posttoday

ปลดล็อกคนไทยไร้สัญชาติ 4 แสนคน สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทำงานได้ทุกอาชีพ

29 พฤศจิกายน 2559

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่มีการเรียกร้องให้คนไร้สัญชาติและครอบครัวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนควรได้รับสิทธิ

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่มีการเรียกร้องให้คนไร้สัญชาติและครอบครัวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนควรได้รับสิทธิ เช่น การได้รับสัญชาติไทย สิทธิการเดินทางในประเทศ และการทำงานที่เสรี เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอย่างมั่นคง

จนเมื่อวันที่ 15 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อนุญาตให้คนต่างด้าวที่อาศัยในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและได้รับการผ่อนผันให้อาศัยเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยตามกฎหมาย ทำงานได้ทุกประเภท ยกเว้นต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งอาจถือเป็นการปลดล็อกจากเดิมที่กำหนดให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้เพียง 27 อาชีพเท่านั้น

สิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขยายความว่า กฎหมายฉบับนี้ออกเพื่อให้ผู้อพยพที่ได้รับการผ่อนผันซึ่งเข้ามาในไทยตั้งแต่โบราณ แต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น คนพื้นที่สูง คนพลัดถิ่น กลุ่มตองเหลือง ให้สามารถทำงานได้ทุกประเภทตั้งแต่วันนี้ จากเดิมให้เพียง 27 อาชีพเท่านั้น

“ตอนนี้จะเป็นหมอ ทนายความ อะไรทำได้ทั้งหมดโดยไม่มีข้อจำกัด เพียงหากจะเดินทางไปทำงานพื้นที่อื่นของประเทศควรแจ้งฝ่ายปกครองให้รับทราบเพื่อรู้ถึงสถานะปัจจุบัน ประกาศนี้จะช่วยปลดล็อกทำให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานเข้ามาเติมในอุตสาหกรรมที่ขาดมากขึ้น” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ มองว่า นโยบายนี้ถือว่าเป็นการปลดล็อกปัญหาคนไร้สัญชาติได้ เนื่องจากเรื่องนี้หลายฝ่ายร่วมกันผลักดันมานานกว่า 10 ปี จึงขอชื่อชมว่าเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษย์ชนครั้งแรก

เนื่องจากก่อนหน้านี้บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยถือเป็นคนต่างด้าวแทบจะไม่มีสิทธิทำงาน เว้นเฉพาะงานบางอย่างที่รัฐยินยอม เพราะคนต่างด้าวไร้สัญชาติที่มีจำนวนกว่า 4 แสนคน ในไทยไม่มีหลักฐานยืนยันความเป็นสัญชาติไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มชาติพันธุ์ อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงมานานกว่า 40-50 ปี ไม่มีโอกาสติดต่อกับหน่วยงานรัฐ จึงทำให้ไม่ได้รับสัญชาติ แต่คนกลุ่มนี้มีความกลมกลืนกับสังคมไทยมาโดยตลอด

นักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ ฉายภาพว่า บุคคลกลุ่มนี้กระจายอยู่ในจังหวัดแนวชายแดน เช่น จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกผัก ปลูกข้าว ปลูกผลไม้ หาของป่า รับจ้างเพื่อเลี้ยงชีพ

ขณะที่เยาวชนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2548 กฎหมายเปิดโอกาสให้เรียนระดับชั้นต่ำสุดไม่น้อยกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงทำให้เด็กไร้สัญชาติรุ่นใหม่จบปริญญาตรีมากขึ้น แต่หลายคนเมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีโอกาสทำงานตามความรู้ความสามารถเนื่องจากติดขัดข้อจำกัดกฎหมายการทำงาน ฉะนั้นการที่รัฐออกประกาศนี้จะทำให้คนกลุ่มนี้รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่อยู่ประเทศไทยเป็นเวลานานทำงานได้ทุกอาชีพจะเป็นการปลดล็อกปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้ จะเป็นการให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเรื่องการทำงาน และช่วยประเทศพัฒนาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานได้มาก

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและบุคคลไร้สัญชาติ มองว่า ประกาศที่ออกมามีการใช้ภาษากฎหมายที่
ซับซ้อน หากใครไม่เข้าใจเรื่องนี้จริงจังจะทำให้คนที่ไร้สัญชาติกลุ่มหน้าๆ ตกหล่นหายไป ซึ่งมองว่าสิ่งที่ออกมายังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นหากวิธีปฏิบัติไม่ชัดเจนอาจช่วยไม่ได้จริงและอาจเอื้อต่อการทุจริต ประเด็นหลักที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มชาวเขาและชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอาศัยอยู่นาน 

นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุว่า หลักการในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวที่ใช้ คือ ต้องการใช้กับคนต่างด้าวที่ถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งยังไม่มีสัญชาติ แต่ก็มีคนไร้สัญชาติที่ไม่ถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่เป็นคนไร้สัญชาติ เช่น อยู่ในเยาวราช ตรงนี้เป็นอีกกลุ่มที่อยู่ในมาตรา 9 ซึ่งถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มองว่าคนเหล่านี้ควรจะได้รับสิทธิดีที่สุด

พันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า วันนี้ต้องชมเชยกระทรวงแรงงาน สภาความมั่งคงแห่งชาติเพราะคนเหล่านี้ไม่มีประเทศต้นทางเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ฉะนั้นรัฐควรต้องดูแล แต่การแก้ไขปัญหานี้เสนอว่าควรประกาศใช้กลุ่มคนในมาตรา 9 เพิ่มเติม และเขียนกฎหมายให้ชัดเจน เพราะที่ประกาศออกมานี้ใช้เพียงมาตรา 13 ถ้าตั้งเป้าจะช่วยคนไร้สัญชาติทุกคนที่เข้ามานานแล้ว ไม่ควรเลือกปฏิบัติเพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีประเทศต้นทาง ฉะนั้นคนต่างด้าวที่เข้ามานานควรได้รับการพิจารณาที่สุด

“ต่างด้าวแท้ คือ มีรัฐและเจ้าของสัญชาติดูแลจริง แต่นโยบายนี้ควรใช้กับต่างด้าวเทียมที่ไม่มีเจ้าของสัญชาติซึ่งเขาเป็นคนของประเทศไทย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของคนไทยที่โชคร้าย ฉะนั้นคนกลุ่มนี้ควรได้รับสิทธิการทำมาหากินอย่างสุจริต ไม่ถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลทำมาถูกแล้ว แต่ควรทำให้ชัดเจน” รศ.พันธุ์ทิพย์ กล่าว