posttoday

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง

24 สิงหาคม 2559

เมื่อสถานประกอบการชูนโยบาย"จ้างแรงงานวัยเกษียณ" กู้วิกฤตสังคมผู้สูงอายุ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล  / ภาพ...ภัทรชัย ปรีชาพานิช, ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ความฝันวัยเกษียณของใครหลายคนคือ การได้พักผ่อนอยู่บ้าน เลี้ยงหลาน ปลูกต้นไม้ ทำงานอดิเรกยามว่าง เดินทางท่องเที่ยวอย่างสงบสุข ไร้กังวล หลังตรากตรำทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิต

ทว่าความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น คนจำนวนมากไม่มีเงินเก็บ บางคนมีไม่เพียงพอให้อุ่นใจ เนื่องจากต้องใช้หนี้ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ไหนจะค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไม่มีลูกหลานให้พึ่งพา ไม่มีสวัสดิการใดๆมารองรับ

ชีวิตช่วงบั้นปลายจึงกลายเป็นฝันร้ายอันน่าสะพรึง ...

"จ้างงานคนวัยเกษียณ" ฝันเป็นจริงของคนแก่(แต่ยังมีไฟ)

"ฮือฮา!เครือเซ็นทาราจัดตั้งนโยบายจ้างแรงงานวัยเกษียณ"

ข่าวกรอบเล็กๆบนหน้าหนังสือพิมพ์ ดึงดูดความสนใจบรรดาสถานประกอบการในภาคธุรกิจ นักวิชาการด้านแรงงานและผู้สูงอายุ ตลอดจนคุณลุงคุณป้าวัยใกล้หลักหก

ภัทรา จองเจริญกุลชัย รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เล่าว่า ปัจจุบันเครือเซ็นทารามีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือกว่า 70 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ การดูแลรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรจวบจนเกษียณอายุเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว และทำงานอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน มักจะมีความรู้ความชำนาญ มีประสบการณ์ชนิดหาตัวจับยาก เปรียบเสมือนทรัพยากรทรงคุณค่าที่มิอาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้  

"เรามีพนักงานที่จงรักภักดีทำงานด้วยกันตั้งแต่ยุคบุกเบิก คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ (ประธานกรรมการโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา) ท่านให้ความสำคัญกับพนักงานมาก หลายคนคุ้นเคยสนิทสนม พอเกษียณแล้วเลยขอทำงานต่อ เพราะผูกพัน เราก็เลือกคนทำงานดี ทำงานไหว และมีตำแหน่งว่าง ต่อมามีพนักงานใกล้จะเกษียณเยอะ บวกกับไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร คุณทศ จิราธิวัฒน์ (ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด) จึงประกาศว่า ใครยังมีแรง อยากทำต่อ ก็ให้รับเข้าทำงานทุกคน เพราะเสียเวลาหาคนใหม่ การรักษาคนเก่าที่จงรักภักดีเป็นเรื่องสำคัญกว่า"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง

ทุกวันนี้ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา มีพนักงานวัยเกษียณประมาณ 120 คน ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร หัวหน้าแผนก ยันพนักงานซักรีด ทำครัว ล้างจาน ช่างซ่อมบำรุง จองห้องพัก แม่บ้าน

"มีทั้งพนักงานที่จ้างต่อหลังอายุครบเกษียณ ทั้งรับคนที่เกษียณอายุจากที่อื่นมาทำใหม่ ก็จะตรวจสุขภาพ สัมภาษณ์ ประสบการณ์พวกนี้แน่นอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่าห่วง จุดเด่นของพนักงานสูงวัยคือ ขยัน อดทน มีวินัย ไม่งอแง ไม่เกเร ต่างจากเด็กรุ่นใหม่เวลาตำหนิอะไรนิดหน่อย พรุ่งนี้ลาป่วย ไม่มาทำงานเลย คนแก่อดทนกว่า อีโก้น้อยกว่า อาจมีช้าบ้างแต่ตั้งใจทำงาน ตรงนี้ไม่ถือเป็นอุปสรรค"

รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ทิ้งท้ายว่า น่าชื่นใจที่ภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มอ้าแขนรับคนวัยเกษียณกลับเข้ามาทำงาน ดีกว่าปล่อยให้นั่งเหม่อ ซึมเศร้าเหงาหงอยอยู่กับบ้าน การได้ทำงานจะทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง ประสบการณ์ของคนเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทมีประสิทธิภาพ ลดภาระสังคม กระตุ้นเศรษฐกิจ แถมยังพัฒนาประเทศชาติด้วย

"ขยัน อดทน ชั่วโมงบินสูง" ทีเด็ดของพนักงานสว.

ท่ามกลางความกังวลว่า หลังเกษียณไม่มีรายได้ จะเหี่ยวเฉา ซึมเศร้า ไร้ที่พึ่ง การอ้าแขนรับพนักงานสูงอายุเข้าทำงาน จึงไม่ต่างอะไรกับสายฝนอันชุ่มฉ่ำที่ตกลงมาบนผืนดินแห้งผาก ดลให้สรรพสิ่งกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ระจิต โภคสมบูรณ์กิจ วัย 62 คร่ำหวอดอยู่ในแผนกแม่บ้านโรงแรมมานานกว่า 30 ปีแล้ว

เริ่มจากเลขานุการอาวุโสหัวหน้าแม่บ้านที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกแม่บ้านโรงแรมโซลทวินทาวเวอร์ หัวหน้าแม่บ้านโรงแรมรอยัลปาร์ควิว โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สีลม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ และโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายแม่บ้าน โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

"จริงๆต้องเกษียณอายุตั้งแต่อายุ 55 ปีแล้ว แต่เขายืดเวลาให้ เพราะเรายังทำงานได้ดี  ยิ่งตอนนี้ทำสัญญาปีต่อปียิ่งต้องดูแลสุขภาพ สร้างผลงาน ห้ามเฉื่อย โชคดีที่งานโรงแรมมีตัวกระตุ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นแขก เวลา ความสะอาด ความเป็นระเบียบ อายุ 62 นี่เผลอๆแรงเยอะกว่าสาวๆอีกนะ (หัวเราะ) เพื่อนวัยเดียวกันเกษียณเกือบหมดแล้ว เจอกันทักประจำว่า 'เอ้า เขายังจ้างเธออยู่เหรอ' ก็เรายังสนุกอยู่ ถ้าให้กลับไปอยู่บ้านเฉยๆคงเฉาตาย ขนาดหยุดงาน 3-4 วันยังเซ็ง ไม่รู้จะทำอะไร กลัวเป็นโรคซึมเศร้า ตอนแรกวางแผนไว้ว่าถ้าสมัครงานไม่ได้ จะทำธุรกิจรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารกล่องขาย คิดแต่จะทำงานอยู่ตลอด เราไม่มีหนี้สินหรือเดือดร้อนเรื่องเงิน เพียงแต่ไม่อยากเอาเงินเก่ามานั่งกิน เพราะสักวันมันก็ต้องหมด"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง ระจิต โภคสมบูรณ์กิจ ขณะกำลังตรวจดูความเรียบร้อยภายในห้องพักโรงแรม

'คุณแม่ระจิต'ที่พนักงานรุ่นลูกเรียกกันติดปาก ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นหลังว่า

"อยากให้เก็บออมเงินไว้บ้าง วางแผนชีวิตยาวๆเลยว่าถ้าแก่ตัวไป อายุครบเกษียณจะต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะไม่ลำบาก เป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ใช้หมด สวัสดิการสังคมบ้านเรายังไม่ดี ดังนั้นถ้าหวังพึ่ง ไม่พอกินแน่นอน"

ประไพ ฤทธิยา วัย 72 หรือแม่ตุ๋ย พนักงานแผนกโรงครัวที่อายุมากที่สุดในโรงแรม เล่าว่า ทำงานตั้งแต่ยุคบุกเบิก ความสุขในวันนี้คือ ได้ทำอาหารให้พนักงานทุกคนทานอิ่มท้อง

"นโยบายนี้ดีมากๆค่ะ ทำให้คนแก่พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระให้ลูก รู้สึกสบายใจที่ยังมีงานให้ทำ และเป็นงานที่เราชอบ แถมยังได้เงินเดือน เพื่อนวัยเดียวกันพักผ่อนแล้ว แต่เรายังไม่อยากพักเพราะใจมันยังชอบ ที่นี่ผู้ใหญ่ใจดี เราก็คิดว่าจะทำจนกว่าจะทำไม่ไหว ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ว่าจะให้เราทำอีกนานแค่ไหน เรื่องเกษียณแล้วไม่มีเงินใช้น่ากลัวมากที่สุด อายุน้อยต้องรีบเก็บเงิน แก่ตัวมาจะรู้ว่าเงินมีค่า ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะแยะ แก่ตัวไปไม่มีเงิน ลูกหลานทอดทิ้ง ต้องเป็นภาระของสังคม"แม่ตุ๋ยให้พรลูกหลานไว้อย่างน่าคิด

ไพโรจน์ ขยายศรี พนักงานลายครามแผนกซักรีด อายุล่วงเข้าปีที่ 58 ปี แต่ยังแข็งแรงปานคนหนุ่ม

"ทำมานานก็ชำนิชำนาญเป็นธรรมดาครับ เอาประสบการณ์ตรงนี้ไปสอนเด็กๆต่อได้ด้วย"ไพโรจน์ว่าขณะพับผ้าด้วยทีท่าคล่องแคล่ว ก่อนบอกต่อ "ตอนนี้ผมยังต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว เลี้ยงลูกสาวม.3 ลูกยังเรียนไม่จบ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆครับ ชีวิตยังมีเรื่องให้ห่วงอยู่"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง ไพโรจน์ ขยายศรี พนักงานฝ่ายซักรีด วัย 59 ยังอยากทำงานต่อไปเพื่อหารายได้ส่งลูกเรียน

 

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง ประไพ ฤทธิยา หรือแม่ตุ๋ย พนักงานอายุมากที่สุดในโรงแรม กำลังปรุงอาหารอย่างมีความสุข


 "ผูกพันกันเหมือนครอบครัว"เคล็ดลับมัดใจลูกจ้าง

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ใครไปทานข้าวที่ศูนย์อาหารตลาดเสรีมาร์เก็ต ห้างพาราไดซ์ปาร์ค คงพบภาพน่ารักของกลุ่มแม่บ้านรุ่นคุณป้า (หรืออาจจะคุณย่าคุณยาย) ในชุดไทย กำลังเข็นรถเก็บถ้วยชาม ทำความสะอาดโต๊ะ ด้วยสีหน้าแช่มชื่น

"เคยมีลูกค้าบอกว่า แม่บ้านที่นี่ถึงจะมีอายุ แต่ก็ดูแข็งแรงกว่าหนุ่มสาวหลายคน ปลื้มใจค่ะที่เขาชม"ประทีป  ขวัญอ่อน แม่บ้านวัย 59 ยิ้มปลาบปลื้ม

กันยพัชร์ สุขะธนประเสริฐ วัย 58 และ องอาจ วังสิงห์ วัย 53 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บอกอย่างภาคภูมิใจเป็นเสียงเดียวว่า พนักงานสว.ทุกคนที่นี่อยู่ด้วยกันมานานเกือบ 30 ปี ผูกพันเหมือนครอบครัว ทุกวันที่มาทำงานจึงเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน และ...บางวันก็ฮา

"สิ่งที่ทำให้เรายังมีไฟคือ ลูกๆให้กำลังใจ ผู้บริหารก็ดีกับเราทุกอย่าง หัวหน้าก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี ทุกคนช่วยกัน ประคับประคองกันไป"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง พนักงานสว.แห่งตลาดเสรีมาร์เก็ต พาราไดซ์ปาร์ค เก็บถ้วยจานชามอย่างกระฉับกระเฉง

สาลี่ สุขีมิตร แม่บ้านวัยเฉียดหกสิบ บอกว่า กระฉับกระเฉงตั้งแต่ตื่นขึ้นมาแต่งตัวไปทำงานแล้ว

"วันไหนจำเป็นต้องหยุด วันนั้นจะเบื่อโดยอัตโนมัติ งานแม่บ้านเหนื่อย หนัก หาคนทำยาก หนุ่มๆสาวๆบางคนทำวันเดียวลงไปนั่งกับพื้นเลย แต่เราไหว สบายมาก"

ศิลป์ ชัยเดช 59 ปี บอกว่า ดีใจที่มีนโยบายแบบนี้ ถ้าสถานประกอบการทุกแห่งมีเหมือนกันจะดีมาก คนแก่จะได้มีกำลังใจทำงานต่อไป

"ดูผมสิ ทีแรกพอใกล้จะ 60 ต้องถูกปลด ใจมันเหี่ยว แต่พอเขาจะต่อสัญญาให้ ทุกอย่างก็สว่างไสว กำลังใจมาทันที" เจ้าของร่างกำยำสง่าสมวัยหัวเราะในลำคอ

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง นุ่งชุดไทย เข็นรถเก็บขยะตั้งแต่เช้าจรดเย็น ความขยันไม่แพ้สาวๆ

รัชนี ศรีวะรมย์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ตลาดเสรีมาร์เก็ต เผยว่า ปัจจุบันตลาดเสรีมาร์เก็ต พาราไดซ์ปาร์ค มีพนักงานสูงวัยประมาณ 30 คน ประกอบด้วยพ่อบ้าน แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

"เราอยู่กันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเสรีเซนเตอร์ พอหมดเสรีเซ็นเตอร์ เขาอยากไปกับเราต่อ ก็เลยยกขบวนมาทำด้วยกันถึงวันนี้ เกือบ 30 ปีแล้ว เรียกว่าแก่ไปด้วยกัน พนักงานเหล่านี้อยู่มานานก็เกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร ผู้บริหารเองก็สนับสนุน ไม่อยากให้คนสูงอายุหมดค่า สโลแกนของเรามีอยู่ว่า 'วิถีไทยใส่ใจผูกพัน' วิถีไทยคือครอบครัวเดียวกัน ใส่ใจคือใส่ใจดูแลเขา ผูกพันคือรัก สามัคคีกัน ก็อยู่กันจนกว่าจะไม่ไหวแหละค่ะ"รัชนี หรือพี่อิ๋ว หัวเราะชอบใจ

"การฝึกฝนให้พนักงานมีความรับผิดชอบ เชี่ยวชาญในการทำงาน และจงรักภักดีต่อองค์กร ไม่ได้ทำกันง่ายๆ พนักงานแบบนี้หายากและมีคุณค่ามากซึ่งองค์กรต้องรักษาไว้ ถ้าเขายิ่งเกษียณอายุ แล้วเราจ้างทำงานต่อ ความจงรักภักดีก็จะยิ่งทวีคูณ เพราะเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ความฮึกเหิมจะกลับมาอีกครั้ง"

ในฐานะผู้บริหาร รัชนีเปรียบเทียบพนักงานสว. กับพนักงานหนุ่มสาวว่า พนักงานสว.ชั่วโมงบินสูง อดทนเป็นเยี่ยม ตั้งใจทำงาน มีความรับผิดชอบ ส่วนพนักงานหนุ่มสาวเรี่ยวแรงเยอะ แต่กลับขี้เกียจ ดื้อ เชื่อมั่นในตัวเองสูง

"เด็กรุ่นใหม่ๆชอบงานสบาย หนักไม่เอาเบาไม่สู้ แถมยุคนี้ยังติดมือถือ  เวลาตำหนิก็เถียง หนักเข้าก็ลาออก ทิ้งงานเลย แต่คนแก่นี่อึด อดทน ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ใส่ใจในสิ่งที่ทำ ขยัน อยู่ว่างไม่ได้ต้องหาอะไรทำตลอด ไม่ปริปากบ่นแม้งานยุ่งยาก งานแม่บ้านทำความสะอาดเป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนอยากทำ เก็บโต๊ะ เก็บขยะ เข็นรถ สกปรก เหนื่อย ต้องปะทะกับลูกค้าทั้งวัน ถ้าใจไม่รักทำงานนี้ไม่ได้  แต่พนักงานสูงอายุเขารับมือได้ ไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไช เพราะเขารู้ว่า งานบริการต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าประทับใจ"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง เจ้านาย-ลูกน้องรักและผูกพันกันเหมือนครอบครัว

รับมือสังคมผู้สูงอายุ

ปี 2557 สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุถึง 10,014,699 คน คิดเป็น 14.9 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด สอดรับกับนิยามขององค์การสหประชาติที่กำหนดไว้ว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องมีประชากรอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปมากกว่า 10 % ของประชากรทั้งประเทศ

ปัญหาใหญ่ที่ผู้สูงอายุพ.ศ.นี้ต้องเผชิญคือ ไม่มีหลักประกันทางรายได้ หรือถ้ามีก็ไม่มั่นคง

ผลการศึกษาเรื่อง “การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศไทย” โดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ยศ วัชระคุปต์ และพสิษฐ์ พัจนา นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในวันที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่หลักประกันทางด้านรายได้สําหรับผู้สูงอายุยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มวัยทํางานได้ครบทุกคน โดยพบว่า 73% ของคนวัยทำงานไม่มีหลักประกันรายได้ 19.2% ใช้ประกันสังคม ส่วนอีก 7% เป็นข้าราชการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะไม่สามารถเลี่ยงการเป็นสังคมสูงอายุได้ แต่สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน จะต้องผนึกกำลังช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง

เมื่อเร็วๆนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดทำมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษีให้กับภาคเอกชนที่จ้างผู้สูงอายุเข้ามาทำงานสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น คาดว่าเร็วๆนี้ มาตรการดังกล่าวจะออกมามีผลบังคับใช้

"อยากให้คนแก่ได้ทำงาน จากที่ดูตัวอย่างของญี่ปุ่น เวลาสำรวจคนแก่ที่อยู่ในบ้านพักคนชรา ส่วนใหญ่เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะไม่มีสังคม ชีวิตไม่มีความหมาย จึงได้คุยกับกระทรวงแรงงานให้หาทางจ้างงานคนแก่ และอยากให้เอกชนมาชวนคนแก่ทำงานด้วย โดยรัฐจะมีสิ่งจูงใจทางภาษีให้"

สอดคล้องกับ ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้เสนอมาตรการสนับสนุนบริษัทเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุทำงานไปยังกระทรวงการคลังแล้ว โดยบริษัทเอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายในการจ้างงานมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า มีเงื่อนไขคือ ผู้สูงอายุต้องอายุ 65 ปีขึ้นไป กำหนดการจ้างงานคือ ต้องไม่เกิน 10% ของรายจ่ายจ้างงานทั้งบริษัท และไม่เกิน 10% ของจำนวนพนักงานบริษัท นอกจากนี้ กำหนดเงินเดือนผู้สูงอายุที่ถูกจ้างงานต้องมีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจากต้องการสนับสนุนให้จ้างพนักงานระดับล่างทำงาน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพหลังเกษียณอายุ

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง

 

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง

ขณะที่ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนจ้างงานคนวัยเกษียณ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

"ต่างประเทศ ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป เอเชีย ในซูเปอร์มาร์เก็ตจะมีแรงงานสูงวัยจำนวนครึ่งต่อครึ่ง ส่วนมากทำงานเบาๆ ไม่ต้องใช้แรงหนัก เช่น แคชเชียร์ เขาน่ารักมาก มีความสุขกับการทำงาน หรืออย่างธุรกิจโรงแรมจะเห็นว่าผู้สูงอายุไปทำแผนกแม่ครัวได้สบายๆ แต่ถ้างานหนักบางประเภท เช่น ปูเตียง ซึ่งต้องเนี้ยบและใช้แรงเยอะ อาจลำบาก จึงอาจต้องขยับไปคอยชี้แนะให้คนหนุ่มๆสาวๆทำแทนได้ ไม่ก็หมุนเวียนไปทำแผนกอื่น เช่น จัดโต๊ะ จัดดอกไม้ ให้แนะนำหน้ารีเซปชั่น ขณะเดียวกันสถานประกอบการเองก็ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานด้วย เช่น เงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ให้เหมาะสมเพื่อให้เขาอยู่ได้"

นักวิชาการด้านแรงงานรายนี้ บอกว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ แรงงานสูงอายุที่อยู่นอกระบบ โดยเฉพาะเกษตรกร

"ผมไม่ห่วงแรงงานสูงอายุภาครัฐ เพราะเขามีเงินเดือนสูง มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล มีบำเหน็จบำนาญ พวกนี้มีเงินพอกินแน่นอน ส่วนแรงงานภาคเอกชน ถ้าไม่มีเงินเก็บเงินออม เกษียณอายุไปจะลำบาก เพราะเบี้ยยังชีพจะไม่เพียงพอแน่นอน ผลวิจัยระบุว่าเกินกว่าครึ่งไม่มีเงินเก็บ และต้องกลับมาทำงานในระบบอีก แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา พวกนี้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ไม่มีสวัสดิการ หลายคนพึ่งพาลูกหลานไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาน้อย โอกาสจะกลับเข้ามาทำงานในระบบก็ยากขึ้นไปอีก"

ส่องชีวิต "พนักงานวัยเกษียณ" ...แก่แต่เก๋าเก่าแต่เจ๋ง รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ไทยกำลังรับมือกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนโยบายการสนับสนุนแรงงานวัยเกษียณ นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจอันน่าจะช่วยให้คนเฒ่าคนแก่ที่ยังมีแรง มีไฟ และอยากทำงาน สามารถพึ่งพาตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ลำบากลำบนนัก.