posttoday

ที่พึ่งสนามหลวง ดูแลคนไข้ 500 คน/วัน

30 ตุลาคม 2559

2สัปดาห์ที่ผ่านมา พสกนิกรจำนวนมากหลั่งไหลด้วยหัวใจเดียวกันมาที่สนามหลวง หลายคนเจ็บป่วยและเป็นลม

2สัปดาห์ที่ผ่านมา พสกนิกรจำนวนมากหลั่งไหลด้วยหัวใจเดียวกันมาที่สนามหลวง หลายคนเจ็บป่วยและเป็นลม หน่วยแพทย์ของภาครัฐมีประมาณ 10 หน่วย และทีมแพทย์อาสาก็ขอเข้ามาตั้งเป็นหน่วยที่ 11 เพื่อช่วยแบ่งเบาหน่วยหลัก

การทำงานของ “หน่วยแพทย์อาสา” ในเต็นท์ที่ให้บริการบริเวณท้องสนามหลวง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา แจกแจงว่า หน่วยแห่งนี้มีแพทย์พยาบาลจำนวนมากที่อยากมาเข้าร่วมทำความดี โดยการบริหารใช้โมเดลการทำงานแพทย์อาสาเดียวกับทุกครั้งที่ทำ พร้อมมีการประเมินพัฒนาระบบทุกวัน เพื่อทำให้การบริการตลอด 100 วัน พร้อมรองรับประชาชนให้ดีที่สุด แต่จากการประเมินช่วงเปิดรักษา 10 วันนี้ จากที่ตั้งใจไว้ 100 วัน ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เพราะรองรับการให้บริการประชาชนได้เป็นอย่างดี วันละ 300-500 คน เมื่อครบกำหนดจะส่งมอบพื้นที่ให้ภาครัฐต่อไป

ขณะนี้ระบบการรักษาถือว่ามีระบบที่ดีพอสมควร เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี เข้ามาสนับสนุนเรื่องยา ส่วนมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สนับสนุนเรื่องบุคลากรแพทย์ จึงทำให้เต็นท์แห่งนี้เป็นหน่วยแพทย์ที่มีบุคลากรคอยบริการประชาชนได้เพียงพอแบบอาสาสมัครใจ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร เล่าถึงการรวมบุคลากรทางการแพทย์ว่า ใช้ระบบเดียวกับการทำแพทย์อาสาที่ทำมาตลอด ภายในเต็นท์จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ คือ 1.ส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ในการตรวจรักษาประชาชน จะมีทีมแพทย์ผลัดเปลี่ยนให้บริการตลอดทั้งวัน 2.มีทีมพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ดูแล 3.ระบบเภสัชกร เนื่องจากพื้นที่ตั้งหน่วยอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ส่งเภสัชกรมาหมุนเวียนได้ตลอดเวลาทำการทั้งวัน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เหนื่อยมากจนเกินไป และยิ่งทำให้ทุกคนมีความสุขที่ได้ดูแลคนไข้เต็มที่ ฉะนั้นเต็นท์แห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมแห่งความมีน้ำใจและความดีของบุคลากรอาสาทางการแพทย์

ที่พึ่งสนามหลวง ดูแลคนไข้ 500 คน/วัน

 

“วันนี้เต็นท์แห่งนี้เป็นที่พึ่งของคนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพราะถ้าให้ไปโรงพยาบาลเอกชนต้องเสียเงินมาก ไปโรงพยาบาลศิริราชก็อาจต้องรอคิวเข้ารับการรักษานาน วันนี้เราจึงขอเป็นที่พึ่ง บางครั้งผู้ป่วยบางคนอุ้มลูกมายืนรอแต่เช้า บางคนลืมยามา ก็มาขอรับเพื่อให้มียากินต่อเนื่อง วันหนึ่งมีคนปวดท้องคลอดลูกก็ส่งไปทำคลอดที่โรงพยาบาลรัฐให้ ฉะนั้นบุคลากรทางการแพทย์ในที่แห่งนี้ ทุกคนจึงรู้สึกดีใจที่ได้ดูแลผู้คนที่เดินทางมาอยู่ใกล้ๆ พ่อ ให้ได้รับความสะดวก”

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า ความสำเร็จวันนี้ แพทย์ทุกคนพอใจที่ได้ดูแลคนไข้ 300-500 คน/วัน แต่สิ่งที่ภูมิใจที่สูงสุดอีกอย่าง คือ การได้ทำงานใกล้พระองค์ท่าน ไม่ว่าจะมีคนป่วยในช่วงเวลานั้นหรือไม่ หมอ พยาบาล เภสัชกร ทุกคนก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยแพทย์ในพื้นที่สนามหลวง ส่วนระบบเต็นท์แพทย์อาสา ปธพ.นี้ วางแผนจะถอดบทเรียน ให้นำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อถ่ายทอดให้หน่วยที่สนใจนำไปสร้างระบบการแพทย์ฉุกเฉินกรณีเกิดภัยพิบัติในอนาคตในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“การทำแพทย์อาสาต้องมาคู่กับอุปสรรค เพราะธรรมชาติการเกิดแพทย์อาสาต้องเริ่มจากความไม่พร้อม เช่น ขาดยา ขาดแพทย์ พื้นที่เข้าถึงลำบาก จึงต้องมีการแก้ไข เพราะนักอาสาที่ดีต้องเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาในแบบสมานฉันท์ในแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มแก้ด้วยจิตใจที่ดี มุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชน ฉะนั้นถ้ารักทำแพทย์อาสาต้องพร้อมลุย ไม่ว่าจะเจอสภาพดินฟ้าอากาศอย่างไร บางครั้งระบบไม่พร้อม แต่เมื่อเจอคนไข้ต้องตรวจให้ก่อน เพราะแพทย์อาสาถ้ารอพร้อมแล้วทำ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งานแพทย์อาสา”

รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทย์อาสาที่เข้ามามีเงื่อนไขเพียงว่า อาสาด้วยใจ ค่าใช้จ่ายตัวเองดูแล เพราะการเข้าทำงานนี้จะไม่ได้เงิน และหลายครั้งแพทย์อาสาที่ไปนั้น ยังนำเงินไปบริจาคให้ในพื้นที่อีกด้วย