎหมายนี้ ถือว่าสบายใจขึ้นช่วยทำให้ไม่ผิด แต่ร่างประกาศกระทรวงโดยเฉพาะบางถ้อยคำยังไม่ชัดเจน และจะเป็นปัญหากับผู้ประกอบการ ซึ่งระบบแจ้งเตือนให้ดึงลง (notice and take down) ตามร่างประกาศ ผู้ประกอบการจะมีมาตรการนี่อยู่แล้ว ใครรายงานอะไรมาที่มีมูลาก็ดึงข้อมูลนั้นลง

“แต่หากกำหนดตามร่างประกาศนี้ ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ทั้งหมดคงไม่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 15 เพราะร่างประกาศมีเนื้อหาว่า ผู้ให้บริการต้องไม่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม จากข้อมูลที่มีปัญหาจนถูกรายงาน การเขียนแบบนี้กว้างไป เราทำธุรกิจขายของออนไลน์ มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของที่ขายได้ ซึ่งเราไม่ได้มีเจตนาขายของที่มีความผิด

ที่ผ่านมาเราก็เจอปัญหาจากเจ้าหน้าที่ที่มีทัศนะคติแบบนี้ อย่างเลขาฯอย. บอกเราให้กลั่นกรองข้อมูลสินค้าทุกชิ้นก่อนลงเว็บ  เราขายสินค้าเป็นล้านชิ้น จะต้องเสียทรัพยากรจ้างคนมาดูทุกอย่างให้ได้ 100% ก่อนขึ้นเว็บ มันจะมีต้นทุนสูงมาก อีกทั้งระบบแจ้งเตือนของเรา ก็พบว่ามีรายงานการกลั่นแกล้งกันเองของร้านค้าจำนวนมาก ที่ใช้บริการเรา”

ด้าน อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เลขานุการมูลนิธิเพื่ออินเตอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง มองว่า ตัวพ.ร.บ.ดังกล่าวยังคงมีปัญหา โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่มีการเพิ่มคำว่าบิดเบือนเข้ามา แม้กมธ.ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะยืนยันว่าคดีหมิ่นประมาทจากมาตรานี้จะน้อยลง แต่ก็เกิดคำถามว่าการใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องปิดปากนักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และนักอนุรักษ์ จะหมดไปหรือไม่

ส่วนมาตรา 15 ข้อยกเว้นสำหรับผู้ให้บริการไม่ต้องรับโทษ ก็ยังสงสัยว่าไม่ต้องรับโทษนั้น แต่จะยังมีคดีอาญาติดตัวหรือไม่ ทั้งยังเป็นการผลักภาระไปยังผู้ให้บริการต้องเป็นผู้พิสูจน์ แต่คนกล่าวหานั้น คือ เจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้ง ทั้งยังอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งกัน

“ผมยกตัวอย่างจากสถิติของกูเกิ้ล ที่ให้ข้อมูลต่อสภานิวซีแลนด์ เพื่อการปรับแก้กฎหมายลักษณะนี้พบว่า การแจ้งเตือนสูงถึง 57%  มาจากบริษัทคู่แข่งการค้า นอกจากนี้ ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ควรปรับประกาศกระทรวงให้ชัดเจนกว่านี้ โดยเฉพาะระบบรับแจ้งแล้วดึงลง (notice and take down) ที่เราจะเห็นว่าเป็นมาตรการของผู้แจ้ง และผู้ให้บริการไม่เกี่ยวกับผู้ถูกแจ้งในฐานะเจ้าของข้อมูลเลย”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยกแบบอย่างแคนนาดา ซึ่งควรศึกษาเนื่องจากใช้ระบบ notice and notice โดยแคนนาดามองว่า เจ้าของข้อมูลผู้ถูกร้องต้องอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย จึงกำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการ เมื่อได้รับรายงานจากผู้ร้องให้แจ้งไปยังผู้ถูกร้อง เพื่อตัดสินใจว่าจะดึงลงหรือไม่ ถ้าไม่ก็ไปพิสูจน์กันที่ศาล

ส่วนร่างประกาศตามมาตรา 20 ก็ควรกำหนดมาตรการให้ผู้ให้บริการรับผิดชอบก่อนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมาตรการก็ควรมีตั้งแต่ระดับเบาไปหาหนักเพื่อไม่ให้มีผลกระทบเยอะ