posttoday

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

01 ธันวาคม 2559

ผ่าปมวิกฤติราคาข้าวตกต่ำ-ทางรอดชาวนาไทย โดย "เดชา ศิริภัทร" ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ปราชญ์ด้านเกษตรอินทรีย์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

มองด้วยสายตานก ทุ่งข้าวหลายพันธุ์ปลูกเรียงสลับอย่างเป็นระเบียบ สีเขียวอ่อนแซมเขียวเข้มแปลกตา คั่นกลางด้วยถนนลูกรัง อีกฝั่งเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่ เรือนเพาะชำ บ่อน้ำ และกระท่อมใต้ต้นไม้ร่มรื่น

เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ยืนเหม่อมองสุนัขสองตัววิ่งลุยทุ่งนาอย่างสบายอกสบายใจ ลมหนาวพัดมาเป็นระยะ อากาศยามบ่ายน่าเอนหลังนอน

ในวันที่แวดวงวิชาการยกย่องผู้อาวุโสวัย 68 คนนี้เป็นปราชญ์ชาวนา ผู้แตกฉานด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ สร้างลูกศิษย์ลูกหามากมายให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง กวาดรางวัลดีเด่นมาประดับไว้เต็มตู้ และยังได้รับเชิญไปบรรยายในต่างประเทศทุกปี นี่คือตัวอย่างของชาวนาที่ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าชาวนาอีกหลายล้านคนกำลังเผชิญวังวนแห่งความทุกข์ซ้ำซาก

ท่ามกลางวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ จน เครียด เป็นหนี้ วันนี้ เดชาจะมาชี้ทางสว่างให้เห็นว่า อะไรคือทางออกที่จะทำให้กระดูกสันหลังของชาติเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้

"จน เครียด เป็นหนี้"วงจรอุบาทว์ชาวนาไทย

ในมุมมองของเดชา ต้นเหตุที่ทำให้ชาวนาไทยจมอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ทน จน เครียด เป็นหนี้ นั่นคือ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจำนวนไม่น้อยติดกับดักการปลูกข้าวแบบใหม่ที่ต้องลงทุนสูง ต้องพึ่งยา ปุ๋ย เครื่องจักร น้ำมัน หวังจะได้ผลผลิตเยอะๆ เพื่อนำไปขาย

"เดิมทีเราทำนาแบบธรรมชาติคือ ใช้ควาย ใช้แรงงาน ทำนาได้ปีละครั้ง ปลูกไว้กินเองก่อน เก็บพันธุ์ข้าว เหลือค่อยขาย ส่วนที่ขายนี่แหละก็คือกำไร เขาทำแบบนี้กันมาร้อยปีๆ กระทั่งปี 2512 มีการส่งเสริมให้ทำเกษตรแผนใหม่ พัฒนาข้าวพันธุ์กข.ซึ่งสามารถปลูกได้ทั้งปี แต่ต้องลงทุนสูง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ค่าน้ำมัน เมื่อได้ผลผลิตเยอะก็ต้องขาย ทีนี้พอราคาข้าวตกต่ำ แต่ต้นทุนแพง ขายไปขายมาก็ขาดทุน สุดท้ายเลยเจ๊ง

พอเป็นแบบนี้ ธกส.ก็ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวนากู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ถ้าไม่กู้ก็ทำนาไม่ได้ เพราะต้องลงทุนก่อน แล้วเอาข้าวไปขายเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ มีกำไรเหลือค่อยเอาไปซื้อข้าวกิน ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าชาวนายุคนี้เปลี่ยนจากพึ่งพาตนเองมาเป็นพึ่งพาตลาด สหกรณ์บ้านเราก็ไม่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ดันขายปุ๋ยขายยาเหมือนพ่อค้า ระบบแบบนี้มันเลยทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ต่อรองก็ไม่ได้ มีแต่ทรงกับทรุดอย่างเดียว ปีไหนข้าวราคาดีก็พออยู่ได้ ปีไหนฝนแล้ง น้ำท่วม ข้าวเป็นโรค แมลงลงก็แย่ ชาวนาไทยเลยจนกันถ้วนหน้า"

ยิ่งสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกผันผวน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เวียดนามแข่งปลูกข้าวส่งออกจนแซงอันดับโลก แถมยังคุณภาพดีและราคาถูกกว่าบ้านเรา เนื่องจากใช้สารเคมีน้อย ต้นทุนต่ำ ...ไทยจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

"อย่างเวียดนาม ผมไปประชุมกับเขามา 20 กว่าปี ประเทศเขารบกันตลอด เพิ่งมาเปิดประเทศทีหลังเราด้วยซ้ำ เขาก็ศึกษาเราว่า ที่ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลกนี่ทำยังไง ดูข้อเสียเราหมด จนหลายปีก่อนรัฐมนตรีเกษตรเวียดนามประกาศเลยว่า เขาจะเอาชนะไทยให้ได้ ผมก็บอกว่า อ้าว ไม่กลัวเหรอว่าถ้าทำแบบไทย ชาวนาจะจนเหมือนเรา เขาบอกอย่างมั่นใจเลยว่ามีวิธี เขารู้แล้วว่าทำไมชาวนาเราถึงจน

หลังจากนั้นเวียดนามประกาศนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม นั่นคือ ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม  ลดการใช้ปุ๋ยเคมี  ลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช และเพิ่มผลผลิต  เพิ่มคุณภาพ เพิ่มกำไร เขาไม่ได้ลด-เพิ่มแบบชุ่ยๆ แต่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลืออีกหลายอย่าง เช่น ยกเว้นภาษี ให้เงินกู้ กำหนดราคาข้าวให้ชาวนาได้กำไร ทำมาเป็น 20 ปี พอเปิดเออีซีปุ๊บ เขาชนะเราไปเยอะเลย ต้นทุนก็ถูกกว่า ผลผลิตสูงกว่า คุณภาพก็ดีกว่า"

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

 

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

เลิกโฆษณาสารเคมี=ตาสว่าง?

ครั้งหนึ่ง เดชาเคยถามชาวนาว่า ทำไมถึงไม่เลิกปลูกข้าวแบบใหม่ที่เน้นใส่ปุ๋ย ใส่ยา ซื้อดะขายดะ แล้วหันมาทำเกษตรวิถีธรรมชาติ พึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ปลูกแค่พอกินเหลือค่อยขาย  ....คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ "ทำใจไม่ได้"

"ผมถามว่าไอ้ทำใจไม่ได้นี่มันยากขนาดไหน เขาบอกว่าให้ผมเปลี่ยนศาสนาง่ายกว่า นี่คือเรื่องจริง เราก็ไปศึกษาต่อว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น ชาวนาไม่ได้โง่ ไม่ได้ปัญญาอ่อนเสียหน่อย ทีนี้ตอนไปเวียดนาม ก็เห็นว่าชาวนาเขาแทบไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ว่าสูบบุหรี่กันทั้งบ้านทั้งเมือง ส่วนชาวนาบ้านเราไม่สูบบุหรี่ แต่ใช้ยาใช้ปุ๋ยกันแทบทุกคน สุดท้ายมาพบว่าที่รัฐบาลเวียดนามออกนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม เขาลดการโฆษณาด้วย เขาห้ามไม่ให้โฆษณาปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงเลยนะ แต่บ้านเราโฆษณาโครมๆทุกวันตั้งแต่เสาไฟฟ้าข้างถนนยันยอดไม้ ใช้แล้วดี ข้าวงาม ไม่มีแมลง ไม่มีโรค ไอ้โฆษณาของบริษัทเกษตรนี่แหละตัวดี มันให้ข้อมูลผิดๆใส่สมองเขาวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่าจนฝังอยู่ในหัว ไอ้เรานานๆไปใส่ข้อมูลให้ทีมันเด้งออกมาเลย ไปเบียดเขาที่ล้างสมองอยู่ทุกวันไม่ไหวหรอก สุดท้ายข้อมูลแย่ๆเหล่านี้เลยทำให้ชาวนาไทยไปไม่รอด"

เขายืนยันชัดถ้อยชัดคำว่า ลองยกเลิกโฆษณาปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า สารเคมีปราบศัตรูพืช เข้มงวดเหมือนที่ห้ามโฆษณาบุหรี่ รับรองดีขึ้นแน่

"อย่างบุหรี่ เขาห้ามโฆษณา รณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ซื้อบุหรี่ เก็บภาษีแพงๆ แล้วเอาเงินมาตั้งเป็นกองทุนสสส. ให้ความรู้ว่าบุหรี่นี่ไม่ดียังไง ทำร้ายคนอื่นยังไง ต้องเจาะคอ เป็นมะเร็ง น่าเกลียดน่ากลัว พอทำแบบนี้คนสูบบุหรี่มันลดลงไปเยอะเลย เยอะกว่าเพื่อนบ้านเราทุกประเทศอีก แต่สารเคมีนี่คนละเรื่อง จะโฆษณาทั้งวันทั้งคืนก็ได้ แถมยกเลิกภาษีนำเข้า ไม่มีโควต้านำเข้าด้วย แบบนี้มันส่งเสริม

กองทุนที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ก็ไม่มี ไม่มีใครมาบอกว่าสารเคมีอันตรายแบบนั้นแบบนี้ มีบอกแต่ข้อดีอย่างเดียว ฉะนั้นรัฐบาลลองห้ามโฆษณาดูสัก 6 เดือน ดูซิว่ามันจะดีขึ้นไหม แต่ไม่มีทางหรอก เพราะพวกบริษัทเกษตรมันไม่ยอมเด็ดขาด มันเห็นแล้วไงว่าขนาดบุหรี่ คนติดๆยังหยุดได้ ผลประโยชน์มันมหาศาล ก็แจกจ่ายไปทั่ว เลยมีอิทธิพลฝังรากหยั่งลึกมาเป็นสิบๆปี เราจะไปค้านเขาได้ยังไง"

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

 

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

เกษตรอินทรีย์วิถีอันยั่งยืน...ตัวอย่างดีๆแต่ไม่มีใครทำ

กว่า 30 ปีที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าวและพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี เดชาสนับสนุนเกษตรกรมากมายหลายคนให้สามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเอง กวาดรางวัลมาไม่หวาดไม่ไหว ทั้งยังได้รับเชิญไปบรรยายถึงต่างประเทศเป็นประจำทุกปี นี่คือตัวอย่างของชาวนาไทยที่ประสบความสำเร็จ พึ่งพาตัวเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี 

แต่เหตุใดชาวนาอีกนับล้านที่ยังจมอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์กลับไม่สนใจไยดี?

"ผมพูดออกทีวีตั้งหลายครั้งแล้วว่า คุณไปดูซิ เกษตรกรคนไหนที่หาทางออกได้ ทำแล้วรวย ไปดูเลยว่าเขาทำยังไง ทำได้จริงไหม ถ้าจริงคุณก็เอาไปขยายผล เขายินดีสอนอยู่แล้ว ไม่รังเกียจหรอก คนต่างชาติมาดูงานเขาเยอะแยะ อย่างคุณชัยพร (พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2538 ผู้ทำนาอินทรีย์จนได้รับฉายาว่าชาวนาเงินล้าน) ลูกศิษย์เรานี่แหละ เขาทำนาจนร่ำรวย จากที่ 25 ไร่ขยายเป็น 112 ไร่ ทำปีละ 2 ครั้ง กำไรเป็นล้าน เพราะต้นทุนเขาต่ำมาก ทำกันสองคนผัวเมีย เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ใช้ยา ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไถเอง จ้างรถเกี่ยวอย่างเดียว ขณะที่ชาวนาคนอื่นซื้อหมด ทั้งพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยา เพื่อนบ้านก็เห็นนะว่าเขารวย ส่งลูกเรียนป.โท ปลูกบ้านหลังละ 5 ล้าน ซื้อที่เพิ่มทุกปี รางวัลนี่เป็นเข่งๆ ไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น ทุกอย่างมันชัดเจนว่าดีกว่าพวกใช้ปุ๋ยใช้ยา แต่ทำไมพวกนั้นยังจน ยังเป็นหนี้อยู่"เขาส่ายหัว

เดชาตอบข้อสงสัยที่ว่าทำเกษตรอินทรีย์นั้นเหนื่อยไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ลงแรงไปว่า

"ก็ต้องพิสูจน์กันดู ... ถ้าคุณไม่อยากเหนื่อยก็ต้องจ้างคนอื่นมาทำให้ แบบนี้เขาเรียกผู้จัดการนา ไม่ลงแรงเอง อยู่ๆก็โทรไปหาเขา เอ้า เอาข้าวมาส่งหน่อย เอ้า มาหว่านข้าวให้หน่อย จะเก็บเกี่ยว เอ้า มาเกี่ยวข้าวให้หน่อย ไม่ลงแรงแล้วมันจะเป็นเกษตรกรได้ไง เกษตรกรคือกรรมกรชนิดหนึ่ง ค่าแรงเป็นรายได้ของเรา

ผมเคยถามคุณชัยพรว่ามีเงินตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่จ้างเขาทำ แกบอกว่าจ้างเขาแล้ว 1.เสียเงิน ถ้าทำเองเงินที่เสียก็เข้ากระเป๋าเรา เป็นรายได้เรา 2.เวลาจ้างคนอื่นมันทำชุ่ย ทำให้เสร็จๆไป เพราะไม่ใช่ของมันเอง ไม่เหมือนเราทำเอง 3.มันไม่ชำนาญเหมือนเรา เราเป็นชาวนาอาชีพ ไอ้นั่นมันรับจ้าง จะไปชำนาญที่ไหนเล่า ถึงจะทำตั้งใจมันก็ไม่ดีเหมือนเราทำ เพราะฉะนั้นก็เสียของ นี่คือคนที่คิดเป็น"

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

"เศรษฐกิจพอเพียง" ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักคิดในการทำเกษตรวิถีธรรมชาติที่ดีที่สุด

"คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ก็ต้องรู้ก่อนว่ามันมี 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 3 ห่วงคือ 1.ความพอประมาณ ถ้าเรามีปัญญาก็จะรู้ว่าความพอประมาณของนั้นแค่ไหน 2.ความมีเหตุผล เช่น จะใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้ไปเพื่ออะไร ไม่ดียังไง ควรทำหรือไม่ควรทำ  3.ภูมิคุ้มกัน เช่น คนอื่นแห่กันไปใช้เคมีหมด เรามีภูมิคุ้มกันก็ไม่ทำตามเขา เพราะว่าเรามีความรู้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ได้อ่อนแอถึงขนาดต้องทำตามกระแส  สามอย่างนี้มันทำให้รอด แต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีสักอย่าง พอประมาณไม่มี เหตุผลก็ไม่มี ภูมิคุ้มกันก็ไม่มี นอกจาก 3 ห่วงนี้ยังมี 2 เงื่อนไขเป็นร่มโพธิ์ คือ 1.ความรู้ ต้องรู้จริง ไม่ใช่รู้หลอกๆ เช่น รู้ว่าปุ๋ยมันเป็นยังไง ยาฆ่าแมลงเป็นยังไง อินทรีย์เป็นยังไง ตลาดเป็นแบบไหน ต้องรู้หมด 2.ต้องมีคุณธรรมด้วย ไม่โลภ ไม่ไปโกงเขา ขายปุ๋ย ขายยาเสียเอง ทั้งที่รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังขายให้คนอื่น

ส่วนทฤษฎีการทำเกษตรพระองค์ท่านประยุกต์ให้เข้าใจง่ายๆเลยคือ 3 ขั้น ประถม มัธยม อุดมศึกษา ขั้นปฐมคือ ทำเท่าที่ตัวเองกินก่อน เช่น ข้าว อยากกินข้าวแบบไหน ปลูกแบบนั้น ให้พอกิน อยากกินเคมีไหม ไม่อยากกินเคมีก็ปลูกอินทรีย์สิ  ผักก็ปลูกให้พอกิน ผลไม้ ปลา อะไรที่ทำได้ก็ทำไปเลย ขั้นมัธยมคือ พอผลผลิตเหลือ ข้าวที่ปลูกไว้เหลือ ปลาเหลือ ผลไม้เหลือ ก็ขายรอบๆบ้าน ไม่ต้องไปไหนไกลหรอก เพื่อนบ้านเห็นเรากินมันก็กินด้วย บางทีก็แลกกัน แจกก็ได้ แถมก็ได้ เดี๋ยวเขาก็ให้เราคืนมา กระทั่งไม่มีใครซื้อแล้ว เพราะทุกคนมีเหมือนกันหมด ขั้นอุดมศึกษาก็คือ รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ จะไปขายกรุงเทพหรือไปขายต่างประเทศก็ได้ อันนี้เป็นขั้นสุดท้ายคือร่ำรวยก็ได้ ใครทำแบบนี้ยังไงก็ไม่อด แต่เกษตรกรสมัยนี้แค่เริ่มปลูกก็คิดถึงตลาดแล้วว่าใครจะซื้อ โรงสีใช่ไหม ปลูกเลยแล้วขายโรงสีให้หมด ไม่ได้ลงตุ่มไว้ด้วย เพราะฉะนั้นตัวเองก็ไม่ได้กิน ขายเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องไปซื้อเขากินอีก"

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

เมื่อทุกข์ถึงขีดสุด ทุกอย่างจะดีขึ้น

ในวัย 68 ปี เดชา ศิริภัทร ยังมีความสุขกับการเป็นครูชาวนาให้ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีรถ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์

เดชาบอกว่า หลักการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่ยึดถือมาทั้งชีวิตคือ 1.มีชีวิตอย่างพอดี กินอาหารพอดี เครื่องนุ่งห่มพอดี ที่อยู่พอดี 2.เวลาทำอะไรอย่าตั้งความหวัง เช่น อยากช่วยสังคมเรื่องเกษตร ทำให้ชาวนาตาสว่าง เลิกทำนาเคมีหันมาทำนาวิถีธรรมชาติ ก็จะไม่ตั้งความหวังว่าจะช่วยชาวนาให้หมดหนี้ภายใน 10 ปี 20 ปี หรือให้เลิกใช้ปุ๋ยเคมีทันทีทันใด

"เราต้องรู้เท่าทันตัวเอง ท่านพุทธทาสเรียกว่า ลิ้นงูในปากงู ถ้าเราจะอยู่แบบปลอดภัยต้องอยู่แบบลิ้นงูในปากงู งูมันมี 4 เขี้ยว งับขึ้นงับลง มีพิษด้วย ที่อันตรายที่สุดคือในปากมัน แต่ว่าลิ้นนี่ไม่เป็นอะไรเลย ที่ไม่เป็นอะไรเพราะว่ามันรู้ว่าจะงับเมื่อไหร่ รู้ว่าต้องหลบไปทางไหน ฉะนั้นเราอยู่ในสังคมที่มีการหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ อันตราย ถ้ารู้เท่าทันเหมือนลิ้นงูก็จะปลอดภัย ขณะเดียวกัน ลิ้นงูถ้าไปอยู่นอกปากงูมันจะปลอดภัยมากกว่านี้อีก เพราะไม่โดนงับ อยู่ห่าง แต่ลิ้นงูถ้าไม่อยู่ในปากงูมันก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เหมือนเราต้องอยู่ในสังคม เพราะมันจะทำประโยชน์ได้ เหมือนลิ้นงูในปากงูถึงจะมีประโยชน์ใช่ไหม พูดง่ายๆคือเราต้องรู้เท่าทัน ไม่ถูกสังคมทำร้าย ขณะเดียวกันก็ต้องทำประโยชน์ให้ได้ด้วย นั่นเป็นสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอด อยู่อย่างมีความสุข ปลอดภัย ไม่ทุกข์ และต้องช่วยเหลือคนอื่นด้วยการไปบอกเขา ทำให้เขาดูว่าเกษตรอินทรีย์มันดียังไง มีประโยชน์แค่ไหน 

แต่ปัญหาคือ ถ้าเขาไม่เอา เราก็ทำอะไรไม่ได้ คนที่มันจนจริงคือจนปัญญา ไม่จนเงินหรอก ชาวนาส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ได้แค่จนเงินอย่างเดียว แต่จนปัญญาด้วย เพราะว่าโดนหลอกมาตลอด ให้มาดูของจริงก็ไม่เอา ดันไปเอาของปลอม ก็ช่วยไม่ได้ สุดท้ายถ้าพูดภาษาธรรมะก็คือ ความทุกข์จะสอนเขาเอง ไม่มีอะไรจะสอนคนเราได้ดีเท่าความทุกข์ พอทุกข์หนักเข้าคนมันก็จะคิดได้เองว่า อ๋อ เรามาผิดทาง ถึงได้ทุกข์ขนาดนี้  พอทุกข์จัดๆคนเรามันก็ฉลาดเอง แล้วจะเปลี่ยน ผมเชื่อว่าประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤติหนักๆผ่านไปได้มันจะต้องเจริญขึ้นแน่ๆ"

ท่ามกลางคราบน้ำตา ใบหน้าหมองเศร้า เพราะทุกทนข์จมปลักอยู่กับกองหนี้ ความยากจน ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนายังมีความเชื่อว่า สักวันหนึ่งชาวนาไทยจะตาสว่าง ค้นพบทางออก นั่นคือ การหันมาทำเกษตรอินทรีย์ วิถีธรรมชาติอันเรียบง่ายและยั่งยืนที่สุด.

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา

 

"เมื่อทุกข์มากๆ วันนึงชาวนาจะตาสว่างเอง" เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนา