posttoday

โอนสิทธิพยาบาลให้บริษัทประกัน ความเสี่ยงข้าราชการ 5 ล้านคน

07 ธันวาคม 2559

สิทธิการรักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจำเป็นที่คนไทยทุกคนควรได้รับโดยระบบรักษาพยาบาลของแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

สิทธิการรักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานจำเป็นที่คนไทยทุกคนควรได้รับ โดยระบบรักษาพยาบาลของแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลประชาชนทั่วไปเกือบ 50 ล้านคน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดูแลผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคน ใช้งบประมาณ 3.8 หมื่นล้าน/ปี และกลุ่มข้าราชการไทยกับครอบครัว 5 ล้านคน กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้ดูแลใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท/ปี

ทว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ค่ายาสูงขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุด อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีแนวคิดโอนย้ายระบบสิทธิดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจากเดิมที่รัฐเป็นผู้ดูแล เป็นให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาบริหารทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดการรั่วไหลของงบประมาณ และจะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษารายละเอียด ท่ามกลางเสียงคัดค้านของข้าราชการที่เกรงว่า การให้บริษัทประกันดูแลจะมุ่งแต่เน้นผลประโยชน์ กำไร ขาดทุน สุดท้ายข้าราชการจะเสียประโยชน์และสิทธิการรักษาพยาบาลที่ควรได้รับ

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า การปฏิรูประบบรักษาพยาบาลข้าราชการมีการพูดมาตลอด ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลเงินหมดจึงต้องตัดสิทธิประโยชน์หลักออก แต่หลังจากนั้นมีปฏิรูปย่อยเรื่อยมา เช่น เปลี่ยนวิธีจ่ายเงินคนไข้ใน ปรับเรื่องการจ่ายยา รวมถึงมีข้อเสนอว่าควรมีมืออาชีพเข้ามาบริหารระบบให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งทุกรัฐบาลพยายามให้เอกชนเข้ามารับช่วงบริหารต่อ แต่หลังการพูดคุยทุกครั้งเรื่องมักเงียบหายไป

“ครั้งนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน แต่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ซื้อเวลามานานมากเกิน ซึ่งมองว่าไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาบริหารแต่การดูแลคน 4-5 ล้านคน ใช้เงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท/ปี ควรมีระบบที่เป็นรูปธรรมดูแล เพราะระบบนี้มีขนาดใหญ่กว่าตลาดประกันเอกชนที่มีเพียง 3-4 ล้านกรมธรรม์ มีเงินหมุนเวียนไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท” นพ.ถาวร กล่าว

ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีข้อดีคือ ดูแลคุ้มครองข้าราชการกับครอบครัวได้อย่างกว้างขวาง ส่วนข้อเสียคือ ถึงแม้จะมีการจัดทำทะเบียนข้อมูลและกลไกการเบิกจ่ายที่สามารถตรวจสอบได้บางส่วน แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ เพราะที่มีอยู่มีเพียงบุคลากรดูแล 20 คนเท่านั้น

ปัญหา คือ บริษัทประกันยังใช้โมเดลเดิม คือ รักษาหายก็ให้ผู้ป่วยกลับบ้าน และบริษัทประกันหากอายุเกิน 60 ปี หรือเป็นโรคก็ไม่รับ เมื่อค่าใช้จ่ายถึงในระดับหนึ่งก็หยุดจ่าย สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่ใช้มานาน ฉะนั้นระบบใหม่ต้องรองรับสังคมผู้สูงอายุ ควบคู่กับการติดตามดูแลให้ความรู้ผู้ป่วยให้เกิดความแข็งแรงในระยะยาว

นี่คือการแก้ปัญหาที่แท้จริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่บริษัทประกัน แต่รู้หรือไม่ว่าจะต้องแก้ปัญหาอะไร เพราะอนาคตงบ 6 หมื่นล้านบาท ที่ใช้รักษาข้าราชการและครอบครัวคงไม่พอ หรือถ้าจะให้เอกชนรับภาระส่วนเกินก็อาจทำให้บริษัทเจ๊งได้ เพราะส่วนต่างแต่ละปีสูงถึงหลักพันล้านบาท แต่ไม่ควรตกใจเพราะเรื่องเงินเฟ้อเกิดขึ้นทุกวัน เพียงแต่ต้องรู้ว่าการทำให้ระบบสวัสดิการมีคุณภาพมากขึ้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายที่จะให้เอกชนเข้ามาดูแลถือว่าเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดและขอคัดค้าน เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา เช่น ข้าราชการได้รับสิทธิลดลง รวมถึงจะมีผลกระทบต่อระบบการเงินของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดังนั้น อยากให้กระทรวงการคลังที่กำลังเดินหน้าอยู่ อธิบายเหตุผลให้สังคมรับทราบว่านโยบายครั้งนี้มีรายละเอียดหลักประกันที่ดีกว่าเดิมอย่างไร เพื่อให้ข้าราชการไม่เสียประโยชน์

ปัจจุบันเงินที่ดูแลระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท/ปี หากทำระบบใหม่จะมีการปรับงบให้เหลือ 6 หมื่นล้าน/ปี งบประมาณจะหายไปทันที 20% รวมถึงบริษัทประกันต้องกันเงินส่วนหนึ่งอย่างน้อย 30% ไว้เป็นค่าบริหารจัดการสร้างระบบและกำไรของบริษัท ฉะนั้นตัวเลขหลังจากที่ถูกตัดออกแล้วจะเหลือเงินเข้าสู่ระบบที่ไว้ดูแลข้าราชการเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหานี้สามารถใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ตามมาตรา 9 เพื่อขอออกกฤษฎีกาโอนหน้าที่บริหารจากกรมบัญชีกลางมาเป็น สปสช.ได้ทันที โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ เพราะ สปสช.ก็เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลสูง สามารถรองรับดูแลระบบข้าราชการอีก 5 ล้านคนได้ และระบบการทำงานยังเชื่อมโยงกับระบบข้าราชการจึงไม่ต้องปรับมาก ส่วนปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลายเชื่อว่าสามารถเจรจารูปแบบรัฐต่อรัฐได้