posttoday

กษัตริย์นักการทูต

16 ตุลาคม 2559

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นบูรพมหากษัตริย์ไทยอันทรงพระอัจฉริยภาพในงานหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ การออกแบบ การดนตรี และการกีฬา อีกทั้งยังสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้กับพสกนิกรคนไทยจนสยามประเทศเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า

ในฐานะประมุขของประเทศ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ลำดับในการเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ๓๑ ประเทศ ๑ นครรัฐ ในช่วง ๓๕ ปี เริ่มจากประเทศแรก เวียดนามใต้ ในปี ๒๕๐๒ ตามด้วย อินโดนีเซีย เมียนมา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน อิตาลี นครรัฐวาติกัน เบลเยียม ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ สเปน ปากีสถาน สหพันธรัฐมลายา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ ออสเตรีย เยอรมนี และออสเตรียอีกครั้งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง และ อิหร่าน มาที่สหรัฐอเมริกา เสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง แคนาดา และประเทศสุดท้าย คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน ๒๕๓๗

การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ คือที่สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปรวม ๑๔ ประเทศระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ซึ่งการเสด็จครั้งนี้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อเสรีภาพ เอกราช และสันติภาพถาวรของโลก

กษัตริย์นักการทูต

แถลงการณ์ร่วมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า  การเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาที่มีต่อองค์การซีโต้ แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าจำเป็นต้องมีความมั่นคงร่วมกัน เพื่อพิทักษ์รักษาพรมแดนของโลกเสรีให้พ้นอันตรายจากการรุกราน เพื่อเสริมสร้างจุดหมายในทางสันติของทั้งสองประเทศที่มีอยู่ร่วมกัน

ขณะที่หนังสือพิมพ์โฮโนลูลูสตาร์บุลเลตินของรัฐฮาวาย เสนอข่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่ทรงปรีชาญาณในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ ยังได้เสด็จฯ เยือนรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา อาทิ นครลอสแองเจลิส นครพิตต์สเบิร์ก กรุงวอชิงตัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมวงศ์ อันเป็นเครื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแด่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๓ ยังได้เสด็จฯ เยือนอังกฤษ โดยสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสสดุดีรัฐสภาอังกฤษ ว่า “เป็นป้อมปราการอันสำคัญแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย”

ในวาระเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชหัตถเลขาต่อสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ ความตอนหนึ่งว่า

“พระราชินีและหม่อมฉันไม่สามารถที่จะจากประเทศอังกฤษไป โดยมิได้แสดงความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและความชื่นชมยินดีต่อพระบาท ความเป็นมิตรที่ฝ่าพระบาทและดยุกแห่งเอดินบะระ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรชาวอังกฤษ ได้ทรงแสดงต่อหม่อมฉันและพระราชินีนั้น เป็นที่ประทับใจยิ่งและคงอยู่ในความทรงจำเสมอมิลืมเลือน

“การแสดงออกซึ่งความรู้สึกฉันมิตรเช่นนี้มาจากประชาชนอังกฤษเองโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นการตอบสนองความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย หม่อมฉันตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสุดซึ้ง และไม่ลืมที่จะแจ้งให้ประชาชนของหม่อมฉันได้ทราบ หม่อมฉันมั่นใจว่าการเดินทางมายังประเทศอังกฤษนั้นจะช่วยให้ประเทศของเราทั้งสองและพระราชวงศ์ทั้งสองมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน”

กษัตริย์นักการทูต

นอกจากการเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในแถบยุโรปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไม่ละเลยที่จะเยือนประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด โดยวันที่ ๑๘-๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐเวียดนามเป็นที่แรก โดยมีประชาชนและนักเรียนชาวเวียดนามโบกธงชาติทั้งสองประเทศเฝ้าฯ รับเสด็จ ด้วยความยินดี

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหีบเครื่องเขียนถมทองแก่ประธานาธิบดี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานผ้าไหมแก่มาดาม โง ดินห์ นยู เป็นที่ระลึก

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนอธิบายพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยือนนานาประเทศไว้ว่า ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลง ๒ ประการที่สำคัญ

๑.ภาพลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทย และประเทศไทย ในสายตารัฐบาลต่างประเทศ และสื่อมวลชนต่างชาติที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

๒.การรับรู้ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เป็นผลโดยตรงจากสงครามเย็น อันนำไปสู่การให้ความสำคัญกับกองทัพเป็นสำคัญ

ผลจากการเสด็จประพาสเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเสริมสร้างฐานะความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสายตานานาอารยประเทศอีกด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างมั่นคง

กษัตริย์นักการทูต

 

กษัตริย์นักการทูต

 

กษัตริย์นักการทูต

 

กษัตริย์นักการทูต