posttoday

รับน้องโหดต้องลงโทษให้เข็ด ถึงเวลาปฏิรูปมรดกความรุนแรง

13 กันยายน 2559

หลังเดือน มิ.ย.ของทุกปี มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดภาคเรียนแรก ท่ามกลางบรรยากาศกิจกรรมรับน้องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นตามมา

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

หลังเดือน มิ.ย.ของทุกปี มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดภาคเรียนแรก ท่ามกลางบรรยากาศกิจกรรมรับน้องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นตามมา

ทุกปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งเวียนประกาศ สกอ. เรื่องการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษาไปยังทุกสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับของ สกอ. ให้กำหนดมาตรการในการจัดกิจกรรมนี้อย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความรุนแรงและห้ามล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งทางร่างกายและหรือจิตใจ ต้องอยู่ในความรับผิดชอบ กำกับดูแลของผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรทุกคณะ/ภาควิชา และนิสิตนักศึกษารุ่นพี่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักศึกษาใหม่เป็นสำคัญ

แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อห้าม เป็นหลักปฏิบัติที่เป็นเหมือนเสือกระดาษ ที่มหาวิทยาลัยบางแห่งยังแสร้งมองไม่เห็น แทบทุกปีมีภาพหรือคลิปการรับน้องที่ไม่ได้ใส่ใจในข้อปฏิบัติที่ระบุไว้ ปรากฏให้เห็นหลายสถาบันยังจัดกิจกรรมรับน้องแบบเดิมๆ อย่างเหนียวแน่น เพราะยึดถือระบบโซตัส (Sotus) หรือระบบหนึ่งของการฝึกนักศึกษาใหม่ที่ประยุกต์มาจากการฝึกทหาร จนกลายเป็นกิจกรรมลับๆ ที่ตกทอดจากนักศึกษารุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โดยปกติแล้วประเพณีการรับน้องขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละสถาบัน ด้านบวกหรือด้านดีของกิจกรรมนี้ คือ เป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้น้องใหม่หรือนักศึกษาใหม่ปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ได้ง่ายขึ้น แต่การตีความที่เลยเถิด เพราะเคยชินกับวัฒนธรรมเชิงอำนาจ นำสถานะความเป็นรุ่นพี่มาบังคับฝืนใจน้องให้ร่วมกิจกรรม ก็มักจะเข้ามาบิดเบือนเจตนาที่ดี

อนุชาติ กล่าวว่า การรับน้องเกินเลยไปจากเจตนาที่ดี มีวัฒนธรรมเชิงอำนาจเข้ามา วัฒนธรรมอื่นๆ ที่แฝงเร้นอยู่ก็ตามมาด้วย เช่น ได้ทราบจากนักศึกษามาว่า บางสถาบันมี “ระบบโต๊ะ” ที่เอื้อให้มีการเรียกเก็บเงินน้องใหม่จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยตัวเลขที่สูงทีเดียว อ้างว่าเพื่อนำไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เรื่องนี้จะเป็นประเพณีต่อเนื่อง ที่กลายเป็นภาระของเด็ก โดยมีระบบเพื่อนที่ผ่านการรับน้องมาด้วยกัน ทำให้ไม่มีใครกล้าทัดทานหรือเข้าไปห้ามกิจกรรมทำนองนี้

เกรียงศักดิ์ โชควรกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัยภูมิ และอุปนายกสมาคมพนักงานในสถาบันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมรับน้องควรถูกนิยามใหม่ โดยต้องยอมรับ แม้จะเป็นกิจกรรมที่ดี แต่กิจกรรมนี้ก็มีส่วนผสมที่บางสถาบันการศึกษาสอดแทรกความรุนแรงไว้ เพื่อให้น้องจดจำรุ่นพี่ได้ตลอดไป

“กิจกรรมในระบบโซตัสที่ประยุกต์มาจากการฝึกทหาร เมื่อมาอยู่ในมือของผู้ที่ยังอ่อนวัยวุฒิมีอายุมากกว่า น้องเพียงแค่ปีสองปีนั้นกลายเป็นความรุนแรง ที่ไร้ความรับผิดชอบได้ง่าย เพราะผู้ใช้เข้าใจว่าสิ่งที่ทำกับน้องจะสร้างความประทับใจได้ เมื่อรุ่นน้องเติบโตขึ้นเป็นรุ่นพี่ เรื่องนี้ก็ถูกส่งต่อไปพร้อมกับโอกาสที่เป็นเหมือนการแก้แค้นกับน้องรุ่นต่อมา น้องใหม่ส่วนใหญ่ที่ร่วมการรับน้องจนสิ้นสุดกิจกรรม ก็จะรู้ได้ทันทีว่าตัวเองเหมือนผ่านการทดสอบและได้สิทธิในการนำไปปฏิบัติกับน้องใหม่ปีต่อไป เป็นเหมือนมรดกตกทอดถึงกัน จึงไม่มีการร้องเรียน กรณีที่ถูกทำเกินเลยไปบ้าง แนวคิดนี้ถูกบ่มเพาะจนกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่เกิดเป็นข่าวน่าสลด ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการจัดขึ้น” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มรภ.ชัยภูมิ กล่าว

เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า  ถึงเวลาที่จะปฏิรูปเรื่องนี้เสียที แต่บังคับด้วยกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องปลายทาง มหาวิทยาลัยควรมีรายละเอียดในกิจกรรมนี้มากกว่านี้ ควรนิยามการรับน้องใหม่ไม่ให้มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นปกติทุกมหาวิทยาลัยทั่วโลก ต้องทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการรับน้องที่ดีจะเป็นเรื่องที่ถูกส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นได้เช่นกัน

ข้อไหนที่เข้าข่ายเอาผิด

การพูดให้คนใดคนหนึ่งเป็นที่ดูหมิ่นเกลียดชังหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 2 หมื่นบาท ตามมาตรา 326 ของประมวลกฎหมายอาญา การลงมือทำร้ายถึงขั้นเลือดตกยางออก บวมเขียวช้ำ อาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ปรับสูงสุด 4,000 บาท ในมาตรา 295

การบังคับจิตใจ ผู้อื่นให้ฝืนใจทำบางอย่างที่ไม่ได้มีความเต็มใจ แต่ต้องทำเพราะถูกบังคับโดยการใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน อาจเป็นความผิดฐานข่มขู่ อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท มาตรา 309 แม้แต่เรื่องการกักบริเวณไม่ยอมให้ผู้อื่นกลับบ้าน เป็นความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท ตามมาตรา 310

การลงมือทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น ต้องนอน โรงพยาบาลเกิน 20 วัน หรือจิตพิการอย่างติดตัว อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี มาตรา 297 การลงมือทำร้ายบุคคลอื่นจนถึงแก่ความตาย อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี มาตรา 290 ทั้งหมดเป็นกฎหมายที่เข้าข่ายกระทำความผิด ผู้เสียหายหรือนักศึกษาที่ถูกกระทำสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย