posttoday

กินเจผวาสารพิษในผักผลไม้ 68 ชนิด คะน้า-ส้มสายน้ำผึ้งครองแชมป์

07 ตุลาคม 2559

ผลการสุ่มตรวจผักผลไม้ของเครือข่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พบเรื่องที่น่ากังวลเหตุผลไม้และผักมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงเกินกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์ 

เทศกาลกินเจทุกครั้งส่งผลให้ปริมาณการบริโภคผักผลไม้ในท้องตลาดสูงขึ้นหลายเท่าตัว ฟังแล้วเป็นเรื่องที่ดี   ทว่าผลการสุ่มตรวจล่าสุดของเครือข่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กลับพบเรื่องที่น่ากังวลของคนกินผัก เนื่องจากผลไม้และผักมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงเกินกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ

ที่น่ากลัวที่สุดคือ พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามรายชื่อวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกการใช้แล้ว ได้แก่ ไดโครโตฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส รวมทั้งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่กรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตทะเบียน 2 ชนิด คือ คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ตกค้างอยู่ในผลผลิตรวม 29  จาก 158 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 18.4%

เครือข่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สุ่มตัวอย่างผักและผลไม้ที่นิยมบริโภค 16 ชนิด ประกอบด้วย ผัก 10 ชนิด รวม 158 ตัวอย่าง  ระหว่างวันที่ 23-29 ส.ค. 2559 โดยเก็บตัวอย่างจากห้างโมเดิร์นเทรด 3 ห้างหลักและตลาดค้าส่ง 3 แห่ง ย่านปทุมธานี นครปฐม และราชบุรี พบว่าผักผลไม้ในช่วงปลายเดือน ส.ค. หรือก่อนช่วงเทศกาลกินเจมีแนวโน้มพบสารพิษตกค้างสูงกว่าช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีสารตกค้างเกินค่า MRL 88 ตัวอย่าง คิดเป็น 56% ขณะที่ผลไม้มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 65%

สำหรับสารพิษตกค้างที่พบมีถึง 68 ชนิด จำแนกเป็น 3 ประเภท คือ สารกำจัดไร สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ซึ่งผักที่พบสารตกค้างมากที่สุด คือ คะน้า ตามด้วยพริกแดง ถั่วฝักยาว กะเพรา ผักบุ้ง มะเขือเปราะ แตงกวา มะเขือเทศ ขณะที่กะหล่ำปลี และผักกาดขาวพบน้อยที่สุด ส่วนผลไม้ที่พบสารตกค้างมากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง ตามด้วยแก้วมังกร ฝรั่ง มะละกอ แตงโม และแคนตาลูป

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ระบุว่า ผักและผลไม้จากห้างโมเดิร์นเทรด มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากถึง 70% ทั้งที่ผู้บริโภคต้องจ่ายสินค้าในห้างโมเดิร์นเทรดแพงหลายเท่าตัว ขณะที่ผักผลไม้จากตลาดค้าส่งมีสารพิษตกค้างอยู่ที่ 54%

ส่วนฉลากรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ พบว่าฉลาก Q-GAP พบสารพิษตกค้างเกินค่า MRL มากที่สุด โดยตรวจพบ 10 จาก 16 ตัวอย่าง รองลงมา คือ Q-GMP พบ 6 จาก 10 ตัวอย่าง และผักผลไม้ที่ติดฉลากว่าสินค้าปลอดภัยไม่มีตรารับรองมาตรฐานพบ 5 จาก 10 ตัวอย่าง นอกจากนี้ในกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตรารับรอง Organic Thailand พบสารตกค้างเกินค่า MRL 2 จาก 10 ตัวอย่าง ตรารับรองอินทรีย์อื่นพบ 2 ใน 9 ตัวอย่าง และไม่มีตรามาตรฐานพบ 4 จาก 8 ตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ยังมีปัญหา จากการตรวจพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 16 จาก 26 ตัวอย่าง หรือ 65% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด และสูงกว่าการตรวจสอบในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่พบ 57%

สารพิษที่พบนั้นเป็นสารที่มีการดูดซึม ส่วนใหญ่เป็นสารกำจัดเชื้อรา โอกาสที่ล้างออกนั้นค่อนข้างยาก ซึ่งจะพบกระจายในหลายชนิดผัก การพบสารเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของการก่อเกิดโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุที่คนไทยเสียชีวิตมากอันดับ 1 ชั่วโมงละ 8.5 คน รวมถึงต่อมไร้ท่อ พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เป็นต้น ทางที่ดีที่สุดคือผู้บริโภคควรหันไปเลือกซื้อผักผลไม้ที่ผลิตจากแหล่งผลิตเกษตรอินทรีย์ที่น่าเชื่อถือ

ปรกชล กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องยกประเด็นความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้เป็นวาระสำคัญของประเทศ เพราะครึ่งหนึ่งของผักผลไม้ในท้องตลาดมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงผู้บริโภคต้องทบทวนการซื้อผักผลไม้จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จนกว่าจะลดปัญหาสารพิษตกค้างอย่างเป็นรูปธรรม

“เรื่องนี้ต้องดำเนินการทางกฎหมายใน 2 ส่วน คือ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งจะกำหนดไว้ว่าหากเป็นอาหารที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานก็จะถือเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือกรณีที่อ้างว่าตนเองเป็นเกษตรอินทรีย์เวลามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานก็จะถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐานด้วย” ปรกชล กล่าว

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากกลุ่มกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า ขอเสนอให้ภาครัฐสุ่มตรวจอย่างเป็นกลาง ทุกฤดูกาลประมาณ 3 ครั้ง/ปี สำหรับวันที่ 7 ก.ย.  ทางกลุ่มไทยแพลนจะยื่นเอกสารผลตรวจดังกล่าวไปยังกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เพื่อให้ติดตามการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป