posttoday

ข่าวลือ=ซอมบี้ ไม่มีวันตาย วิกฤตที่สังคมต้องช่วยกัน

14 ธันวาคม 2559

รอบปี 59 ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมาเป็นระยะ ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้นตามมามากมายในสังคม โดยเฉพาะบนสื่อโซเชียลมีเดียที่มีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จต่างกันไป

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ในรอบปี 2559 ประเทศไทยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมาเป็นระยะ ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้นตามมามากมายในสังคม โดยเฉพาะบนสื่อโซเชียลมีเดียที่ข้อมูลเดินทางอย่างรวดเร็ว มีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลเท็จต่างกันไป ซึ่งสร้างทั้งผลดีพร้อมกับความเสียหายให้กับบุคคลและสังคมที่ถูกกล่าวถึง

วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นประเด็นที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ส.ก.ว.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันหยิบยกมาพูดคุยบนเวทีเสวนาเรื่อง “ข่าวลือท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองในสื่อใหม่ : กรณีศึกษาทวิตเตอร์” เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนทำให้ปัญหาจากข่าวลือลดลงไป

นที ธรรมพัฒน์พงศ์ นักวิชาการอิสระ อธิบายว่า ข่าวลือที่มีการแพร่กระจายอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์มี 3 แบบหลักๆ คือ 1.ข่าวหลุดหรือข่าวปล่อยที่มีผลเป็นจริงในขั้นตอนสุดท้าย 2.ข่าวลือที่สุดท้ายไม่มีผลเป็นจริง และ 3.ข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันหรือปฏิเสธ ทั้งนี้ข่าวลือส่วนใหญ่มักเป็นประเด็นหวั่นไหวเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ บุคคลสาธารณะ กลุ่มนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ สำนักข่าว และหน่วยงานราชการ

ขณะที่หลักการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับเดิมและฉบับที่กำลังปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญ มองว่าส่วนใหญ่มีเนื้อหาไม่ต่างกันมากที่ครอบคลุมเนื้อหาหลัก อาทิ สื่อลามกอนาจาร เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การพนัน ศาสนา ป้องกันก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน และเกี่ยวข้องกับการควบคุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เป็นต้น ซึ่งเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามเหล่านี้จะต้องถูกบล็อก

พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข่าวลือจุดเริ่มต้นส่วนใหญ่มาจากทวิตเตอร์และเชื่อมต่อไปยังสื่อออนไลน์ประเภทอื่นอย่างรวดเร็ว เพราะข่าวลือตั้งอยู่บนพื้นสีเทาที่มีทั้งความจริงและเท็จ ส่วนผู้นำเสนอและส่งต่อข่าวลือมักเป็นบุคคลธรรมดากลุ่มเดิม เพราะทางจิตวิทยาผู้ที่ส่งข่าวลือมักรู้สึกว่าเป็นคนวงในที่ทราบข่าวก่อน และเมื่อข้อมูลถูกส่งต่อไปยังผู้มีชื่อเสียก็จะยิ่งทำให้ข่าวลือแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่องค์กรสื่อมวลชนก็จะทำหน้าที่ชี้แจงแก้ข่าวลือที่เกิดขึ้น

ขณะที่สาเหตุการสร้างข่าวลือก็เพื่อหวังผลที่ลดความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง นอกจากนั้นเพื่อต้องการสร้างสถานการณ์ ดังนั้นการแก้ปัญหาข่าวลือเชื่อว่ากฎหมายอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันข่าวลือได้ เพราะข่าวลือเปรียบเสมือนซอมบี้ที่ไม่เคยหายไปจากสารบบข้อมูลสารสนเทศ เพียงแต่รอวันที่จะขึ้นมาเท่านั้น

พิจิตรา กล่าวว่า วิธีที่แก้ปัญหานี้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ต้องร่วมกันตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่ออกมาว่าเป็นความจริงหรือไม่ก่อนส่งต่อออกไป รวมถึงควรมีระบบตรวจสอบร่วมจากหน่วยงานองค์กรอิสระ เช่น สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา ที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐเพื่อเป็นกระบอกเสียงชี้แจงสังคมให้ได้รับรู้ข้อมูลความเป็นจริง และหากทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันก็จะทำให้กระบวนการตรวจสอบข่าวในสังคมมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อสังคม

พีรพล เวทีกูล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่คนไทยนิยมใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อทวิตเตอร์ที่มีจำนวนผู้ใช้สูงขึ้นทุกปีทำให้ทวิตเตอร์เป็นสื่อออนไลน์อันดับ 1 ของไทย นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้เมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้นจึงเกิดการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ข่าวลือที่เกิดขึ้นมาจากนักการเมือง และผู้ที่เคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ฉะนั้นจึงมีการร่วมกันสร้างระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า CU.Tweet ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

สำหรับระบบปฏิบัติการดังกล่าวถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อให้เข้าใจถึงระบบหมุนเวียนข้อมูลบนสื่อทวิตเตอร์ และเพื่อศึกษาวงจรการแพร่กระจายของข่าวลือ รวมถึงบุคคลสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นที่สนใจ โดยศักยภาพของโปรแกรมจะทำงานโดยจัดหมวดหมู่ที่สนใจเป็นกลุ่ม

ขณะที่การทำงานของระบบปฏิบัติการนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนทวิตเตอร์ได้ โดยการทำงานของระบบจะมี 3 ขั้นตอน คือ 1.จัดการกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้บนทวิตเตอร์เป็นกลุ่ม เช่น หน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ ผู้สื่อข่าว ทหาร หรือแกนนำทางการเมือง

จากนั้น 2.ระบบจะจัดการชุดฐานข้อมูลและแบ่งเป็นกรณีศึกษา 3.ระบบจะค้นหาและวิเคราะห์ผลผ่านทางข้อความของผู้ใช้ เช่น หากใส่คำอะไรลงไป ระบบจะค้นหา ก็จะทำให้ทราบว่าบุคคลใดคือจุดเริ่มต้นของข่าวนั้น เพื่อที่ให้ทราบทิศทางการแพร่กระจายของข้อมูลนั้น นอกจากนี้ระบบยังสามารถติดตามวงจรชีวิตของข่าวลือได้ว่ามีวงจรทิศทางใดและมีผู้ใดเกี่ยวข้องบ้างและมีอิทธิพลต่อคนมากน้อยเพียงใดโดยวัดจากผู้ติดตาม