posttoday

จากใจนักล่าพ่อค้ายา "พล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร"

09 ตุลาคม 2559

"เราจับจนกระทั่งเรือนจำรับนักโทษไม่ได้แล้ว มันแน่นไปหมด และพอเข้าสู่เรือนจำก็ไม่ได้เป็นการบำบัด มีแต่เพิ่มวิชา เพิ่มสายส่งยากันเข้าไปอีก หรือเรียกว่าวิทยาลัยยาบ้า แต่ถามว่าทำไมมันปราบไม่หมด มันย้อนกลับไปว่าแหล่งผลิตมันอยู่ใกล้บ้านเรา"

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์   

เปิดประตูห้องทำงานของผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ป้ายชื่อบ่งบอกเจ้าของห้องที่ยังนั่งทำงานอยู่

เมื่อย่างกรายเข้าไปก็พบ “พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร” ผบช.ปส. ที่ยังนั่งเซ็นเอกสารสำคัญก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ท.เรวัช ในชุดเครื่องแบบครึ่งท่อน ข้างกายมีปืน ที่หน้าอกเสื้อเหน็บมีดเครื่องรางเอาไว้ นั่งนิ่งอยู่ภายในห้องที่ใกล้จะว่างเปล่าเต็มทนเพราะใกล้หมดเวลาของชีวิตตำรวจ แต่ประสบการณ์ในการปราบปรามยาเสพติดยังมากล้น และ พล.ต.ท.เรวัช จะถ่ายทอดประสบการณ์สุดท้ายจากชายที่ได้ชื่อว่า “มือปราบยาเสพติดของเมืองไทย” ที่ดุเดือดและเอาจริงเอาจังคนหนึ่งในวงการตำรวจ

พล.ต.ท.เรวัช เปิดฉากเล่าปัญหายาเสพติดอย่างเร่าร้อนว่า ประเทศไทยถือว่าเป็น HUB หรือศูนย์กลางของการกระจายยาเสพติด แม้ว่าเราจะพยายามบล็อกเอาไว้อย่างไร ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าก็หาทางเล็ดลอดเข้ามาได้ตามแนวตะเข็บชายแดน

ด้วยเพราะเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก เพราะคือแหล่งผลิตยาบ้าที่สำคัญของโลก ผ่านการสนับสนุนด้านวัตถุดิบในการผลิตยาเสพติดจากกลุ่มประเทศอื่น ซึ่งจุดนี้ทางการไทยได้เคยประชุมร่วมกันกับผู้มีอำนาจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อวางแผนยับยั้งไม่ให้ยาบ้ามันทะลัก ระบาด แต่ข้อจำกัดที่สำคัญทำให้ปัญหาเกิด คือเจ้าหน้าที่ของเพื่อนบ้าน ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและไหวพริบชั้นเลิศในการสกัดวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตยาเสพติดก่อนที่จะถูกแปรรูปเป็นยาบ้าและแพร่กระจายออกไป

“เขาไม่รู้ เขาไม่สงสัย ของบางชนิด เช่น น้ำยาล้างตา หรือยาหยอดตา เมื่อขนส่งผ่านเป็นหลายแสนแกลลอน เขาก็ไม่เอะใจว่า มันเอาเข้ามาทำอะไรกันวะตั้งเยอะแยะ เห็นว่าเป็นน้ำยาล้างตาก็ปล่อยผ่านไปเลย แต่จริงๆ แล้วไอ้ตัวน้ำยานี่แหละ ที่มันสามารถเอาไปสกัดตามกรรมวิธีของพวกนักวิทยาศาสตร์ที่ผลิตยาเสพติด และเอาส่วนที่กลั่นแล้วจนบริสุทธิ์ไปผลิตยาบ้า แล้ววัตถุดิบพวกนี้ ของพวกนี้ มันมาจากไหน ผมบอกได้เลยว่ามาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเป็นขบวนการ ประเทศไทยคือจุดตรงกลางที่รับและกระจายยาเสพติดออกไป” พล.ต.ท.เรวัช อธิบาย

เปิดเส้นทางยาบ้า จากนอกสู่ใน

อดีตมือปราบยาเสพติดผู้นี้ ฉายภาพอีกว่า เมื่อกระบวนการผลิตจากเพื่อนบ้านเสร็จสิ้น เจ้าของยาบ้าที่เป็นกลุ่มก้อน หรือกองกำลังติดอาวุธต่างๆ จะนำยาบ้าทั้งหมดส่งต่อมายัง “เอเยนต์ใหญ่” ของเมืองไทยแต่ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยที่มีอยู่ 5 ราย ซึ่งราคายาบ้าเมื่อมาถึงมือ 5 เอเยนต์ใหญ่ จะอยู่ที่เม็ดละ 5 บาท ไม่ขาดไม่เกินจากนี้

จากนั้นเมื่อยาบ้ามาอยู่กับเอเยนต์ใหญ่แล้ว เส้นทางของยาจะถูกกระจายไปยัง “เอเยนต์กลาง” ในแต่ละสังกัดของตนเอง ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้นรวม 60 คน และเมื่อช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา ตำรวจ บช.ปส.เปิดฉากต่อสู้กับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดที่มี “โน้ต” หรือ ศดายุ เหลืองประดับใจ เป็นหัวหน้าแก๊งแต่หลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด ก็อยู่ในกลุ่ม 60 คนนี้ด้วย โดยราคาเมื่อมาถึงเอเยนต์กลางจะมีราคาเม็ดละ 45-75 บาท

เมื่อถึงมือเอเยนต์กลาง ยาทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังผู้ค้ารายเล็กรายน้อยต่อไป หรือเรียกว่า “เอเยนต์ย่อย” ซึ่งราคาที่ผู้ค้ามารับจะอยู่ที่ 100-150 บาท/เม็ด และสุดท้ายไปถึงมือกลุ่มนักเสพที่จะไปขายต่อตามชุมชนต่างๆ ของเมืองไทย ราคายาบ้าจะอยู่ที่ราวเม็ดละ 300 บาทขึ้นไป

“แต่ทั้ง 60 คนข้างต้น ตำรวจ บช.ปส.ในยุคของ พล.ต.ท.เรวัช สั่งปิดฉากทั้งจับกุมและวิสามัญไปได้แล้ว 32 คน ขณะที่อีก 28 คนยังรอเพียงแค่เวลาถึงจุดจบของตัวเองเท่านั้น” พล.ต.ท.เรวัช พูดถึงเส้นทางค้ายา

แต่เมื่อมองไปถึงเส้นทางลำเลียงยาเสพติดและราคาต่อเม็ดแล้ว จะเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญว่า “นักค้า” รายนั้นๆ เจ๋งถึงขนาดใหญ่ และใหญ่แค่ไหน และจะรู้เห็นได้ก็เมื่อข้อมูลราคาถูกส่งถึงมือตำรวจขณะที่วางแผนล่อซื้อ

พล.ต.ท.เรวัช พูดถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้ามัน (ผู้ค้า) รับว่าจะขายให้ในราคาที่ต่ำ ก็แสดงว่ามันเจ๋ง มันรายใหญ่ ตำรวจก็ต้องปรับแผนใหม่ในการเข้าหากเป็นข้อมูลใหม่จริงๆ เพราะแน่ล่ะมันกล้าขายราคานี้ได้ ของ (อาวุธ) มันต้องมี อย่างผมไปจับมาเป็นแสนเม็ด ล้านเม็ด แต่มันคือรายย่อย อย่างนี้ก็ถือว่างานดี แต่ยังไม่สุด ถ้าจับได้รายใหญ่ ราคาขายมันต่ำ นี่คือการเข้าถึง”

จากใจนักล่าพ่อค้ายา "พล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร"

หนุนแนวคิด ปลดล็อกยาบ้า

“บุหรี่สูบได้แต่ห้ามสูบในที่สาธารณะ เราเปรียบเทียบอย่างนี้ แต่มามองยาบ้า พอกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เข้าไป ก็เกิดปัญหาตามมาอย่างที่เห็นกัน เพราะมันแพร่ไปเร็ว ราคาพุ่งขึ้นสูง ยกตัวอย่างว่า มีกรณีหญิงชาวลาวนำยาบ้าเข้ามาหนึ่งเม็ด โดยตรวจจับได้ที่ด่านชายแดน จ.หนองคาย เขารับสารภาพว่าเอามาฝากเพื่อน แต่ข้อหา คือนำยาเสพติดเข้าสู่ราชอาณาจักร โทษคือประหารชีวิตเท่านั้น” พล.ต.ท.เรวัช กล่าว 

อดีต ผบช.ปส. บอกอีกว่า เราก็กลับมามองกระบวนการยุติธรรมว่า มันเดินถูกทางหรือไม่ กับการยกระดับยาบ้าให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เพราะยิ่งปราบยิ่งโต ยิ่งปราบราคายาบ้ามันยิ่งแพง และจากการที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ไปประชุมเกี่ยวกับยาเสพติดโลก ได้ข้อสรุปเป็นโจทย์มาว่า เราสามารถควบคุมสารเสพติดพวกนี้ได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรไม่ให้มันเข้าไปรบกวนสังคม จะเข้าไปเป็นลักษณะเหมือนบุหรี่แล้ว แต่เมื่อมามองคนในประเทศก็ต้องเกิดความวิตก เพราะฝังใจกับภาพที่คนเมายาบ้าแล้วจับตัวประกัน หรือเมายาบ้าจนหลอนกระโดดตึกตาย ฆ่าตัวตาย แต่ผมถามหน่อยว่ากรณีดังกล่าวในเมืองไทยมันมีกี่คดี ยิ่งเปรียบเทียบกับการที่คนดื่มเหล้าเมาสุราแล้วไปขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ สิ่งไหนมันสูญเสียที่เป็นจำนวนมากกว่ากัน

“เราจับจนกระทั่งเรือนจำรับนักโทษไม่ได้แล้ว มันแน่นไปหมด และพอเข้าสู่เรือนจำก็ไม่ได้เป็นการบำบัด มีแต่เพิ่มวิชา เพิ่มสายส่งยากันเข้าไปอีก หรือเรียกว่าวิทยาลัยยาบ้า แต่ถามว่าทำไมมันปราบไม่หมด มันย้อนกลับไปว่าแหล่งผลิตมันอยู่ใกล้บ้านเรา”

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการประสานระหว่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะปิดตายการค้ายาเสพติด ในช่วงระยะหลังมีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น หลายประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าจะร่วมมือ จึงนำไปสู่แผนบูรณาการร่วมกันที่เรียกว่า “เซฟแม่โขง” เป็นความร่วมมือของ 4 ประเทศที่ร่วมมือกัน คือ ไทย จีน เมียนมา และลาว ผลงานที่เห็นชัดของแผนการร่วมมือกันคือการจับ “หน่อคำ” ราชายาเสพติดชื่อดังที่ถูกประหารชีวิตไปแล้วที่ประเทศจีน

แนวทางการแก้ไขตามมุมมองของมือปราบยาเสพติดผู้นี้ เสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ไทยมีชายแดนแต่ก็เจอกองคาราวานยาเสพติดที่ลำเลียงเข้ามา เพราะมีด่านธรรมชาติระหว่างประเทศที่เพียงแค่ก้าวเดินไปกี่สิบก้าวก็ถึงบ้านเรือนกันแล้ว ยามันเลยทะลักเข้ามาง่าย ถ้าเราปิดตายทางเหนือ คุมเข้มเลย พวกลำเลียงก็ไปเข้าด้านอื่นทางอีสานบ้าง ตะวันออกบ้าง

เมื่อเราหยุดมันยาก มันเอาแต่ผลิต แต่เราต้องมาปราบมาป้องกัน มันไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น ต้องหาสูตรใหม่ในการหยุดยั้งให้ได้ ผมเสนอไปว่า ต้องมามองที่คนเสพยาบ้าในบ้านเราที่มีนับแสนๆ คน หากเรามีลูกแล้วติดยาบ้า เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องตีต้องห้ามมันดุมัน แต่มันก็ไม่หยุด มีแต่จะเพิ่มปัญหาเข้ามาทั้งลักของใช้ในบ้านไปขายเพื่อหาเงินมาเสพ หนักเข้าก็ออกปล้นออกจี้ เมื่อเสพหนักเข้ายาบ้าเม็ดเดียวก็เอาไม่อยู่ ต้องเพิ่มปริมาณเข้าไปอีก

“ก็อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้อยู่กับมันได้ อย่างใบกระท่อมที่เขากินกันมาเป็นร้อยปี เมื่อเราห้าม เขาไปเล่นยาบ้าเลย แต่ถ้าเขาปลูกใบกระท่อมไว้ตามบ้าน กินเองเพื่อให้สู้แดดสู้ลมถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าเอาออกไปขายต้องจับเพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่”

พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า ย้อนมาถึงยาบ้าไม่มีทางทำให้ถูกกฎหมายได้แน่นอน ประชาชนไม่ต้องวิตกในเรื่องนี้ การปราบปรามการยึดทรัพย์กับผู้ค้ายังคงเข้มข้นเหมือนเดิม แต่เรามามองใหม่ด้วยการกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสม และตรงกับฤทธิ์ของยาเสพติด อาจจะลดเกรดจากประเภท 1 เป็นประเภท 2 เพราะยาบ้าในขณะนี้บทลงโทษแรงกว่าเฮโรอีน ทั้งๆ ที่เฮโรอีนอันตรายกว่ายาบ้าอีก

อีกทั้งจำนวนผู้เสพในประเทศนับ 2 ล้านคน แต่ที่มีบัญชีผู้เสพอยู่ในเมืองทางการรวม 6 แสนคน เมื่อเราเอาคน 6 แสนคนเป็นที่่่ตั้ง และแต่ละวันคนพวกนี้จะต้องเสพยาบ้าอย่างน้อย 1 เม็ด/วัน ราคาทุกวันนี้อยู่ที่ 200 บาท/เม็ด วันหนึ่งเป็นเงิน 120 ล้านบาท เดือนละ 3,600 ล้านบาท แล้วปีหนึ่งจะสูญเงินไปเท่าไหร่ เครื่องคิดเลขคิดไม่ทันแน่นอน

“เราต้องเอาคนพวกนี้ไปบำบัดอย่างเต็มรูปแบบ เพราะยังถือว่าเป็นคนที่มีศักยภาพ คนเสพยาบ้ายังทำงานได้ คนเสพอาจจะเป็นช่างภาพ เป็นนักข่าว หรือทำงานบริษัทอื่นๆ ก็ได้ เราเอาคนเสพมาบำบัดได้มั้ย เราทำได้ เปรียบผู้เสพเหมือนกับคนบ้าที่ต้องได้รับการรักษา หากเอาแบบเดิมที่จะบำบัดด้วยการเข้าค่ายสั่งซ้ายหันขวาหัน สร้างระเบียบวินัย ถามว่าหยุดมั้ย มันไม่หยุด”

อดีต ผบช.ปส. เสริมว่า ผมเสนอไปว่าให้เอาทั้ง 6 แสนคนมารายงานตัวขึ้นบัญชีบำบัดทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ จะถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าไปจับได้แม้แต่เม็ดเดียวก็เข้าคุกไป เข้ามาเพื่อให้หมอรักษาและให้รัฐบาลผลิตยาให้ด้วยต้นทุนต่ำ เพราะพวกนี้คือผู้ป่วย ต้องได้รับการรักษา

จากใจนักล่าพ่อค้ายา "พล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร"

ตำรวจนักบู๊ ถึงเวลายิงต้องยิง 

ด้วยบุคลิกของ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีต ผบช.ปส. นายตำรวจรูปร่างสูงเพรียวคล่องตัว ปืนพกขนาด 9 มม. และ 11 มม. บรรจุอยู่ข้างกายทั้งสองด้าน ขณะที่ในกระเป๋าสะพายก็ยังมีอยู่อีกกระบอก เมื่อถามถึงว่า วันที่ถอดเครื่องแบบ เกษียณจากข้าราชการตำรวจไปแล้ว ปืนที่ว่ายังจะพกอยู่อีก มั้ย แต่ไร้เสียงคำตอบ มีเพียงรอยยิ้มของ พล.ต.ท.เรวัช ที่ตอบกลับมาเท่านั้น

ผมยังต้องระมัดระวังตัวเสมอ เพราะตลอดชีวิตตำรวจที่ทำงานมาหลายสิบปี วิสามัญไปก็ไม่น้อย จับพ่อค้ายาไปก็มากมาย มันต้องระวัง เพราะมีคนจะเอาคืนอีกเยอะ แต่เมื่อถึงเวลานั้นมันเกิดขึ้นจริง มันก็ต้องวัดกันหน่อย” คำพูดจาก พล.ต.ท.เรวัช ที่บ่งบอกตัวตนอีกด้านของเขาได้อย่างชัดเจน

อดีต ผบช.ปส.ที่เพิ่งหยุดชีวิตทำงานในเครื่องแบบสีกากีมาหมาดๆ เล่าอีกว่า พ่อค้ายา หรือพวกโจร คนร้ายคดีหนักๆ เมื่อได้ยินชื่อเรวัชก็ต้องหยุดคิดเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาด้วยนิสัยในการทำงานที่ต้องเด็ดขาด คำว่าให้อภัยสำหรับผู้ที่หลงผิดนั้น ผมมีให้เสมอ แต่คำว่าให้อภัยมันก็ให้กันบ่อยๆ ไม่ได้ เมื่อเตือนแล้วยังไม่ฟัง หันกลับไปทำผิดอีก อย่างนี้เมื่อเจอตัวแล้วมาว่ากันไม่ได้ เพราะมันมีแค่สองทาง คืออยู่หรือตาย

หากจำกันได้เมื่อช่วงปี 2543 ที่เป็นปีแห่งการกวาดล้างยาเสพติดอย่างดุเดือดที่สุดในเมืองไทยภายใต้รัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร พล.ต.ท.เรวัช เอง เล่าถึงช่วงเวลานั้นว่า เห็นด้วยกับการปฏิบัติงานอย่างเฉียบขาดถึงลูกถึงคน และเป็นคนหนุนให้เกิดมาตรการนี้ เพราะห้วงเวลานั้นยาเสพติดมันระบาดอย่างหนัก ยาบ้าแพร่หลายไปถึงลูกหลานในทุกสังคม

“และในช่วงนั้นก็มีหลายศพผ่านปืนผมไปเช่นกัน อันนี้ผมยอมรับ เพราะผมทำตามหน้าที่”

แต่กระนั้น เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนไป พล.ต.ท.เรวัช เล็งเห็นแล้วว่าปืนไม่สามารถจะหยุดการแพร่ระบาดของยาบ้าในสังคมไทยได้ รังแต่จะยิ่งสร้างปัญหาตามมา ไม่ว่ากี่ศพที่ต้องสังเวยทั้งผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ ต่างเป็นเรื่องของการสูญเสียทั้งนั้น และเมื่อจิตใจแข็งแกร่งขึ้นตามช่วงเวลา บวกกับทิศทางโลกในการปราบปราม และยับยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญของการบำบัดผู้เสพ พล.ต.ท.เรวัช จึงคิดว่าหนทางดังกล่าวน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

“การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามมันไม่ใช่ทางออก แค่มันหยุดสิ่งที่เกิดตรงหน้าได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถจะหยุดได้ทั้งระบบ เรายิงมัน เราจับมัน เราเอามันตาย แต่สุดท้ายยามันก็ยังแพร่อยู่ เพราะเมื่อผู้ค้าตายไปหนึ่งคน ก็จะมีอีกคนมาทดแทนได้อยู่ดี แล้วเราจะไล่ยิงผู้ค้าได้ทุกคนหรือไม่ อันนี้มันไม่ได้แน่นอน ดังนั้น ผู้เสพอีก 6 แสนคนที่อยู่ในบัญชีของทางการ จึงเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องบำบัดให้ได้ และบำบัดด้วยการใช้ยา ใช้ทางการแพทย์ ไม่ใช่เอาไปบำบัดในคุก หรือในค่าย มันไม่แก้ปัญหา”

เมื่อพูดถึงเรือนจำหรือคุกที่ใช้ขังนักโทษ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังเป็นคดียาเสพติด เรื่องนี้ก็ต้องถูกสังคายนาเช่นกันตามความคิดของ พล.ต.ท.เรวัช เพราะจากประสบการณ์และที่ได้สัมผัส พล.ต.ท.เรวัช บอกว่า คุกคือวิทยาลัยของพ่อค้ายาดีๆ นี่เอง

แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะเข้มงวดกวดขันแค่ไหน วางกรอบเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดปานใด แต่เลือดเสียย่อมมี กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่หาผลประโยชน์กับนักโทษยังคงมีอยู่ในสังคมเรือนจำ

“อย่างเรื่องโทรศัพท์มือถือที่นักโทษใช้สั่งยา สั่งการส่งของภายนอกเรือนจำได้ ประเด็นคือมันเอาเข้าไปได้อย่างไรถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่คอยช่วย และที่สำคัญ มันชาร์จแบตโทรศัพท์ตรงไหน มันพ่วงปลั๊กไฟฟ้ามาได้อย่างไร นักโทษเก่งขนาดนั้นเชียวหรือ เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่คอยช่วย”

และราคาค่างวดการใช้โทรศัพท์มือถือในเรือนจำก็แสนแพง พล.ต.ท.เรวัช เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ หากจะยกหูโทรไปข้างนอกแต่ละครั้งจะคิดราคาประมาณหลักพันบาทถึงหมื่นบาท แต่หากจะโทรแบบวิดีโอคอล หรือที่เรียกกันว่า Sexphone จะตกอยู่ที่ราคา 5 หมื่นบาทถึงหลักแสนบาท แต่ถ้าจะขอซื้อโทรศัพท์มือถือต่อ ก็ตกราคาเหยียบล้านบาท แน่นอนว่าเงินถูกโอนจากภายนอก พวกนี้คือพ่อค้ายารายใหญ่ที่ต้องสั่งการส่งยาตลอดเวลา ยิ่งเราจับเราปราบ เครือข่ายเขาก็ไม่หยุด ดังนั้นการมาเล่นกับผู้เสพจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ชัดเจน

“และถ้าผมบอกชื่อคุกไหนที่แพร่ระบาดเรื่องมือถือมากที่สุด คุณได้ยินแล้วจะหนาว แต่ผมไม่บอกหรอก ให้เขาเคลียร์กันเองดีกว่า” ทิ้งท้ายด้วยปริศนา จากอดีตมือปราบยาบ้า พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร

ส่งไม้ต่อ "ผบช.ปส." คนใหม่ ใจต้องหนัก กล้าลุย ไม่กลัวตาย

30 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (อดีต ผบช.ปส.) ซึ่งขณะที่ พล.ต.ท.เรวัช พูดคุยกับโพสต์ทูเดย์ เวลานั้นยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่านายตำรวจผู้ใดจะได้มานั่งเก้าอี้ ผบช.ปส.แทนตนเอง กระทั่งโผโยกย้ายล่าสุดเป็นชื่อของ พล.ต.ต.สมหมาย กองวิสัยสุข ที่มาคุมงานตำรวจปราบปรามยาเสพติด

แต่สิ่งที่ พล.ต.ท.เรวัช อยากจะฝากให้กับ ผบช.ปส.คนใหม่ ก็น่าสนใจไม่น้อย

“ผมบอกเสมอว่า นายตำรวจที่มีลูกน้องอยู่ในมือ อย่ามัวแต่สั่งงานในห้องแอร์ ยิ่งงานปราบปรามยาเสพติดต้องออกไปลุยบ้าง ลูกน้องจะได้ไม่เสียขวัญ เพราะลูกปืนมันไม่เลือกชีวิต มันไม่เลือกยศ จะดาบตำรวจ จะนายสิบ จะนายพล มันเลือกยิงได้ทั้งนั้น งานไหนเสี่ยงต้องออกไป งานไหนไม่เสี่ยงก็ให้ลูกน้องแสดงผลงาน และอย่าเอาผลงานลูกน้องมาเป็นของตัว ต้องส่งเสริม ชื่นชม ทำดีต้องได้รับรางวัล ทำเสียต้องตักเตือน

ผมบอกได้เลยว่า งานปราบปรามยาเสพติดมันลำบาก แต่ละคนที่จะมานั่งแน่นอนว่าต้องมีดีแต่ละด้าน และต้องดีให้มากด้านที่สุด สำหรับคนที่มาใหม่ก็ขอให้ทุ่มเทด้วยหัวใจ คนเราเมื่อมีงานก็ต้องทำงาน การจะเป็นแม่ทัพอย่าไปมัวแต่สั่งการลูกเดียว เพราะชีวิตลูกน้องก็มีค่าเท่ากับแม่ทัพเหมือนกัน”

“อีกอย่างคือต้องใจบริสุทธิ์ ใจมันต้องหนักแน่นจริงๆ เพราะมันใกล้ผลประโยชน์มากกับตำแหน่ง ผบช.ปส. ใจไม่บริสุทธิ์นิดเดียวทุกอย่างจะพัง เพราะมันมหาศาลจริงๆ”

อีกเรื่องที่กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างแพร่หลายในวงการตำรวจ เกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกสินบนรางวัลนำจับยาเสพติด พล.ต.ท.เรวัช อธิบายแจกแจงปมปัญหากรณีเรื่องเงินสินบนรางวัลนำจับว่า แต่เดิมที่มีข้อครหานินทาว่าเจ้าหน้าที่นำของกลาง นำยาบ้าเข้ามาแล้วจับเพื่อเงินรางวัล ส่วนนี้ถ้ากรณีที่จับแล้วไม่ได้ผู้ต้องหาไม่จ่าย หรือถ้าจับได้ผู้ต้องหาแต่ไม่สามารถขยายไปสู่เครือข่ายยาเสพติดได้ก็จะให้เงินรางวัลครึ่งหนึ่ง แต่เดิมเราให้ สมมติจับยาเสพติด 1 ล้านเม็ด สายลับหรือแหล่งข่าวจะได้เงิน 2 ล้านบาท เจ้าหน้าที่จะได้เงินรางวัลนำจับ 7 แสนบาท สายลับหรือแหล่งข่าวจะได้เงินรางวัลตรงส่วนนี้เยอะ

“อย่างน้องมาแจ้งจับยา 7 แสนเม็ด เอ็งรับไปคนเดียว 2 ล้านบาท แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำงานกันร้อยคนก็จะได้แค่ 7 แสนบาท ไปแบ่งกัน ซึ่งมันน้อยมาก ตำรวจก็ต้องกินต้องใช้ เขาก็หวังจากรางวัลเช่นกัน ตะลุยออกไปงานเสี่ยงๆ เพื่อหวังจะได้ล้างหนี้ จ่ายค่าบ้าน ค่าเทอมลูก”

ส่วนเรื่องกระแสการยกเลิกรางวัลนำจับของตำรวจนั้น พล.ต.ท.เรวัช บอกว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกรางวัลสินบนนำจับแต่อย่างใด เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน แต่จะปรับให้เพิ่มให้มีความรัดกุมขึ้น “รายเล็กรายน้อยที่เดินมาชนตีน เสพ มาแบบนี้เราไม่ให้” ซึ่งรายเล็กรายน้อยที่ไม่ใช้ความสามารถในการปราบปราม แบบนี้เราไม่ให้ ซึ่งต่อไปจะมีระเบียบชัดเจน

“ตัวอย่างไปจับยาเสพติดมา 1 แสนเม็ด ก็ต้องรอกันจนกว่าอัยการจะสั่งฟ้อง ศาลชั้นต้นจะตัดสิน ได้ครึ่งแรกครึ่งหลังไม่ต้อง ต่อไปถ้าอัยการสั่งฟ้องกองทุนเงินรางวัลนำจับอาจจะจ่ายเงินให้เลย เม็ดละ 2 บาท ซึ่งจะลดจากยาเม็ดละ 3 บาท”

จากใจนักล่าพ่อค้ายา "พล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร"

พล.ต.ท.เรวัช อธิบายต่อไปว่า เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเงินเดือนน้อยเหมือนพระ อย่างตำแหน่งพระครูได้ค่าพัดยศเท่าไหร่ ได้ 1,200 บาท แต่ให้พระครูไปทำงานสารพัด จะสร้างโบสถ์ สร้างกฐิน ผ้าป่า ก็ต้องไปหาเองหมด ซึ่งตำรวจที่ทำงานก็ต้องการความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ ก็ไปตามพวกนักค้ายาเสพติดในต่างจังหวัด ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันรถหมดไป 3,000-4,000 บาท เบิกก็ไม่ได้ ตำรวจเหล่านั้นก็เสี่ยงดวงไป เพื่อหวังความเจริญก้าวหน้ามีผลงาน ถ้าได้เงินรางวัลก็ยังพอปลดหนี้ที่ไปกู้เขามาลงทุนทำงาน เขาเรียกเงินตรงนี้กันว่า “เงินยาไส้” 

อย่างไรก็ตาม ความแน่วแน่ในการทำงานที่ตรงไปตรงมา ไม่เกรงผู้มีอิทธิพล ผู้หลักผู้ใหญ่ไว้ใจมอบรายชื่อผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด พล.ต.ท.เรวัช  กล่าวว่า พี่เป็นคนดูแลจัดการรายชื่อผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งหมด หลังผู้ใหญ่ไว้ใจให้ดำเนินการเพียงคนเดียว ก่อนจะนำมาตรวจสอบอัพเดทรายชื่อแล้วดำเนินการจับกุมตามกฎหมาย หากเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สั่งให้ปลดออกไป หรือแม้แต่ฝ่ายอื่น (ตรงข้าม) ที่ร้องเรียนมาเราก็ให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าผิดจริงก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

“ถ้าไม่ผิด ก็อย่าไปรังแกเขา เพราะการเข้าไปค้นบ้านเหมือนเอาตีนไปลูบหน้า ดังนั้นคนเราอย่าไปรังแกกัน แต่ถ้าผิด มึงพูดไม่ออก” พล.ต.ท.เรวัช ระบุ

สำหรับตลอดชีวิตการรับข้าราชการตำรวจ พล.ต.ท.เรวัช เล่าถึงความภาคภูมิใจเพียงสั้นๆ ว่า คือการได้ช่วยเหลือลูกหลาน เหมือนได้บุญ ปราบปรามยาเสพติดจับกุมคนร้ายที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องที่ไม่ดีในวงการรับราชการตำรวจคือมันใส่ร้ายป้ายสีเหยียบบ่าเพื่อนขึ้นมารับตำแหน่ง แทนที่จะเอาผลงานนำ เหมือนเราแข่งขันกันสองคน แต่อีกคนเอาเรื่องไม่ดีไปฟ้องผู้ใหญ่อย่างงั้นอย่าง งี้ถ้าผู้ใหญ่หูเบาก็จบ ซึ่งที่ผ่านมาวงการตำรวจเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ อย่างไรเสียงานก็ต้องทำ และต้องทำให้ออกมาดี

มือปราบยาเสพติด ยังเล่าย้อนสมัยเป็นตำรวจยังหนุ่มแน่นว่า เวลาลงพื้นที่จับคนเสพยา จะถามมึงเสพทำไม? ไม่ต้องเสพหรอก เอานี่ (กำปั้นตีหัว) ป๊อกเดียวมึนแน่นอน สมัยก่อนพี่จะดุมาก หรืออย่างคอนเสิร์ต แอ็ค คาราบาว เวลาไปเล่นดนตรีที่ไหน มักจะมีการก่อเหตุตีกัน แต่เวลาพี่ไปคุมงานคอนเสิร์ตจะไม่กล้าตีกัน คาราบาวเลยอยากให้ไปแทบทุกงาน

หรืออีกอย่างกรณีที่มีการจับกุมนายทหารยศนายพันของประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นผู้ค้ายาบ้ารายสำคัญระดับล้านเม็ด ขณะนำตัวมาสอบสวน ในห้องสอบมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครองต่างๆ ระหว่างที่พักการสอบ พล.ต.ท.เรวัช เล่าว่า แค่เดินไปถามผู้ต้องหาว่า “เฮ้ย คุณทำอย่างนี้ทำไม เอายามาขายในประเทศไทยทำไม” แต่เขาไม่ตอบ กลับมองหน้าอย่างจะกินเลือดกินเนื้อ และสิ่งนั้นก็ได้กระแทกจุดเดือดทันที

“ฝ่ามือขวาผมทำงานอย่างอัตโนมัติ กระแทกเข้าไปที่กกหูของนายพันผู้นี้ ผมตบไม่ยั้ง ถอดคอมแบต (รองเท้าหนัง) ฟาดซ้ำอีกจนสลบคามือผม ผู้ว่าฯ ฝ่ายปกครองหนีกระเจิงเพราะตกใจ ผมเป็นคนแบบนี้ ก็มันผิดนี่หว่า” พล.ต.ท.เรวัช เล่าความหลัง

แม้ พล.ต.ท.เรวัช ในวัย 60 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงไว้ซึ่งความรวดเร็ว สำแดงการหยิบปืนออกจากเอวด้วยท่าทีที่คล่องแคล่วว่องไว และยังเคลมให้ฟังด้วยว่าสามารถยิงได้ทั้งสองมือ เพราะเมื่อเผชิญเหตุ หากมือที่ถนัดคือด้านขวาถูกยิง มือซ้ายก็ต้องพร้อมทำงาน

ส่วนที่ว่าจะแม่นหรือไม่ สังเกตได้จากอกเสื้อด้านขวาที่ประดับเหรียญทองแม่นปืนเอาไว้ คงเป็นคำตอบได้อย่างชัดเจนว่าอดีตนายตำรวจผู้นี้ ของจริงแค่ไหน

พล.ต.ท.เรวัช มีบุตรชาย 5 คน ที่เดินตามรอยพ่อโดยรับราชการตำรวจครบทั้ง 5 นาย ชีวิตในวงการสีกากีโลดโผน ชื่อเสียงเป็นที่แพร่หลายในช่วงที่เป็น สวป.จ.ราชบุรี ขึ้นชื่อในความเด็ดขาดด้านการปราบปราม และชื่อกระฉ่อนมากขึ้นในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้น พล.ต.ท.เรวัช ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 เข้าไปปราบเรื่องซุ้มมือปืนในพื้นที่ และยาเสพติดโดยเฉพาะ

รวมถึงการปิดฉากวิสามัญมือปืนอันดับ 5 ที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด กระทั่งมีผลงานโดดเด่นขึ้นมา จึงมานั่งเป็นรอง ผบช.ปส. ก่อนจะย้ายไปเป็นจเรตำรวจแห่งชาติตามยุคสมัยทางการเมือง และท้ายสุดก็ได้รับการไว้วางใจอีกครั้ง เมื่อปี 2557 ให้มาดำรงตำแหน่ง ผบช.ปส.อย่างเต็มตัว ผลงานทิ้งทวนคือการฝ่าตะลุยวิ่งลงจากรถเปิดฉากกระสุนนัดแรกกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกลางถนนสายสุพรรณบุรี เมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หลังเห็นกลุ่มคนร้ายยิงปืนเข้าใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาขณะปฏิบัติหน้าที่

“ผมยังทำงานได้ต่อ อยากทำงานเพื่อสังคมอีก ผมรักอาชีพตำรวจนะ เพราะผมเป็นคนชอบเสือก ชอบจับชอบปราบ คนมันเลวผมจะยิงให้หมด ผมเป็นคนอย่างนี้ แต่มันก็ถึงเวลาต้องจากกันแล้วกับอาชีพที่รัก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็ต้องดูว่าจะมีงานอื่นให้ผมทำหรือไม่ คงเป็นงานด้านยาเสพติดที่ผมถนัด และเร็วๆ นี้คงรู้กัน”พล.ต.ท.เรวัช กล่าวทิ้งท้าย

จากใจนักล่าพ่อค้ายา "พล.ต.ท. เรวัช กลิ่นเกษร"