posttoday

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี

21 กรกฎาคม 2559

ฟัง 2 อดีตบิ๊กสีกากีวิพากษ์ปม "ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าวฉาวโฉ่กรณี "ร.ต.อ.แจ้งความจับร.ต.อ." ข้อหาฉ้อโกงเงิน 7 แสนบาท หลังแอบอ้างว่ารู้จักผู้ใหญ่ที่สามารถวิ่งเต้นให้เลื่อนตำแหน่งรองสารวัตรขึ้นเป็นสารวัตรได้ สุดท้ายแห้ว แถมโดนเบี้ยวเงิน ...เรื่องลับๆจึงกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

แม้ภายหลังมีการปฏิเสธว่าเป็นแค่เรื่องส่วนตัว แต่นั่นก็มิอาจหยุดยั้งความเชื่อของประชาชนว่า การซื้อตำแหน่งในวงการตำรวจนั้นมีมูลความจริง แต่จะราคาเท่าไหร่ ซื้อขายกันอย่างไร ...ยังคงเป็นปริศนา

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี

ส่อง"โรงพักทำเลทอง"ขุมประโยชน์มหาศาล

พื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ถือเป็นขุมทรัพย์ผลประโยชน์มหาศาลที่ใครๆต่างต้องการจะครอบครองเก้าอี้

จากการสำรวจพบว่า สถานีตำรวจนครบาลทั้ง 88 แห่ง มีการแบ่งเกรดกันตามผลประโยชน์ 4 ประเภทของแต่ละท้องที่ ประกอบด้วย

1.แหล่งธุรกิจ ร้านทอง ห้างร้าน ตึกพาณิชย์ ธนาคาร ฯลฯ สามารถเรียกเก็บค่ารักษาความปลอดภัยในแต่ละเดือน เม็ดเงินจะสะพัดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนความหนาแน่นในพื้นที่

2.ที่พักอาศัย คอนโด หอพัก อพาร์ตเมนต์ ยิ่งมีความเจริญมาก อาชญากรรมก็จะเพิ่มขึ้น เจ้าของที่พักอาศัยจึงใช้บริการตำรวจให้สายตรวจแวะเวียนดูแล คิดผลตอบแทนเป็นรายเดือน

3.สถานบริการ ร้านอาหาร คาราโอเกะ โรงแรม ผับบาร์ อบอบนวด มีค่าตอบแทนต้องจ่ายให้ตำรวจท้องที่

4.ชุมชน จัดสรรตามความหนาแน่นของแต่ละชุมชน จะมีการตั้ง"ตู้แดง" ท้องที่ละ 300-400 ตู้ ในอัตราขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อเดือน

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี

พื้นที่โซนเหนือ ทำเลทองคือ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) มีโรงพักในสังกัด 9 แห่ง ในพื้นที่มีแหล่งการค้า อาหารพาณิชย์ สถานบริการอาบอบนวด รวมถึงผับบาร์ย่านอาร์ซีเอ หากจำแนกให้ชัดคือ สน.ห้วยขวาง สน.พญาไท สน.มักกะสัน เกรด A สน.ดินแดง สน.ชนะสงคราม สน.ดุสิต สน.นางเลิ้ง สน.สามเสน เกรด B และ สน.บางโพ เกรด C อีกทำเลของโซนนี้คือ บก.น.2  มีโรงพัก 11 แห่ง เป็นทำเลทองเนื่องจากเป็นย่านการค้าและธุรกิจสีดำ สน.บางซื่อ เกรด A สน.ดอนเมือง สน.ทุ่งสองห้อง สน.บางเขน สน.ประชาชื่น สน.พหลโยธิน สน.สุทธิสาร และ สน.เตาปูน เกรด B สน.โคกคราม และ สน.สายไหม สน.คันนายาว เกรด C   

พื้นที่โซนใต้ ทำเลทองคือ บก.น.5 มี 9 โรงพัก ถือเป็นพื้นที่พรีเมียม ตำรวจหมายปองนั่งเก้าอี้ในพื้นที่เพราะมีแหล่งธุรกิจ โรงแรม อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการอาบอบนวด ผับ บาร์ โรงพักทองคำคือ สน.ทองหล่อ สน.ท่าเรือ สน.ลุมพินี  และ สน.คลองตัน เกรด A พื้นที่เกรด B+ ได้แก่ สน.วัดพระยาไกร สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.บางโพงพาง สน.พระโขนง และ สน.บางนา เกรด B ขณะที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร คือ พื้นที่ บก.น.6 มีโรงพัก 8 แห่ง ถือว่าดีเช่นกัน มีย่านธุรกิจสำคัญ ครอบครองเยาวราช พัฒน์พงษ์ สะพานเหล็ก และคลองถม โรงพักเบอร์หนึ่งของพื้นที่ระดับเกรด A คือ สน.บางรัก สน.ปทุมวัน สน.พลับพลาไชย 2 ขณะที่ สน.ยานนาวา สน.จักรวรรดิ และ สน.พลับพลาไชย 1 เกรด B+

พื้นที่โซนธนบุรี ทำเลทองคือ บก.น.7 มีโรงพัก 11 แห่ง สถานบริการอาบอบนวด บ่อน อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ หากจำแนกระดับให้ชัดเจนคือ สน.บางยี่ขัน และ สน.ตลิ่งชัน เกรด A สน.บางกอกน้อย เกรด B บวก สน.บางกอกใหญ่ สน.บางพลัด สน.บางขุนนนท์ และ สน.ท่าพระ เกรด B ขณะที่ สน.ธรรมศาลา สน.บวรมงคล สน.บางเสาธง และ สน.ศาลาแดง เกรด C ส่วนพื้น บก.น.8 มีทั้งสิ้น 11 โรงพัก ส่วนใหญ่ผลประโยชน์มาจากโรงงาน คนต่างด้าว จำแนกได้ คือ สน.บางยี่เรือ เกรด B บวก  สน.บางมด สน.บุคคโล สน.บุปผาราม  สน.ตลาดพลู สน.สำเหร่ และ สน.ราษฎร์บูรณะ เกรด B  สน.บางคอแหลม สน.ปากคลองสาน สน.สมเด็จเจ้าพระยา  และ สน.ทุ่งครุ เกรด C ปิดท้ายด้วยพื้นที่ บก.น.9 มีโรงพัก 10 แห่ง ผลประโยชน์มาจากโรงงาน และคนต่างด้าว เช่นกัน ระดับโรงพัก คือ สน.ท่าข้ามเกรด A สน.บางบอน สน.หลักสอง สน.ภาษีเจริญ เกรด B สน.หนองค้างพลู สน.เพชรเกษม สน.เทียนทะเล สน.แสมดำ และ สน.บางขุนเทียน เกรด C

(อ่านรายงานพิเศษ ""โรงพักเกรดเอ" แหล่งมหาขุมทรัพย์สีกากี http://www.posttoday.com/analysis/report/341269)

"มีเงิน มีเส้นสาย มีผลงาน"ใบเบิกทางตำแหน่งในฝัน

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร หรือผู้การวิสุทธิ์ อดีตนายตำรวจระดับสูงผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบโครงสร้างตำรวจอย่างตรงไปตรงมา กล่าวว่า ราคาการซื้อขายตำแหน่งนั้นไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับทำเลและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้น

"สมมติถ้าเป็นผู้กำกับสน.บางรัก ก็มีอำนาจแค่ในท้องที่บางรัก ถ้าเป็นผู้กำกับสน.ปทุมวัน ก็มีอำนาจแค่ในท้องที่ปทุมวัน แต่ถ้าเป็นผู้กำกับ หน่วยงานอย่างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) อำนาจหน้าที่ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ผลประโยชน์มันมากกว่ากันเยอะ การวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ถ้ามีเงิน มีตั๋ว (เส้นสาย) มีผลงานด้วย รับรองผ่านฉลุย เช่น ถ้าต้องการไปอยู่สน.บางรัก แต่ไม่มีผู้ใหญ่หนุน อาจต้องเสียเงิน 8 ล้าน แต่ถ้ามีตั๋วจากผู้ใหญ่ อาจเสียแค่ 4 ล้าน เพราะจะเกรงใจกัน กลัวผิดใจกัน เฮ้ย ให้ไอ้นี่ดีกว่าว่ะ เดี๋ยวกูเดือดร้อน เอา 4 ล้านพอ กำขี้ดีกว่ากำตด การซื้อขายตำแหน่งมันสลับซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วจะได้ชัวร์ร้อยเปอร์เซนต์ เช่น ตำแหน่งนี้ขาย 7 แสน ปรากฎว่ามีคนนึงให้ 7 แสน อีกคนให้ 8 แสน แต่มีตั๋วแนบมาด้วย แบบนี้จะให้ใคร หรือกว่าคำสั่งจะออกอาจมีให้คนมากกกว่า สุดท้ายเกทับกันมั่วไปหมด จ่ายเงินไปแล้วอย่าหวังจะได้คืน เนื่องจากเป็นเพียงสัญญาลมปากไม่ได้เซ็นสัญญา อีกทั้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรง ไม่ค่อยมีใครกล้าทวงหรือฟ้องร้องดำเนินคดี"

พล.ต.ต.วิสุทธิ์เคยดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจทางหลวง รองผู้กำกับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กเยาวชนและสตรี (ปดส.) ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปทศ.) ผู้กำกับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กเยาวชนและสตรี (ปดส.), ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอ่างทอง และรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เคยสร้างวีรกรรมแฉการโยกย้ายนายตำรวจระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม จนตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2553

ผู้การวิสุทธิ์ บอกว่า การซื้อขายตำแหน่งชั่วร้ายยิ่งกว่าขโมยของหลวงไปขาย ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม ซ้ำยังทำลาย ระบบโครงสร้างจนปั่นป่วนเสียหายไปหมด คนที่รับกรรมหนีไม่พ้นประชาชนและประเทศชาติ

"ยกตัวอย่างถ้าซื้อตำแหน่งผู้กำกับสน.ดีๆสัก 10 ล้าน ทุกคนก็ต้องการเอาทุนคืนทั้งนั้น บวกกำไรอีก แถมต้องหาเงินต่อไปเพื่อซื้อตำแหน่งที่สูงขึ้น ถามว่าจะไปหาเงินจากไหน ร้านข้าวแกงร้านก๋วยเตี๋ยวเหรอ ก็ต้องหาเอาจากเงินผิดกฎหมายในท้องที่ เช่น บาร์ บ่อน ซ่อง หวย โต๊ะบอล ยาเสพติด แทนที่จะไปตั้งด่าน วางแผนป้องกันอาชญากรรม ดูแลทุกข์สุขประชาชน กลับสนใจแต่เก็บส่วย หัวหน้ามัวแต่หากิน ก็ไม่ได้ใจลูกน้อง สุดท้ายลูกน้องเห็นว่านายเอากูเอาบ้าง ต่างคนต่างเอา แล้วทีนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาดูแลชาวบ้าน ผลสุุดท้ายโจรผู้ร้ายชุม ลักจี้ชิงปล้นรายวัน ยาเสพติดระบาดไปทั่ว บ้านเมืองก็ชิบหาย เรื่องนี้แก้ไขลำบาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ชอบเล่นพวกเล่นพ้อง อีกอย่างบ้านเรามีแต่นักการเมืองเน่าๆมาโดยตลอด พอเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ได้เป็นนายกฯหรือรองนายกฯที่มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ถามว่าจะเลือกจากคุณสมบัติ คุณงามความดี หรือพรรคพวก มันก็เอาพรรคพวกมาเป็นฐานเสียง มาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตำรวจ ที่ดิน ป่าไม้ เจ้าท่า อุทยาน ศุลกากร สรรพสามิต และถ้าอีกขั้วหนึ่งขึ้นเป็นใหญ่มันก็สั่งย้ายหมดยกแผง เอาพวกตัวเองขึ้นแทน ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็อย่าหวังเลย"

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร หรือผู้การวิสุทธิ์

 โยกย้ายแต่งตั้งตำรวจ อย่าให้การเมืองแทรกแซง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่เชื่อว่าการซื้อขายตำแหน่งตำรวจนั้นมีอยู่จริง

"สมัยผมเป็นผบ.ตร. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านไม่เคยมาก้าวก่ายเลย ให้อำนาจบริหารงานเต็มที่ ยุคผมไม่มีซื้อขายตำแหน่งแน่นอน ผมแจกอย่างเดียว ไล่ตามอาวุโส ไล่ตามผลงาน มึงทำงานไป อย่าเสือกมาให้เห็นหน้า ถ้ามาให้เห็นแสดงว่ามึงไม่ทำงาน ทุกคนรู้หมดว่าผมเป็นคนยังไงเลยไม่กล้ามาวิ่งเต้น ทะเล่อทะล่าเข้ามาเดี๋ยวติดคุกเปล่าๆ แต่พอหลังผมพ้นตำแหน่งเริ่มมีข่าวหนาหูว่ามีการซื้อขายตำแหน่งกัน จนมีการแต่งตั้งพล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะประธานอนุก.ตร.ขึ้นมาตรวจสอบพบว่า มีมูลความผิด ถึงขั้นเผาโผแต่งตั้งกันในห้องทำงานของนายพลรายหนึ่งซึ่งเป็นคนทำบัญชีรายชื่อ

พอมายุคคสช. ยิ่งหนักเข้าไปอีก มีการแสวงหาผลประโยชน์ ยกตัวอย่างเดิมทีพนักงานสอบสวนจะเติบโตตามตำแหน่ง โดยผ่านการประเมินผลงานในรอบปี เช่น ทำคดีธรรมดากี่คดี ทำคดีอุฉกรรจ์กี่คดี ก็ปรับยศตำแหน่งกันไป พนักงานสอบสวน (สบ.1) ซึ่งเทียบเท่ารองสารวัตร ก็เลื่อนเป็นพนักงานสอบสวน (สบ.2) เทียบเท่าสารวัตร พูดง่ายๆโตด้วยตัวเอง พอมีคำสั่งให้ยุบตำแหน่งนี้แล้วเรียกเป็นชื่อทั่วไป เช่น รองสารวัตรจราจร รองสารวัตรปกครองป้องกัน รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน พอไม่มีการประเมินก็เปิดช่องให้วิ่งเต้นทุจริตกันได้"

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 44/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ว่า เป็นการรวบอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับให้มาอยู่ในมือผบ.ตร.เพียงคนเดียว

"เดิมที พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 การแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้บังคับการลงมาจนถึงรองสารวัตร เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจภาค (ผบช.) สมัยบ้านเมืองปกตินักการเมืองจะขอมา เพราะอยากให้คนของตัวเองมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ แบ่งกันการเมืองครึ่งนึง ผบช.ครึ่งนึง พอมายุคนี้ผู้มีอำนาจคงเห็นว่าจัดการได้ไม่เต็มที่ก็เลยรวบอำนาจ แทนที่จะอยู่ที่ผบช.ก็ให้ผบ.ตร.ดูแลหมด การแต่งตั้งระดับ ผบก.-รองผบ.ตร. ผบ.ตร.ไม่ต้องดูบัญชีผู้เหมาะสม สามารถแต่งตั้งได้เลย ซึ่งจากเดิมต้องให้ผบช.เป็นผู้เสนอชื่อขึ้นมา หากผบช.ไม่เสนอก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งระดับรองผบก.ลงมาจนถึงสารวัตร ผบ.ตร.สามารถแต่งตั้งเองได้ทันที โดยไม่ต้องให้ ก.ตร.อนุมัติเหมือนที่ผ่านมา พูดง่ายๆมีอำนาจเต็มมือ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าผบ.ตร.ไม่เข้มแข็งพอ ปล่อยให้ผู้มีอำนาจ ปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง มันก็ไม่มีอิสระ เดี๋ยวเขาก็สั่งให้คนโน้นคนนี้ขึ้นมา หยิบคนนู้นคนนี้ขึ้นมา ผบ.ตร.ก็จะตกอยู่ใต้อำนาจการเมือง เขาจะสั่งย้ายอะไรก็ย้ายได้ จะสั่งยุบอะไรก็ต้องยุบ สุดท้ายระบบก็จะยุ่งไปหมด"

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

อดีตผบ.ตร.รายนี้่ เสนอแนะว่า ควรให้ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 44/2558

"ยกตัวอย่างตำแหน่งผบ.ตร. แทนที่จะนายกฯจะเป็นผู้คัดเลือก ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่ระบุให้นายกฯเป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) มีอำนาจแต่งตั้งผบ.ตร. และรองผบ.ตร. หรือมอบหมายให้รองนายกฯเป็นประธานแทน ซึ่งฝ่ายการเมืองก็ต้องแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามา ก็เปลี่ยนให้ข้าราชการตำรวจทั้งประเทศลงคะแนนคัดเลือก โหวตกันแบบประชาธิปไตยเลย เพราะแต่ละคนกว่าจะก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี ตำรวจทั้งประเทศเขารู้กันเองว่าใครเป็นของจริงของปลอม แล้วให้นายกฯทำหน้าที่ทูลเกล้าฯถวาย ที่ผ่านมาองค์กรตำรวจไม่เป็นอิสระเพราะถูกการเมืองแทรกตลอด ก็เลยถอยหลังอยู่เรื่อยไม่พัฒนาสักที แบบนี้จะปฏิรูปอะไรได้"

ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งในวงการตำรวจจะยังคงถูกจับตามองแทบไม่กะพริบ เพราะถือเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทุกภาคส่วนในสังคมไทย.

"ซื้อขายตำแหน่งตำรวจ" ปมฉาวสั่นคลอนยุทธจักรสีกากี