posttoday

พรรคการเมือง ไม่สามารถฉีดยาเร่งได้

18 ธันวาคม 2559

"ผมคิดว่าการเมืองต้องปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิโดยเสรีที่จะตัดสิน ว่าเขาควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการเงิน เรื่องอื่นๆ เข้ามามีส่วนที่จะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมืองในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นจำนวนสมาชิกและการเก็บเงินค่าบำรุงพรรค ที่ถือเป็นเรื่องใหม่และดูจะขัดกับวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ​ในฐานะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกกว่า 2.7 ล้านคน ​องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ มองประเด็นต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

“ในส่วนของประชาธิปัตย์ เราไม่ได้ต่อต้าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีข้อเด่นอยู่หลายข้อที่จะแก้ปัญหาพรรคการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา ข้อเด่น เช่น เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนในการกำหนดการบริหารงาน และการตัดสินใจของพรรคการเมืองมากขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดีในส่วนของประชาธิปัตย์พยายามทำมาตลอดอยู่แล้ว เมื่อนำมาใส่ใน พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็น่าจะมีส่วนทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน”

อีกทั้งกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ บัญญัติไว้ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมายุ่งเกี่ยว ครอบงำ มีอิทธิพล ทำทุกสิ่งทุกอย่างกับพรรคการเมืองนั้น กรณีนี้เคยเกิดปัญหาขึ้นมาในอดีต กฎหมายนี้ก็ป้องกันไว้ รวมทั้งพยายามทำให้การเงินของพรรคการเมืองมีความโปร่งใสตรวจสอบได้มากขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องดี เพราะต้องพยายามไม่ให้พรรคการเมืองไปใช้เงินนอกระบบทั้งคนบริจาคเงินและการใช้จ่ายเงิน

จุดแข็งต่างๆ เหล่านี้เราเห็นด้วย ในส่วนของประชาธิปัตย์​​ไม่ได้ติเรือทั้งโกลน จุดเด่นเราก็บอก แต่ก็มีจุดที่เป็นข้อด้อยในทางปฏิบัติอยู่หลายส่วน ซึ่งได้เสนอความเห็นให้มีการปรับแก้ในหลายส่วน

​องอาจ ระบุว่า จุดที่ควรแก้ไขคือการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรค สำหรับพรรคที่มีสมาชิกไม่กี่คนก็คงไม่ยุ่งยาก ​แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทำให้ตัวเขาเองต้องเสียสิทธิไปเยอะพอสมควร ทั้งไปรับราชการบางที่ก็ไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอิสระไม่ได้ ในบางสมัยการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในยุคที่รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็มีการไปสอบสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไปกลั่นแกล้งข่มขู่คุกคามค่อนข้างมาก

“ตรงนี้มีอุปสรรคหลายด้านอยู่แล้ว หากไม่มีความคิดเห็นสอดคล้องกับพรรคนั้นจริงๆ ก็คงไม่อยากมีใครเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ​ประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการเก็บเงินค่าสมาชิก เราเก็บเงินปีละ 20 บาท เราพยายามบอก กรธ.ว่า แม้เราจะเก็บปีละ 20 บาท มีสมาชิก 2.7 แสนคน แต่เราก็เก็บได้ไม่ถึงแสนคน ​เขาอยากมีส่วนร่วม​แต่ต้องดูลักษณะสังคมไทย”

องอาจ อธิบายว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก พรรคเลยเสนอคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ​ขอให้มีสมาชิก 2 ประเภท คือ 1.สมาชิกพร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรค 2.สมาชิกไม่พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรค โดยสมาชิกไม่จ่ายค่าสมาชิก​มีสิทธิร่วมกิจกรรมพรรค แต่ไม่มีส่วนในการกำหนดการตัดสินใจร่วมกับพรรค หรือสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือพิจารณาผู้สมัคร

อีกประเด็นคือในมาตรา 44 เรื่องการซื้อขายตำแหน่งที่ใช้คำว่า หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคเรียกรับเงินเพื่อการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งต่างๆ แต่กลับคุมแค่นักการเมืองเท่านั้น ทั้งที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้บุคคลที่ไม่ใช่นักการเมืองเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ และตำแหน่งเหล่านี้มีอำนาจที่จะเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งได้มากกว่าด้วยซ้ำ

อีกประเด็นคือมีการกำหนดว่าเวลามีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กับกรรมการบริหารพรรค​ต้องควบคุมดูแลสมาชิกพรรคไม่ให้ไปทุจริตเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะ ไม่ใช่เรื่องง่ายท่ี่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจะไปควบคุมคนที่เป็นสมาชิกพรรคที่มีเป็นล้านๆ คนได้หมด

“แถมยังมีความเป็นไปได้อาจถูกฝ่ายตรงข้ามแอบส่งคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค เอาเงินมาสมัครสมาชิกพรรคหนึ่งร้อยบาท ซึ่งเราไม่รู้ เพราะคุมยากไปจนถึงระดับสมาชิกเป็นล้านๆ คน ไม่ให้เขาทำผิดอะไร แล้วความผิดยังมากระทบพรรค ซึ่งถ้าผิดแค่ตัวเขาได้ก็ไม่เป็นไร แต่นี่ผิดแล้วกระทบกับพรรค ตรงนี้ กรธ.ควรพิจารณา ว่าปล่อยไปลักษณะนี้อาจเกิดการกลั่นแกล้งกันได้”​

​องอาจ กล่าวว่า ตรงนี้พรรคจึงเสนอให้แก้ไขเป็นแค่ให้หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคควบคุมดูแลผู้สมัครของพรรค ไม่รวมไปถึงสมาชิกพรรค

นอกจากนี้ ยังมีบางประเด็นที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ส่วนหนึ่งเพราะมีบทลงโทษในความผิดที่กว้าง เช่น มาตรา 23 ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ อย่างน้อยพรรคต้องมีกิจกรรมดังต่อไปนี้ (1) เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ​

หมายความว่านอกจากจะเสริมสร้างให้สมาชิกพรรคแล้ว ยังต้องรวมถึงประชาชนอีกด้าย ถ้าไม่ทำก็จะมีโทษถึงขั้นยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตรงนี้หากเจอคนกลั่นแกล้งก็จะมีปัญหา แต่ก็เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม แต่โดยเนื้อหาที่กำหนดถึงประชาชนดูจะกว้างเกินไป

สำหรับประเด็นเรื่องการตั้งสมัครสมาชิก การตั้งสาขาพรรค ​องอาจ กล่าวว่า เร่ิมต้นหาสมาชิกตามขั้นต้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีปัญหามากขึ้นเมื่อรับสมัครสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสมาชิกที่พร้อมจะจ่ายเงิน 100 บาท/ปี อย่างน้อยต้องมี 500 คน/สาขา ตามที่กฎหมายกำหนดก็มีปกติ แต่การเพิ่มจำนวนสมาชิกต่อไปก็ต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรค

“ส่วนเรื่องการให้สมาชิกพรรค สาขาพรรค มีส่วนร่วมในการตัดสินใจคัดตัวผู้สมัคร ตรงนี้ไม่มีปัญหาเพราะที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ก็ปฏิบัติเช่นนี้อยู่แล้ว”

ถามว่าคาดหวังกับกฎหมายใหม่ที่ออกมาจะสามารถพลิกโฉมพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองได้แก้ปัญหาในอดีตได้มากน้อยแค่ไหน องอาจ กล่าวว่า ​ยังไม่ถึงขนาดนั้น พรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถฉีดยาเร่งได้ เราไม่สามารถที่จะมาบอกให้มีอุดมการณ์ทางการเมืองได้

“เราไม่สามารถบอกได้ว่าถ้ามีสมาชิกพรรคการเมือง 2 หมื่นคนใน 4 ปี ถ้าสมาชิกครบ 2 หมื่นคน พรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ มันไม่ใช่ หรือการเก็บเงินค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองกับพรรคการเมือง หรือจะได้คนที่มีอุดมการณ์

... จริงๆ การเมืองเป็นเรื่องของธรรมชาติ ของมนุษย์​ที่เป็นสิทธิทางการเมือง การที่เขาจะมีอุดมการณ์ร่วมกับพรรคการเมือง หรือไม่ร่วม เขาอยากตั้งพรรคหรือไม่อยากตั้งพรรค อยากจ่ายเงินหรือไม่จ่าย ​เอาแค่สมาชิกพรรคเขาก็ไม่อยากเป็นแล้ว เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง แถมถ้าเป็นสมาชิกแล้วต้องมาจ่ายเงินด้วย ​เราพอมีฐานะก็อาจจะมองว่าเงิน 100 บาท ดูไม่มาก คุณนึกสภาพคนจนที่รอรับเงินจากรัฐบาล

“เงินไม่ได้มีส่วนส่งเสริม แต่เข้าใจ กรธ. ซึ่งไม่รู้จะคิดหาวิธีไหน แต่ความเห็นผมในทางรัฐศาสตร์ ผมคิดว่าการเมืองต้องปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิโดยเสรีที่จะตัดสิน ว่าเขาควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการเงิน เรื่องอื่นๆ เข้ามามีส่วนที่จะเป็นตัวแปรในการตัดสินใจ” องอาจ ระบุ

ประเมินแล้วจากยอดสมาชิกพรรคปัจจุบัน 2.7 ล้านคน หากเข้าสู่ระบบใหม่สมาชิกก็จะลดน้อยลงไป ​เพราะคนจะเป็นสมาชิกพรรคต้องผูกพันกับพรรคจริงๆ ชอบหัวหน้าพรรค ชอบนโยบายพรรค หรือชอบ สส.ในพื้นที่ ขณะที่คนจำนวนมากก็คงปฏิเสธไม่อยากยุ่งยากกับชีวิต

พรรคการเมือง ไม่สามารถฉีดยาเร่งได้

ยันปลดล็อกการเมือง ไม่สั่นคลอนความมั่นคง​รัฐบาล

สัญญาณล่าสุดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากไม่มีทีท่าจะปลดล็อกให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหวได้อิสระแล้ว ยังขู่ว่าจะล็อกให้มากขึ้นด้วยซ้ำ เรื่องนี้ องอาจ เห็นว่า คสช.​อาจมีความกังวลเรื่องความมั่นคง

“จริงๆ แล้วการปลดล็อกทางการเมืองไม่มีส่วนกระทบความมั่นคง คสช.​น่าจะปลดล็อกได้ในหลายส่วนเพราะการทำงานของพรรคการเมืองไม่ได้มีเฉพาะแค่การเลือกตั้ง​ แต่มีงานอื่นที่ต้องทำอีกเยอะ และไม่เกี่ยวข้องกับผลกระทบความมั่นคง”

องอาจ ยกตัวอย่างเรื่องที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องเริ่มทำ เช่น การทำงานด้านนโยบายสาธารณะ ​ที่จะต้องจัดประชุมเชิญคนมาแสดงความคิดเห็น กลั่นกรอง ทำวิจัยศึกษา หรือทำโฟกัสกรุ๊ป เพื่อกำหนดเป็นนโยบายเสนอประชาชนในช่วงเวลาเลือกตั้ง ตรงนี้ไม่กระทบกับความมั่นคง

“การบริจาคเงินพรรคการเมืองก็ไม่กระทบความมั่นคง การสมัครสมาชิกพรรคก็ไม่กระทบกับความมั่นคง คำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้สามารถปลดล็อกได้ หากส่วนไหนที่คุณคิดว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างเรื่องการชุมนุมทางการเมืองของพรรค การเมือง ก็อาจคงไว้ได้”

อย่างไรก็ตาม ​ขณะนี้ทาง คสช.​เหมารวมโดยไม่มีการจำแนกแต่ละประเด็น ทำให้​ดูเหมือน คสช.ยังไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองทำงานยังไง หรือบางส่วนก็อาจเข้าใจว่าพรรคการเมืองมีเฉพาะการเลือกตั้ง ดังนั้นนี่อีกตั้งเป็นปีกว่าจะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะออกมาเคลื่อนไหวอะไรตอนนี้

“ท่านไม่รู้ว่ากว่าจะมีการเลือกตั้ง ต้องมีการกำหนดตัวบุคคล สั่งสมอุดมการณ์  อุดมการณ์ไม่ได้สั่งสมได้ภายในวันเดียว ต้องทำต่อเนื่องตลอดไป หรือเรื่องนโยบายก็ต้องทำตลอดเพราะพลวัตของสังคมเกิดขึ้นตลอดเวลา เราต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด แน่นอนที่สุด การเคลื่อนไหวที่จะกระทบความมั่นคงห้ามไปก่อน​ แต่ที่ไม่กระทบก็ควรเปิดให้เขา ถ้า​ดูท่าทีนายกฯ ไม่อยากให้เกิด แถมบอกจะล็อกให้แน่นขึ้นด้วย

“ท่านอาจยังไม่เข้าใจบริบทการทำงานพรรคการเมืองไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง เข้าใจว่าพรรคการเมืองมีไว้เพื่อการเลือกตั้งซึ่งไม่ใช่ ​ถ้าคิดแบบนั้น จะไปหวังให้พรรคการเมืองเติบโตเป็นสถาบันของประเทศก็เป็นไปไม่ได้อย่างที่ท่านต้องการ”​

องอาจ อธิบายเพิ่มว่า ​ไม่เข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองจะไปสั่นคลอนความมั่นคงตรงไหน หรือกำลังจะไปสั่นคลอนรัฐบาล แต่ปัจจุบัน คนที่สั่นคลอนเขาก็สร้างความสั่นคลอนอยู่แล้ว คนให้สัมภาษณ์ติติงสร้างปัญหา​เขาก็ทำปกติอยู่แล้วในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา

“ตรงนี้ไม่น่าจะกระทบอะไร ยกเว้นจะมีผลกระทบด้านอื่นที่เราไม่ทราบก็อีกเรื่อง รัฐบาลอาจมีข้อมูลมากกว่าเรา แต่จา​กข้อมูลทั่วไปแล้วเราไม่เห็นว่าปลดล็อกแล้วจะกระทบกับความมั่นคงอย่างไร”

องอาจ กล่าวว่า ในส่วนของประชาธิปัตย์ แม้จะมีการออกกฎกติกาวางระบบใหม่ก็คงไม่ถึงกับต้องยกเครื่องใหม่หมด เพราะบางส่วนก็ทำอยู่แล้ว แต่หลายพรรคที่ไม่เคยทำก็ต้องไปจัดกลไกโครงสร้างให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง

“แต่ของเรา กลไกโครงสร้างหลายส่วน เรื่องสาขาพรรค สมาชิกพรรคที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคอย่างไร ผ่านช่องทางไหน ได้ถูกกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งที่จริงไม่ถึงกับสับสนยุ่งยาก​แต่ก็มีงานทำมากขึ้น”

​อย่างไรก็ตาม การวางกฎกติกาใหม่ย่อมทำให้พรรคต้องไปเร่งรัดดำเนินการตามระเบียบให้ถูกต้อง ซึ่งมีหลายเรื่องต้องทำ ทั้งที่เวลานั้นควรจะต้องทุ่มเทไปกับการเตรียมการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรจะต้องไปทำอะไรกับโครงสร้างพรรคการเมืองแล้ว 

“ถามว่าเรื่องกฎระเบียบใหม่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายย้ายพรรคมากขึ้นหรือไม่ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎกติกาไม่น่ามีส่วน ซึ่งจริงๆ แล้วการเปลี่ยนถ่ายย้ายพรรคมีขึ้นเกือบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง แต่ไม่เชื่อว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจะไปมีส่วนเอื้อให้เกิดการย้ายพรรคมากขึ้น”​

ส่วนที่วิเคราะห์กันว่าระบบเลือกตั้งใหม่จะเอื้อให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีอำนาจต่อรองมากขึ้นจนอาจเป็นปัจจัยช่วยให้เกิดการย้ายพรรคนั้น องอาจ เห็นว่า คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่โยกย้ายกันเท่าไหร่ ไม่ใช่ใช้โอกาสนี้ ที่มีกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ย้ายพรรค ​​ซึ่งอาจมีนักการเมืองบางส่วนคิดเรื่องตั้งพรรคขนาดกลางขนาดเล็กบ้าง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ขึ้นอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง

“แต่ในส่วนของประชาธิปัตย์ยังมองไม่เห็นว่าจะได้รับผลกระทบอะไรจากกฎหมายที่ออกมาใหม่หรือรูปแบบการเลือกตั้ง วันนี้ทุกอย่างยังเป็นปกติ” องอาจระบุ

พรรคการเมือง ไม่สามารถฉีดยาเร่งได้

ภารกิจปฏิรูป ผลงานที่ถือว่า​ "เสียของ"

โค้งสุดท้ายจากนี้ไปจนถึงปลายโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเป็นที่จับตาว่า จะมีเหตุให้สะดุดหรือมีเหตุให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิมหรือไม่ ในมุมมองของ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ​เห็นว่ายังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเดินออกนอกโรดแมป

หนึ่ง ทางรัฐบาลกำหนดวันมาเรียบร้อยและถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญ เช่นกฎหมายลูกต้องเสร็จภายใน 240 วัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 60 วัน และภายใน 150 วัน ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ตรงนี้คงเปลี่ยนแปลงได้ยาก

สอง สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่จะเป็นอุปสรรคไม่ให้เดินไปตามโรดแมปก็ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าจะเป็นปัญหา รวมทั้งไม่มีสัญญาณอะไรที่ส่อให้เห็นว่าประเทศ​ชาติบ้านเมืองมีผลกระทบด้านความมั่นคง

“ในช่วงการบริหารประเทศที่ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารนั้น ทำให้มีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เมื่อปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ การเดินไปสู่โรดแมปเลยเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรจะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องเลื่อนโรดแมปออกไปแล้วมีเหตุผลคนก็ยอมรับได้ นายกฯ ก็มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 อยู่แล้ว ถ้ามีเหตุผล​คนก็ยอมรับ​ได้ แต่ปัญหาคือเหตุผลมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ ก็พร้อมจะยอมรับ

องอาจ กล่าวว่า ​ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จำเป็นต้องเลื่อนโรดแมปออกไป การเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้นตามโรดแมป ซึ่งในส่วนของประชาธิปัตย์ก็ต้องเตรียมพร้อมเท่าที่จะเตรียมตัวได้ เพราะตอนนี้ยังรับสมัครสมาชิกพรรคไม่ได้ รับเงินบริจาคไม่ได้ ประชุมพรรคไม่ได้ มีมติไม่ได้ กติกาต่างๆ ก็ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่รู้ว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

นับตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไปเส้นทางก็จะเดินหน้าไปในเรื่องสำคัญๆ คือ กระบวนการทางการเมืองจะเน้นหนักการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้

สอง นำไปสู่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เพื่อนำไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง และสาม เกิดการตื่นตัวและความหวังในสังคมมากขึ้นว่า ประเทศกำลังเดินไปสู่หนทางปกติ ​คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินว่า ​ความเห็นที่แตกต่างกันในช่วงพิจารณากฎหมายลูกนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะโดยพื้นฐานคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่แล้ว การเห็นต่างในเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เราอยู่กับการพิจารณากฎหมายมากมาย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ กฎหมายฉบับหนึ่งไม่มีใครเห็นเหมือนกันอยู่แล้ว

“ผมว่าไม่วุ่นวายในการพิจารณากฎหมาย อย่าไปคิดว่าความเห็นที่แตกต่างจะเป็นความแตกแยกหรือวุ่นวายเพราะกฎหมายมองได้หลายมุม เราก็ต้องพยายามหามุมที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดในการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณากฎหมายในสภาจึงมีทั้งมีเสียงข้างมากข้างน้อย”

ถามถึงผลงานช่วงผ่านมาของ คสช. องอาจ มองว่า นับตั้งแต่ คสช.เข้ามา​ได้ทำให้ความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนหายไป โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ​ตรงนี้เป็นความวิตกกังวลของพี่น้องส่วนหนึ่ง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ประเทศ​สงบมากขึ้น ตรงนี้เป็นจุดเด่นของนายกฯ

“แต่ในส่วนของประชาชน​ยังรู้สึกว่า มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรากหญ้า ตรงนี้ยังไม่สามารถฝ่าฟันให้ลุล่วงได้ ไปจนถึงเรื่องผลิตผลการเกษตร ตรงนี้ยังเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ​เชิงจุลภาค มหภาค การเงินการคลัง แม้รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ​ใช้วิธีการต่างๆ แก้ไขปัญหา ​แต่ประชาชนเองยังไม่รู้สึกว่าสามารถแก้ปัญหาได้”​

ส่วนนโยบายลดแลกแจกแถมที่รัฐบาลอัดฉีดงบประมาณลงพื้นที่ในหลายส่วน ช่วงที่ผ่านมานั้น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า คนที่เป็นรัฐบาล เมื่อเศรษฐกิจฟุบรัฐบาลก็มีเครื่องมือที่จะใช้ไม่กี่เครื่องมือ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ตาม

“รัฐบาลก็ใช้เครื่องมืออย่างที่เราเห็น ช็อปช่วยชาติ การใช้จ่ายอัดเงินให้คนจน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถามว่าจำเป็นไหมก็จำเป็นต้องทำ ​ถือว่ามีส่วนช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ระดับหนึ่งไม่ให้เศรษฐกิจฟุบไปมากกว่านี้

ทำให้เศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหว มีโฟลว์ มีการหมุนเวียน หวังว่าการอัดฉีดจะมีส่วนช่วย  ถามว่าช่วยได้ไหม ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งแต่ปัญหาพื้นฐานมีส่วนช่วยได้มากกว่า ​ตรงนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปเร่งทำงานในส่วนนั้นให้มาก”​

ส่วนถามว่าจะเป็นนโยบายหาเสียงหรือไม่นั้น องอาจ มองว่า ไม่อยากมองไปไกลอย่างนั้น แต่มองว่านี่เป็นเรื่องของความจำเป็นต้องหาเครื่องมือ เพราะเศรษฐกิจฟุบ หากปล่อยไปอย่างนี้ก็กระทบรัฐบาลและประเทศ โดยรวมใช้เครื่องมือนี้ก็ไม่น่าตำหนิติติงอะไร แต่ได้ผลแก้ปัญหาระยะยาวหรือไม่คงไม่ใช่ แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ระดับหนึ่ง

ทว่าเรื่อง “ปฏิรูป” ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของ คสช.นั้น องอาจ ประเมินว่า ​เรื่องการปฏิรูปยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลมีอำนาจสำคัญในมือ 3 ส่วน 1.อำนาจสมบูรณ์ 2.บุคลากรที่สมบูรณ์ และ 3.กลไกที่พร้อมจะดำเนินการให้เกิดการปฏิรูป อย่างแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งพร้อมจะขับเคลื่อน ​

“แต่ผลของการปฏิรูปที่ออกมายังน้อยเกินไป ภายใน 2-3 ปี ถ้า คสช.​หรือรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในระดับต้นๆ เราน่าจะเห็นผลมากกว่านี้ ตรงนี้ผมว่าเราเห็นผลน้อยเกินไป”​

ส่วนโค้งสุดท้ายตามโรดแมปจะเห็นผลการปฏิรูปมากขึ้นหรือไม่นั้น องอาจ อธิบายว่า หากจะเร่งการปฏิรูปจริงๆ ​คงจะต้องเห็นตั้งแต่ปีแรก หรือปีที่ 2 แล้วแต่ นี่ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโอกาสที่จะเห็นในช่วงหลังจากนี้ก็เป็นไปได้ยาก ​

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่าการปฏิรูปหลายอย่างสามารถทำได้ทันท่วงที ​โดยอาศัยอำนาจและบุคลากร แต่หลายอย่างก็ใช้เวลา ​2-3 ปี ส่วนตัวคิดว่าควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ครบถ้วน

“ถ้าถามว่าเสียของไหมเรื่องการปฏิรูป ก็ต้องถือว่าเสียของ ​ตอนนี้ถือว่า คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีแม่น้ำ 5 สาย ดังนั้นถ้าหลังเลือกตั้งแล้วหวังว่า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นหรือไม่ เราก็ต้องมาลองนึกถามตัวเองว่าบ้านเมืองมีอะไรปฏิรูปที่เราเห็นชัดๆ

ทั้งปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูป​กระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ ที่พูดกันมาก เราเห็นหรือไม่ ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็เห็นพูดกันเยอะ รวมไปถึงเรื่องปฏิรูปความเหลื่อมล้ำในสังคม เราถามตัวเองก็ยังนึกไม่ออกหรือเห็นภาพชัดเจนว่ารัฐบาล หรือ คสช.ประสบความสำเร็จเรื่องการปฏิรูป” องอาจ สรุป