posttoday

แบนเกมไม่มีผลแนะอยู่ร่วมกัน อย่าขวางเด็กเล่นโปเกมอน

12 สิงหาคม 2559

“โปเกมอน โก” กำลังสร้างกระแสนิยมไปทั่วทั้งโลก ภายหลังผู้พัฒนาเกมเปิดตัวให้ดาวน์โหลดได้ไม่ถึง 30 วัน พบว่าโกยรายได้ไปแล้วกว่า 6,960 ล้านบาท

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

“โปเกมอน โก” กำลังสร้างกระแสนิยมไปทั่วทั้งโลก ภายหลังผู้พัฒนาเกมเปิดตัวให้ดาวน์โหลดได้ไม่ถึง 30 วัน พบว่าโกยรายได้ไปแล้วกว่า 6,960 ล้านบาท ทุบสถิติเกมอื่นแหลกละเอียด

สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งโหลดเล่นได้เพียง 1 สัปดาห์ กระแสนิยมกลับขยายกว้างอย่างรวดเร็ว หลากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ ถนน ตรอก ซอก ซอย ฯลฯ ล้วนแต่ถูกแปรสภาพให้เป็นสถานที่จับมอนสเตอร์แทบทั้งสิ้น

แน่นอนว่ามุมหนึ่งเต็มไปด้วยความสนุกและเสียงสนับสนุน ทว่าอีกมุมหนึ่งก็หนักแน่นไปด้วยข้อกังวล นำมาสู่การพูดคุยผ่านเวทีเสวนา เรื่อง “Pokemon Go จะพาสังคมไทยไปทางไหน” โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา

ผศ.วิษณุ โคตรจรัส อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า เกมโปเกมอน โก เป็นเกมที่ตอบสนองความต้องการของผู้เล่นที่ทับซ้อนอยู่ในโลกของความจริง จึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้เล่นเป็นหลัก เพราะด้วยเนื้อหาของเกมไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้เล่น

ผศ.วิษณุ อธิบายว่า รูปแบบการพัฒนาเกมโปเกมอน โก เป็นเทคโนโลยีที่เกมอื่นก็มีอยู่แล้ว เช่น การใช้ระบบตรวจสอบตำแหน่ง แผนที่บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเชื่อมต่อสถานที่จริงเป็นฉาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อกระแสเกมนี้เข้ามาจนเป็นที่นิยมแล้ว จึงควรทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์กับเกมนี้ เช่น การส่งเสริมการขาย และบริการ

ผศ.พรรณรพี สุทธิวรรณ นักจิตวิทยาพัฒนาการด้านเด็กและวัยรุ่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ บอกว่า หากพิจารณาตามมุมมองของจิตวิทยาเด็ก ในขณะที่สังคมภายนอกตื่นตัวและกำลังพูดถึงเกม พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรห้ามลูกเล่น เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีและมีผลต่อความคิด ฉะนั้นผู้ปกครองควรเข้าใจ ยอมรับ และพร้อมเล่นไปกับเด็กเพื่ออธิบาย

“การที่ผู้ใหญ่พยายามเบี่ยงเบน ต่อต้าน หรือห้ามไม่ให้เด็กเล่น อาจทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับในสายตาเพื่อน และอาจทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่มีสิ่งที่ได้เรียนรู้เหมือนกับเพื่อนๆ” ผศ.พรรณรพี ระบุ

นักจิตวิทยารายนี้ บอกอีกว่า เมื่อเกิดกระแสขึ้นผู้ใช้เทคโนโลยีควรรู้เท่าทันสื่อใหม่และพยายามหาโอกาสใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าเกมโปเกมอน โก จะเหมือนกับกระแสตุ๊กตาเฟอร์บี้ โรตีบอย ฯลฯ ที่มาเป็นช่วงๆ

นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ นักวิชาการจิตเวชผู้ใหญ่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาด้านพฤติกรรมหรืออาการป่วยทางจิต จึงควรทำให้สถานการณ์มีความสมดุล เพราะไม่ว่าเกมนี้จะเข้ามาหรือไม่ก็มีปัญหาอยู่แล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ต้องสนใจก็คือเรื่องวินัยที่ผู้เล่นต้องควบคุมตัวเองให้ได้

นพ.ภุชงค์ ประเมินว่า กระแสเกมนี้ที่เข้ามาจะได้รับความนิยมในช่วงแรกเหมือนกับตอนที่สังคมให้ความนิยมกับคริสปี้ครีม แต่ภายหลังเมื่อสังคมได้รับรู้กระแสก็จะลดลงไปในระดับหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสที่เราจะทดสอบระบบในสังคมหลายอย่างว่าจะอยู่กับสิ่งนี้อย่างสมดุลได้อย่างไร

ทางด้านเจ้าของลิขสิทธิ์เกมในประเทศไทยอย่าง พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น  เล่าว่า ในหลายประเทศได้นำเกมไปพัฒนาการส่งเสริมการขายและการเชื่อมต่อสื่อสาร ดังนั้นเมื่อเกมเข้ามาในประเทศไทยจะเป็นโอกาสในการกระตุ้นธุรกิจ และในอนาคตคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาทำระบบข้อมูลเป็นภาษาไทย

“ตอนนี้ถือเป็นก้าวแรกในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเกมนี้ถูกวางแผนพัฒนาไว้ต่อเนื่องถึง 5 ปี ซึ่งช่วงต่อไปจะเป็นการพัฒนาให้ตอบสนองคนไทยมากขึ้น ฉะนั้นทุกคนควรพัฒนาการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ให้เป็นประโยชน์” พีรธน พูดชัด

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราไม่อยู่ร่วมกับมันสิ่งนี้ก็จะอยู่ต่อไปอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจ ดังนั้นเราควรใช้ประโยชน์จากมัน

นพ.ประวิทย์ ยืนยันว่า การแบนไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ ฉะนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโลกนี้ให้ได้