posttoday

เคาะประเด็นแก้รธน. รื้อม.237ยุบพรรคไม่โดนยกเข่ง

25 สิงหาคม 2553

ในที่สุดคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเร่งด่วนออกมาแล้ว....

ในที่สุดคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเร่งด่วนออกมาแล้ว....

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

ในที่สุดคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้ข้อสรุปการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเร่งด่วนออกมาแล้ว พร้อมกับวางเส้นทางสู่การตัดสินใจของฝ่ายการเมืองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างเสร็จสรรพ

สมบัติ เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ ว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่า มาตรา 190 กรณีการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ ต้องส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้เพิ่มวรรค 2 จากที่ระบุว่า ให้ดำเนินการเรื่องที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ก็แก้ไขให้ชัดเจนขึ้นโดยมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญระบุให้ชัดว่าหนังสือสัญญาประเภทไหนเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา

ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ปรับปรุงแก้ไขจากเดิม 480 คน เพิ่มขึ้นเป็น 500 คน โดยเป็นการเลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน โดยใช้รูปแบบบัญชีรายชื่อเดียวทั่วประเทศตามรัฐธรรมนูญปี 2540
สำหรับที่มาของวุฒิสภากำหนดให้มาจากเลือกตั้ง 77 คน และ สว.สรรหา 73 คน รวม 150 คน ทั้งนี้เห็นว่าให้มีการแก้ไขวิธีสรรหาโดยเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการสรรหามากขึ้น จากเดิม|ที่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการองค์การอิสระตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดควรมีตัวแทนองค์กรวิชาชีพเข้ามาร่วมด้วย เช่น เสนอเข้ามา 700 คน และคัดเลือกให้ได้จำนวนหนึ่งประมาณ 5-10 คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่คัดเลือก สว.

ประเด็นมาตรา 265 ให้ สส.เข้ามารับตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ เช่น เลขานุการ รมต. หรือตำแหน่งอื่นใดนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าอำนาจบริหาร นิติบัญญัติควรแยกจากกัน ที่ผ่านมา สส.มีปัญหาองค์ประชุมอยู่แล้วและยังต้องลงพื้นที่ ก็ควรทำหน้าที่นิติบัญญัติอย่างเดียว ส่วนมาตรา 266 ที่ระบุว่า ห้าม สส. และ สว.ใช้สถานะตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของรัฐ โดยหลักการเห็นด้วยแต่เห็นว่าควรแก้ไขให้ สส.สามารถรับแจ้งความเดือดร้อนของประชาชนผ่านเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานของรัฐได้

ไฮไลต์สำคัญเห็นจะเป็นมาตรา 237 กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำทุจริตเลือกตั้งและโยงไปถึงหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิการเมืองชนิดยกเข่งแล้วโดนยุบพรรค ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ได้เคาะเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อค่ำวันที่ 23 ส.ค.

“คณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลง กล่าวคือการยุบพรรคได้เฉพาะมีความร้ายแรง ซึ่งได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อยู่แล้ว ดังนั้นมาตรา 237 จึงเกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นการซื้อสิทธิขายเสียงให้ลงโทษเฉพาะบุคคลที่มีความผิด โดยกำหนดในวรรค 1 ให้ผู้สมัครที่ไปกระทำผิดซื้อสิทธิขายเสียงลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ส่วนวรรค 2 กรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดหรือมีส่วนรู้เห็นให้ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และวรรค 3 หัวหน้าพรรคที่กระทำผิดหรือมีส่วนรู้เห็นให้ตัดสิทธิทางการเมือง 15 ปี ซึ่งต่อไปก็ต้องมีกระบวนการสืบสวนสอบสวน หาผู้กระทำผิดจริงๆ ไม่ใช่คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องถูกลงโทษด้วย” ประธานแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีความเห็นเพิ่มเติมต่อไปว่า ควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคที่ไม่ใช่เหตุร้ายแรงทั้งหมด เพราะถ้าไม่ปรับปรุงแก้ไขจะส่งผลต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย อย่างเช่น พรรคถิ่นไทยส่งบัญชีการเงินหลังกำหนดเส้นตายตามกฎหมายไม่กี่วันก็โดนยุบพรรคแล้ว ทำให้การยุบพรรคง่ายเกินไป พรรคก็ไม่สามารถเป็นสถาบันการเมืองได้ พรรคที่ตั้งขึ้นมาทดแทนจึงเหมือนองค์กรชั่วคราว มีการส่งนอมินีเข้ามาทำงาน ได้กรรมการบริหารไม่โปร่งใส พรรคการเมืองก็จะไม่น่าเชื่อถือ

เคาะประเด็นแก้รธน. รื้อม.237ยุบพรรคไม่โดนยกเข่ง