posttoday

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง"

31 สิงหาคม 2559

เรื่องราวของนักศึกษาสาวพิการหัวใจแกร่ง เจ้าของตำแหน่งเรียนเก่งที่สุดในคณะวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชื่อของ “น้องแนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง” นักศึกษาหญิง ผู้พิการแขนและขา กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนทันที หลังสามารถคว้าเกรดเฉลี่ย 3.67 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในระดับชั้นปี 3 สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) 

เรื่องราวของนักศึกษาสาวพิการผู้นี้ สะท้อนให้เห็นว่าความบกพร่องทางด้านร่างกายไม่ใช่อุปสรรคต่อการดำรงชีวิต "การศึกษา ความมุ่งมั่นแรงกล้า และหัวใจไม่คิดยอมแพ้ต่างหากคือกุญแจนำทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริง"

แม้พิการ แต่ไม่เคยดราม่า

แนน เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2538 ที่จังหวัดนครสวรรค์ หลังเรียนจบระดับชั้นอนุบาลที่สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ พ่อแม่ส่งเข้าเรียนระดับชั้นประถม 1-2 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้เธอสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร้ปัญหา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์อีกครั้งจนกระทั่ง ม.3

“ตอนถูกส่งไปอยู่ประจำที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ หนูร้องไห้ทุกวัน คิดถึงบ้าน ห่างพ่อ ห่างแม่ แต่ว่าไปแล้วที่นั่นเป็นเสมือนที่ปลูกฝังให้หนูรู้จักมองโลก มองสังคม ไม่ดราม่า นั่งเรียนกับเพื่อนที่เป็นออทิสติก มีพัฒนาการช้า ทำให้เราคิดได้ว่า มีอีกหลายคนที่ด้อยโอกาสกว่า หนูมีข้อจำกัดแค่ร่างกายเฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรต่อการเรียนรู้เลย”

แนน ยิ้มหวานเล่าว่า ชีวิตในห้องเรียนสนุกสนานตามประสาเด็กๆ ทั่วไป เพื่อนร่วมห้องทุกคนน่ารัก ไม่มีใครดูถูกเหยียดหยาม รังแกเธออย่างที่ใครๆคิด

“เพื่อนล้อน่ะมีอยู่แล้ว แต่หนูไม่เคยถึงขนาดร้องไห้ หรือเก็บเอามาสร้างปัญหา เวลาเพื่อนล้อหนูก็เอาคืน วิ่งไปตีเพื่อนบ้างอะไรบ้างปกติเหมือนเด็กทั่วไป ยิ่งสมัยอนุบาลนี่สนุกมาก ไปถึงห้องก็ถอดขาเทียมวิ่งเล่นกับเพื่อนประจำ” หญิงสาวหัวเราะร่า

แนนเริ่มวางเป้าหมายชีวิตครั้งแรกช่วงมัธยมปลายที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ จ.นครสวรรค์ โดยฝันอยากเป็นหมอ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากร่างกายไม่ผ่านคุณสมบัติหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

“เราตั้งใจเรียนสายวิทย์ – คณิต เพราะอยากเป็นหมอ หรืออาชีพอื่นๆ ในด้านการแพทย์ สุดท้ายเพิ่งรู้ว่าความพิการบกพร่องทางร่างกายของเราเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาแพทย์ ตอนนั้นก็เสียดาย เสียใจ ท้อไปพักหนึ่ง พอความฝันเราโดนล้ม ช่วงนั้นเป๋เลย อยากเป็นไปซะทุกอย่าง ทั้งนักธุรกิจ ไกด์ ตอนหลังตั้งหลักได้ กลับมานั่งถามตัวเองว่า ‘เราชอบอะไร’ จนคิดได้ว่าเราชอบคอมพิวเตอร์”

ต่อมาหลังเรียนจบม.6 แนนตระเวนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่ปัญหาคือ คุณพ่อไม่อยากให้ลูกสาวเรียนไกลบ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะตกระกำลำบาก สุดท้ายเธอก็ยกเหตุผลในการพัฒนาตัวเองให้คุณพ่อฟังจนได้เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ณ  วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ มศว.

“ใจหนูก็กลัวพ่อจะมัดมือชกให้เรียนใกล้บ้าน เลยบอกพ่ออย่างจริงจังเลยว่า ถ้าสอบติด มศว. พ่อห้ามค้านหนูนะ สุดท้ายก็สอบติด เลือกสาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์  เพราชอบคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว คิดว่าเราจะไปได้ดีในสาขานี้”

เธอคิดถูกว่าตัวเองไปได้ดีในเส้นทางนี้ การันตีจากรางวัลเกรดเฉลี่ยสูงสุดของสาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ ในระดับชั้นปี 3 ที่ 3.67 อันถือว่าสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง

“หนูว่ามันเป็นทางของหนู เรียนแล้วมันใช่ สังคมดี เพื่อนดี น้องดี วิชาเรียนไม่วิชาการจ๋า ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ต้องแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนเสมอ ส่วนใหญ่เน้นพวกธุรกิจและออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ค่อนข้างกว้างในอนาคต ส่วนความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ แรกๆ มีถนอมน้ำใจกันบ้าง เกรงใจ กลัวว่าเราไม่เหมือนคนอื่น กลัวเจ็บ แต่หลังๆ มันตบหัวหนูเลย” สาวน้อยกล่าวอย่างจริงใจพลางหัวเราะ

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง" ภาพจาก PRswu

ความรู้เปรียบดั่งอาวุธ

จุดแข็งของนักศึกษาพิการรายนี้คือ ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าเสมอ แทนการนั่งซึมเศร้าเหงาหงอยน้อยใจชะตาชีวิต

“หนูไม่เคยโดนดูถูกจังๆ ว่า อย่างเธอเป็นนั่นเป็นนี่ไม่ไหวหรอก แต่มันเป็นอารมณ์สงสารมากกว่า หลายคนมองว่าคนพิการไม่ต้องเรียนสูงหรอก จบ ม.6 ไปสมัครทำงานเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ก็พอแล้ว โหย เราได้ยินแล้วแบบ เฮ้ย..หนูต้องหยุดอยู่แค่ตรงนี้หรอ หนูว่าตัวเองมีดีกว่านั้นนะ เลยดิ้นรนที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้มากกว่านี้ หลายคนเข้าใจว่าคนพิการทำอะไรไม่ค่อยได้ หรือบางคนอยากให้หนูเรียนบัญชี จบมาได้นั่งอยู่ออฟฟิศ ไม่ต้องไปไหน ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่หนูไม่ชอบ” น้ำเสียงเธอหนักแน่น แววตาเด็ดเดี่ยว

แนนชอบท่องเที่ยวหรือค้นหาสิ่งใหม่ๆใส่สมองอยู่เสมอ แม้เป้าหมายตอนนี้ยังไม่ชัดเจน เธอยังลังเลว่าเมื่อจบปริญญาตรีจะเรียนต่อหรือทำงาน โดยมองว่าอาชีพในสายการเรียนของตัวเองสามารถต่อยอดไปได้กว้าง ตามแผนกเว็บไซต์ออนไลน์ที่กำลังเติบโตในธุรกิจทุกแขนง 

นอกจากเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแล้ว ปัจจุบันเธอยังทำงานพิเศษแลกทุนการศึกษาให้กับ โรงแรม สวูเทล (SWUTEL HOTEL) ของ ม.ศรีนคริทรวิโรฒ ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับด้วย

“หนูได้รับทุน แต่ไม่ใช่ให้เปล่า ให้เงินแล้วไม่ทำอะไร หนูช่วยงานคณะ ติดต่อประสานงานตามกิจกรรมต่างๆ คือให้ทำอะไรก็ทำ นอกจากนี้ทางมหาลัยเรามีโรงแรม ที่อยู่ในส่วนของคณะสังคมศาสตร์ด้วย ซึ่งเขาก็ยินดีให้ไปช่วยงานแบบพาร์ทไทม์ ในตำแหน่งรีเซฟชัน ถือว่าทำตอบแทนมหา’ลัยที่ให้ทุนการศึกษาเรา” 

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง"

สังคมไทยทุกคนต้องเท่าเทียม

มองผิวเผินชีวิตด้านการศึกษาและความสัมพันธ์ทางสังคมของแนนดูไร้ปัญหาน่ากังวล ต่างจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญกับความไม่เสมอภาคในเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

“ในเมืองไทย เอาแค่ฟุตบาท ยังไม่เรียบเลย อย่างหนูยังเดินง่าย ไม่ลำบากมาก แต่คนใช้วีลแชร์สิ ไปเจอเสาไฟฟ้า เจอป้ายโฆษณามันไปต่อไม่ได้ บางคนเลือกเสี่ยงลงไปบนถนน ก็เจอมอเตอร์ไซค์อีก เรื่องข้ามถนนเป็นอะไรที่น่ากลัวมาก หลายแห่งไม่มีสัญญาณไฟสำหรับคนข้าม ตัวอย่างหน้าม.หนู ไม่มีไฟข้าม รถวิ่งไวมาก เคยข้ามคนเดียว โหยยยย...ใจหายแว๊บ ไปยืนเกาะกลางที่มีแค่เส้นบางๆ รถวิ่งเฉียดไป เฉียดมา จะให้หนูถือธงข้ามก็คงไม่ได้”

เธอเล่าประสบการณ์การใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในกรุงเทพฯ ให้ฟังอีกด้วยว่า “ตอนนั้นหนูเดินมาไกลมากบนฟุตบาทที่ไม่มีความเรียบ พอถึงรถไฟฟ้าก็ก้าวขึ้นทางลาดเพื่อไปหาลิฟท์โดยสาร ปรากฎว่าลิฟท์ปิด หนูแบบ เฮ้ย เหนื่อย...”

สุดท้ายนี้ น้องแนนฝากข้อคิดไปยังทุกคนว่า หัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนมุมมองของคนทั่วไปที่มีต่อผู้พิการ คือ ต้องมองคนเป็นคน ให้ความเสมอภาคเพื่อโอกาสที่เท่าเทียม

“สำหรับหนู สิ่งที่เราเป็น ไม่ได้ทำให้เราเครียดเท่ากับสายตาที่คนอื่นมองมา หนูรู้สึกแย่กับสายตาที่มองเหมือนเราไม่ใช่คน เดินผ่านเรา เขามองตามแบบชะงักเลย เราแบบว่า เฮ้ย..มันต้องชะงักขนาดนั้นเลยหรือ คนนะไม่ใช่ผี ถึงแม้จะไม่ใช่สายตาที่ดูถูกดูแคลน แต่จะแปลกแยกอะไรขนาดนั้น ฟีลนั้นมันทำให้เรารู้สึกแย่ ทั้งที่จริงเราคิดว่าเหมือนคนอื่น คิดตั้งแต่แรกว่าเราเหมือนคนอื่น หนูว่าสายตาที่มองแบบนี้ต้องเปลี่ยนแปลงหรือหมดไป เด็กหลายคนชี้หน้าล้อคนพิการด้วยความไม่รู้ พ่อแม่ต้องบอกและตักเตือน สอนให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ อยากให้ทุกคนปรับเปลี่ยนความคิด ถึงจะพิการก็คนเหมือนกัน แตกต่างกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง”

ชีวิตและความคิดของแนน-ทิพภาวรรณคงมอบบทเรียนล้ำค่าให้กับใครหลายคน เห็นได้ชัดแล้วว่าเธอไม่ได้รู้สึกต้อยต่ำกว่าคนอื่น แต่มองเห็นคุณค่าในตัวเอง ดีกว่าจะจมปลักอยู่กับความทุกข์เพราะความบกพร่องภายนอกทางร่างกาย

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง"

 

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง"

 

เปิดใจนักศึกษาพิการหัวใจแกร่ง "แนน-ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง"