posttoday

หาคำตอบ "พรบ.คอมพ์ใหม่" เสรีภาพในโลกออนไลน์ยังเหมือนเดิม?

18 ธันวาคม 2559

ฟังจากปาก ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต่อเสียงคัดค้านเเละข้อกังวลล่าสุด

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

16 ธ.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ เห็นด้วย 168 ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 5 ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปใน 120 วัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนเกือบ 4  แสนรายที่ร่วมกันลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org

ภายหลังเสร็จสิ้นการลงมติ "ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ" ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว  ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ โดยยืนยันว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ดีกว่าในอดีต ไม่ได้ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ลิดรอนปิดกั้นเสรีภาพ หรือแม้กระทั่งตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย

มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ปิดปากการตรวจสอบจากประชาชน ?

วันนี้แก้ไขชัดเจนแล้วว่ามาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีหมิ่นประมาทต่างๆ จะหายไป ที่มีคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลต่างๆ จะหายไปเลยประมาณ 50 เปอร์เซนต์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะว่าด้วยการปลอมแปลงตัวตน หรือปลอมแปลงเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินอย่างเดียว ฉะนั้นไม่มีปัญหาแล้ว

ส่วนมาตรา 14(2) ก่อนหน้านี้มีความกังวลเกี่ยวกับคำว่า "การบริการสาธารณะ" เพราะเห็นว่ามันกำกวม ตีความกันว่า รัฐซึ่งเป็นฝ่ายให้บริการประชาชนแล้วประชาชนจะคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นไม่ได้ ทั้งที่โดยหลักคอมเม้นท์ได้อยู่แล้ว แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เราก็ได้ตัดทิ้งคำว่าบริการสาธารณะออกไป ฉะนั้นที่กังวลไม่มีปัญหาแล้ว จบประเด็น เราสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ คอมเม้นท์ การให้บริการของภาครัฐได้ แนวคำพิพากษาที่ผ่านมาก็ชัดเจน ยืนยัน ที่ผ่านมาการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ยกฟ้องหมด แม้กระทั่งคดีที่มีการคอมเม้นท์ฝ่ายความมั่นคง ศาลก็ยกคำร้อง บอกว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะงั้นวิจารณ์ได้

เปิดช่องไม่ต้องใช้คำสั่งศาลในการเซนเซอร์ ปิดเว็บด้วยมาตรา 15 ?

ที่ผ่านมาบางคนตีความกฎหมายผิด มาตรา 15 จริงๆมีขึ้นมาเพื่อช่วยด้วยซ้ำ เดิมกฎหมายฉบับปัจจุบันก่อนผ่านสภา เจ้าหน้าที่มีอำนาจเอาผิดกับผู้ให้บริการอย่างเว็บไซต์ ผู้ให้บริการมือถือ ถ้าหากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กส่งข้อมูลผิดกฎหมายผ่านระบบ ผู้ให้บริการอาจจะต้องรับผิดไปด้วย แต่มาตรา 15 ออกกฎกระทรวงว่า ไม่ผิดนะ ถ้าเราไม่รู้ เราเป็นเพียงท่อผ่านข้อมูล ไม่ผิดตามกฎหมาย จะผิดก็ต่อเมื่อ 2 กรณี คือ

1.เมื่อเราเป็นคนเลือกเอาข้อมูลเข้าไปใส่เอง 2.เมื่อมีแบบฟอร์มของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ระบุุชื่อนามสกุล เหตุพิพาทของผู้ร้องเรียนเเละใบเเจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าใครเเจ้งเท็จก็โดนข้อหาไป แล้วส่งมาให้ผู้ให้บริการ เจ้าของเฟซบุ๊ก หรือผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งจะเป็นคนกำหนดเองว่า จะเอาข้อมูลอันเป็นเท็จออกได้ภายในกี่วัน ตรงนี้ต้องมีการประชาพิจารณ์อีกทีอยู่ในกฎหมายลูกว่า ผู้ให้บริการแต่ละประเภทจะสามารถลบได้ภายในกี่วัน 

จากนี้ผู้ให้บริการไม่ต้องห่วง ไม่มีปัญหา จะผิดก็ต่อเมื่อเราเลือกนำข้อมูลนั้นไปใส่เอง สมาคมผู้ดูแลเว็บต่างๆ ก็มีการซาวน์เสียงและเห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้และโอเคมากๆ ผมเป็นที่ปรึกษาของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงว่าจะออกกฎหมายให้คนใช้มีปัญหา เรื่องนี้พูดง่ายๆ นะ เราไม่รู้ไม่ผิด การเผยแพร่จะผิดก็ต่อเมื่อเรารู้ว่ามันปลอมหรือเท็จ 

หาคำตอบ "พรบ.คอมพ์ใหม่" เสรีภาพในโลกออนไลน์ยังเหมือนเดิม?

มาตรา 20 ข้อมูลบุคคลอยู่ในอันตราย ?

มาตรา 20 คือการปิดบล็อกข้อมูล ทางผู้คัดค้านได้เอาคำว่า “มาตรการทางเทคนิคใดๆ” ไปบวกกับเอกสารของกระทรวงไอซีทีเมื่อต้นปี และสงสัยว่าเราจะเขียนประกาศต่อมาเพื่อใช้แอบดูข้อมูล ซึ่งผมขอยืนยันว่าไม่มี เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้บอกว่าให้เราไปแฮก ไปเจาะข้อมูลได้ และถ้าเราไปเขียนประกาศสูงกว่า พ.ร.บ. มันก็เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับใช้ในการกฎหมาย หรือ ถ้ารัฐบาลไปเจาะข้อมูลต่างๆ ก็เท่ากับรัฐบาลผิดตามมาตร 5 และ 7 และ 8 เรื่องการดักรับข้อมูล และในการประชุมกรรมาธิการก็ไม่เคยพูดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์เลย  ข้อคัดค้านที่ผ่านมาเป็นการตีความไม่ถูกต้อง ใช้ข้อมูลเก่ามาบวกกับมาตรการทางเทคนิคใดๆ ซึ่งคำว่า มาตรการทางเทคนิคใดๆ ขออธิบายว่า ที่เขียนว่าใดๆ หมายถึงว่า ถ้าเป็นไลน์ก็หมายถึงวิธีการบล็อกแบบหนึ่ง หากเป็นเฟซบุ๊กก็แบบหนึ่ง เราถึงไม่สามารถเขียนได้ว่าต้องใช้โปรแกรม ก ข ค และไม่ได้หมายถึงว่าจะเป็นการถอดรหัส เพราะการถอดรหัสต้องมีคำสั่งศาลเท่านั้นตามมาตร 18  

ขอยืนยันว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งหมดไม่ได้ตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย ไม่มีมาตราไหนทำอย่างนั้นได้ มาตรการทางเทคนิคใดๆ ที่มีคนคิดว่าเป็นการเอาตัวซอฟแวร์ไปใส่เป็นศูนย์กลางเพื่อไปดู ไปดูดข้อมูลจากคนอื่นมา อันนี้ไม่มี เพราะมันคือ ซิงเกิลเกตเวย์ ซึ่งเราทำไม่ได้ ส่วนเวลาเราไปจับกุมผู้กระทำความผิดก็จะต้องขอหมายนะ ทั้งหมายค้น หมายจับ และหมายในการเข้าถึงข้อมูล หากจะไป clone  คอมพิวเตอร์ clone  มือถือ ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วอนุมัติก็จะเขียนเลยว่า เจ้าหน้าที่ทำได้แค่ไหนและเรียกผู้ต้องหามาไตร่สวนด้วยถึงจะดำเนินการตามกฎหมายได้ เพราะงั้นถ้าภาครัฐเอามือถือเราไป clone ผิดกฎหมายมาตรา 5 และ 7 ต้องมีคำสั่งศาลถึงจะทำได้ ที่ผ่านมาตีความเอง ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

ส่วนล่าสุดใน 20/1 ที่เพิ่งอภิปรายไป โควต้าของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ก็ได้ปรับเปลี่ยนจาก 5 เป็น 9 คน และ 3 ใน 9 คนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญอยู่ดีๆ บล็อกไม่ได้นะ เพราะศาลจะเรียกฝั่งตรงข้ามมาไต่สวนด้วยว่าคุณทำผิดจริงไหม ให้โอกาสชี้แจง

ข้อครหาที่ว่า ขยายอำนาจปิดเว็บ–ตั้งศูนย์บล็อกเว็บเบ็ดเสร็จ ?

ไม่มี ไปดูร่างล่าสุดที่ผ่าน สนช. บอกว่า ให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จาก 5 เป็น 9 คน 3 ใน 9 คนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วมีการตั้งกรรมการย่อยต่อเนื่องอีกเป็นกลุ่มๆ ในแต่ละสายอีก ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่ากี่คน สมมุติมีเรื่องเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนขึ้นมา ก็เอาคณะกรรมการด้านสื่อสารมวลชนทั้งหมดมาช่วยกันดู ถ้าเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็ไปตั้งกลุ่มย่อยมาดู เวลาเกิดเรื่องอะไรเข้าข่ายกลุ่มไหน คณะกรรมการก็ไปดู ตรวจสอบเรียบร้อยเสร็จ ก็ต้องส่งต่อให้รัฐมนตรีตรวจอีกที ก่อนส่งให้ศาล ซึ่งไปถึงตรงนั้นแล้ว ศาลก็จำเป็นต้องเรียกฝ่ายตรงข้ามมาชี้แจงด้วย เพราะงั้นถ้ามีปัญหาขึ้นมาไม่ใช่แค่ 9 คน แต่คณะกรรมการย่อยต้องไตร่สวน พิจารณาอีก ก่อนไปถึง 9 คน และยังต้องผ่านรัฐมนตรีและศาลด้วย

แล้วเรื่องขัดศีลธรรม แต่ไม่ผิดกฎหมายล่ะ

ก็อย่างเช่นเฟซบุ๊กไลฟ์ฆ่าตัวตาย การต่อวงจรระเบิด สอนเด็กยิงคน โชว์ร้องเต้นยั่วยวนโหยหวนลักษณะเรื่องอย่างว่า พวกนี้มันไม่เหมาะสม และช่วงหลังการข่มขืนการกระทำชำเราเด็กมันเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งเราเอาปัญหาพวกนี้มาเป็นโจทย์

ทุกคนไปกังวลว่าเรื่องการเมืองหรือเปล่า ยืนยันว่ามันใช้ไม่ได้ จุดมุ่งหมายคือเรื่องขัดความสงบสุข ความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งศาลเป็นคนชี้ วิธีการดู ดูง่ายๆ ว่าเจตนาเขาต้องการเลี่ยงกฎหมายหรือเปล่า อย่างร้องเพลง ไลฟ์ให้คนดู แต่ส่งเสียง อ่อ...อ๊า... แบบนี้ศาลมองว่าเลี่ยงกฎหมาย ศาลจะสั่งปิดอะไรแบบนั้น การเมืองไม่เกี่ยวเลย ตั้งแต่ปี 2549 เรื่องการคอมเม้นท์วิจารณ์ทางการเมืองไม่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ไลฟ์ได้ แต่ขออย่าเป็นลักษณะบิดเบือนใส่ความ แต่นั่นก็ไปว่าเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท จุดมุ่งหมายเรื่องขัดศีลธรรมใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งไปในภาคสังคมมากกว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ไม่ใช่กฎหมายควบคุมบังคับ แต่เป็นกฎหมายที่บอกว่า ให้ใช้คอมพิวเตอร์ยังไงให้ถูกต้องตามกฎหมาย

หลังจากวันนี้ไป การนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ เท่ากับเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าถูกหรือผิด แต่ต้องให้คณะกรรมการมาตรวจสอบอีกที

ขึ้นอยู่กับจิตสำนักว่า ภาพโป๊ที่เราถ่ายไปโชว์ผิดหรือเปล่า สมมติคุณเฟซบุ๊กไลฟ์ตัวเองโป๊ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ศาลจะเรียกคุณมาถามว่า ทำไปเพราะวัตถุประสงค์อะไร นี่คือสิ่งที่ สนช.ใส่เข้าไป

หาคำตอบ "พรบ.คอมพ์ใหม่" เสรีภาพในโลกออนไลน์ยังเหมือนเดิม?

ดุลพินิจของคนรุ่นใหม่อาจไม่ตรงกับผู้ใหญ่หรือคณะกรรมการ

กรรมาธิการเลยให้ตั้งขึ้นมาเป็นส่วนๆ ไง อย่างเรื่องเกี่ยวกับสื่อ ก็ให้อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดูแล ดูว่าแบบนี้เหมาะสมไหมกับสังคมไทย ไม่ใช่ให้คณะกรรมการกลั่นกรองมาตีเองหมด สมมติคณะที่เกี่ยวข้องบอกว่า นี่มันยุคสมัยไหนแล้ว เรื่องแบบนี้ปกติในสังคมปัจจุบัน โอเคผ่าน เเบบนี้ก็จบ เเต่รัฐไม่ได้มองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันต้องขึ้นอยู่กับขนาดของผลกระทบที่เกิดจากการกระทำนั้นด้วย เช่น สอนวิธีทำระเบิด ถ้าเรื่องเล็กๆ ศาลคงไม่มานั่งไล่บล็อกหรอก

อย่างเน็ตไอดอลสาวบางคน โชว์เนินอกให้เห็นทุกวัน แต่ดุลพินิจของผู้โชว์เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นเสรีภาพ ส่วนแฟนเพจหลายๆ คนก็คอมเม้นท์อย่างไม่มีปัญหา แบบนี้จะตรงกับดุลพินิจของคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่หรือเปล่า

ถ้าตำรวจเห็นว่าไม่เหมาะ ก็รวบรวมคลิปที่มีการกระทำ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาดู มาตรวจสอบ หากส่งเรื่องไปถึงศาล ศาลก็เรียกผู้กระทำไปไต่สวนว่าเหตุที่ทำอย่างนี้เพราะอะไร ถ้าสุดท้ายศาลมองว่าไม่เสื่อมเสียศีลธรรม ไม่ผิดก็จบไป เพราะงั้นมันไม่ใช่อยู่ดีๆ ว่าเราเห็นอะไรไม่ถูกใจแล้วบล็อกได้เลย 

ความเหมาะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ?

ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่ตั้งมาว่าแต่ละคนเป็นแบบไหน คิดอย่างไรกับเรื่องนั้น

กลไลควบคุมเฟซบุ๊กมีอยู่แล้ว หากใครเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ช่วยกันกดรีพอร์ต

มันปิดได้ไหมล่ะ ลองไปกดดูสิทำได้ไหม เฟซบุ๊กไลฟ์ยังขายของละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเต็มไปหมดอยู่เลย

หาคำตอบ "พรบ.คอมพ์ใหม่" เสรีภาพในโลกออนไลน์ยังเหมือนเดิม?

ใครหลายคนบอกว่าหลังจากนี้รัฐจะเห็นเราตลอดเวลา ทั้งในเฟซบุ๊ก ไลน์

นั่นน่ะสิ มันอยู่มาตราไหน ผมก็ งง มันทำไม่ได้อ่ะครับ ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ใน พ.ร.บ.คอมฯ ถ้าทำได้มันต้องออกกฎหมายเรื่องการมอนิเตอร์ หรือ พ.ร.บ.ที่จะดักข้อมูลโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องเเก้มาตรา 5 7 เเละ 8 เพราะงั้นในตัวนี้ไม่มีเเน่นอน ผมกังวลเหมือนกันกับความเข้าใจผิด เพราะเราน่าจะสนในประโยชน์ที่จะได้จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ดี เเต่กลายเป็นว่าเรากังวลโดยไม่สนใจเนื้อหาเลย ทุกวันนี้คนมองในเเง่ลบไปหมดเเล้ว

อย่างข้อความในเฟซบุ๊ก ถ้ารัฐจะแอบดู ต้องไปขอให้เฟซบุ๊กส่งข้อมูลมาให้ ซึ่งเฟซบุ๊กไม่ให้อยู่เเล้ว เพราะกฎหมายที่อเมริกาเขาเข้มมาก เเล้วคำสั่งของรัฐไทยไม่มีอำนาจบังคับข้ามประเทศ เเละอีกข้อถ้าจะทำต้องไปติด Sniffer โปรแกรมที่เอาไว้ดักจับข้อมูล ไปติดกับโอเปอเรเตอร์ทุกราย เเละ ISP ทุกราย เเล้วคิดดูว่าเขาจะปล่อยหรอ เป็นไปไม่ได้ 

สรุปว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อดีมากกว่าที่ผ่านๆ มา?

ข้อดีเยอะมากนะ ตัวอย่างเช่น  1. เมื่อกฎหมายบังคับใช้ เรื่องสแปมจะหายไป เพราะคนที่ส่งข้อมูลสแปมมาให้เรา จะต้องขออนุญาตจากเรา ไม่เช่นนั้นผิดกฎหมายปรับสูงถึง 2 แสนบาท และนั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายในการบล็อกสแปมจะลดลงไปเยอะมาก 2.เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไม่ต้องกลัวว่าผิดกฎหมายอีกต่อไป เมื่อมาตรา 15 ระบุชัดว่า มันจะต้องทำด้วยตัวเองหรือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่แจ้งไปแล้ว 15 วันหรือ 30 วันแล้วแต่กำหนด ถ้าเราลบก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ผิดกฎหมายเลย

ขณะที่มาตรา 16/2 ที่บอกกันว่า เป็นการล้มประวัติศาตร์ก็ไม่จริง เรามุ่งหมายช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกเข้าใจผิด สมมุติคุณโดนฟ้องว่าลวมลามผู้หญิง หนังสือพิมพ์ลงข่าวพร้อมภาพไปทั่ว กูเกิลเสิร์ชก็เจอชื่อคุณ เเต่หากศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คุณไม่ผิด กูเกิลเสิร์ช ต้องลบออก แต่ไม่ใช่ลบประวัติศาสตร์ เพราะใช้เฉพาะกับคดีที่ฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตรานี้ต้องการใช้กับเรื่องของเฟซบุ๊ก กูเกิล ข้อมูลที่ผิดกฎหมาย หลักคืออะไรที่ศาลชี้ว่ามันผิด มันไม่ควรอยู่ในนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย

ทั้งหมดนี้คือคำให้สัมภาษณ์ช่วงเวลาสั้นๆ ของหนึ่งในที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่มีต่อเสียงสะท้อนคัดค้านจากประชาชนเกือบ 4 แสนรายชื่อ

หาคำตอบ "พรบ.คอมพ์ใหม่" เสรีภาพในโลกออนไลน์ยังเหมือนเดิม?