posttoday

ปิดทางสมเด็จช่วงขึ้นสังฆราช ต้องมลทิน ข้อครหารถเบนซ์หรู

29 กรกฎาคม 2559

เส้นทางที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อาจไปไม่ถึงฝั่ง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เส้นทางที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ “สมเด็จช่วง” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อาจไปไม่ถึงฝั่ง หลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สรุปผลสอบคดีครอบครองรถเบนซ์โบราณ ทะเบียน ขม 99 ของสมเด็จช่วง ว่า ผิดตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า การชำระภาษีสรรพสามิต และการจดทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบก

ปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงทัศนะกับโพสต์ทูเดย์ว่า หากพระสงฆ์องค์ใดต้องคดีความจะมีมลทินมัวหมอง แม้ว่า ขั้นตอนจะยังไม่ถึงขั้นจำคุก หรือศาลอาจให้รอลงอาญา ก็ถือว่า ต้องมลทิน และถ้าพระสงฆ์ถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน หรือศาลไม่ให้ประกันตัวก็ต้องสึกจากความเป็นพระตามกฎหมาย

“เราจะเอาพระ องค์ที่มีมลทินติดข้อครหา มาเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้อย่างไร ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีชะลอ เรื่องไว้นั้นส่วนตัวเห็นว่าถูกต้องแล้วที่ยังไม่มีการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เพราะต้องรอให้คดีความวุ่นวายต่างๆ จบสิ้นก่อน”

ปรีชา กล่าวว่า หากพระสงฆ์ที่ถูกดำเนินคดีแล้วก้าวขึ้นมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชหรือรับตำแหน่งสมณศักดิ์  ย่อมขัดต่อความรู้สึกในสายตาของชาวพุทธจนนำไปสู่ความไม่สบายใจ แถมยังกระทบกับความรู้สึกและกระทบกระเทือนจิตใจของชาวพุทธ

อย่างไรก็ตาม ปรีชา ย้อนต้นตอปัญหาการตีความข้อกฎหมาย มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความยืนยันว่า อำนาจการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ที่คณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี

ปรีชา อธิบายว่า มติ มส.ที่เสนอชื่อสมเด็จช่วงให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชไม่มีผลตามกฎหมายเพราะเป็นการเสนอตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 มาตรา 7 วรรค 2 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ระบุว่า พระที่ต้องมาเป็นสมเด็จพระสังฆราชต้องมีสมณศักดิ์สูงสุด ซึ่งความจริงขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระธรรมวินัย จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย

ปรีชา ยกตัวอย่างการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในสมัยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่า ช่วงนั้นมีการเสนอ 3 รายชื่อ 1.สมเด็จพระญาณสังวร 2.สมเด็จพระพุฒาจารย์  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  และ 3.สมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์ วัดสามพระยา แต่ 2 องค์หลังไม่ขอรับตำแหน่งพระสังฆราช จึงเหลือเพียง 1 องค์คือ สมเด็จพระญาณสังวร 

“การเสนอชื่อครั้งนั้นเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 มาตรา 7 วรรค 1 ซึ่งถูกต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย และถูกต้องกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีมาว่า พระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์”

ปรีชา ยังอธิบาย “ฐานันดรศักดิ์” ว่า ความหมายครอบคลุมถึงตำแหน่งทางพระสงฆ์ด้วย คือสมณศักดิ์ ฉะนั้นเรื่องนี้บัญญัติชัดเจนว่าเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ดังนั้น ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 โดยการแก้ไขเพิ่ม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 วรรค 2 วรรค 3 จึงเป็นการขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 2535 ที่เริ่มมีแก้ไขมา และยังไม่เคยมีการใช้มาตรานี้ แต่เพิ่งถูกนำมาใช้ครั้งมหาเถรสมาคม หรือ มส.เสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นมา

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอรายชื่อทูลเกล้าฯ สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ แต่ไม่ใช่เพียงพระองค์ใดองค์หนึ่ง ต้องเสนอเป็นบัญชีรายชื่อไป จากนั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่จะเลือกพระองค์ใดองค์หนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเสนอมาก็ได้

“จะไม่เลือกทั้งสามองค์เลยที่เสนอไป และเลือกเอาองค์ใดองค์หนึ่งที่เป็นพระแท้ข้างนอก ก็สามารถทำได้ตามพระราชอำนาจ ไม่จำเป็นต้องเป็นสมเด็จในมหาเถรสมาคม หรือมีสมณศักดิ์ก็ได้  ตั้งพระองค์นอกขึ้นมาได้  ซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่ไม่ได้ถือเอาอาวุโสสมณศักดิ์ เพราะตำแหน่งสมณศักดิ์ หรือ มส. เกิดขึ้นโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2535 และขัดต่อพระธรรมวินัย และที่มีการเพิ่มสมณศักดิ์ ทั้งที่ความเป็นจริงตามพระธรรมวินัยไม่มี  และเมื่อกฎหมายใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ  กฎหมายนั้นย่อมไม่สามารถใช้ได้”

ปรีชา ระบุว่า นายกฯ สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 7 วรรค 2 และ 3 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลวินิจฉัยว่าขัดก็จะเป็นบรรทัดฐานให้ทุกองค์กรของรัฐต้องปฏิบัติตาม