posttoday

ถกข้อกฎหมายจัดการ 'น้ำ' หนุนสิทธิส่วนรวม-ร่างแผนแก้วิกฤต

16 ธันวาคม 2559

บนเวทีเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไร พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...จึงจะเป็นกติกาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ”

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

บนเวทีเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไร พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...จึงจะเป็นกติกาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ หยิบยกข้อกฎหมายการจัดการ “น้ำ” ซึ่งกำลังจะถือเป็นฉบับแรกของเมืองไทยอย่างกว้างขวาง

ทิศทางของการพูดคุยต่างมุ่งไปในเรื่องเดียวกันว่า ข้อกฎหมายที่ร่างกันอยู่ในขณะนี้ครอบคลุมปัญหาพื้นฐานด้านการจัดการน้ำของประเทศแล้วหรือยัง

แผนระยะยาวในการจัดการน้ำ ซึ่งมีข้อกฎหมายเข้ามากำกับดูแลนั้น ถูกกำหนดระยะการดำเนินการจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้ยาวถึง 10 ปี รวมกว่า 4,000 โครงการ แต่เรื่องดังกล่าวจากคำชี้แจงในเวทีของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการการศึกษาและพิจารณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม ที่ระบุชัดว่า ปัญหาเรื่องน้ำนั้นในส่วนของข้อกฎหมายจะติดขัดอยู่เพียงแค่ 20% แต่ขณะที่อีก 80% กลับเป็นเรื่องของการจัดการบริหาร ดังนั้น กฎหมาย “น้ำ” ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะต้องตอบโจทย์ปัญหาด้านการจัดการอย่างแท้จริงให้ได้

“ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ได้ถูกเสนอเข้าไปยังรัฐสภาเพื่อให้เห็นชอบในวาระแรกแล้ว แต่เกิดข้อท้วงติงว่ายังไม่ครอบคลุม นายกฯ จึงให้ตีกลับลงมาเพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้านในทุกมิติ และหาจุดร่วมที่สมบูรณ์กับทุกฝ่ายที่เข้ามาจัดการใช้ประโยชน์ให้ได้ เพราะเรื่องน้ำหากบริหารจัดการไม่ดีจะเกิดปัญหาตามมามาก ดังนั้นการปรับแต่งข้อกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเข้าสู่สภาแล้วจะแก้ไขอะไรไม่ได้อีก” พล.อ.อกนิษฐ์ แสดงข้อห่วงใย

แต่ในเรื่องตัวบทกฎหมายของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ยังคงมีช่องโหว่อยู่บางเรื่อง โดย นิพนธ์ พัวพงศกร จากทีดีอาร์ไอ สะท้อนเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า โครงสร้างการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ ไม่อาจตอบสนองความต้องการใช้น้ำแต่ละภาคเศรษฐกิจและแต่ละพื้นที่ได้ เพราะในยามปกติเป็นการจัดการแบบรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ จะเกิดความไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน เนื่องจากส่วนกลางไม่สามารถตอบสนองปัญหาของท้องถิ่นที่ต่างกันได้

รวมถึงจุดอ่อนสำคัญในการจัดการขณะที่มีภาวะวิกฤต ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ผ่านมามักจะเกิดความเสียหายเกินความจำเป็น และมีแนวโน้มที่ความเสียหายจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐได้ขาดความสามารถในการพยากรณ์น้ำและการวางแผนป้องกันล่วงหน้า

“มันสะท้อนว่า ความสามารถในการจัดการน้ำอยู่ที่คนเพียงอย่างเดียว แต่องค์กรไม่ได้จดจำเหตุการณ์เอาไว้เลย เมื่อคนจากไปก็เอาความสามารถไปด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ต้องสร้างระบบการจดจำขององค์กรด้านการจัดการให้จดจำ และสามารถวางแผนเอาไว้ได้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเรื่องน้ำ” นิพนธ์ ย้ำ

อย่างไรก็ตาม นิพนธ์เล็งเห็นความสำคัญว่ากฎหมายจัดการน้ำจะต้องมีหลักการที่ชัดเจน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานด้านการจัดการน้ำได้ ซึ่งรูปแบบของความชัดเจนก็จะต้องมาจากการบริหารจัดการน้ำที่มีความเป็นธรรม และต้องเป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะต้องมีบทบาทมากขึ้นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น

“ลุ่มน้ำที่ผ่านหลายจังหวัด มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับประเทศดูแลรับผิดชอบ ขณะเดียวกันการจัดการวิกฤตต้องเป็นการผสมผสานระหว่างงานนโยบายกับงานปฏิบัติ และไม่ควรเปิดช่องทำให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงในระดับปฏิบัติการ เพราะจะเกิดความไม่เป็นเอกภาพและเกิดความขัดแย้ง” นิพนธ์ กล่าว

อีกมุมเป็นเสียงจากฝั่งนักวิชาการ โดย อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า เป้าหมายหลักของกฎหมายน้ำ คือการกำหนดจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมและเหมาะสม รวมถึงกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและบรรเทาวิกฤตน้ำแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ สิทธิในน้ำ รวมถึงการจัดเก็บค่าใช้น้ำ

“แน่นอนว่า การจัดเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะจะต้องเกิดขึ้นโดยเฉพาะนอกเหนือจากภาคส่วนเกษตรกรรม ทั้งอุตสาห กรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการจัดเก็บค่าใช้น้ำที่เหมาะสมให้ได้”

อิทธิพล เสริมอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำฯ จะต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนในเรื่องของสิทธิการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา ควรมีรายละเอียดรูปแบบการจัดการที่ต้องชัดเจน เพราะในร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ และในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาว่าสิ่งใดทำได้ และสิ่งใดทำไม่ได้