posttoday

ดันโมเดลเศรษฐกิจดับไฟใต้

09 กันยายน 2559

“การแก้ปัญหาภาคใต้ ถ้าจะเก็บกู้ระเบิดบนท้องถนน ปัญหาจะไม่มีวันหมด แต่ต้องเก็บกู้ระเบิดจากหัวใจคนก่อน” คำกล่าวตอนหนึ่งของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

“การแก้ปัญหาภาคใต้ ถ้าจะเก็บกู้ระเบิดบนท้องถนน ปัญหาจะไม่มีวันหมด แต่ต้องเก็บกู้ระเบิดจากหัวใจคนก่อน” คำกล่าวตอนหนึ่งของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร (รอง ผอ.ศปป. 5 กอ.รมน.) บนเวทีเสวนาเรื่อง โมเดลเศรษฐกิจ : ดับไฟใต้ ที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้น

โมเดลเศรษฐกิจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุย หลังจากที่รัฐบาลเดินหน้ายุทธศาสตร์แก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ให้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ในฐานะคนในพื้นที่ ศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี มองว่า การทำงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน และเมื่อคุยกันควรแยกกันทำงานให้เกิดการแก้ปัญหา การดำเนินการที่ผ่านมาหอการค้าภาคใต้พยายามแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด แนวคิดสามเหลี่ยมภาคใต้ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้า เป็นแนวคิดที่ทุกภาคส่วนร่วมกันคิดขึ้น เพื่อต้องการทำให้เศรษฐกิจภาคใต้มั่นคง เพราะสินค้าหลักในพื้นที่ คือ ประมง ยางพารา และปาล์ม

ส่วนการดึงนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ศิริชัยมองว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนจีนสนใจมาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโต ต้องการขยายตัว ฉะนั้นการที่นักลงทุนต่างชาติ หรือพื้นที่อื่นจะเข้ามา นักลงทุนในพื้นที่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้คนจากที่อื่นมาร่วมลงทุน เพื่อทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เดินต่อไปได้

“วันนี้เราต้องแยกเรื่องความมั่นคงกับเศรษฐกิจออกจากกัน ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องปรับตัวเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจมากขึ้น เพราะถ้าคนในพื้นที่มั่นใจ ก็จะสร้างความมั่นให้คนต่างพื้นที่เข้ามาลงทุน และทำให้หลุดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ได้”

ขณะที่ ชินีเพ็ญ ศรีชัย นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความจริงใจ โปร่งใส ไม่สร้างความกังวล แต่ต้องสร้างความไว้วางใจกับพี่น้องในพื้นที่ โดยทำงานร่วมกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน สื่อมวลชนก็ควรมีบทบาทกลั่นกรองข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

ด้านการทำงานในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้องอบรมผู้ปฏิบัติงานให้สามารถสื่อสารภาษาถิ่น และการสลับเปลี่ยนกำลัง ควรขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นมากกว่า 6 เดือน เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจวิถีท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างสัมพันธ์เจ้าหน้าที่กับประชาชนชายแดนได้ดีขึ้น และทำให้การทำงานในพื้นที่สามารถขับเคลื่อนไปได้

ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ เล่าว่า ปัญหาและความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่เกิดขึ้นมาตั้งตั้งแต่ปี 2452 มีจุดเริ่มต้นมาจากความแตกแยกจากประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ศาสนาในพื้นที่ส่วนหนึ่ง ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีบางพื้นที่ เหตุการณ์ในปัจจุบันซึ่งเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมือง อาชาญากรรม แม้ที่ผ่านมา รัฐพยายามลงไปแก้ปัญหามาโดยตลอดจนปัญหาลดลงบางส่วน แต่ก็กำลังดำเนินการการต่อไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

“อีกนานกว่าปัญหาในภูมิภาคนี้จะจบ แต่ก็เชื่อว่าต่อไปสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น รัฐก็พยายามแก้ไข หยุดความเหลื่อมล้ำ เพื่อทำให้เห็นว่าการที่รัฐลงไปเพื่อช่วยเหลือ ไม่ใช่ไปเพื่อการยึดครอง ส่วนการทำงานทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเสมือนแสงสว่างในความมืด ซึ่งนำเรื่องถ้าเศรษฐกิจลงไป เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำจะถูกแก้ปัญหาได้” พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าว

ภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาสถิติความรุนแรงในพื้นที่ก็ลดลง การทำงานในพื้นที่ทุกหน่วยงาน ก็ช่วยกันลงไปพัฒนาในทุกด้านโดยดึงประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม หลังจากนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. พร้อมนำคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นมิติใหม่ มีการประกาศโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ และช่วงที่ผ่านมานักธุรกิจในพื้นที่ ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ถึงเวลาแล้วที่ เกษตร ประมง ปศุสัตว์ การท่องเที่ยว ฯลฯ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพควรมีการพัฒนาการลงทุน

“ขณะนี้มีการเตรียมพัฒนาด้านพลังงานในพื้นที่ รวมถึงปรับปรุงด่านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนจะมีการพูดคุยในเรื่องสะพานแห่งที่ 2 ที่ตากใบ และสุไหงโกลก การพัฒนารถไฟในพื้นที่ และด่านที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนเรื่องส่งเสริมการลงทุน ขณะนี้มีการร่างแผนไว้แล้ว จะเสนอให้ ครม. อนุมัติได้ภายในวันที่ 20 ก.ย.นี้  นอกจากนี้มีบริษัทลงทุนขนาดใหญ่ได้ติดต่อประสานเข้าแล้ว”

ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา มองว่า เรื่องที่เกิดในพื้นที่เป็นมายาทัศนคติ บางเรื่องก็ไม่จริง ขณะนี้ขบวนการผู้ก่อเหตุก็ควบคุมกันเองไม่ได้ จนทำให้เหตุที่เกิดขึ้นตอนนี้มีการขยายตัวออกมากขึ้น เกินที่จะควบคุม และอาจทำให้มีการฉวยโอกาสจากอีกฝ่าย ดังนั้นการแก้ไขต้องดูที่เหตุผล

“ตัวเลขสถิติสถานการณ์ที่ออกมาเชื่อไม่ได้ เพราะตัวเลขแต่ละหน่วยไม่ตรงกัน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และถ้าถามว่าสถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ คิดว่าเป็นเรื่องที่ประเมินยาก เพราะการทำงานในพื้นที่มีหลายเรื่องที่เหมือนแยกจากกัน เห็นได้จากการค้าขายขนาดเล็กในพื้นที่ดี แต่การลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ยังน้อยอยู่ ส่วนตัวเชื่อว่าความรุนแรงถ้าลดมายาคติลง สื่อไม่ช่วยขยายความบริบทความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็อาจช่วยลดสถานการณ์ลงได้”

12 ปีที่ไฟใต้ยังลุกโชน หลากหลายแนวทางต่างถูกหยิบยกมาใช้แก้ปัญหา นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในครั้งนี้ ด้านหนึ่งก่อความหวัง แต่ในระยะยาวยังต้องรอดูต่อไปว่า การยกระดับเศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ จะเป็นการเก็บกู้ระเบิดออกจากหัวใจคนในพื้นที่ได้จริงหรือไม่