posttoday

ระวัง! ฟองสบู่แตก

03 ธันวาคม 2559

คนที่รู้จักเก็บ รู้จักใช้เงิน ก็ซื้อที่ดินซื้อบ้านใหม่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่บางคนซื้อบ้านซื้อที่ดินเกินระดับตัวเองมากเกินไป

โดย...ซิวซี แซ่ตั้ง

คนที่รู้จักเก็บ รู้จักใช้เงิน ก็ซื้อที่ดินซื้อบ้านใหม่ในระดับที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่บางคนซื้อบ้านซื้อที่ดินเกินระดับตัวเองมากเกินไป บางครั้งซื้อรถยนต์ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น เอาไว้อวดเวลากลับบ้านต่างจังหวัด เพราะอายที่กลับบ้านโดยไม่มีรถของตัวเอง ทั้งที่ใช้งานปีหนึ่งแค่ 10 กว่าวันเท่านั้นเอง ถ้าไม่ใช้รถทำมาหากิน “รถ” ก็แปลว่า “ลด” มีแต่ราคาลดลง มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยเลย ยิ่งหากเกิดอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายยิ่งบานปลาย พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจนอกจากเจ๊งหรือตกงานแล้วทรัพย์สินที่ผ่อนอยู่ก็สูญสิ้นไปหมด ทำให้คิดถึงสุภาษิตที่ว่า “นกน้อยทำรังแต่พอตัว”

บางคนกินเลี้ยงสังสรรค์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่กันเต็มที่ กินกันแทบทุกวันจนติดเป็นนิสัย ดื่มเหล้า 4-5 ขวด/สัปดาห์ สูบบุหรี่ 3-4 ซอง/สัปดาห์ คิดๆ แล้วเดือนหนึ่งหมดไปกับเรื่องเหล่านี้กว่า 2,500 บาท สูบและดื่มแบบนี้นาน 10-20 ปี พนักงานที่ทำแบบนี้มักมาโอดครวญว่า “เงินที่เสียกับเหล้าบุหรี่ไปเกือบ 20 ปี สามารถซื้อบ้านทาวน์เฮาส์ได้ 2-3 หลังเลยทีเดียว ตอนนี้อายุจะ 50 ปีแล้ว เพิ่งจะมาผ่อนบ้าน ไม่รู้จะไปรอดไหม”

ยุคเงินเยอะทำให้คนจำนวนไม่น้อยใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายมาก อวดรวย อวดบารมี อยากโชว์มานาน พอได้โอกาสก็อวดกันเกินงาม สุดท้ายหนี้สินบานต้องหลบๆ ซ่อนๆ ติดกับดักหนี้สิน บางคนต้องหลบๆ ซ่อนๆ เป็น 10 ปีก็ยังจ่ายไม่หมด บางคนตายแล้วยังจ่ายไม่หมดก็มีให้เห็น “นี่แหละ ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความประมาท”

เงินไหลเข้ามาในประเทศไทยช่วงแรกๆ เศรษฐกิจไทยรุ่งจริง ใช้เงินลงทุนไปในสิ่งที่จำเป็น มีการศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจอย่างรอบคอบ เงินกู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงเจ้าของธุรกิจต้องค้ำประกันด้วย ธุรกิจต่อยอดกันไปมา มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ เมื่อทุกอย่างเริ่มอิ่มตัว แต่เงินยังมีมากมาย หลังๆ เราจึงได้เห็นภาพเศรษฐกิจรุ่งแบบจอมปลอม เช่น กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศนำมาฝากกินส่วนต่างดอกเบี้ยกับธนาคารในประเทศ

เนื่องจากช่วงนั้นธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก บางบริษัทมีกำไรจากการกู้เงินนอกมาฝากกินส่วนต่างดอกเบี้ยมากกว่ากำไรของธุรกิจตัวเอง เงินมีมากไหลเข้ามาทำให้เกิดการปล่อยกู้ง่ายๆ จึงเกิดการปั่นราคาที่ดิน ปั่นราคาบ้านและคอนโด ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการสร้างสิ่งก่อสร้างเกินความจำเป็นของผู้บริโภคไปมาก

ในช่วงนี้ผู้ที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจโลกต่างออกมาเตือนสติเสมอว่า “ระวังฟองสบู่แตก ระวัง! เดี๋ยวจะเหมือนประเทศเม็กซิโก เหมือนประเทศอาร์เจนตินา...” แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ ยังคงเก็งกำไรบ้านและที่ดิน ปั่นราคากันไป ทำทุกอย่างเพื่อให้ราคาสิ่งที่ตัวเองซื้อเก็งกำไรไว้วิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเงื่อนไขการให้เงินกู้ไม่ยุ่งยาก แถมอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน แต่เมื่อราคาของอสังหาริมทรัพย์ขึ้นไปสูงถึงระดับที่ไม่มีใครเล่นแล้ว นักเก็งกำไรก็ไม่มีปัญญาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนธนาคาร คนไม่มีจ่ายจากไม่กี่คนก็กลายเป็นร้อยเป็นพัน คนปล่อยเงินกู้จึงต้องเร่งรัดหนี้สิน ทำให้คนไม่มีจ่ายเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะธุรกิจโยงใยถึงกันหมด ความหายนะจึงเกิดขึ้นลามไปทั่วประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

เงินเริ่มไหลออกจากประเทศไทย แล้วยังลามต่อไปเป็นสิบๆ ประเทศทั่วโลกเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก จนมีชื่อเรียกวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ว่า “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาติไทย ใครไม่มีเงินสะสมเพียงพอก็ล้มทั้งยืน ทรัพย์สินถูกขายทอดตลาดในราคาถูก ผู้คนตกงานกันมากมาย

ใครเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารองค์กรหรือเป็นรัฐบาลในยุคนี้ ต่างต้องเหนื่อยกันแทบตาย มีแต่ข่าวเลวร้ายแทบทุกวัน ลูกหนี้ต้องบากหน้าคุยกับเจ้าหนี้ขอให้ผ่อนปรน จากหนี้ระยะสั้น เป็นหนี้ระยะยาว ถ้าผ่อนปรนได้ก็อยู่ได้ ถ้าผ่อนปรนไม่ได้ก็ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด รัฐบาลต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือเรียกชื่อย่อว่า IMF มาเพิ่มทุนสำรอง เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินและหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องต้องล้มครืนลงมา จนสร้างความหายนะอย่างรุนแรงให้กับทุกคนในประเทศ

การกู้เงินจาก IMF มีกฎระเบียบมากมาย เพื่อให้ประเทศฟื้นตัวและสามารถคืนเงินกู้ให้ IMF ได้ กฎระเบียบเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดให้กับคนไทยมาก เพราะถูกสั่งให้รัดเข็มขัด การดำเนินนโยบายหลายอย่างต้องอยู่ภายใต้การดูแลของ IMF แต่รู้ว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ต้องอดทน เหมือนคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จะกู้เงินจากใครได้ ถ้าให้กู้ก็ต้องมีเงื่อนไขมากเป็นพิเศษ เจ้าของเงินกู้ก็ต้องหวังว่าได้เงินคืน เขาต้องให้เราตัดรายจ่าย ขายทรัพย์สินต่างๆ แม้จะเป็นของที่รักมากก็ตาม เพื่อจ่ายเงินต้นและลดค่าใช้จ่าย ถ้าทรัพย์สินนั้นยังต้องผ่อนชำระ ขยันทำงานหารายได้เพิ่มเติม ถ้าทำได้

ในช่วงปลดหนี้ก็ต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา “ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน” ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

(อ่านต่อฉบับวันเสาร์หน้า)