posttoday

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

12 ตุลาคม 2559

จากคลองถม ปากคลองตลาด อนุสาวรีย์ชัยภูมิ สู่สยาม ชำแหละนโยบายจัดระเบียบทางเท้าของกทม.

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพหาบเร่แผงลอยแน่นเอี้ยดเต็มทางเท้าที่คนกรุงคุ้นเคยกันดี วันนี้กำลังจะกลายเป็นอดีต หลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าจัดระเบียบอย่างเด็ดขาดจริงจัง เพื่อคืนทางเท้าให้กับประชาชน

วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมาเปิดเผยถึงนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งให้กับเมืองหลวงของประเทศไทย

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องยอมรับและทำตามกฎหมาย” 

หมดเวลาเอาเปรียบคนอื่น

แม้ตามกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง  พ.ศ. 2535 จะระบุไว้ว่า 'การค้าขายบนทางเท้านั้นเป็นเรื่องผิด' ทว่าที่ผ่านมาภาพหาบแร่แผงลอยตั้งขายกันทั่วทุกมุมเมืองนั้นถือเป็นการผ่อนปรน เปิดโอกาสให้กับผู้มีฐานะยากจนสร้างรายได้ 

วัลลภ สุวรรณดี เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อครั้งกรุงเทพมหานคร ยังเป็นเมืองที่ไม่มีความหนาแน่นของประชากร การจราจร และการก่อสร้างมากดังเช่นปัจจุบัน ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายสมัยได้มีการอนุโลมให้ค้าขายบนทางเท้า เรียกว่า 'จุดผ่อนผัน' เพื่อดูแลผู้ค้าที่มีฐานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่

“ช่วงนั้นผู้ว่าฯ เปิดโอกาสให้หารายได้บนทางเท้า แต่ระยะหลังบ้านเมืองหนาแน่น ทั้งคน ทั้งรถ การก่อสร้างอาคาร คอนโดที่อยู่อาศัย บางจุดในอดีตไม่มีคนเดิน วันนี้กลับเต็มไปหมด กระทั่งเกิดการร้องเรียนอย่างหนักจากประชาชนตั้งแต่สมัย ผู้ว่าฯอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่ง กทม.พยายามแก้ปัญหาร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) มาตลอด งานนี้เจ้าพนักงานจราจรก็ปวดศีรษะ อยากให้ กทม.จัดการให้ในหลายๆ จุด”

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

วัลลภ บอกว่า แผงค้าบนทางเท้านั้นทับซ้อนไปด้วยปัญหามากมาย ตั้งแต่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน เพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งจากมิจฉาชีพและการจราจร ตลอดจนพบว่าประเภทของผู้ค้าได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน จำนวนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีศักยภาพในการหารายได้สูง บางแผงยกเลิกค้าขายแล้ว ตามหลักพื้นที่ต้องฟันหลอ แต่ในความเป็นจริง กลับมีการเซ้งต่อในระดับตัวเลข 6-7 หลัก

“ปัญหาจากการขายนั้นมีมาก เช่น ผู้ค้าไปเช่าที่เก็บถังหรือรถใส่สินค้าตามพื้นที่ใกล้เคียง ถึงเวลาก็เข็นออกมาขาย ซ้ำเติมปัญหารถติด หรือการตั้งร้านวางสินค้า บางแห่งเว้นที่เหลือให้คนเดินเพียง 60 เซนติเมตร พอคับแคเบียดเสียดก็เป็นช่องให้พวกมิจฉาชีพ ล้วงกระเป๋าจนเป็นคดีความมากมาย โดยเฉพาะในท้องที่ สน.บางรัก และสน.ปทุมวัน

ส่วนประชาชนที่ไม่อยากซื้อของ ไม่อยากเบียดเสียด ก็เลือกลงมาเดินบนถนนเช่นเดียวกับคนที่ยืนรอตามป้ายรถเมล์ พอรอบนทางเท้าไม่สะดวกก็ลงมายืนข้างล่าง กลายเป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเข้าไปอีก หนักกว่านั้นพื้นที่อย่างสีลมหรือสุขุมวิทช่วงกลางคืนยังพบว่า มีการค้าขายสินค้าเถื่อนและปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารริมทาง ขายสุราหรือเหล้าปั่นด้วย เรื่องแบบนี้สังคมต้องรับทราบ”

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

นอกจากแผงค้าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ลึกลงไปกว่านั้นยังสร้างความลำบากในการจัดการความปลอดภัยยามเกิดภาวะฉุกเฉินเหตุร้ายขึ้นด้วย  ยกตัวอย่างเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2558 การเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องพบอุปสรรคขัดขวางจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแผงค้านอกกฎหมาย

“เหตุการณ์ที่ราชประสงค์ เป็นอุทาหรณ์ชั้นดี เพราะการก่อการร้ายจากผู้ไม่หวังดีนั้นสร้างสถานกาณ์ได้ทุกรูปเเบบ หากเกิดเหตุร้ายขึ้นบนรถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือลำบากมาก กว่าจะฝ่าด่านผู้ค้าไปได้ ขณะที่ผู้ประสบภัยลงมาไม่ได้ เพราะติดขัดไปหมด ลองนึกดูหากคนรู้จักของเราเจ็บป่วยหรือเจอสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ด้านบน เดินลงมาข้างล่าง เข้าหาโรงพยาบาลไม่ทัน เพราะติดแผงผู้ค้า จะเสียหายขนาดไหน”

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

แผงค้าถูกกฎหมายว่างกว่าหมื่นแห่ง 

ที่ปรึกษากทม.รายนี้ยืนยันว่า ไม่ได้รังแกหรือบีบบังคับให้ผู้ค้าย้ายออกจากพื้นที่ชนิดไม่ทันตั้งตัวหรือไร้การวางแผน กลับกันมีการประชุม เจรจาทำความเข้าใจหลายต่อหลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นยังจัดหาพื้นที่การค้าแห่งใหม่รองรับด้วยซ้ำ โดยโครงการจัดระเบียบผู้ค้าหายเร่แผงลอย เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนก.ค. 2557 ถึงปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น 233 จุด ครอบคลุมจำนวนผู้ค้า 19,678 ราย ในพื้นที่ 42 เขตทั่วกทม.

“เราประชุมกันก่อน แล้วค่อยๆปรับเปลี่ยน ยกตัวอย่างที่สยามสแควร์ เมื่อก่อนขายตั้งเเต่ 10.00 น. – 24 .00 น. เราก็ขอปรับเปลี่ยนไม่ให้ขายตอนเช้า ให้ขายตั้งเเต่ 19.00 น. เป็นต้นไป เป็นมาตรการผ่อนปรน ตั้งเเต่สมัยผู้ว่าสุขุมพันธุ์ บริพัตร กระทั่งช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการประชุมตลอด ไม่ใช่ประชุมแค่ 4 วันหรือ 48 ชั่วโมงแล้วไล่ เฮ้ย คุณออกไป ไม่ใช่แบบนั้น”

ข้อมูลน่าสนใจคือ ตลาดในการบริหารจัดการของสำนักงานตลาดกรุงเทพฯและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากแผงค้ารวมทั้งสิ้น 28,857 แห่ง มีแผงค้าว่างถึง 10,538 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่ายังมีพื้นที่ให้ผู้ค้าจับจองอย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกเพียบ

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันว่า มาตรการที่ใช้ในแต่ละพื้นที่นั้นไม่แตกต่างกัน คือเริ่มสำรวจเเผงค้า หาพื้นที่แห่งใหม่รองรับ พร้อมเจรจาเจ้าของที่ดินโดยขอร้องให้เจ้าของงดเก็บค่าเช่าในช่วง 3-6 เดือนแรก และคงค่าเช่าในระยะ 3 ปีแรก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ก่อนจะเรียกประชุมผู้ค้าเพื่อทำความเข้าใจและวอนขอให้ย้ายไป โดย 3 ต.ค.ที่ผ่านมา กทม.สามารถเคลียร์พื้นที่หลายจุด และจัดการไปทั้งหมด 105 จุด เคลียร์ผู้ค้าไปทั้งสิ้น 4,883 ราย ในพื้นที่ 19 เขต 

“ทุกจุดที่กทม.จัดระเบียบไม่ว่าจะเป็นคลองถม สะพานเหล็ก ปากคลองตลาด กทม.ได้จัดที่ค้าใหม่ให้หมด แรกๆก็ต่อต้านบ้าง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยอมและปรับตัวได้ อย่างคลองถม เราจัดสถานีสายใต้ใหม่ ถ.บรมราชชนนีให้ ทุกวันนี้ขายดิบดี สัปดาห์ละ 7 วัน วันละหลายชั่วโมง หรือที่ ตลาดนัดรถไฟ รามอินทรา มีคนเดินแน่นทุกวัน ให้กลับมาที่เดิม พวกเขาไม่เอาแล้ว”

สำหรับผู้ค้าบริเวณสยามสเเควร์ พื้นที่ปัญหาล่าสุด ได้จัดพื้นที่บริเวณใต้ทางด่วนพงษ์พระราม ขนาด 7 ไร่ 46 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไว้ให้ โดยติดตั้งไฟฟ้า ขีดเส้นล็อกแผงสินค้า และเตรียมนำห้องน้ำสาธารณะไปติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนผู้ค้าย่านประตูน้ำ ถนนราชปรารภ กทม.ได้เจรจากับเอกชน ขอใช้พื้นที่ซอยหัสดิน ซึ่งอยู่ระหว่างซอยราชปรารภ 2-4 และใต้ทางด่วนพงษ์พระราม เป็นพื้นที่รองรับ มีการทำความสะอาดและติดตั้งโครงหลังคาแผงค้าให้เรียบร้อยแล้ว

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม. กลุ่มผู้ค้าดอกไม้สดในบริเวณปากคลองตลาดรวมตัวกันประท้วงเจ้าหน้าที่ กทม. เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา

เลิกอ้างเอกลักษณ์และความยากจน

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้จัดอันดับ 23 เมืองที่มีอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก อันดับหนึ่งหนีไม่พ้นกรุงเทพฯ โดยซีเอ็นเอ็นระบุว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่พลาดอาหารริมถนนในกรุงเทพฯ” อย่างไรก็ตามสำหรับ กทม. แล้ว  การจัดอันดับดังกล่าวไม่น่าดีใจนัก เพราะไม่ได้มองในเรื่องกฎหมายและความปลอดภัยรวมอยู่ด้วย

“ขอบคุณที่ให้เกียรติ เเต่ถามกลับว่าสุขอนามัยของร้านจำหน่ายอาหารบนทางเท้าเป็นอย่างไร มีใครพูดถึงการล้างจานไหม ล้างด้วยน้ำกี่กะละมัง เวียนใช้กี่ครั้ง พูดไหมว่าร้านนำไขมัน เศษอาหารเทลงท่อระบายน้ำ ฉะนั้นที่บอกว่าการจัดระเบียบทำให้เสน่ห์หายไป ผมว่าไม่เกี่ยว ตรงนั้นไม่ใช่เสน่ห์ เเต่คือความสกปรก เอกลักษณ์ความเป็นไทยต้องมองอย่างรอบด้าน ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากเดินกินของอร่อยๆ แล้วถูกล้วงกระเป๋า ถามว่าล้วงกระเป๋า เป็นเอกลักษณ์ที่บวกเข้าไปด้วยหรือเปล่า หรือถ้าไม่อยากโดนล้วงกระเป๋าก็ลงมาเดินบนถนน เพื่อเสี่ยงต่อการถูกรถชนเเทน นั่นเป็นเอกลักษณ์เหรอ”

ส่วนข้ออ้างเรื่องความยากจนเพื่อขอผ่อนปรนนั้น วัลลภบอกข้ามไปได้เลย เพราะหากวัดกันที่เงินตรา กฎหมายระเบียบคงไม่มีความหมาย ที่สำคัญคาดว่าจะมีผู้ที่เหมาะสมกว่าผู้ค้าปัจจุบันหลายราย

“ผู้ค้าบางคน ตอนมาประท้วง ยังขอความเห็นใจบอกว่า ขายตรงนี้ทำให้เขาซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างเนื้อสร้างตัวได้  ผมถามกลับว่า ถ้าคนอื่นที่เขาไม่มีอะไรเลยจะขออย่างคุณบ้างล่ะ ระเบียบสังคมอยู่ตรงไหน ถ้าจะเเข่งกันด้วยความจน อาจจะมีคนที่เหมาะสมกว่าคุณด้วยซ้ำ”

ที่ปรึกษา ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กทม.ดำเนินการทุกอย่างด้วยการผ่อนปรน มองข้ามความผิดของผู้ค้า เปรียบดั่งการหลับตาข้างเดียวจัดการปัญหามาตลอด ซึ่งขอให้เข้าใจว่าหาก กทม.ไม่ทำตามกฎหมาย จะกลายเป็นผู้ผิดเสียเอง ประชาชนทั่วไปฟ้องร้องได้ตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

"เสน่ห์กรุงเทพฯต้องไม่สกปรก" วัลลภ สุวรรณดี มือจัดระเบียบทางเท้ากทม.

คำถามสำคัญที่สุดหลังการจัดระเบียบก็คือ ทำอย่างไรให้ความเรียบร้อยเป็นไปอย่างยั่งยืน

ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ความยั่งยืนอย่างแท้จริงขึ้นอยู่กับวินัยของทุกคนในสังคม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ผู้ค้า และผู้ขายที่จะต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ ตระหนักในความรับผิดชอบของการเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมาย พร้อมกันนี้ยังนี้ชี้แจงด้วยว่า การจัดระเบียบไม่ได้เป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากกทม.ทำมาตลอดหลายพื้นที่ตั้งแต่ยังไม่มีคสช.

“ทุกคนต้องช่วยกันให้ความถูกต้องนั้นยั่งยืน ผู้ว่าฯกำชับเลย กลับมาไม่ได้  ทุกวันนี้สั่งการให้สำนักเทศกิจทุกเขต ถ่ายรูปรายงานจุดที่ดำเนินการไปเเล้วทุกวัน เเละฟังการร้องเรียนตลอด  แต่เข้าใจว่าคนไทยก็คือคนไทย พูดตรงๆว่า ไม่ค่อยรักษาวินัย พอเจ้าหน้าที่หันหลัง ก็กลับมาปูผ้าค้าขายกันอีก ฉะนั้นพี่น้องประชาชนต้องช่วยด้วย ไม่ซื้อ ไม่สนับสนุน และแจ้งเจ้าหน้าที่ ความยั่งยืนครั้งนี้ขึ้นอยู่ที่สังคม”

ทั้งหมดนี้เป็นคำชี้แจงจาก วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการพลิกโฉมทางเท้าเมืองหลวงครั้งสำคัญ