posttoday

"คนไทยเป็นนักลอกเพราะถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์"เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

26 กันยายน 2559

ถอดบทเรียนกรณีดราม่า "เอ็มวีเพลงเที่ยวไทยมีเฮ" ผ่านมุมมอง"เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์"

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

มิวสิควีดีโอชุด"เที่ยวไทยมีเฮ" ตกเป็นข่าวดังไปทั่วทั้งเมือง หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำ"ทศกัณฐ์"ตัวละครเอกจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ไปใช้ในทางไม่เหมาะสม เช่น ถ่ายเซลฟี่ แคะขนมครก จนกลายเป็นประเด็นวิวาทะอย่างเผ็ดร้อนในสังคม

จากประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการศิลปะมานานกว่า 40 ปี  “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพ.ศ.2554 ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวกับการถกเถียงเรื่อง "ศิลปะกับการอนุรักษ์"มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะการสร้างวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย ซึ่งเคยถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักเมื่อในอดีต

วันนี้เขาจะมาถอดบทเรียนที่คนไทยควรจดจำจากกระแสดราม่าครั้งนี้ว่า อะไรคือฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันศิลปะให้ยืนโดดเด่นสง่างามได้ในอนาคต

ประเทศไทยอ่อนด้อยทางสุนทรียภาพ

“ปัญหาความวุ่นวายและการถกเถียงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ค่อยรู้จักศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือคนทั่วไป เมื่อไม่รู้จักก็จะเป็นปัญหาทุกครั้ง ไม่เข้าใจว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี อันไหนควร หรือไม่ควร อันไหนสวย หรือไม่สวย อะไรคืออุจาด อะไรคือเหมาะสม เมื่อไม่เข้าใจและแยกไม่ออกเลยกลายเป็นปัญหา โดยเฉพาะการอนุรักษ์ประเพณีนิยมกับงานศิลปะร่วมสมัย” คำกล่าวอันดุดันตามสไตล์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

อาจารย์เฉลิมชัยอธิบายต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์มักเข้าใจด้านอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว ไม่เข้าใจหรือสนใจในประวัติศาสตร์ของนานาประเทศที่เกิดการปฎิวัติวัฒนธรรม มีพัฒนาการด้านศิลปะจากอนุรักษ์ไปสู่ร่วมสมัย โดยมองศิลปะอย่างมีสุนทรียภาพแบบสากล

“นี่เป็นความอ่อนด้อยทางสุนทรียภาพของคนในชาติ สนใจสุนทรียภาพแบบโบราณที่เห็นกันมานมนานและเชื่อว่านั่นคือคลาสสิคอาร์ต ศิลปะอันสูงส่ง ยึดมั่นถือมั่นในแบบนั้น เมื่อมีศิลปินรุ่นใหม่คิดหรืออยากสร้างสรรค์ทำอะไรใหม่ โดยนำศิลปะเก่ามาสร้างหรือพัฒนา ก็จะเกิดปัญหาทุกครั้ง ผู้อนุรักษ์นิยมไม่ชอบเพราะไม่รู้จักรสนิยมที่เป็นสุนทรียภาพร่วมสมัยที่เป็นสากลนั่นเอง เขาไม่ชอบไง ไปหยิบงานมาแล้วไม่เป็นไปตามที่เขากำหนด  ไม่ยอม โวย มึงจะเอาของกูไปเล่นเหี้ยอะไร ไม่ได้ (เสียงดัง) มันทำให้เขายึดติด ไม่ได้ผิดหรอก เพราะเขารัก ดื่มด่ำของเขามาแบบนั้น มันมีคนประเภทแบบนี้เยอะแยะ”

อย่างไรก็ดีประวัติศาสตร์ทั่วโลกมีให้เห็นแล้วว่า กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมาสู่ความเป็นร่วมสมัยได้นั้นล้วนถูกต่อต้านและต้องสู้กับเหล่าผู้มีอำนาจ คนสูงศักดิ์ในบ้านเมืองที่ยึดมั่นระบบความคิดรูปแบบเก่า นั่นแปลว่าการถกเถียงและความขัดแย้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องแปลก

“บางคนเดินทางไปดูงานต่างประเทศ แต่ไม่รู้จักว่างานร่วมสมัยเป็นอย่างไร บางทีรู้แต่ไม่ชอบ เหมือนไม่ชอบฮิพฮอพ แต่ชอบโอเปร่า บีโธเฟน โมสาร์ท คนไทยเราไม่รู้เรื่องพวกนี้ ไม่ใช่แค่วงการนาฏกรรมอย่างเดียว แต่จิตรกรรมก็ต่อสู้มาตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว วัดร่องขุ่นก็แหกคอก ครูบาอาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่เป็นสายของกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือสายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พวกเขาก็ไม่ชอบวัดร่องขุ่นเพราะถือว่าไอ้นี่แหกคอก แต่โชคดีสุดท้ายเข้าใจและไม่มีการต่อต้าน โลกมันมีรูปแบบการปฎิวัติให้เห็นแต่เราไม่เรียนรู้มัน เขาปฎิวัติกันทั้งนั้น พัฒนารูปแบบไปสู่ความเป็นร่วมสมัยให้เท่ากันกับคนยุคใหม่ นั่นคือร่วมสมัย”

เป็นที่รับรู้กันดีว่า “ศิลปินแห่งชาติรายนี้เคยเขียนภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฉลิมชัยบอกว่า ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งให้สร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นศิลปะประจำรัชกาล

“สมัยนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งว่า งานศิลปะประจำรัชกาลของเราไม่เห็นมีเลย ศิลปะอะไรก็เป็นงานอิทธิพลของรัชกาลที่ 5 หมด มีแต่ลอก การเขียนรูปพระมหาชนกนี้ ขอให้เขียนเป็นศิลปะประจำรัชกาลของเรานะ คำพูดนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างวัดร่องขุ่นด้วย วัดที่ไม่ลอกยุคสมัยใด ไม่มีกลิ่นไอของรัชกาลใดอยู่ เป็นศิลปะในยุคสมัยรัชกาลที่ 9”

"คนไทยเป็นนักลอกเพราะถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์"เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

เป็นนักลอกเพราะถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์

ในสายตาของศิลปินแห่งชาติรายนี้ บทเรียนที่สังคมไทยควรได้รับจากความขัดแย้งหนล่าสุดคือ สติปัญญาทางด้านสุนทรียภาพ 

เฉลิมชัยหวังว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดการเรียนรู้และเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ไม่ปิดกั้น จนกลายเป็นเหตุให้คนในชาติเป็นนักลอกมากกว่านักพัฒนา เพราะศิลปะนั้นกว้างใหญ่ มีอิสรภาพเกินกว่าจะปิดกั้นได้ หากคนรุ่นเก่าไม่เปิดกว้าง คนไทยจะไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และกลายเป็นนักลอกไปตลอด 

“ศิลปะที่ดีงามคือ ศิลปะที่มีอิสรภาพ ไม่ลอกใคร การปิดกั้นเท่ากับเราดับความคิดสมองและจิตวิญาณของคนไทยทั้งหมดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ความฉิบหายเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ยิ่งหากใครนึกออกกฎหมายหรือข้อบังคับมาควบคุมการสร้างงานศิลปะด้วยแล้ว มึงรู้ไหม บ้านเมืองเราเจ๊งฉิบหายเลยนะ ฝรั่งแม่งขำกลิ้ง สุดท้ายมึงห้ามไม่ได้ มึงบล็อกความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ของมนุษยชาติไม่ได้หรอก”

"คนไทยเป็นนักลอกเพราะถูกปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์"เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ถึงเวลารัฐส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะ 

อาจารย์เฉลิมชัยมองว่า รัฐบาลควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เหมือนกับที่บรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกทำกัน เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้คนในชาติเข้าใจวัฒนธรรม แนวคิดของตัวเองและผู้อื่น 

“จะทำให้คนไทยมีคุณภาพ มันต้องมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ศาสตร์ทุกศาสตร์มีพื้นฐานมาจากศิลปะทั้งนั้น ซึ่งศิลปะมันสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ ถ้าล่วงรู้จิตวิญญาณและปรัชญา ซึ่งเป็นเลือดเนื้อความคิดของตัวเองและคนในซีกโลกอื่น เราก็จะชนะเขาทุกด้าน ทั้งการค้า การเมือง พวกฝรั่งและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจมันรู้ดี รู้จักสุนทรียภาพ ความงาม เข้าใจศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในหลายๆทวีป” 

อาจกล่าวได้ว่า ผลจากความเข้าใจด้านศิลปะวัฒนธรรม ทำให้วัดร่องขุ่น สามารถรองรับวัฒนธรรมที่หลากหลายของคนต่างเชื้อชาติจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก 

“ผมเรียนรู้จีน เรียนรู้ฝรั่งได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงปราบมันได้และเอามันอยู่ สร้างวัดให้มันมาดูกันได้หมดทุกชาติ จีน ฝรั่ง อินเดีย ตะวันออกกลาง แม่งมากันหมด เพราะรู้จักวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของเขา เราสร้างอะไรก็ได้ ให้มันเดินเข้ามาแล้วสบายใจ ถ้าสร้างเอาแบบตัวเอง มันไม่เข้าหรอก สร้างต้องรู้จักคนที่มาด้วย วัฒนธรรมของมึง มึงให้พวกมึงดูกันเองได้ แต่การเอาวัฒนธรรมของมึงไปสู่อินเตอร์ ให้คนทั้งโลกมันเดินทางมา มึงต้องรู้จักมัน พัฒนาให้เข้ากับมัน ไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนแปลงตามมันแต่ทำให้เหมาะสมแก่มัน”

อาจารย์เฉลิมชัย ทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องเอาจริงเอาจังกับการสร้างคนรุ่นใหม่ด้วยระบบการศึกษาที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แทนที่จะให้ลอก จำ และตอบคำถามแบบเดิมๆ 

“อย่าให้มันยึดติดกับปริญญา ปริญญาเป็นสิ่งที่ล็อกคอมัน ให้มันรู้สึกยิ่งใหญ่เหมือนทศกัณฐ์ที่เอามาเล่นข้างล่างไม่ได้ มึงผิดแล้วที่ทำให้คนในชาติเป็นทศกัณฐ์ ต้องทำให้ปริญญาไม่มีค่าเท่าความรับผิดชอบต่อสังคม”

นี่คือมุมมองของ "เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ที่มีต่อประเด็นร้อนๆล่าสุดที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะเมืองไทย