posttoday

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ หัวขบวนแพทย์อาสา น้ำใจในยามวิกฤต

30 ตุลาคม 2559

2สัปดาห์ที่ผ่านมาพสกนิกรทั่วทุกสารทิศพร้อมใจกันมาที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อถวายสักการะพระบรมศพ

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

2สัปดาห์ที่ผ่านมาพสกนิกรทั่วทุกสารทิศพร้อมใจกันมาที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อุปสรรคหนึ่งคนที่มาต้องเผชิญคือ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้หลายคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเป็นลมกันหลายราย แต่ก็มีแพทย์ในพื้นที่คอยดูแลช่วยเหลือ

ทว่า 1 ใน 11 เต็นท์หน่วยแพทย์ในพื้นที่มีอยู่เต็นท์หนึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดมหาธาตุที่มีประชาชนไม่น้อยเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากภายในเต็นท์จะมีแพทย์อาสาจำนวนมากมาจากหลายโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ครบครันหมุนเวียนดูแลประชาชน

ผู้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านหลักภายในเต็นท์คือ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภาและผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ บุคลากรสำคัญของวงการแพทย์ ที่รู้จักกันในกลุ่มแพทย์อาสา

“ครั้งแรกที่ได้ทำหน่วยแพทย์อาสาลงไปภาคใต้ ประหลาดใจมาก เพราะเมื่อประกาศชวนแพทย์คนอื่นๆ ลงไปทำ ทุกคนต่างยินดีสมัครใจลางานมาช่วย แม้ต้องใช้เงินส่วนตัวในการเดินทางดูแลตัวเอง จากนั้นก็เกิดการรวมกลุ่มกันของแพทย์อาสา ขยายกิจกรรมไปหลายภูมิภาคของประเทศ รวมถึงต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เนปาล” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ย้อนความหลัง

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร ทำงานอยู่ในวงการแพทย์มาเกือบ 30 ปี ส่วนงานแพทย์อาสานี้ได้เข้ามีส่วนร่วมเมื่อ20 ปีที่แล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจ้าตัวอยากเป็นแพทย์อาสา เนื่องจากตั้งแต่เด็กชอบไปช่วยงานคุณอาที่เป็นพยาบาลอยู่ที่สถานีอนามัย เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร (กทม.) อดีตแถวนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนา ชาวนาเจ็บป่วยมักพายเรือมารักษา บางคนถูกเคียวเกี่ยวข้าวบาดต้องมาทำแผล เป็นแรงกระตุ้นให้อยากช่วยเหลือผู้อื่น ประกอบกับเมื่อโตขึ้น เห็นญาติผู้ใหญ่เริ่มเจ็บป่วยและต้องพึ่งพาการรักษา จึงคิดว่าวิชาชีพนี้ช่วยเหลือคนได้นำมาสู่การเรียนแพทย์

ฝันของ พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร ในวัยหนุ่มขณะนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น หลังเรียนจบ เค้าสอบติดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2525 กระนั้นเมื่อได้ศึกษาก็พบว่าวิชาแพทย์ แม้จะเรียนเข้มข้นแต่การเรียนสมัยก่อน ยังไม่มีการสอนภาคสังคมเรียนรู้ในชีวิตจริง จึงได้ลงเรียนวิชาเพิ่ม อาทิ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหารจัดการ ประกอบกับได้เข้าไปทำงานในสโมสรนิสิตแพทย์ จุฬาฯ ทำให้เรียนรู้ทำกิจกรรมหลายอย่าง รวมถึงการออกค่ายอาสา ตอกย้ำความคิดตัวเองที่ว่าการเรียนแพทย์อย่างเดียวช่วยรักษาคนได้เพียงครั้งละ 1 คน แต่ถ้าบริหารจัดการดีมีจิตอาสาก็จะสามารถช่วยคนไข้ได้มากขึ้นในเวลาเท่ากัน

เมื่อเรียนจบแพทยศาสตร์ได้ศึกษาต่อด้านอายุรแพทย์ที่จุฬาฯ และมาเลือกเป็นแพทย์ทหารเนื่องจากครอบครัวรับราชการทหารตำรวจ ประกอบกับได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานเป็นแพทย์ทหารในกองทัพอากาศ

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร เล่าว่า ช่วงนั้นมีสถานการณ์ในสังคมหลายเหตุการณ์ที่ต้องการแพทย์จำนวนมาก จึงได้รวมกลุ่มแพทย์ที่รู้จักออกไปทำงานเชิงรุกคือ ไปหาคนไข้ในพื้นที่ ไม่ใช่ทำงานเชิงรับ รอให้คนไข้เดินเข้ามาหา ตั้งแต่นั้นมาเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติที่ใด กลุ่มแพทย์อาสาที่รวมตัวกันจะสะพายเป้ลงไปในพื้นที่ เช่น ครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และภาคใต้ปี 2554

การพัฒนาระบบแพทย์อาสาของแพทยสภาเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหลังปี 2553 พร้อมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) เนื่องจากช่วงนั้นวงการแพทย์ประสบปัญหาจากความไม่เข้าใจระหว่างแพทย์กับประชาชน

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร บอกว่า ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานว่า ทำอย่างไรก็ได้ ให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดีและอย่าดูถูกใคร นำเข้ามาแก้ปัญหาวงการแพทย์จนนำมาสู่จุดเริ่มต้น ในการทำหลักสูตรร่วมกันของแพทยสภากับสถาบันพระปกเกล้าคือ หลักสูตร ปธพ. จากวันนั้นถึงวันนี้หลักสูตร ปธพ.เปิดมาแล้ว 5 รุ่น โดยผู้เรียนแต่ละรุ่นจะมี120-140 คน มาจากบุคลากรทางการแพทย์ 70-80 คน หน่วยงานภาครัฐ 30 คน และภาคเอกชน 30 คน มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้การบริหารตามกลไกธรรมาภิบาลตามแนวทางพระราชดำรัส เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาประเทศในภาพรวม ควบคู่กับการสอนที่ทำให้ ผู้เรียนเห็นภาพกลไก 4 เสาหลักด้านระบบสาธารณสุข ประกอบด้วย

เสาที่ 1 องค์ความรู้จากอาจารย์แพทย์ 21 มหาวิทยาลัยทางการแพทย์ที่ผลิตบุคลากรแพทย์จำนวนมาก เสาที่ 2 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง กลุ่มนี้ยังคงขาดแคลนเรื่องบุคลากรและงบประมาณที่เพียงพอเสาที่ 3 หน่วยงานรัฐ และภาคส่วนอื่นที่ต้องทำงานร่วมกัน เช่น ทหาร ตำรวจ กทม. และทีมแพทย์ เสาที่ 4 แพทย์เอกชนที่เป็นแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่พึ่งพาตนเองได้ จึงทำให้งานบริการของโรงพยาบาลรัฐถูกแบ่งเบาลงไป

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า หลักสูตรนี้ผู้เรียนนอกจากได้ความรู้ทฤษฎีต้องสามารถนำออกไปใช้สู่การปฏิบัติด้วย ฉะนั้นจึงมีการสร้างระบบแพทย์อาสาขึ้นมา โดยจะนำผู้เรียนที่มีทั้งแพทย์และผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้ทางด้านนี้ออกไปทำงานอาสาภายใต้ชื่อ “โครงการแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ” โดยจัดครั้งแรกปี 2556 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนออกไปตั้งโรงพยาบาลสนามอยู่ภายในอาคารเรียนหลังหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และเปลี่ยนบริเวณรอบอาคารเป็นที่ตั้งรถเอกซเรย์ รถทำฟัน รถผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่งการเปลี่ยนอาคารเรียนให้กลายเป็นโรงพยาบาลสนามครั้งนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จ

ปีต่อมารุ่นที่ 2 ได้ออกหน่วยแพทย์อาสาที่โรงเรียนพาณิชยการหัวหินใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ครั้งนั้นได้มีการพัฒนาโดยนำระบบการให้ความรู้และเชื่อมโยงกัน รวบรวมคนป่วยที่รอคอยคิวยาวนานในพื้นที่มารักษาในโครงการ (ซีโร่คิว) จากนั้นเมื่อถึงวันจริงอาจารย์แพทย์จากกรุงเทพฯ จะลงไปผ่าตัดและช่วยสอนให้ความรู้แพทย์ในพื้นที่ ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้ที่ยั่งยืนในพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยหนักก็จะส่งตัวมารักษาต่อที่กรุงเทพฯ

“ครั้งที่หน่วยแพทย์อาสาลงไปที่หัวหินตอนนั้น ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ หัวหน้าแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ออกมาสอบถามรายละเอียดว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง เพื่อนำข้อมูลเข้าไปรายงานต่อพระองค์ภายในวังไกลกังวลให้ทรงรับทราบ ครั้งนั้นทำให้แพทย์อาสาทุกคนที่ไปรู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก”

ครั้งที่ 3 ทีมแพทย์อาสาไปออกหน่วยที่ จ.กาญจบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ภาคตะวันตก และครั้งที่ 4 ช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ประตูสู่ภาคตะวันออก ดังนั้นขณะนี้ถือว่าสามารถวางระบบได้แล้วในหลายพื้นที่หลักของประเทศตามวัตถุประสงค์ตั้งไว้คือ ทำให้เกิดความคุ้มค่าและสร้างความยั่งยืนแก่แพทย์ในพื้นที่ให้ทำเป็นระบบ เพราะถ้าไม่มีระบบใช้เงินไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ เช่นนั้นก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเท่าที่ควร

“สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างคือ ผู้บริหารระดับสูงได้ลงไปดูว่าปัญหาของคนยากจน ในพื้นที่ว่าความจริงจากต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไร หากเทียบกับโรงพยาบาลในเมือง เพราะต่างจังหวัดคนไข้จะมีจำนวนมากจนล้น บางครั้งต้องนอนหน้าลิฟต์ หน้าบันได หรือแม้แต่หน้าระเบียง เพราะเตียงรองรับมีไม่มีเพียงพอ นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยคนเหล่านี้” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

การออกหน่วยของทีมจึงเป็นโมเดลแพทย์สนามแท้ๆ ที่เกิดขึ้นได้ง่าย เพียงแต่ต้องมีการรวมตัวของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่หากเกิดเหตุการณ์วิกฤต เพราะถ้าทำได้ตามโมเดลดังกล่าวจะสามารถตั้งโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 24 ชั่วโมง

“แพทย์อาสาเป็นเพียงแค่ดาวดวงเล็กๆ ดวงหนึ่ง ที่ช่วยให้ท้องฟ้าสว่างในความมืด แต่ว่าเรายังคงต้องการพระจันทร์ที่ทำให้ท้องฟ้าสว่าง นั่นก็คือการแก้ปัญหาเชิงระบบ นโยบายภาครัฐ งบประมาณที่จะลงไปแก้ไขให้สอดคล้องกัน ทุกหน่วยงานต้องช่วยบูรณาการการทำงานกันทั้งระบบ จึงแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนได้” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร สรุป