posttoday

"มหากาพย์จำนำข้าว" อุทาหรณ์ทุกภาคส่วน

25 กันยายน 2559

"จะเห็นว่าแม้แต่เกษตรกรเอง ที่เคยได้ประโยชน์ช่วงปีสองปีแรก แต่หลังจากนั้นก็ต้องมารับผลกระทบ สินค้าเกษตรล้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ข้าวเกวียนละ 1 หมื่นบาท จะกลายเป็น 1.5 หมื่นบาท ต่อให้เป็นเทวดาก็บริหารจัดการไม่ได้"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กว่า 6 ปีของมหากาพย์จำนำข้าว วันนี้เริ่มใกล้ถึงตอนอวสานเมื่อเส้นทางการดำเนินคดีเอาผิดทางอาญาและเรียกค่าเสียหายเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ท่ามกลางเสียงสะท้อนว่าการใช้เวลาทำคดีนานขนาดนี้อาจมีเบื้องหน้าเบื้องหลังดึงเกมหวังปล่อยให้คดีหมดอายุความที่เหลืออีกแค่ไม่กี่เดือน 

อีกด้านมองว่าตั้งแต่รัฐประหารมีความพยายามรวบรัดเรื่องนี้หลายระลอก ล่าสุดยังมีความพยายามใช้อำนาจและกลไกพิเศษอย่างมาตรา 44 เข้ามาเป็นใบเบิกทาง ในช่วงปลายโรดแมป

ในฐานะที่เกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2554 นพ.วรงค์​ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ เริ่มตั้งแต่ฉายภาพเส้นทางคดีจำนำข้าวที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเวลานี้ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกกรณี ปล่อยปละละเลย ปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ และปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติโดยทุจริตของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐนตรี ​และคดีการระบายข้าวแบบจีทูจีของ​ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก 6 คน

เวลานี้ ทั้ง​สองคดีแบ่ง​การดำเนินคดีออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคดีอาญา ซึ่งทั้งคดีของ ยิ่งลักษณ์ และบุญทรงนั้น ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสอบพยานฝ่ายโจทก์ไปเสร็จหมดแล้วเหลือสอบพยานฝ่ายจำเลย ที่ประเมินแล้วน่าจะเสร็จภายใน มิ.ย.ปีหน้า ใกล้เคียงกัน

อีกส่วนคดี เรียกค่าเสียหายนั้น เนื่องจาก​ ยิ่งลักษณ์ และบุญทรง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำประมาท เลินเล่อร้ายแรง จึงใช้ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ​ซึ่งตามภาษาชาวบ้านอธิบายง่ายๆ ว่าแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งแล้วทั้งสองคดี​ คดีบุญทรง สรุปความเสียหาย 1.87 หมื่นล้านบาท คดียิ่งลักษณ์​​ 2.86  แสนล้านบาท

ขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนของคณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง คดีบุญทรง ขยับเพิ่มมาเป็น​ 2 หมื่นล้านบาท เรียกเก็บกับบุญทรง 1,770  ล้านบาท ภูมิ สาระผล 2,300 ล้านบาท ​และเฉลี่ยไปยังอีก 4 คนที่เหลือ ส่วนคดียิ่งลักษณ์ เวลานี้มีประเด็นคือจากความเสียเหาย 2.86 แสนล้านบาท มีข่าวหลุดมาว่าถูกปรับลดมาจาก 2  แสนล้านบาท เหลือเรียกเก็บกับยิ่งลักษณ์เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท

ขั้นตอนที่สาม การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในส่วนของคดี บุญทรง ทาง รมว.และปลัดพาณิชย์ ได้ลงนามเป็นที่เรียบร้อยให้ทั้งหกคน ใช้เงินหลวง หลังจากนั้น ​30 วัน ก็จะส่งหนังสือเตือนไปยังแต่ละคน และรอ 15  วัน ให้มาใช้หนี้ ​ถ้าไม่ดำเนินการ ก็จะมีมาตรการบังคับทางปกครองต่อไป

ต่อมา คสช.ออกมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์ ​ซึ่งขั้นตอนไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ​แค่มาตรการสุดท้าย ในส่วนของคดีบุญทรงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งรอเขาขอคุ้มครองชั่วคราว โดยใช้สิทธิ​อุทธรณ์​ต่อศาลปกครง

ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือรอศาลไต่สวนกรณี ขอความเป็นธรรม​ จากนั้นก็จะอยู่ที่ศาลตัดสิน หากศาลตัดสินผิดก็เป็นเรื่องที่กรมบังคับคดีไปรับหน้าที่ดำเนินการ ไม่ใช่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปยึดทรัพย์อย่างที่มีคนออกมาดักคอ

หมอวรงค์  มองว่า ประเด็นตอนนี้อยู่ที่ในส่วนของคดียิ่งลักษณ์ ที่รอคณะกรรมการพิจารณารับผิดทางแพ่ง สรุป ว่าทำไมถึงปรับลดจาก 2.76 แสนล้านบาท เหลือเพียงแค่ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดแค่ฤดูกาลที่ 3  ทั้งที่ ป.ป.ช. ก็เคยทำหนังสือท้วงไปตั้งแต่วันที่  7 ต.ค. 2554  และวันที่  30 เม.ย. 2555

อีกทั้งยิ่งลักษณ์​ แถลงนโยบาย ส.ค. 2554  ในฐานะฝ่ายค้านพวกเรา​ได้ท้วงติงตั้งแต่แถลงนโยบายแล้ว  จะบอกไม่รู้เรื่องเลยแล้วมารู้
ตอนฤดูกาลที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น  ที่สำคัญการมาคิดแค่ค่าเสียหายเพียงแค่ 20% ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะคดีนี้ไม่มีจำเลยร่วมเหมือนกับคดีบุญทรง ที่มีจำเลย 6 คน

นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังมีน้ำหนักมากขึ้นเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันท่ี่ 19 ก.ย. 2559 ท้วงติงหลักคิดของคณะกรรมการรับผิดทางแพ่ง ที่คิดเพียงแค่ 20% ซึ่งไม่ใช่การท้วงลอยๆ  ซึ่งต้องดูว่าสุดท้ายจะสรุปออกมาอย่างไร จากนั้นขั้นตอนก็จะเดินไปเหมือนกับคดีของบุญทรง ที่จะต้องให้ทางรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงลงนามในคำสั่ง

“หากสุดท้ายคณะกรรมการสรุปออกมาเรียกค่าเสียหาย 20% จริง ก็จะกระทบกับความน่าเชื่อถือ แต่ก็ต้องรอฟังคำชี้แจงด้วย เราแฟร์พอ ในการรับฟังเหตุผล​ เพราะจากที่ฟังดูไม่ใช่อย่างที่อ้างว่ายิ่งลักษณ์​รับรู้แค่ช่วงนี้  อย่างชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงของ จิรชัย มูลทองโร่ย เราฟังที่เขาชี้แจงก็คิดจากฐานที่ปิดบัญชี 5.3 แสนล้านบาท เมื่อ ก.ย. 2557  ตรงนั้นเป็นตัวตั้ง ส่วนที่ชาวนาได้ชดเชยเพิ่ม ก็หักออกไปไม่มาคิดเป็นความเสียหาย ทั้งเรื่อง ค่าบริหารจัดการ พวกนี้ไม่ถือว่าทำให้เกิดความเสียหาย”​

หมอวรงค์ อธิบายว่า โดยหลักการเรื่องนี้ ต้องมีคนรับผิด คดียิ่งลักษณ์ ควรรับผิดแบบเต็มๆ เพราะไม่มีจำเลยร่วม และตัวเองก็มีอำนาจบริหารจัดการเต็ม  จะอ้างว่าไปคิดเพียง 20% และที่เหลือให้ไปสอบเพิ่มก็คงไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะทันอายุความที่ใกล้จะหมดหรือไม่ ที่ต้องไปไล่หาคนมาใช้ในส่วนที่เหลืออีก 80%

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมเขาต้องสรุปและประกาศตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. แต่นี่จนป่านนี้ยังไม่ประกาศ ก็คงได้แต่รอฟังคำชี้แจง  แต่หลังประกาศแล้วขั้นตอนก็เดินไปตามระบบไม่น่ายาก เพราะได้บทเรียนจากกระทรวงพาณิชย์ เพราะหากได้ข้อสรุปแล้วรัฐมนตรี ปลัด ยิ่งลงนามช้าเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีผลเสียทางการเมือง เป็นพิรุธ  ​

หมอวรงค์ มองว่า จากเส้นทางที่กำลังเดินหน้าทั้งคดีอาญาและการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง เชื่อว่าสุดท้ายต้องได้เห็นคนติดคุก และยึดทรัพย์ พูดได้แค่นี้ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าชี้นำคดี

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลา 2 ปีตั้งแต่รัฐประหาร ในฐานะที่รับฟังมาทั้งสองฝ่าย บางฝ่ายก็ว่าช้า บางฝ่ายก็ว่าเร็วนั้น ส่วนตัวเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนไม่จำเป็นต้องไปเร่งรีบ เพราะเขาต้องมีกระบวนการทำงานที่ต้องอธิบายทุกภาคส่วนได้ ที่จะต้องแฟร์พอ

“ตัวผมยังต้องมาชี้แจงในพรรคที่มีบางคนถามว่าทำไมช้าจัง เราก็บอกเขาทำงานตลอดนะ ที่ผ่านมาในส่วนที่เกี่ยวข้องเชิญผมไปเป็นพยาน  ​ตั้งแต่ ป.ป.ช.​ชุดตรวจข้อเท็จจริงของ จิรชัย มูลทองโร่ย  ไปจนถึงอัยการเขามีกระบวนการของเขา บางคนถามผมว่าเอาจริงหรือเปล่า ผมก็ตอบว่าเขาเอาจริง เวลาไปชี้แจงทุกชุดจะเห็นว่า ​มุมต่างๆ ที่เขาถามเรา ซักถามลึก มีการเตรียมข้อมูล เพื่ออธิบายสังคมได้”​

ส่วนที่มีบางฝ่ายออกมาค่อนขอว่าช้าเพราะฮั้วหรือจะมีการแอบไปต่อรองอะไรกันหรือเปล่า​นั้น หมอวรงค์​ กล่าวว่า ต้องให้เวลาเขาทำงานหากรีบไปรวบรัดตัดตอนก็จะมีปัญหาในอนาคต แต่เชื่อว่าใครก่อกรรมอะไรไว้ ก็ต้องได้รับสิ่งนั้น ถ้าคุณทำในสิ่งทุจริต วันนี้ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนี้

ที่สำคัญเรื่องนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ฝ่ายราชการที่จะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลของคดีนี้ ฝ่ายพ่อค้า ผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ฝ่ายการเมืองเอง ก็ต้องเตือนสติว่าแผนดำเนินการนโยบาย ต้องเป็นประโยชน์​ คิดให้ดี ไม่ใช่เอาแต่คะแนนนิยม แล้วทำให้ประเทศเสียหาย แม้แต่พวกเราประชาธิปัตย์​ต้องไม่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

“จะเห็นว่าแม้แต่เกษตรกรเอง ที่เคยได้ประโยชน์ช่วงปีสองปีแรก แต่หลังจากนั้นก็ต้องมารับผลกระทบ สินค้าเกษตรล้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ข้าวเกวียนละ 1 หมื่นบาท จะกลายเป็น 1.5 หมื่นบาท ต่อให้เป็นเทวดาก็บริหารจัดการไม่ได้”

แต่หลังจากนั้นต่อไป สุดท้ายประเทศต้องเดินไปข้างหน้ามีนักการเมือง มีระบบราชการที่รองรับนโยบายของพรรคการเมือง และนักการเมือง ดังนั้น คิดว่าก็ต้องเรียกร้องทุกส่วนทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง เอาประเทศ เป็นตัวตั้งเดินไปข้างหน้าให้ได้

“อย่าคิดนโยบาย เพียงเพื่อประโยชน์ ปีสองปี แล้วประเทศต้องมาจมกับความเสียหายประเทศ เรามีลูกหลานอยู่ในประเทศนี้ต่อไป ต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง ถ้าประเทศเดินได้ ทุกคนก็ไปได้ ต่อไปนี้ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาทะเลาะกัน  แม้แต่เพื่อไทยทำอะไรดี ผมก็ไม่ว่า ทำไปเลย”​

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว ​สร้างอุทาหรณ์ไว้เยอะมากกับทุกภาคส่วน การเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มธุรกิจตามชุมชน ต่างจังหวัด และเกษตรกร ทุกคนได้รับบทเรียน ที่ทำให้ประเทศมาจมตรงนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีกับทุกคน ​

“จากนี้โครงการจำนำข้าวคงเกิดยาก  ยกเว้นจำนำแบบตามหลักเกณฑ์ ไม่สูงกว่าราคาตลาด และจำนำในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อดึงสภาพคล่องออกมา” 

"มหากาพย์จำนำข้าว" อุทาหรณ์ทุกภาคส่วน

อยู่บนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน

เรียกได้ว่าเป็นคนแรกๆ ที่เกาะติดเรื่องจำนำข้าว และยังเป็นไม่กี่คนที่ยังกัดไม่ปล่อยกับโครงการจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศหลายแสนล้านบาท

หมอวรงค์ ออกตัวว่า ไม่คิดว่าจะต้องตามเรื่องนี้มานานขนาดนี้ จุดเริ่มต้นมาจากที่เขาคิดว่าสิ่งที่เขากระทำผิด ปล่อยให้เกิดการทุจริต ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่มีการยอมรับข้อเท็จจริง ​จนช่วงหลายปี

ที่ผ่านมาประเทศเราเสียหายจริง บังเอิญส่วนตัวเข้าใจเรื่องนี้มากคนหนึ่ง อะไรไม่ถูกต้อง ก็ต้องชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง

ทั้งนี้ แม้บางอย่างควรเป็นหน้าที่ของทีมโฆษกรัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทีมโฆษกของแต่ละกระทรวง แต่บางอย่างไม่ทันใจ ทางการเมืองนี่ชักช้าแล้วเสียเปรียบ อะไรที่คิดว่าช่วยได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมให้สังคมเข้าใจข้อเท็จจริงก็ ช่วยสังคม

หมอวรงค์ อธิบายว่า เริ่มสนใจเรื่องจำนำข้าวมาตั้งแต่ปี 2554   ก่อนหน้านั้นเคยเกาะติดเรื่องประกันรายได้ของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2552-2553 ได้ข้อมูลมาเยอะ เห็นว่าจำนำข้าวมีปัญหาอะไรบ้าง ทำให้ช่วงหาเสียงก็จะเป็นคนไปขึ้นเวทีดีเบตเรื่องนโยบายจำนำข้าว

“​ส่วนตัวชอบยืนอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่ชอบเห็นใครมาบิดเบือน”

“เท้าความเรื่องนี้ผมต่อสู้กับเขาตั้งแต่เชิงนโยบาย สู้กันตั้งแต่หาเสียง แถลงนโยบาย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตั้งกระทู้ ​จนจบ ไปสู่ศาล ป.ป.ช. อัยการ ศาล คดีละเมิดทางแพ่ง”

“ต่อมาในช่วงของขั้นตอนละเมิดทางแพ่งต้องมีการลงนามคดีจีทูจี มีสายในกระทรวงบอกว่ายังไม่ลงนาม ผมก็ต้องออกมากระทุ้งต่อสาธารณะ เราต้องการเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง ยึดผลประโยชน์ประเทศ​เป็นหลัก ไม่ต้องการให้ประเทศมาจมในสิ่งที่เสียหายมากมาย เรามายืนตรงนี้ก็ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด”

หมอวรงค์ บอกว่า จะเห็นว่านโยบายจำนำข้าวอาจจะเห็นผลดีอยู่ปีสองปีแต่หลังจากนั้นก็ต้องทุกข์​ และทุกข์มาเรื่อยๆ พองบประมาณหมดตามที่เขาลิมิตเงินไว้ 5 แสนล้านบาท  จากนั้นก็ไม่มีเงินจ่ายชาวนา เกิดปัญหายาวเรื่อยมา ชาวนาต้องฆ่าตัวตาย นี่จึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประเทศ

ล่าสุด กับการออกมาตรา 44  เพื่อให้กรมบังคับคดีดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายแทนกระทรวงพาณิชย์นั้น ​ก็มีการออกมากล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งถือเป็นความจงใจบิดเบือนทางการเมือง เพราะการใช้ มาตรา 44 ยึดทรัพย์นั้น ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ 

เพียงแค่ในขั้นตอนที่ 5 นั้น มาตรา 44  ให้กรมบังคับคดี ทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์ มาตรา 44 ไม่ได้บิดเบือนกระบวนการ ทุกอย่างยังเดินไปตามมาตรการกระบวนการปกติ ไม่มีผลต่อรูปคดี อีกทั้งสิทธิการต่อสู้ก็ยังมีอยู่ตามกระบวนการ​  คือการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง

ส่วนเหตุผลที่ให้กรมบังคับคดีทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์นั้น เพราะคดีนี้เงินเป็นหมื่นล้านต่างจากคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาอย่างมากก็เป็นเงินหลักหมื่นแสนบ้าน แต่นี่เป็นเงินหมื่นล้านบาท น่าจะให้มืออาชีพที่ชำนาญเรื่องนี้มาจัดการก็ฟังดูสมเหตุสมผล

“ถ้ามาตรา 44 ไปแทรกแซงการทำงานผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะผมก็เรียกร้องมาตลอดว่า ไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 44 ไปชี้เป็นชี้ตายต่อรูปคดี แต่ตรงนี้เขาไม่ได้เอามาตรา 44 มาใช้แทรกรูปคดี  ​ทางคดียังเดินตาม พ.ร.บ.​รับผิดทางละเมิด ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย”​

หมอวรงค์  อธิบายว่า กรมบังคับคดีมีประสบการณ์​ เพราะตั้งกรมขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงยังทำงานได้เพราะเป็นกรณีที่เงินน้อยแต่นี่เป็นหมื่นๆ ล้าน การให้กรมบังคับคดีซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อบังคับคดี ทำแทน กระทรวงพาณิชย์ก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ ​

ส่วนตัว​ดูการ​ประกาศมาตรา 44 มาให้กรมบังคับคดีเป็นคนดำเนินการนั้น ก็เป็นไปเพราะ​ต้องการตั้งให้ครบองค์ประกอบกรณีถ้าเขาไม่อุทธรณ์ก็ให้กรมบังคับคดีดำเนินการ  แต่เขาต้องอุทธรณ์อยู่แล้ว และนี่ก็ประกาศอยู่แล้วว่าจะอุทธรณ์ตรงนี้จึงไม่มีความหมายอะไร

ดังนั้น สุดท้ายกรมบังคับคดีก็ต้องทำตามอำนาจศาล  คำสั่งที่ออกมาก็ดูเหมือนจะทำให้ได้ใจประชาชน ​สั่งให้มืออาชีพจัดการ แต่เข้าไปทำอะไรหรือไหม ก็ไม่ใช่ ​เพราะเมื่ออุทธรณ์​แล้วก็อยู่ที่คำสั่งศาลว่าจะให้ยึดอายัด ซึ่งกรมบังคับคดีก็จะไปทำตามอำนาจศาล

"มหากาพย์จำนำข้าว" อุทาหรณ์ทุกภาคส่วน

ต้องปั้นเด็กรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีทำนา

จากที่คร่ำหวอดในแวดวงข้าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์  มองเห็นปัญหาที่สำคัญคือ ในวงจรค้าข้าวคนอื่นรวยหมด ​ยกเว้นชาวนาคนปลูกข้าวที่ยังจนอยู่คนเดียว ขณะที่โรงสี ร้านขายข้าวถุง โรงงานผลิต คนส่งออกรวยหมด

10 ปีบนถนนการเมือง หมอวรงค์ เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของชาวนายังไม่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนตัวมองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ชาวนารวยได้คือต้องไม่ให้ชาวนาขายข้าวแค่ข้าวเปลือกเหมือนเดิม

ทั้งนี้ ต้องทำให้ชาวนาสามารถรวมกลุ่ม และใช้ฐานจากโรงสีชุมชนหรืออะไรก็แล้วแต่ พร้อมทำเป็นสินค้าพรีเมียม เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องใช้สารเคมี ที่ยังจะช่วยทำให้ประหยัดขึ้น เราต้องทำให้เขามีการทำธุรกิจด้วยไม่ใช่ปลูกอย่างเดียว ต้องทำทั้งสีข้าวและแพ็กขาย

อีกด้านหนึ่งต้องให้รัฐไปอุดหนุนเขา เหมือนแต่ก่อนที่ให้ข้าราชการต้องไปซื้อน้ำมันจาก ปตท. ทุกวันนี้หน่วยงานราชการใช้ข้าวเยอะมาก ก็ไม่ต้องให้เขาไปซื้อข้าวจากโรงสี หรือตามห้าง เพราะเรามีทั้งโอท็อป มีวิสาหกิจชุมชน อยู่ในหมู่บ้านเยอะอยู่แล้ว

“เอาแค่โรงพยาบาล โรงเรียน ค่ายทหาร ราชทัณฑ์ ก็ต้องกินข้าวทุกวัน หรือการประชุม ครม. ทุกวันอังคารก็หาข้าวไปจัดให้ ครม. วันนี้ขึ้นป้ายข้าวจากหมู่บ้านนี้ อาทิตย์​นี้ข้าวหมู่บ้านผม ข้าวบ้านเสาหิน  เป็นข้าวกล้องอินทรีย์ ก็กระตุ้นไปเรื่อยๆ ให้ทางจังหวัดช่วยทำ” 

สิ่งที่รัฐต้องเข้าไปช่วยคือเรื่องการตลาดที่เขาไม่เก่ง อย่างการปลูกข้าวปลอดสารพิษ รัฐต้องไปช่วยเรื่องตลาด โลจิสติกส์  เพราะในแง่การปลูกเขามีขีดความสามารถเขาทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อทำแล้วไม่มีใครไปช่วยเขา เราอาจทำให้เขาสีข้าวได้ แพ็กขายได้  และต้องหาทางช่วยเขารณรงค์ให้ส่วนราชการซื้อข้าวเกษตรกรโดยตรง 

หมอวรงค์ มองว่า ในระยะยาว การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ ทั้ังทีเรามีพวกวิทยาลัยการเกษตรเยอะ แต่เราต้องไปให้คำปรึกษาและมีแนวทางสนับสนุนที่ชัดเจน ให้นักศึกษาที่จบออกไปแล้วอยากเป็นเกษตรกรไม่ใช่จบออกไปเป็นเซลส์ขายยา ขายเครื่องมือเกษตร

“ถ้าเราไปสร้างเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา​สายเกษตรจบออกไปอยากเป็นเจ้าของฟาร์ม ใครถนัดสายไหนไปสายนั้น ปลูกพืชทำนา มีการวางแผนให้ พอเด็กรุ่นนี้จบออกไปก็มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำนา แล้วก็จะมีอำนาจต่อรองเยอะเพราะมีความรู้ ไม่เหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ทำตามฟ้าดินรอฝน”

นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่เคยไปทำงานที่อิสราเอล เป็นคนงานของเราที่ไปทำการเกษตรที่โน่นเยอะมาก เป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี 5-10 ปี แต่กลับไม่มีการส่งเสริมคนกลุ่มนี้ให้แหล่งเงิน หรือสนับสนุนให้เขาได้ใช้ประสบการณ์ที่มีไปทำการเกษตรจริงที่ทำได้เลย ทั้งระบบน้ำหยดหรืออื่นๆ

ในแง่การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ไม่ควรจะใช้วิธีการจำนำข้าวเหมือนเดิม เพราะถึงจะเห็นผลเร็วแต่ก็เป็นเพียงแค่ 2 ปี และนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ อย่างปัจจุบันราคาก็ลดลงมาอย่างข้าว 15%  ราคาเหลือประมาณตันละ 8,000- 9,000 บาท ข้าวชาวบ้านที่ไปขายถูกหักความชื้นก็จะเหลือ 6,000 กว่าบาท

ยิ่งปัจจุบันเรายังมีข้าวที่เก็บอยู่ในสต๊อกอีกเยอะ ยิ่งกดราคาข้าวในตลาด ไหนจะยังมีต้นทุนที่ชาวนาต้องจ่ายเพิ่มคือพวกปัจจัยการผลิตทั้งหลายที่เคยขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้วราคาไม่ลงตามราคาข้าว ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง โชคดีที่ราคาน้ำมันยังลดลง แต่ก่อนค่าเช่าที่ปลูกข้าวไร่ละ 500 บาท พอมีจำนำข้าวก็เพิ่มไปไล่ละ 1,000 บาท ตอนนี้ลดเหลือ 700-800 บาท ก็ยังกระทบกับชาวนา

หมอวรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของข้าวในสต๊อกปัจจุบันนั้น แค่ลำพัง ค่าเช่าสต๊อกโกดังเก็บข้าว ปีหนึ่งก็ปาเข้าไปปีละหมื่นกว่าล้านบาท ตอนนี้ไม่ชัวร์ว่าตัวเลขเหลือเท่าไหร่ แม้จะมีการระบายออกเป็นระยะ  แต่ไม่ได้ติดตามละเอียดเหมือนเมื่อก่อน

ยังไม่รวมกับข้าวที่เริ่มเสื่อมสภาพไปบางส่วน จะต้องนำไปขายเป็นข้าวเสื่อมสภาพเพื่อไปทำเอทานอล แม้รัฐบาลจะพยายามเร่งระบายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชาวนาทำนาตลอดปี ดังนั้น ถ้าช่วงเก็บเกี่ยวแล้วรัฐเอาข้าวออกมาขายก็จะยิ่งซ้ำเติมราคาตลาดที่มีของล้นอยู่แล้ว

“สินค้าเกษตรออกมาพร้อมกันเป็นซีซั่นแค่นี้ก็แย่อยู่แล้ว  ถ้ารัฐบาลเอาข้าวในสต๊อกออกมาขายตลอด ก็ยิ่งเป็นปัญหา จึงต้องชะลอการ​ขาย ซึ่งหลักการบริหารจัดการเป็นอย่างนั้น ก็ต้องยอม แต่ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย ที่จะไปซื้อข้าวมาเก็บไว้ น่าจะทำตามกลไกตลาด ไม่ทุบตลาดจากรายใหญ่  แต่ควรใช้วิธีที่เมื่อชาวนาขายข้าวไม่ได้ตามเป้าหมายราคาก็ควรจะไปช่วยเขา”

หมอวรงค์ มองว่า การระบายต้องมียุทธศาสตร์​ในการระบาย อย่างข้าวหอมมะลิกำลังออก ดังนั้นก็ไม่ควรไประบายข้าวหอมมะลิ เพราะจะยิ่งไปทุบตลาด หรือข้าวเจ้าออกก็ไม่ควรไประบายข้าวเจ้า แต่หลักการต้องมีการระบายเกิดขึ้น แต่บางช่วงก็ต้องหยุด

"มหากาพย์จำนำข้าว" อุทาหรณ์ทุกภาคส่วน

ในภาพรวมราคาสินค้าเกษตรยังแย่ ยังไงรัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเขา ส่วนตัวเห็นว่าวิธีที่ดีคือใช้การประกันรายได้เหมือนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำไว้ที่เป็นแนวคิดที่ใช้ได้ คือให้ชาวนาขายของตัวเอง เพียงแต่ส่วนรายได้ที่ต่ำกว่าราคาที่คิดว่าชาวนาจะอยู่ได้ก็ชดเชย ตรงนี้แฟร์ดี ไม่ต้องไปยุ่งกับการซื้อ การเก็บ การสี แค่หาเงินไปช่วยให้เขาอยู่ได้

สมมติราคาขายที่ชาวนาจะอยู่ได้คือ ตันละ 1 หมื่นบาท แต่ขายได้ 8,000 บาท ก็จะไปชดเชยในส่วนของ 2,000 บาท แต่ว่ามันอยู่ที่ีต้องกำหนดกรอบว่าเราจะช่วยกี่ตัน 20 ตัน 30 ตัน

“ยิ่งช่วยน้อยคนที่ได้ประโยชน์คือคนจนเพราะมีที่นาน้อยไม่เหมือนนายทุนที่มีที่นามากผลผลิตมาก และต้องกำหนดวงเงินงบประมาณ อย่างตอนรัฐบาลประชาธิปัตย์ทำประกันรายได้ 1 ปี สินค้าเกษตร 3 อย่างใช้งบเพียงปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท ที่เงินถึงเกษตรกร”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะต้องเผชิญก็คือในช่วงที่สินค้าเกษตรกำลังจะออก อย่างมันสำปะหลังจะออกมาในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. บางส่วนขุดมาก่อนก็เริ่มเห็นราคาตก ขณะที่ข้าวตอนนี้เริ่มประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้หลังน้ำท่วมราคาอาจขยับขึ้นหน่อย แต่ก็ต้องหาทางเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม

“ในระยะเปลี่ยนผ่าน เราจะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามราคาตลาดเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องหามาตรการช่วยเหลือที่ทำด้วยความโปร่งใสและในปริมาณเงินที่เหมาะสมรับได้ ส่วนถ้ามีการทุจริต เอื้อให้เกิดการทุจริตตรงนี้รับไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมารับได้ แต่ต้องทำในวงเงินพอดีๆ”

หมอวรงค์ บอกว่า การระบายข้าวในสต๊อกตอนนี้ จากการที่ตรวจสอบกับคนในวงการค้าข้าวเห็นว่าโปร่งใสขึ้น การเปิดประมูลเท่าที่ตามข่าวก็มีการประกาศออกมาเรื่อยๆ และจากการตรวจสอบ คนในวงการก็ยอมรับได้ในหลักการและความโปร่งใส ที่เปิดให้ทุกคน และก็มีราคาขั้นต่ำที่หากต่ำกว่าที่กำหนดเขาก็ไม่ขาย ตอนนี้เท่าที่เช็กยังปกติ ถ้าไม่ปกติ ไม่โปร่งใสจะมีข้อมูลไหลมาเยอะ

แน่นอนข้าวในสต๊อกต้องมีผลกระทบกับราคาตลาด เป็นไปตามหลักของการตลาดดีมานด์ซัพพลาย เรามีข้าวเก็บอยู่ 17-18 ล้านตัน เมื่อเห็นว่าคนขาย เจ้านี้มีของเยอะมากจนขายไม่ทัน เมื่อคนซื้อเขาไม่มีความเร่งรีบในการซื้อ ราคาก็ตกต่อเนื่อง

ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีปัญหา ตอนนี้ราคาก็ยังไม่ดี ข้าวในสต๊อกเราก็เหลือเยอะ ราคาสินค้าทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง ก็ยังตกต่ำ แต่เห็นว่าทางกระทรวงพาณิชย์เชิญผู้เกี่ยวข้องหาทางแก้ไข