posttoday

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน

24 พฤศจิกายน 2559

จากอุบัติเหตุสะเทือนใจสู่นโยบาย"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

เหตุการณ์ผู้โดยสารพลัดตกเรือด่วนคลองแสนแสบ บริเวณท่าเรือนานาชาติ ซอยสุขุมวิท 15 กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะชนิดนี้

คำถามน่าสนใจก็คือ วันที่การขนส่งทุกระบบกำลังเดินหน้าพัฒนาด้วยการลงทุนมหาศาล แต่อะไรกัน เป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ในเมืองหลวงของประเทศไทย

"คนขับจอดไม่สนิท-ผู้โดยสารรีบเร่ง"ต้นตออุบัติเหตุ
 
หลังเหตุสลด ความวิตกกังวลได้แผ่ซ่านไปในหมู่ผู้โดยสารที่นิยมใช้บริการเรือด่วนคลองแสนแสบในชีวิตประจำวัน
 
สุรพล ทิพย์ปรีดา เล่าว่า นั่งเรือมากนานกว่า 5 ปีแล้ว เขามองว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากเรือหลายลำจอดเทียบท่าไม่สนิทและออกตัวจากท่าเร็วเกินไป แต่ยอมรับว่าผู้โดยสารหลายคนก็ประมาท ขึ้นลงเรือทั้งที่ยังไม่จอดสนิท
 
“เวลาเทียบท่ากับเวลาออกจากท่า มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีความสม่ำเสมอ คนขึ้นลงกะจังหวะก้าวเท้าลำบาก เก่งหน่อยไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้าไม่คุ้นชิน เพิ่งเคยนั่งหรือนานๆนั่งทีก็ต้องระมัดระวังหน่อย ส่วนพวกที่ชอบยืนกราบเรือก่อนเทียบท่าก็มีให้เห็นเหมือนกัน พวกนี้รีบร้อนเกินไป เรือยังไม่ทันเทียบท่า เจ้าหน้ากำลังมัดเชือกที่หลัก ก็โดดแล้ว”
 
เบญจวรรณ นักศึกษาสาวที่เดินทางโดยสารคลองแสนแสบเป็นประจำ เล่าว่า ความปลอดภัยในการขึ้นลงอยู่ที่เทคนิคและความชำนาญมากกว่ามาตรฐานของเรือและผู้ขับขี่
 
“คนมีประสบการณ์กะจังหวะถูกก็เสี่ยงน้อย คนไหนพลาดขึ้นมาก็ซวย เรือบางลำก็ขับเหมือนรถเมล์ ท่าไหนมีผู้โดยสารน้อยก็อาจจะจอดไม่สนิท เพราะมั่นใจว่าคนขึ้นลงก้าวข้ามได้อย่างปลอดภัย ที่น่ารำคาญก็คือ คนเก็บตังค์ บางคนชอบส่งเสียงให้เรารีบๆก้าว ไม่รู้มันจะกดดันไปไหน”

เธอเสนอว่า เรือโดยสารถือเป็นระบบขนส่งที่ทำความเร็วได้ดีกว่ารถเมล์มาก  ฉะนั้นควรจัดทำระบบขึ้นลงให้เป็นระบบ ลดความเร่งรีบลงไปบ้าง ทั้งพนักงานขับเรือ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และผู้โดยสาร เพื่อความพอใจและปลอดภัยของผู้ใช้
 
ด้าน เจ้าหน้าที่ประจำสถานีจากกรมเจ้าท่ารายหนึ่งที่ส่งเสียงเตือนผู้โดยสารผ่านโทรโข่งตลอดทั้งวันว่า “ไม่ต้องรีบครับ ไม่ต้องรีบ รอให้เรือนิ่งก่อน” บอกว่า ผู้โดยสารบางรายมีปัญหาในการขึ้น-ลงจริง มักก้าวขาขึ้นก่อนเรือเทียบท่า เสี่ยงต่อการผิดจังหวะหากเรือยังไม่นิ่งพอ
 
"ช่วงหลังเลิกงานทุกคนรีบกลับบ้าน เรือยังยอดไม่สนิทบางทีก็รีบก้าว ระดับน้ำแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน กะจังหวะลำบาก เราเตือนเสมอว่าไม่ต้องรีบครับ แต่ก็มีพวกไม่ฟัง บางคนทำหน้าเบื่อด้วย ว่าพูดอยู่นั่นแหละ”

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน ภาพจากเฟซบุ๊ก กลุ่มผู้โดยสารเรือ คลองแสนแสบ

"คมนาคม-เจ้าท่า"ประสานเสียงเร่งแก้ไข
 
เสียงจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงคมนาคม ออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนี้ไปจะสั่งเอาผิดจริงจังไม่มีข้อยกเว้นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ควบคุมเรือและผู้ขับเรือหากละเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ จะไม่มีการลงทัณฑ์บนอย่างที่ผ่านมา ถ้าพบการกระทำผิดซ้ำจะดำเนินการพักใบอนุญาตการขับเรือ จนถึงการยึดใบอนุญาตขับเรือตลอดชีพ ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำท่าต้องมีความผิดทางวินัยด้วย หากละเลยจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
 
นอกจากนั้นยังได้กำชับถึงเอกชนให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเรือให้แยกทางขึ้นและลงเรือ รวมถึงการทำช่องทางเดินบริเวณกลางลำเรือเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารระหว่างการขึ้นลง โดยจะนำการจัดรูปแบบดังกล่าวมาทดลองให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อสำรวจความคิดเห็นและเสียงตอบรับ
  
“อนาคตมีแผนจัดระเบียบจะปรับปรุงทางเชื่อม (lamp) ขึ้น-ลงบริเวณท่าเรือ และติดตั้งกล้องวงจรปิดประจำเรือทุกลำเพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราสนับสนุนบริษัทเอกชนผู้ให้บริการเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารระบบแบตเตอรี่เพื่อลดการปล่อยมลพิษลงสู่แม่น้ำตลอดจนลดมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้น ตลอดจนจัดความถี่ตารางเวลาเดินเรือ (Boat Schedule) ในคลองแสนแสบใหม่เพื่อลดปัญหาการทำรอบ หลังจากได้รับรายงานว่าเรือแต่ละลำแข่งกันรับผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธี ต้อนให้ผู้โดยสารคนลงเรือก่อนและเก็บค่าโดยสารภายหลัง ซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการกำหนดให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วก่อนลงเรือ เพื่อแยกการให้บริการก่อนลงเรือ” 

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน

ขณะที่ จิราภรณ์ จันทรศิริ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ กล่าวว่า เรือรูปแบบใหม่ที่เตรียมใช้งานจะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะสูญเสียความสะดวกสบายหรือรวดเร็วลงไปบ้าง เนื่องจากมีทางขึ้น-ลงชัดเจน ไม่สามารถขึ้นลงส่วนไหนก็ได้เหมือนปกติ
 
คำถามคาใจประชาชนที่ว่า กรมเจ้าท่าสั่งยกระดับมาตรฐานเรือโดยสารให้ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ยืนยันว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามพัฒนาเรือให้ดีขึ้นเสมอ แต่ติดเรื่องงบประมาณ อย่ามองว่ามีผู้โดยสารจำนวนมากแล้วเอกชนจะมีกำไรสูง จริงแล้วไม่ใช่ ต้นทุนในการบริหารจัดการเดินเรือค่อนข้างสูง นอกจากเรือ ยังมีท่าเรือที่ต้องดูแล ทำให้ไม่มีเอกชนรายอื่นกล้าเข้ามาลงทุน
 
“เรือแพง ไม้แพง คนขับก็หายาก มีจำนวนน้อย กว่าจะพัฒนาทักษะให้สามารถขับรับ-ส่งผู้โดยสารในบริเวณคลองแสนแสบซึ่งมีขนาดเล็กได้ต้องใช้เวลานาน การขับเรือไม่เหมือนขับรถ อย่านึกว่าเอกชนเขาแย่งกันมาเดินเรือ ต้นมันสูง กรมเจ้าท่าอยากให้มีการแข่งขันเพื่อพัฒนา แต่ความเป็นจริงไม่มีเลย”
 
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งจากกรมเจ้าท่า ให้ข้อมูลเสริมว่า อุปสรรคและข้อจำกัดในการพัฒนาระบบขนส่งโดยสารทางเรือบริเวณคลองแสนแสบนั้นมีหลายด้าน ไล่ตั้งแต่ สะพานข้ามคลองที่แต่ละแห่งค่อนข้างต่ำ ความกว้างของคลองที่ส่งผลต่อขนาดเรือและท่าเรือ ที่สำคัญยังขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
 
“ความสะดวกและปลอดภัยในการเดินเรือนั้นยกระดับได้ ประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ก็เดินเรือในคลอง ออกแบบให้เป็นระบบปิด ติดแอร์ สวยงาม ปลอดภัย ถ้าจะบ้านเราจะสร้าง ยังไงก็ทำได้ อาจทดลองสัก 2-3 ลำ เก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับ คิดว่าผู้โดยสารน่าจะอุ่นใจและมีผู้อยากใช้เพิ่มขึ้น”

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน รายงานการสำรวจ ความหนาแน่นผู้โดยสาร เรือคลองเเสนเเสบ ปีงบประมาณ 2558 จากกรมเจ้าท่า

คืบหน้าล่าสุด"เรือใหม่"พร้อมใช้ 15 ธ.ค.นี้
 
ฝั่งเอกชนผู้ให้บริการเดินเรือขนส่งบริเวณคลองแสนแสบอย่าง บริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ขณะนี้กำลังเร่งพัฒนาสร้างเรือให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และพร้อมทดลองให้บริการเรือใหม่ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จำนวน 2 ลำ
 
เชาวลิต เมธยะประภาส เจ้าของกิจการครอบครัวขนส่งฯ กล่าวว่า เรือรูปแบบใหม่จะมีทางขึ้นลงชัดเจน ซ้ายและขวาด้านละ 2 ประตู เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารสามารถยืนบนกราบเรือก่อนขึ้น-ลงได้อีก พร้อมกับติดตั้งพลาสสติกใสที่มีความแข็งแรงทดแทนแผ่นผ้าใบรอบลำเรือ ป้องกันปัญหาน้ำกระเด็นใส่ผู้โดยสาร ขณะที่ภายในได้เพิ่มช่องทางเดินบริเวณกลางลำเรือเพื่อความสะดวกของประชาชน
  
“การปรับปรุงใหม่ จะมีทางเข้าออก 4 ช่องทางเท่านั้น ซ้าย 2 ขวา 2 และเพิ่มทางเดินตรงกลาง จากนี้จะกรูเข้าไปพร้อมๆกันเป็นแถวไม่ได้แล้ว แต่ก็มีข้อเสีย หากเรืออับปางจะหนีออกจากเรือได้ยาก แตกต่างจากปัจจุบันที่มีลักษณะเปิดโล่ง”
 
เชาวลิต เปรียบเทียบความปลอดภัยของการโดยสารทางเรือกับทางบกว่า ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันเคารพกฎอย่างเคร่งครัด ปัญหาจะลดน้อยลง
 
“การขึ้นลงทางเรือก็เหมือนทางบก มีลักษณะเหมือนกับพวกรถไฟฟ้า MRT BTS คนในออกก่อน คนนอกค่อยเข้า รอเรือจอดสนิทก่อนค่อยก้าว ถ้าเคารพกฎ ปัญหาจะไม่เกิด”
 
เจ้าของกิจการครอบครัวขนส่งฯ พูดถึงข้อกำจัดในการพัฒนาว่า ที่ผ่านมา ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท ทำให้ต้องลงทุนด้วยเงินสด ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนามาก
 
“ทำอะไร แบงค์ก็ไม่ให้กู้ ทุกวันนี้เรือลำนึงลำก็ 7 ล้านบาทแล้ว แค่ค่าเครื่องยนต์ก็เกือบ 2 ล้าน”
เชาวลิตกล่าวสั้นๆ
 
ปัจจุบันบริษัทครอบครัวขนส่งฯ มีเรือโดยสารทั้งสิ้น 72 ลำ ใช้งานจริง ประมาณ 57-59 ลำต่อวัน โดยมี 2 ขนาด ความยาวประมาณ 20-24 เมตร กว้างประมาณ 4 เมตร รองรับผู้โดยสารได้จำนวน 150 คน และ 100 คน ตามลำดับ
 
เชาวลิต บอกถึงมาตรฐานของพนักงานขับเรือโดยสารให้ทุกคนสบายใจว่า กว่าจะเป็นพนักงานขับเรือได้ต้องมีประสบการณ์ผ่านการเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารให้กับบริษัทอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเรียนรู้เส้นทางก่อน ขณะที่บทลงโทษ หากกระทำความผิด โทษสูงสุดคือไล่ออก ส่วนประเด็นการขับเร็วเพื่อทำรอบ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน
  
“15 ธ.ค.นี้ก็ลองดูว่า สังคมจะชอบหรือไม่ชอบ ค่อยๆออกแบบพัฒนาไป การออกแบบสมบูรณ์เพียงแค่ในกระดาษ แต่ใช้งานจริงต้องทดลองและแก้ไขปรับแต่งไปเรื่อย คนไทยปกติช่างพูดอย่างเดียว ไม่ได้ช่างทำ ขอให้ช่วยกันคิด ทำแล้วค่อยพูด ไม่ใช่พูดอย่างเดียว”

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน พฤติกรรมลงเรือโดยสารผิดวิธีของผู้โดยสารรายหนึ่ง

 

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน เรือโดยสารประเทศ เนเธอร์เเลนด์ จากสมาชิกพันทิปหมายเลข 1587769

ถึงเวลาให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางเรือ
 
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนต.ค.2558 สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง “10 ข้อเท็จจริงชีวิตคนกรุงเทพ”  หนึ่งในข้อเท็จจริงที่่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ มีการลงทุนมหาศาลในระบบขนส่งมวลชนที่คนใช้ไม่มาก เช่น แอร์พอร์ตลิงค์ที่ลงทุนถึง 3.3 หมื่นล้านบาท กลับมีผู้โดยสารใช้เพียง 17 ล้านคนต่อปี BRT มีการลงทุน 2.8 พันล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการ 6 ล้านคนต่อปี ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ได้งบประมาณเพียง 70 ล้านบาทในการดูแล ทั้งที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 29 ล้านคนต่อปี
 
ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับการขนส่งทางเรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายน่าจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่กับประชาชน
 
“เอกชนไม่ได้ทำเรือส่วนตัวหรือลักษณะท่องเที่ยว แต่เป็นเรือโดยสารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ถ้ามองว่าการขนส่งทางน้ำเป็นประโยชน์ หน่วยงานต่างๆ เช่น กทม. กรมเจ้าท่า หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ต้องช่วยเหลือได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เหมือนกับรถเมล์ รถไฟ ที่รัฐบาลยังมีนโยบายขึ้นฟรีให้เลย”
 
ดร.บัณฑิตชี้ว่า การให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางน้ำ จะส่งผลต่อระบบชนส่งโดยรวม ทั้งยังเป็นการสืบทอดวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่เดินทางทางน้ำมาตั้งแต่อดีตด้วย 
 
“ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งคนเหล่านี้เปลี่ยนไปขับขี่รถยนต์  การจราจรจะติดขนาดไหน หรือเปลี่ยนไปนั่งรถไฟฟ้า รถเมล์ คนแน่นขนาดไหน วันนี้เรือโดยสารแบ่งเบาภาระให้กับการจราจรแล้ว เมื่อมีปัญหาก็น่าจะมีคนช่วยเหลือพัฒนา เหมือนกับเวลาที่คนจำนวนมากบอกว่าไม่อยากใช้รถแต่อยากเดินบนทางเท้า เราก็ควรทำทางเท้าให้ดี”

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน ภาพสเก็ตเรือโดยสารคลองแสนเเสบ จาก ยรรยง บุญ-หลง

 

"จัดระเบียบเรือคลองแสนแสบ"...ถึงเวลาเงี่ยหูฟังประชาชน โครงสร้างเรือโดยสารคลองเเสนเเสบ

ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เรือคลองแสนแสบ นับเป็นการเดินทางที่ไม่ติด และสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างตรงเวลา ที่สำคัญหากมองในแง่สิทธิ์ความเท่าเทียม เรือ 1 ลำที่บรรจุผู้โดยสารได้ถึง 100 คน ก็ควรได้รับคุณค่าและความสำคัญเท่ากับรถยนต์
 
“วันหนึ่งมีคนนั่งเรือประมาณ 6 หมื่นคน เท่ากับสิทธิ์ของรถ 6 หมื่นคัน ซึ่งมากกว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยซ้ำ ลองคิดดูถ้าเรือเป็นรถไฟฟ้า รัฐคงเทงบประมาณมหาศาลในการปรับปรุงพัฒนา แต่พอเป็นเรือ รัฐกลับยังใช้ระบบท่าเรือที่ใช้กันมาเกือบร้อย ปี  เรือยังไม่สามารถออกแบบให้ติดแอร์ได้เลย วันนี้เรือควรเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบรถไฟฟ้า และให้เกียรติคนนั่งในแบบเดียวกัน อาจจะมีนโยบายใช้ตั๋วร่วมเรือต่อรางที่ใช้ได้ในราคาเดียว ภายใน 2 ชั่วโมง"
 
สถาปนิกชื่อดัง ทิ้งท้ายว่า  ตัวอย่างจากประเทศอื่นที่ไม่มีเรือโดยสารที่คนใช้มากเท่าเรือแสนแสบ ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องคิดในแง่วิศวกรรมและออกแบบว่า จะปรับปรุงอย่างไรให้คนยังใช้มากเหมือนในปัจจุบัน ทว่าปลอดภัยและสะดวกสบายขึ้น
 
นาทีนี้อาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับระบบขนส่งทางน้ำซึ่งรองรับพี่น้องประชาชนผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคนต่อปีอย่างจริงๆจังๆเสียที