posttoday

สภาทนายความ ต้องไม่มีสี

04 กันยายน 2559

"คนที่ประสบปัญหาทางกฎหมายที่ไม่มีที่พึ่ง สูญเสียชีวิต​ ร่างกาย ทรัพย์สิน บางคนไม่มีฐานะ ​เพราะคนมีฐานะสามารถไปว่าจ้างทนายความ แต่คนจนบางคนไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินจ้างทนาย ตรงนี้สภาทนายความต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชน"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

จากแนวคิดเรื่องพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ Power of Change ที่หยิบยกมาเป็นนโยบายหาเสียงส่งผลให้รอบนี้ ดร.ถวัลย์ รุยาพร เบียดเอาชนะแชมป์เก่า 2 สมัยอย่าง เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ไปแบบขาดลอยด้วยคะแนนเสียง 7,630 ต่อ 5,014 เสียง ครองตำแหน่งนายกสภาทนายความคนล่าสุด

จากประสบการณ์ทนายความร่วม 38 ปี เคยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารสภาทนายความ 2 สมัย นอกจากทำหน้าที่ทนายความแล้วยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือในหลายมหาวิทยาลัย และนี่เป็นครั้งแรกที่ได้รับเลือกเป็นนายกสภาทนายความหลังจากลงแข่งขันมาแล้ว 4 สมัย

ดร.ถวัลย์ เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ โดยอธิบายเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ ว่า จะทำให้สภาทนายความเป็นองค์กรหลักช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาด้านกฎหมายและต้องการที่พึ่ง ให้เขาสามารถมาสภาทนายความด้วยความมั่นใจว่าเราจะช่วยเขาได้

ทั้งนี้ จากประสบการณ์เราจะเห็นคนที่ประสบปัญหาทางกฎหมายที่ไม่มีที่พึ่ง สูญเสียชีวิต​ ร่างกาย ทรัพย์สิน บางคนไม่มีฐานะ ​เพราะคนมีฐานะสามารถไปว่าจ้างทนายความ แต่คนจนบางคนไม่มีเงินประกันตัว ไม่มีเงินจ้างทนาย ตรงนี้สภาทนายความต้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้จะมีการทำงานไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากคนที่ได้รับความเดือดร้อนมีเยอะ หลายคนยังเข้าไม่ถึง ตรงนี้สภาทนายความต้องจัดโครงการเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชน​ให้เขาทราบว่าเราช่วยเขาได้

“ผมเคยเป็นกรรมการช่วยเหลือประชาชนของสภาทนายความ ช่วงนั้นคดีวิสามัญฆาตกรรมฯ คดีหม่อมลูกปลา ​ที่เป็นเรื่องโด่งดัง แต่ระยะหลังงานแบบนี้เริ่มเงียบไป​ ดังนั้นต้องผลักดันสร้างการปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนให้ชาวบ้านมาสภาทนายความ”​

ดร.ถวัลย์ กล่าวถึงกรณีการคิดค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปของทนายความบางแห่ง ว่า ทนายความเป็นอาชีพอิสระ การทำสัญญาจ้างการว่าความก็เป็นอิสระ แต่การเรียกค่าว่าความอาจจะไม่เป็นธรรมกับบางคนเป็นเรื่องที่สองฝ่ายตกลงกัน ทำให้มีแนวคิดว่าควรจะทำหลักเกณฑ์เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนไปเลย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มี

“ทนายความเขาก็ต้องการ สิ่งเหล่านี้จะได้รู้ว่า คนหนึ่งเรียกสองพัน คนหนึ่งเรียกหมื่นหนึ่ง คนหนึ่งเรียกแสนหนึ่ง ทั้งที่คดีลักษณะใกล้เคียงกันก็เป็นไปได้ เพราะเราไม่มีหลักเกณฑ์อะไร ชาวบ้านบางคนจ้างทนายคดีแค่แบบนี้เขาอาจเรียกเป็นแสน เขาอาจจะไม่เข้าใจ ต้องเผยแพร่ความเข้าใจให้เขา จัดแนวทางให้เขา แนวทางของศาล เรียกว่าแนวทางพิจารณาคดี แนวทางตัดสิน แต่จะให้กำหนดตายตัวก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจระหว่างคู่สัญญาด้วยกันด้วย”

ดร.ถวัลย์ กล่าวว่า การกำหนดค่าจ้างว่าความควรจะทำให้เป็นมาตรฐาน เพราะทนายความไม่เหมือนหมอที่พอเดินเข้าคลินิกก็ต้องรู้แล้วว่าต้องเตรียมสตางค์อย่างน้อยก็ต้องมีพันหนึ่ง แต่ถ้ามาหาทนายความไม่ต้องเสียตังค์ก็ได้ ทนายความจึงไม่ได้มีฐานะทุกคน​ ดังนั้นจึงควรทำให้มีสวัสดิการ เพราะเป็นอาชีพอิสระ

อย่างเมืองนอกเขารู้กันชัดเจนว่า ถ้าไปหาทนายความจะเสียค่าใช้จ่ายชั่วโมงละเท่าไหร่ก็ว่าไป คุยเสร็จก็วางบิลจ่ายตังค์ เมืองไทยก็ทำได้แค่บางสำนักงานแต่น้อยมาก

นายกสภาทนายความคนใหม่ อธิบายต่อถึงแผนที่จะสร้างสภาทนายความให้เป็นที่พึ่งประชาชน ว่า จะต้องประชาสัมพันธ์ เพราะมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ มี 2 แบบ ต้องสร้างให้ชาวบ้านเข้าใจว่าทนายความเป็นที่พึ่งเขาได้ ไม่ใช่เอาเปรียบเขา ต้องพัฒนาตรงนี้ ปฏิรูปตรงนี้

“สมัยก่อนคนมองทนายความเอารัดเอาเปรียบบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นจากโครงการช่วยเหลือประชาชนที่จัดการเข้าไปช่วยเหลือคนที่ยากจน ซึ่งเรามีหลักเกณฑ์​ คือ จะต้องยากไร้ และไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาโดยเฉพาะ ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องเข้าไปปรับปรุงให้​เป็นที่พึ่งประชาชนได้”

ดร.ถวัลย์ อธิบายว่า ทุกวันนี้ทางสภาทนายความมีเครือข่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศที่คอยช่วยเหลือประชาชน ​แต่ยังต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น แต่ก็ต้องระวัง เพราะถ้าสภาทนายความไปดำเนินการทำเองทั้งหมด ทนายอาชีพก็จะไม่มีงานทำ ดังนั้นจึงกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจน เช่น การออกโครงการช่วยเหลือคนยากไร้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ส่วนเรื่องการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายนั้น​ให้คำปรึกษาได้หมด หรือเผยแพร่ความรู้นั้นทำได้หมด ไม่ว่ารวยหรือจน​

ทั้งนี้ สิ่งที่คิดไว้ คือ การออกไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงโครงการช่วยเหลือให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น จากการที่มีศูนย์​พร้อมครบทุกจังหวัด ​แต่ยังต้องดูว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน มีงบจำกัดหรือไม่ เพราะทำทั่วประเทศและจำนวนประชาชนเดือดร้อนมีมาก และประชาชนไม่ได้มีเงินจ้างทนายความทุกคน 

ในแง่การควบคุมดูแลการทำงานของทนายความซึ่งขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทั่วประเทศมีจำนวน 6.5-7 หมื่นคน​ ในจำนวนนี้ว่าความจริงๆ ประมาณ ​2 หมื่นคน ซึ่งทนายความทุกคนต้องเป็นสมาชิก จดทะเบียนกับสภาทนายความ ทางสภาทนายความก็มีสำนักงานคณะกรรมการมารยาทขึ้นมาดูแลเรื่องการทำงานโดยเฉพาะ

ที่ผ่านมา ก็มีการร้องเรียนพิจารณาความผิดหลายเรื่องหลายกรณี ทั้งทุจริตเรื่องเงิน ไม่ทำงานให้ตามที่รับงานมา หรือทอดทิ้งคดี รวมทั้งเรื่อง มารยาทต่อศาล มารยาทต่อทนายความด้วยกัน​ ซึ่งชาวบ้านที่ประสบปัญหาสามารถเข้าไปร้องได้เลย ส่วนการพิจารณาความผิดและการลงโทษก็ว่ากันไปตามกระบวนการ มีทั้งภาคทัณฑ์​และลบชื่อออก

สำหรับสิ่งหาเสียงไว้นั้นและต้องทำมีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการคัดค้านและการดำเนินการถอนร่าง พ.ร.บ.ทนายความ ฉบับเปิดเสรีทนายความต่างด้าว เพราะอาชีพบริการทางกฎหมาย หรืออรรถคดี เป็นอาชีพสงวน ​​หากเปิดให้ทนายความต่างชาติเข้ามาทำงานก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานทนายความไทย 

สิ่งที่​จะกระทบ คือ หนึ่ง เราพร้อมต่อสู้ไหม ทั้งด้านวิชาชีพกฎหมาย ด้านทุน เราต้องเข้าใจพื้นฐานสำนักงานทนายความเมืองไทย โดยเฉพาะเรื่องทุนเราสู้ไม่ได้นะ เฉพาะเมืองใหญ่ ​ภูเก็ต พัทยา สมุย ทนายไทยทำให้คนต่างชาติทั้งหมด แต่ถ้าเปิดเสรีเมื่อไหร่ ต่างชาติก็ใช้นักกฎหมายของเขา ​​ 

อีกนโยบายคือการทบทวนกฎหมายที่มีผลกระทบต่อทนายความและประชาชน อาทิ กฎหมายวิธีพิจารณา คดีเยาวชนและครอบครัว จากเดิมที่มีการกำหนดให้คดีที่เกี่ยวกับเยาวชนต้องมีที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งไม่เรียกว่าทนาย โดยจะต้องไปสอบอบรมมีใบอนุญาตอีกใบ และทนายไม่เห็นด้วย เพราะทนายกว่า 5-6 หมื่นคน จะเสียสิทธิว่าความจากเดิมที่สามารถว่าความได้ทุกคดี

ต่อด้วยการทบทวนกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการห้ามฎีกาที่เพิ่งประกาศออกใช้ กำหนดให้คดีแพ่งไม่สามารถฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด หากจะฎีกาต้องขออนุญาตศาลฎีกา ซึ่ง​ชาวบ้านอยากให้ต่อสู้คดีให้ถึงชั้นฎีกา ​เช่นเดียวกับทางทนายก็อยากสู้ให้ถึงที่สุด

ในแง่สวัสดิการของทนายความก็จะต้องปรับปรุง เพราะอาชีพทนายความเป็นอิสระ จะต้องเพิ่มสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล ​หลายคนต้องพึ่งตัวเองกรณีเจ็บป่ว​ย ถ้าไม่มีประกันสังคมก็ไม่มีสิทธิ

ขณะที่เรื่องวิชาการด้านกฎหมายก็จะเผยแพร่ให้ความรู้โดยเฉพาะกฎหมายใหม่ที่ออกมา 100 ฉบับ และกำลังจะออกอีกกว่า 100 ฉบับ ต้องเผยแพร่ให้ทนายความและประชาชนได้รับทราบ ​เพราะกฎหมายใครจะไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่ทำยังไงจะรู้ได้ ก็ต้องให้องค์กรไปเผยแพร่ความรู้ ซึ่งเรายังอ่อนตรงนี้ ก็จะไปผลักดันโครงการ​ สัมมนา ช่วยเหลือทางด้านคดีด้วย

รวมทั้งเรื่องกระบวนการตรวจสอบภายในสภาทนายความเอง ที่จะต้องมีระบบตรวจสอบกันเอง จากเดิมที่ไม่เคยมี จึงคิดว่า​ควรต้องตั้งเป็นองค์กรอิสระ​เข้ามาตรวจสอบประเมินผล หรือหาคนกลาง ​​เบื้องต้นก็ตรวจสอบ การใช้เงิน ตรวจสอบผู้บริหาร

เนื่องจากปัจจุบันสภาทนายความมีงบประมาณเพิ่มมากขึ้นตกประมาณปีละ 100 ล้านบาท รายได้ส่วนหนึ่งมาจากที่สภาทนายความเปิดอบรม คิดค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 3,000 บาท​ รุ่นหนึ่งประมาณ 1 หมื่นคน ​ประมาณ 30 ล้านบาท/รุ่น และปีหนึ่งจัดอบรมเป็น 3 รุ่น ยังไม่รวมกับรายได้อื่นๆ

ถามถึงปรากฏการณ์ที่ทนายความจับกลุ่มรวมตัวกันเองเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเลือกข้างเลือกสีจะเข้าไปควบคุมดูแลหรือไม่ ดร.ถวัลย์ กล่าวว่า เป็นความคิดส่วนตัวของเขา แต่ละคนใครชอบอะไร อย่างไร ก็ว่ากันไป แต่องค์กรสภาต้องรวบรวมทุกกลุ่มทั้งหมด เพราะเป็นทนายเหมือนกันหมด

ทั้งนี้ ​ต้องพยายามหาทางทำให้เกิดการพูดคุย เกิดความสามัคคี​ ทนายความด้วยกันต้องเข้าใจกัน ​อยากให้อยู่ร่วมกัน ส่วนความคิดเราห้ามไม่ได้ใครจะคิดยังไง แต่​เราพยายามให้รวมกันให้ได้ ไม่อยากให้มีสีอะไร​

“สภาทนายความต้องเป็นศูนย์รวมช่วยทุกฝ่าย ​ตัวสภาทนายความเองต้องเป็นหลัก อย่าไปเอนเอียงช่วยฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ไม่ได้ เขาถึงจะกล้าเข้ามาทั้งสองฝ่าย ถ้าไปช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก อีกฝ่ายเขาก็กลัวไม่กล้าเข้ามา ต้องทำให้เป็นศูนย์กลาง ข้างไหนก็มาเข้าสภาฯ ช่วยทั้งหมด

​คุณจะอยู่ข้างไหน ก็มาสภาฯ ได้หมด ต้องช่วยทั้งหมด ผมจะปรับตรงนี้ ใครจะมาสภาฯ ก็ช่วยทั้งนั้น ไม่เลือกฝ่าย จะทำสภาฯ ให้เป็นกลางทางการเมืองมากที่สุด ผมเองก็คิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ส่วนตัวก็ไม่ได้อยู่ข้างไหนอยู่แล้ว ยืนยันได้เลย ไม่ได้เป็นฝักฝ่ายสีนั้นสีนี้ จากประวัติผม ถ้าศึกษาดูก็รู้” ​

“ที่ชนะเลือกตั้งมาก็ไม่มีการเมืองมาช่วย ไม่มีเลย ยืนยันได้ แต่รายการที่ประชาสัมพันธ์ก็ไปทุกที่ เพราะการหาเสียงไปหมด พบทุกฝ่าย ปกติเขาไม่ชอบเรา เราก็ต้องไปหาเขา คิดยังไงก็ต้องไปหา”​ ดร.ถวัลย์​ กล่าว

สภาทนายความ ต้องไม่มีสี

พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

ดร.ถวัลย์ วิเคราะห์คะแนนที่ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกทนายความทั่วประเทศแบบท่วมท้น จากรอบที่แล้วเคยพลาดเก้าอี้ไปแบบเฉียดฉิวด้วยคะแนน 5,053 คะแนน ต่อ 5,555 คะแนน ก่อนจะพลิกมาชนะเที่ยวนี้ด้วยคะแนน 7,630 คะแนน ต่อ 5,014 คะแนน ส่วนหนึ่งเพราะทนายความออกมาใช้สิทธิมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 2,000 คน ​

​อีกประเด็นสำคัญ คือ​ เรื่องนโยบาย Power of Change หรือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเพราะแนวความคิดทนายความรู้สึกว่าอยากมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูป เข้าใจว่าพี่น้องทนายความทั่วประเทศมีความคิดตรงกัน ว่าอยากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่บริหารมา 10 กว่าปี ​

อีกเรื่องคือประเด็นการคัดค้านการเปิดให้ทนายความต่างชาติเข้ามาเป็นทนายในประเทศไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของทนายไทยในอนาคตอย่างกว้างขวาง

ดร.ถวัลย์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มหาเสียงมาได้ประมาณ 1 ปี โดยใช้วิธีเดินทางไปพบกับทนายความทั่วประเทศ เพราะการเลือกตั้งสภาทนายความนั้นเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จึงต้องไปพบกับสมาชิกทั่วประเทศทั้งหมด โดยอาศัยไม่มีทุนมากมาย ไปแจกใบปลิว ไปพูดคุยกับเขา

“ผมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่มีจังหวัดไหนที่ผมไม่ได้ไป ที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเขาเข้าใจ ผมไปพูดกับเขาทุกจังหวัด รับรู้ปัญหาเขา ว่ามีปัญหาอะไร เหนือสุด ​แม่ฮ่องสอนก็ไป ที่แม่ฮ่องสอนก็ชนะ ​มีคนมาลงคะแนนทั้งหมด 6 คน ​บึงกาฬ 20 กว่าคน หรือสตูลก็ไป อำนาจเจริญก็ไปหลายรอบ

​เราไปพบเขา รับฟังปัญหาเขา เราทำได้แค่นั้น เพราะการเลือกตั้งของทนาย ให้อิสระทุกอย่าง ไม่มีหลักเกณฑ์ห้าม เพราะถือว่าเป็นทนาย มีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง จะไปซื้อเสียงก็ไม่มีผล ไปจัดเลี้ยงก็ไม่มีผลกับทนายหรอก เล่าให้ฟังเลย สมัยก่อนโน้น ไปจัดเลี้ยงเขาอย่างนี้ เขาไม่เลือกเลย แจกอะไรก็ไม่เลือก”​

ถามถึงผลงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ มีหลายเรื่องใหญ่ๆ ดร.ถวัลย์ เล่าให้ฟังว่า เคยทำคดีเรื่องรถหายที่ไปจอดที่ห้างสรรพสินค้าแล้วห้างสรรพสินค้าไม่รับผิดชอบ จนนำไปสู่การฟ้องร้องกัน สุดท้ายก็สู้คดีจนชนะ ห้างสรรพสินค้าต้องรับผิดชอบค่าเสียหายและกลายเป็นบรรทัดฐานนับจากนั้นเป็นต้นมา

“​ตอนนั้นตัดสินไปฟ้องห้างห้างหนึ่งที่ลูกค้าเอารถไปจอด รับบัตรจอดรถมา เมื่อก่อนแนวทางไม่ใช่แบบนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ​ก็ต่อสู้กันจนศาลพิพากษาเห็นเป็นคดีละเมิด เอาหลักคุ้มครองผู้บริโภคมาจับ เมื่อคุณรับฝากก็ต้องดูแลเขา เป็นสิทธิ เพราะผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการที่เขามาซื้อของ

​ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นแนวทาง จนต่อมาห้างสรรพสินค้าเปลี่ยนจากการรับบัตรเป็นการติดกล้องวงจรปิด ไม่ต้องรับบัตร ​แต่ถึงรถหายก็ยังต้องรับผิด​ เพราะไม่ตีเป็นเรื่องการฝากทรัพย์  แต่ตีเป็นเรื่องการละเมิด ดังนั้นจะรับบัตรไม่รับบัตรไม่มีผล ไปใช้บริการห้าง เขาต้องดูแล ศาลฎีกาตัดสินตามมา เรื่องใช้กล้องแล้วรถหาย ห้างก็ยังต้องรับผิดชอบ” ดร.ถวัลย์ กล่าว​

เพิ่มโทษแรง ไม่ใช่การแก้ปัญหาเสมอไป

ในฐานะที่คร่ำหวอดในแวดวงทนายความมาหลายปี ดร.ถวัลย์ มองถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้ว่า ​บ้านเราใช้ระบบการกล่าวหาในคดีอาญา การที่จะกล่าวหาใคร ทางตำรวจก็ต้องทำหลักฐานสำนวน และต้องให้สิทธิเขาต่อสู้เต็มที่ ผิดก็ต้องว่าตามผิด ​จำเลยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ คนถูกจับก็ต้องประกันตัว หาหลักประกัน แต่ใครไม่มีหลักประกันก็ต้องติดคุก บางคนถูกขังอยู่ตั้ง 4-5 ปี ก็มายกฟ้อง 

ดังนั้น ต้องผลักดันโครงการช่วยเหลือคนกระทำผิด เบื้องต้นเราอาจจะไม่รู้หรอกว่าเขาผิดหรือไม่ผิด แต่ก็ต้องช่วยเขาตามหลักกฎหมาย กฎหมายคุ้มครองว่าอย่างไร ระบบกระบวนการยุติธรรม เวลานี้ทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังทำในหลายประเด็นที่จะต้องปฏิรูปทุกฝ่ายทั้งทนายความและทุกองค์กร

“ต้องปรับนะ เพราะอยู่ในสายทนายความจะเห็นผู้ต้องหา หรือจำเลยบางคน ขาดสิทธิหลายๆ อย่าง เช่น กระทรวงมาช่วยเรื่องประกันตัวบางคนแล้ว จะมีกี่คนที่มีหลักทรัพย์ประกันตัว โครงการตรงนี้ทำให้เขามีอิสระพอสมควร ต้องให้สิทธิ จำเลย ผู้ต้องหา มากขึ้น มีโอกาสได้ต่อสู้ จะผิดหรือไม่ต้องให้สู้เต็มที่”

ดร.ถวัลย์ ยกตัวอย่างว่า ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีหลายคดีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น คดีเชอรี่แอน บางทีกว่าจะรู้ก็ตอนเขาตายไปแล้ว ​​เราใช้ระบบการกล่าวหา กระบวนการหลักฐานต้องแน่น พยานต้องมีน้ำหนัก เมื่อก่อนใช้การชี้ตัว ให้แท็กซี่ไปชี้ตัวก็เคยผิดตัว​

ปรากฏการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดี ตั้งแต่กระบวนการชั้นต้น พนักงานสอบสวน ผู้จับกุม ผู้สอบสวน อีกทั้งการใช้วิธีการชี้ตัวเหมือนบอกว่าจำเลยผิดไปแล้ว แต่ก็เป็นวิธีของตำรวจเขา ดังนั้นกระบวนการต้นน้ำ ต้องแก้ไข จะเห็นว่า สปท.มีแนวคิดจะปฏิรูป แต่ยังทำไม่สำเร็จ คือให้คนจับกุมเป็นคนหนึ่ง คนสอบสวนเป็นอีกคนหนึ่ง ​แต่ก็เป็นแนวคิดที่ไม่สำเร็จ ​

นอกจากนี้ แม้กฎหมายดี ผู้ปฏิบัติไม่ดี ก็มีปัญหา ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติ เพราะกฎหมายอยู่ที่คนใช้ ทุกองค์กร ​ทั้งตำรวจ ทนาย ​ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม เกิดประโยชน์ ​

ส่วนที่หลายคนค่อนขอดกระบวนการยุติธรรมว่า คนรวยไม่เคยติดคุก มีแต่คนจนที่ติดคุกนั้น ดร.ถวัลย์ กล่าวว่า คนรวยก็มีสิทธิจ้างทนายที่มีฝีมือ มีสิทธิทำอะไรเต็มที่ แต่คนจนไม่มีอะไรเลย ​จึงต้องมีโครงการช่วยเหลือคนจนที่มีปัญหาทางกฎหมาย คนมีฐานะเขามีวิธีเอาตัวรอด เขาสามารถหาคนมาช่วยเขาได้

อย่างไรก็ตาม ​ถ้าทำให้เกิดความเป็นธรรมก็ไม่มีปัญหา คนจนหรือคนรวยได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งกลไกบังคับที่ต้องแก้ไขให้มีการตรวจสอบ ​อย่างสื่อมวลชนมาดูช่วยตรวจสอบก็ช่วยได้มาก รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชา ก็ต้องช่วยกัน เพราะเขาฟังกันอยู่แล้วโดยระบบ

นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมที่เห็นว่าน่าจะพัฒนา ก็อย่างเช่นเทคนิคการสืบพยานทางวิดีโอบางศาล เช่น ศาลล้มละลายเริ่มใช้ จากเดิมที่ใช้การจด ถาม ตอบ ​ถ้าทำได้หรือมีงบประมาณ หันมาอัดวิดีโอ การสืบพยานไม่ต้องคอยจด ก็จะเป็นประโยชน์ ถึงเวลาใครอยากได้ก็มาถอดเทป สิ่งเหล่านี้เมื่อไปสู่ศาลสูงก็จะได้เห็นอากัปกิริยา ไม่ใช่แต่เดิมที่เห็นแต่ที่เขียนไป​ แต่นี่จะทำให้เห็นหน้าตา ​ท่าทาง พยานให้การยังไง ลักษณะพิรุธ จริงไม่จริง

สภาทนายความ ต้องไม่มีสี

ดร.ถวัลย์​ กล่าวว่า ในส่วนของการเรียนการสอนทนายความนี้ ทุกวันนี้มีคนเรียนเป็นจำนวนมากแต่สอบผ่านน้อย ก็ต้องพัฒนาระบบการเรียนการสอบ ไม่ใช่ว่ายากแล้วจะดี ยากแล้วเด็กออกมาตกเยอะก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ต้องมีคุณภาพ ​จบออกมาต้องมีคุณภาพ ทำงานได้ อันนี้สำคัญกว่า

“สมัยผมจบปริญญาตรีออกมาก็จดทะเบียนทนาย​ได้เลย สามารถทำงานเป็นทนายความมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ว่าจบแล้วจะทำงานได้เลย ต้องฝึก ต้องมีประสบการณ์ ต้องอดทนกว่าจะมาเป็นทนายความ การสอบเป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้น แต่ทำไงให้เขาประกอบอาชีพได้

ที่สำคัญคือแนวคิดจะปรับปรุง การฝึกการสอบ หากนักเรียนสอบตกเยอะต้องโทษอาจารย์ ไม่โทษเด็ก ผมสอนหนังสือกว่าสิบแห่ง หลายที่ระบบการสอบของทนายความจริงๆ เด็กไม่น่าตกเยอะ ถ้าสร้างระบบดีๆ เพราะเด็กรับเป็นหมื่น มาเรียนถึงพันหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเขาอยู่ยะลา เชียงราย จะมาเรียนได้ไง อบรม 90 ชม.ใช้เวลาเกือบเดือนจะเอาเงินมาจากไหน เป็นเห็นผลหนึ่งว่าทำไมถึงสอบตกเยอะ

​นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ​คนที่เรียนด้านกฎหมายเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้อง ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ สามารถไปทำธนาคาร ตำรวจ ทหารก็มี​กฎหมายเป็นอาชีพ ถ้าประเทศไทยระดับหนึ่ง แต่ต่างประเทศถืออันดับหนึ่งเพราะเขาทำระบบของเขาจนคนเชื่อถือ ต้องสู้คนเป็นนักกฎหมาย ไม่มีเงินเดือน บุกเบิกตั้งแต่แรกหนักกว่าเพื่อน แต่ถ้าอดทนก็ประสบความสำเร็จ เลี้ยงตัวได้

ส่วนเรื่องปรากฏการณ์เด็กเแว้นนั้นต้องหามาตรการออกมาแก้ปัญหาเพิ่ม ต้องฝากหลายหน่วยงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเอาผิดผู้ปกครองหรือเรื่องอื่น แม้จะมองว่าเด็กเป็นเด็ก แต่เด็กก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม​ ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญต้องเข้ามาควบคุมดูแล จะอ้างว่าดูแล
ไม่ได้ ไม่ได้

“การลงโทษแรงไม่ใช่ตัวแก้ปัญหาเสมอไป เพราะลงโทษแรงยังไงคนก็ทำผิด ต้องหาแนวทางวิธีการอื่นมาก่อน​​ ไม่ว่าจะ​เป็น​การจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้คนเหล่านี้ หรือจะไปเรียกพ่อแม่ผู้ปกครองมาอบรมก็อาจได้ประโยชน์มากกว่า เพราะการลงโทษหนักคนไม่กลัวหรอกหรือกลัวแค่พักเดียว ​แต่ต้องหามาตรการอื่นๆ มาร่วมแก้ไข​ ​ถามว่าประหารชีวิต ตอนนี้คนกลัวไหม เขาไม่กลัว เขาไม่รู้ ถึงจะรู้ก็ไม่สนใจ ต้องหามาตรการอื่น ไม่ใช่เพิ่มโทษอย่างเดียว ​ประเทศอื่นโทษหนัก​ก็ยังมีคนทำผิด”

ดร.ถวัลย์ ​กล่าวว่า ไม่ใช่เพิ่มโทษหนักแล้วคนไม่ทำผิด ในส่วนของโทษที่เหมาะสมก็ว่ากันไป แต่ควรมีมาตรการอื่นมากกว่านั้น มากกว่าเพิ่มโทษอย่างเดียว เพราะโทษหนักสุดคนก็ยังทำผิด มาตรการอื่นที่ว่า ก็เช่น​ให้คนรู้กฎหมายก่อน รู้การกระทำผิด ทำไมผิด ให้เขารู้ก่อนไม่ใช่รู้เมื่อผิดแล้ว ต้องให้เขารู้ก่อนที่จะทำ ว่า​สิ่งที่คุณทำเป็นอะไร โทษเป็นอย่างไร ​

อย่างน้อยเหมือนโครงการปรามก่อนที่จะทำ กรณีเด็กแว้น ก็เรียกมาอบรมก่อน กลุ่มไหนเป็นเด็กแว้นก็รู้อยู่แล้ว ก็ทำโครงการดักเสียก่อน อย่าปล่อยให้เขาทำผิดแล้วมาจับลงโทษเขา เพราะเขาก็ทำตลอด โทษหนักไม่หยุด ต้องมีมาตรการ เช่น เรียกมาคุยก่อน ฟื้นความรู้บ่อยๆ

“ความรู้สึกเด็กๆ บางครั้งอยาก​ทำดี ไม่ดี เป็นความคิดของเด็กจะทำอย่างงี้ ต้องให้เขาคิดก่อน อีกหน่อยจะสอบรับราชการไม่ได้นะ ถ้าคุณมีคดี คุณจะมาเสียใจ รับราชการไม่ได้ ติดประวัติแล้วก็จะมาเสียดายว่าสมัยวัยรุ่นเต็มที่ไปหน่อย​​ ต้องให้เขารู้ตรงนี้ ​จะคิดแต่วันนี้ไม่ได้ ต้องคิดไปวันข้างหน้า”

นายกสภาทนายความ มองไปถึงเสียงเรียกร้องให้โทษข่มขืนเท่ากับการประหารชีวิตว่า เป็นแนวคิดที่หลายคนคิดว่าการเพิ่มโทษเกิดประโยชน์ได้ก็ดี แต่ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า การเพิ่มโทษอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดผล เพื่อนบ้านเราประหารอย่างเดียวก็ยังเกิดดังนั้น ต้องแก้ตัวอื่นด้วย

ในส่วนของกฎหมายทารุณสัตว์ ที่เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น ​การแก้ปัญหาต้องทำให้พอดีเรื่องการคุ้มครองสัตว์ก็ดี ​แต่ต้องมีมาตรการดูแลสัตว์ด้วย​ ไม่ใช้คุ้มครองแต่ไม่ดูแลเลย ต้องมีมาตรการควบคุม ส่วนจะออกมาตรการทำนองดูแลตรงไหน ทำทะเบียนไว้หรือไม่ ตรงนี้เข้าใจว่าหวังดี ​​