posttoday

โมเดล "มหาฉันทามติ" สส.+สว. ร่วมตั้งนายกฯเพื่อชาติ

24 สิงหาคม 2559

"มันจะเป็นเรื่องของการรวมพลังของชาติเข้ามาร่วมกันนำประเทศไทยให้ไปสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในช่วงระยะเวลา 5 ปี ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด"

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจไม่น้อยเวลานี้สำหรับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องเอาคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) มีข้อเสนอให้ สว.สามารถเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จากเดิมทีหน้าที่เสนอชื่อจะเป็นของ สส.เท่านั้น

โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสสนทนาในประเด็นดังกล่าวกับ “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำนูณมองว่าไม่ว่าจะแก้ไขออกมาในรูปแบบใดจะให้ สว.มีสิทธิเสนอชื่อได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหาทางการเมืองอยู่ดี ดังนั้น ทางที่ดีสุด คือ การมหาฉันทามติเพื่อนำไปสู่การสร้างมหาพันธมิตรเพื่อประเทศจะได้มีนายกรัฐมนตรีที่สามารถบริหารราชการในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนจะไปถึงบทสรุปตรงนั้น “คำนูณ” วิเคราะห์ปัญหาทีละลำดับไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอยู่ในตัวระบบของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้ง สส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว

“ผมเองไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใน 2 บท คือ ระบบการเลือกตั้ง และที่มาของนายกรัฐมนตรี เมื่อเอาที่มาของนายกฯ ไปผูกกับระบบการเลือกตั้งแบบนี้ คือ คนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จะต้องมาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอในวันสมัครเลือกตั้ง พรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่มีโอกาสจะเป็น สส.ยากมาก เพราะต้องมี สส.ในสภาผู้แทนราษฎร 5% หรือ 25 คน จากทั้งหมด 500 คน ถึงจะสามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้”

“นอกจากนี้ รายชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองจะถูกผูกพันไปตลอดอายุของสภาฯ ไม่ว่าจะมีการเลือกนายกฯ กี่ครั้ง ซึ่งเห็นว่ามันเป็นการจำกัดตัวเองมากเกินไป สมมติเหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งปีหรือสามปี เราก็ต้องไปเลือกจากรายชื่อที่ยังคงอยู่ที่พรรคการเมืองเสนอมาเมื่อหนึ่งปีสามปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสมกับสถานการณ์”

“การจะปลดล็อกเพื่อเลือกนายกฯ จากบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองนั้น กรธ.กำหนดไว้ในมาตรา 272 ก็จำกัดตัวเองไว้อย่างยิ่งยวดที่ให้ปลดล็อกเฉพาะครั้งแรกครั้งเดียวหลังจากมีการเลือกตั้ง สส. ซึ่งตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องเอาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น คำนูณยังมองว่า ออกได้หลายรูปแบบ เช่น การให้ สว.มีหน้าที่แค่ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น โดยไม่มีสิทธิเสนอชื่อ หรือให้ สว.มีสิทธิเสนอชื่อได้ เป็นต้น แต่มีประเด็นที่ต้องขบคิดต่อไปในทางปฏิบัติแล้ว กรธ.จะมีขอบเขตในการปรับปรุงเนื้อหาได้ขนาดไหน

“เมื่อการประชามติผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง หลักที่ต้องยึดประการหนึ่ง คือ พี่น้องประชาชนในการลงประชามติ เขาให้ความเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และที่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญก็ด้วยเสียงท่วมท้นมากกว่าคำถามพ่วงอีก ดังนั้น การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องรักษาสารัตถะของร่างรัฐธรรมนูญไว้ให้ได้มากที่สุดในประเด็นที่ไม่ได้ขัดกับคำถามพ่วง และพยายามแก้ไขให้ตรงกับคำถามพ่วงให้เคร่งครัด ไม่ขาดและก็ไม่เกิน เพราะทั้งสองเรื่องมาจากการประชามติทั้งคู่”

อีกด้านหนึ่ง คำนูณยังเห็นว่าหากประเมินจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ส่วนตัวคิดว่านายกฯ คนนอกยังไม่สามารถเข้ามาได้ง่ายๆ

“ถ้าเอาตามเงื่อนไขเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ มันปลดล็อกเพื่อเลือกนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้เฉพาะครั้งแรกครั้งเดียวตามมาตรา 272 และต้องใช้ สส.ถึง 250 คน เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาให้เปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา”

“ถ้าเราจินตนาการว่า สว.ทั้ง 250 คน เป็นเอกภาพกันและไม่ต้องการได้นายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง เขาก็ไม่สามารถทำเอง เพราะมติที่จะยกเว้นให้เลือกนายกฯ จากคนนอกบัญชีได้ ต้องใช้ 500 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง หมายความว่าต้องใช้ สว.ทั้งสภา และใช้ สส.อีก 250 คน นี่คือตัวเลขที่มันปรากฏอยู่”

แม้ในทางปฏิบัติฝ่ายการเมืองจะยังมีโอกาสที่ได้นายกฯ ที่เป็นคนของพรรคการเมือง แต่หากฝ่าย สว.สรรหาที่่มาจากการเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดได้นายกฯ ที่ตัวเองต้องการขึ้นมา ในระยะยาวอาจทำให้ประเทศเกิดปัญหาครั้งใหญ่ ซึ่งในทัศนะของคำนูณจึงเห็นว่า อนาคต สส.และ สว.ควรร่วมกันสร้างมหาฉันทามติเพื่อนำไปสู่การตั้งรัฐบาลผสมครั้งใหญ่ (Grand Coalition) เพื่อการปฏิรูปประเทศ 

“ทีนี้ผมอยากมองการเมืองอีกแบบหนึ่งว่า สมมติว่าเราจะแก้ไปให้อีกสุดทางหนึ่ง คือ ให้ สว.ไปร่วมโหวตและร่วมเสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้ตั้งแต่แรก คิดว่าบ้านเมืองจะเดินไปได้แค่ไหนอย่างไรหรือไม่ ผมว่าก็เป็นไปได้ยาก”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป คือ เราจะมีนายกฯ ที่เป็นเสียงข้างมากในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจริง แต่จะเป็นนายกฯ ที่อาจจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มันก็จะเป็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ และถามว่าจะบริหารราชการแผ่นดินไปได้ราบรื่นแค่ไหนอย่างไร แล้วคนที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ จากสถานการณ์แบบนี้ก็ค่อนข้างหนักหนาสาหัส มันอาจจะเกิดปัญหาตามมาได้ ผมว่าก็ไม่น่าจะใช้วิถีทางที่ทำให้บ้านเมืองเดินไปได้อย่างเต็มที่เพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤต”

“ฉะนั้น ผมว่าหนทางที่ดีที่สุดที่มันควรจะเป็น คือ ถ้าการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไม่สำเร็จหรือไม่ได้ 376 เสียง สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือว่าเกิดกระบวนการฉันทามติครั้งใหญ่จากฝั่งพรรคการเมืองด้วยกันเองที่จะร่วมกับ สว.ปลดล็อกไม่จำเป็นต้องเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง”

“หรือพรรคการเมืองยินยอมพร้อมใจกันโดยไม่ต้องใช้เสียงของวุฒิสภา มันก็จะเกิดมหาฉันทามติ หรือ Grand Consensus แล้ว จากนั้นคนที่จะมาเป็นนายกฯ จะเดินเข้ามาอย่างสง่างาม เพราะมาจากความยินยอมพร้อมใจของ สส.และ สว.750 คน หรือส่วนข้างมากที่สุดของ 750 คน เป็นมติของพรรคการเมืองทุกพรรค ด้วยความตระหนักในสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น”

“กว่าจะถึงวันนั้นอีกหนึ่งปีครึ่งผมเชื่อลึกๆ ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เรียกร้องให้เกิด Grand Coalition และนำไปสู่ Grand Coalition ได้ เพราะเราขัดแย้งกันมา 10 ปี มีรากฐานจากความเหลื่อมล้ำและยังมีสถานการณ์ที่ต้องฝ่าฟันไปด้วยกันข้างหน้าอย่างการปฏิรูปประเทศตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้”

“เมื่อถึงเวลานั้นมันก็คงไม่มีคำว่านายกฯ คนใน นายกฯ คนนอก แต่มันจะเป็นเรื่องของการรวมพลังของชาติเข้ามาร่วมกันนำประเทศไทยให้ไปสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในช่วงระยะเวลา 5 ปี ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”คำนูณ สรุป