posttoday

"สยาม" ลูกจ้างท้ายแถว สู่เจ้าพ่อซีแอลเอ็มวีที

21 กรกฎาคม 2559

ประสบการณ์จากเจ้าของอาณาจักรธุรกิจเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ ที่กว่าจะมีวันนี้ได้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างโชกโชน

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

คนเราเกิดมาลำบากแล้วใช่ว่าต้องลำบากตลอดชีวิตเสมอไป เช่นเดียวกันเกิดมาสุขสบายใช้เงินกองโตก็ใช่ว่าจะสบายไปตลอดชีวิต เพราะระหว่างทางเดินชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อยู่ที่ตัวเราเองทั้งนั้นเป็นผู้กำหนด

สยาม รามสูต ชายวัย 50 ปี เป็นคนหนึ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้ดี ทุกวันนี้เขามีดีกรีเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจจัดจำหน่ายหรือเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ บริษัท สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมีบริษัทปลีกย่อยมากมายในประเทศแถบซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ทั้งทำธุรกิจเทรดดิ้ง เจ้าของสิทธิแฟรนไชส์วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก และบิวตี้ บุฟเฟ่ต์ ในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม อีกทั้งเป็นผู้กระจายสินค้าดาวคอฟฟี่ของ สปป.ลาว ในไทยและเมียนมา แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือเดินบนพรมแดง เพราะเขาต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างโชกโชน

สยาม เล่าว่า สมัยเด็กเคยเป็นลูกศิษย์วัดมาก่อน อาศัยอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และได้ไปเรียนด้านก่อสร้าง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่ จ.เชียงใหม่ กระทั่งเรียนจบอายุ 22-23 ปี ก็เริ่มทำงานที่หมู่บ้านรังสิยาเป็นเด็กประจำออฟฟิศ ได้ค่าจ้างวันละ 80 บาท โดยงานที่ทำก็แล้วแต่เขาจะสั่งให้เราทำอะไร ไปซื้อโน่นซื้อนี่ เขียนแบบก่อสร้าง เพราะเราจบด้านก่อสร้างเราเขียนเป็นอยู่แล้ว ให้คุมงาน ให้คิดคำนวณงาน ไปยื่นแบบรับเหมาก่อสร้าง ประมูลงาน ตรวจงาน คิดโครงการใหม่

ด้วยความที่เขาจ้างเรา 80 บาท แต่เราทำให้เขาเหมือนจ้าง 1,000 บาท โดยไม่นึกเสียดายแรงเลย เขาใช้อะไรเราก็ทำ ถ้าเราทำไม่เป็นก็ไปศึกษา ทำได้ 3 ปี หลังจากนั้นจึงเติบโตในอาชีพการงานกลายเป็นเบอร์ต้นๆ ของบริษัท บรรดาวิศวกร สถาปนิกที่เรียนจบปริญญามากลายมาเป็นลูกน้องของเรา ทั้งที่เราจบแค่ ปวส.

ระหว่างทำงานที่หมู่บ้านรังสิยานี่เอง ก็ได้พบรักกับ อ้วน-สุพิชชา รามสูต ที่เวลานั้นทำรับเหมาถมดิน ซึ่งคุณอ้วนดูแล้วเห็นว่าเราทำให้คนอื่นเขารวยมากแล้ว เลยชวนกันลาออกมาแต่งงานแล้วทำธุรกิจของเราเองดีกว่า มาทำให้รวยกันบ้าง

“ผมเป็นคนลำปาง ส่วนคุณอ้วนเป็นคนนครราชสีมา อยู่คนละฟากฝั่งแต่เรามาเจอกันที่กรุงเทพฯ คุณอ้วนนี่แหละกิ่งทองใบหยก ถ้าผมคนเดียวคงมาไม่ได้ถึงวันนี้”

หลังจากลาออกแบบไม่ได้เตรียมตัวกันล่วงหน้า คิดออกก็ทำกันเลย ไม่ได้ปรึกษาผู้ใหญ่ สยามและอ้วนก็ตั้งใจว่าจะไปทำธุรกิจบ้านจัดสรรเองที่ จ.ตราด เพราะสมัยนั้นคุณพ่อของสยามย้ายมารับราชการประจำที่ จ.ตราด แต่เนื่องจากเวลานั้นต้องหาเงินเพื่อแต่งงานกัน ประกอบกับยังอยู่ระหว่างหาทำเลทำบ้านจัดสรร สยามและอ้วนจึงไปซื้อผลไม้จากสวนใน จ.ตราด มาขายก่อน เพราะคิดว่าต้องได้กำไรเห็นๆ

สยาม เล่าต่อว่า เขาเริ่มจากซื้อทุเรียนที่สวนมา 3 คันรถ สมัยนั้นซื้อได้กิโลกรัมละ 6 บาท มาขายกิโลกรัมละ 21 บาท ก็มองว่าได้กำไร 3 เท่า โดยสยามขับรถกระบะมาจอดตามถนนสีลม อโศก ลงมือปอกทุเรียนขายเอง แต่แล้วที่คิดว่ากำไรเห็นๆ กลับกลายเป็นขาดทุน เพราะขายปลีกผลไม้ไม่เป็น พอคนจะซื้อ ทุเรียนที่นำมาก็ยังไม่สุก แต่พอจะสุกก็สุกพร้อมกัน 3 คันรถ ทำให้ขายไม่ทันช่วงที่สุก กลายเป็นธุรกิจแรกที่ทำขาดทุน แต่ก็ยังไม่เข็ด เพราะตั้งใจสู้ต่อช่วยกันหาเงินแต่งงาน เพราะพ่อแม่ของเราก็ไม่ได้มีเงินมากมาย เลยตัดสินใจไปซื้อเงาะมาขายอีก ก็คิดเหมือนเดิมว่ากำไร 3 เท่าเห็นๆ แต่ก็ขาดทุนเหมือนเดิม เพราะซื้อเงาะจำนวนมากมาเร่ขาย ปรากฏว่าผลเงาะดำเร็ว ประสบการณ์นี้เองทำให้เรารู้ว่า การทำธุรกิจไม่ได้ง่าย ถ้าเราไม่รู้จัก ไม่เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ ไม่มีความรู้ สิ่งที่เห็นว่ากำไรก็กลายเป็นขาดทุนได้

หลังบาดเจ็บจากการขายผลไม้ คราวนี้อ้วนได้นำที่ดินของตัวเองที่ จ.นครราชสีมา ไปเป็นหลักทรัพย์ขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อเปิดบริษัท รามสูตก่อสร้าง เพราะหาทำเลได้แล้ว โดยทำบ้านจัดสรรภายใต้ชื่อโครงการสุวรรณโชติ ช่วงนั้นเงินทุนไม่ได้มากมายก็เริ่มจากทำทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ ก่อน จากนั้นก็ไปทำบ้านเดี่ยว แล้วก็ไปกำไรมากสุดตอนทำตึกแถว นอกจากนั้นก็รับเหมาสร้างที่ทำการไปรษณีย์ กระทรวง ถือว่าชีวิตเริ่มมีฐานะได้ก็จากธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งเราน่าจะมีอยู่ 5-6 โครงการ เป็นเจ้าใหญ่ใน จ.ตราด

อย่างไรก็ตาม ทำบ้านจัดสรรได้ 5-6 ปี ก็ตัดสินใจเลิกกิจการ เพราะเป็นช่วงปี 2540 ที่ไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง บ้านจัดสรรชะงักกันหมด อ้วนมองแล้วว่า ที่ผ่านมาขายบ้านจัดสรรมากแล้วก็อยากเปลี่ยนไปทำอีกธุรกิจคือ ขายเพชร ขายทอง ขายข้าวสารอยู่ในตลาด ช่วงนั้นได้รู้จักกับลูกค้าที่เป็นระดับผู้ใหญ่ฝั่งกัมพูชามักเข้ามาซื้อขายเพชร ขายทอง ทำให้ได้กลายเป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภคไปด้วย เป็นแบบเขาสั่งของมา เราก็โทรไปสั่งซื้อสินค้าแล้วส่งให้เขา

"สยาม" ลูกจ้างท้ายแถว สู่เจ้าพ่อซีแอลเอ็มวีที สยาม รามสูต

เมื่อทำตัวเป็นพ่อค้าชายแดนได้ 3 ปี สมัยนั้นโอสถสภามองว่าอนาคตการแข่งขันธุรกิจจะสูงขึ้น แค่มีพ่อค้าชายแดนคอยสั่งสินค้าส่งไปให้คนกัมพูชา คงไม่ทำให้สินค้าขายดีแล้วก็ยั่งยืนได้ แต่ต้องเข้าไปทำตลาดจริงจังในประเทศนั้น ทางบริษัท โอสถสภา ผู้ผลิตจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เช่น เครื่องดื่มตระกูลเอ็ม ลิโพ จึงเข้ามาคุยกับเราขอให้ไปเป็นตัวแทนกระจายสินค้า (ดิสทริบิวเตอร์) ที่กัมพูชาได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะยอดขายที่ได้จากการสั่งสินค้าของเราคงดีพอควรจึงอยากให้เราไปทำตลาด โดยเริ่มจากสินค้าแค่ตัวเดียวก่อนคือ เอ็ม-150

“พอโอสถสภาบอกให้เราไปทำตลาดให้เขา ไปเป็นดิสทริบิวเตอร์ สมัยนั้นเราไม่รู้จักว่าดิสทริบิวเตอร์คืออะไร เขาก็อธิบายว่ารู้จักดีทแฮล์ม สหพัฒน์ เสริมสุขไหม สมัยก่อนเราก็พอรู้จัก เขาก็ถามว่าอยากรวยอย่างนั้นไหม ประจวบเหมาะกับเราเบื่ออาชีพในไทยพอดีเลยตกลง”

สยาม อธิบายว่า ที่เบื่ออาชีพในไทย เพราะก่อสร้างก็ต้องหยุดทำ พอค้าทองค้าเพชรก็ไม่ใช่ทางของเรา ต้องนั่งเฝ้าทอง เฝ้าเพชรตลอดเวลาเหมือนติดคุก กินข้าวก็ต้องนั่งมองจอระวังโจรผู้ร้าย แล้วก็มีตำรวจเฝ้า ตื่นเช้ามาต้องขนทองตั้งที่ตู้โชว์ พอตกเย็นก็ต้องเก็บทองเข้าเซฟ ตกกลางคืนมีเซ็นเซอร์ติดในร้านทอง พอหนูวิ่งผ่านตัวหนึ่งเซ็นเซอร์ก็ร้องดัง ตำรวจมากันทั้งโรงพัก เลยรู้สึกว่าชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข อีกทั้งเวลานั้นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งไปทำทองก็ไม่กำไรมากเหมือนคนรุ่นก่อนที่ค้าขายทองมานาน มีทองเก่ามาขัดได้

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นดิสทริบิวเตอร์ เอ็ม-150 ให้โอสถสภา สยามก็เริ่มไปมาไทยกับกัมพูชาในปี 2540 แล้วปี 2541 จึงออกไปอยู่ต่างประเทศทำดิสทริบิวเตอร์เต็มตัว การออกไปครั้งแรกท้าทายมาก เพราะเขาเรียนจบแค่ ปวส. เวลานั้นภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยรู้ แม้แต่คำง่ายๆ This is a book หรือ This is a chair ก็ยังไม่รู้เลยว่าแปลว่าอะไร ส่วนการเดินทางไปกัมพูชาก็ต้องนั่งเรือจาก จ.ตราด ไปลงที่เกาะกง แล้วนั่งเรือต่อไปยังกำปงโสม จากนั้นมีเพื่อนที่กัมพูชาขับรถมารับต่อไปพนมเปญ

ระหว่างที่ไป สยามได้รู้จักหมดแล้วกับคำว่าใจตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม มืดแปดด้าน สมัยนั้นกัมพูชายังมีการสู้รบกัน 3 ฝ่าย การเดินทางด้วยรถหรือเรือมีแต่คนพกปืน ในเรือมีสยามเป็นคนไทยท่ามกลางคนกัมพูชา 200-300 คน พูดกับใครไม่รู้เรื่อง แถมเรือก็ไม่ใช่สภาพดี ระหว่างแล่นไปก็ทำคนอาเจียนกันครึ่งลำ สยามคาดไม่ถึงเลยว่าต้องเจอสถานการณ์เหล่านี้ เกิดความรู้สึกว่าทำไมเสี่ยงตายและลำบากขนาดนี้ ตอนนั้นก็คิดเพียงว่าไม่เป็นไร เรามาทำตลาด ทำความดี มาจ้างแรงงานเขาก็เหมือนช่วยคนของเขาให้มีงานทำ

สยาม ระบุว่า การเริ่มต้นที่กัมพูชาเริ่มด้วยความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่ได้ศึกษาอะไรมาก่อน ไปแต่ตัว ส่วนสินค้าค่อยโทรศัพท์กลับมาสั่งจากไทยไป สมัยนั้นอีเมลก็ยังไม่รู้จัก เงินเหรียญสหรัฐก็ไม่รู้จัก มีแต่เงินบาทไป พอไปถึงต้องต่อสู้อยู่นานขาดทุน 3 ปีจึงตั้งตัวได้ เพราะการเป็นดิสทริบิวเตอร์ไม่เหมือนพ่อค้าชายแดนที่สั่งซื้อสินค้าใส่รถบรรทุกมาทีละพ่วงสองพ่วง ซื้อ 5 แสนบาท ขาย 6 แสนบาท ก็กำไร 1 แสนบาทเห็นๆ โดยดิสทริบิวเตอร์มีต้นทุนการดำเนินงานสูง ไปกัมพูชาต้องใช้เงินเหรียญสหรัฐเป็นสกุลหลักใช้จ่าย ต้องจ้างพนักงาน 3 คน มีรถ 1 คันไว้ใช้ดำเนินการ และต้องลงทุนตั้งสำนักงาน 

ทว่า พอปีที่ 4 ธุรกิจก็เริ่มอยู่ตัว นอกจาก เอ็ม-150 เริ่มติดตลาด บริษัท โอสถสภา และบริษัทอื่นๆ ก็ส่งสินค้าใหม่มาให้กระจายเพิ่ม เพราะบริษัทมีช่องทางจำหน่ายพร้อม มีร้านค้าในกัมพูชาเป็นคู่ค้าในมือรออยู่ เมื่อมีสินค้าเพิ่มมาก็ส่งให้คู่ค้ารายเดิมขายเพิ่มได้เลย ซึ่งความแข็งแกร่งในกัมพูชาทำให้สยามได้รับการติดต่อให้ไปเริ่มเป็นดิสทริบิวเตอร์ใน สปป.ลาวต่อ แล้วก็ต่อยอดไปสู่เวียดนามและเมียนมา ถือว่าทำธุรกิจครอบคลุมซีแอลเอ็มวีทีอย่างสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่า ทุกการกระทำของเราเท่านั้น ที่ปูทางเราสู่วันข้างหน้า หากสยามไม่ตัดสินใจไปล้มลุกคลุกคลานที่กัมพูชาในวันนั้น ก็อาจไม่ได้กลายเป็นเจ้าพ่อซีแอลเอ็มวีทีอย่างในวันนี้

1 ใน 5 เสือซีแอลเอ็มวีที

กว่าจะบุกเบิกตลาดกัมพูชาจนธุรกิจมั่นคงได้อย่างในวันนี้ สยาม รามสูต ประธาน บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ส่วนสำคัญต้องขอบคุณ อ้วน-สุพิชชา รามสูต นี่แหละ หากไม่มีเธอคงไม่ได้มาถึงวันนี้ เพราะอ้วนเป็นคนที่เก่งเรื่องค้าขาย เปรียบแล้วอ้วนก็เหมือนเป็นกองหน้า ส่วนสยามก็เป็นกองหลังของการไปค้าขายติดต่อต่างๆ 

ช่วงที่ไปกัมพูชาช่วงแรก มีรถใช้ขนส่งสินค้าแค่คันเดียว แต่ปัจจุบันมีเกือบ 100 คันวิ่งทั่วประเทศกัมพูชาแล้ว ก็เริ่มต้นจากการสร้างรากฐานธุรกิจมาเรื่อยๆ โดยที่อ้วน ภรรยาของเขาเป็นคนไปติดต่อค้าขายกับร้านค้าต่างๆ เอง ส่วนตัวสยามเป็นกองหลังที่นั่งประจำอยู่ในสำนักงาน จากเดิมที่พูดภาษากัมพูชาไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เริ่มพูดได้บ้างแล้ว ขณะที่จำนวนพนักงานขายในกัมพูชามี 300-400 คน แต่ถ้ารวมพนักงานของทุกบริษัทในเครือสยามอินเตอร์เนชั่นแนล ครอบคลุมทั้งซีแอลเอ็มวีทีก็คงมีหลัก 1,000 คนแล้ว

สยาม กล่าวว่า หลังทำธุรกิจในกัมพูชา 5 ปี จึงเริ่มทำดิสทริบิวเตอร์ใน สปป.ลาว สาเหตุที่ตัดสินใจไปเพราะธุรกิจในกัมพูชาเริ่มนิ่ง บริษัทกลายเป็นดิสทริบิวเตอร์กรณีศึกษาที่หลายหน่วยงานส่งคนมาดูงานที่กัมพูชา จากเริ่มต้นเป็นดิสทริบิวเตอร์ให้โอสถสภา ก็ต่อด้วยยูนิชาร์ม โออิชิ เสร็จแล้วก็เป็นดิสทริบิวเตอร์ให้โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทุกอย่างพ่วงมาเรื่อยๆ

“โอสถสภา กับยูนิชาร์ม ชวนผมมา สปป.ลาว เพราะเขาเห็นว่าเราเริ่มจากศูนย์ไม่มีความรู้ด้านค้าขาย แต่เขาแนะนำหรือสอนอะไรก็ทำตามที่เขาสอน และทำมากกว่าที่เขาสอนด้วย”

การไปเริ่มต้นธุรกิจใน สปป.ลาว ง่ายขึ้นมาก เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวกับดิสทริบิวเตอร์ สยามเข้าใจหมดแล้ว อีกทั้งคนลาวรับสิ่งต่างๆ จากไทยได้ง่าย เพราะทางภูมิศาสตร์ จังหวัดธุรกิจของลาวอยู่ติดชายแดนไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ สะหวันนะเขต หรือปากเซ แค่นี้ก็ครอบคลุมธุรกิจ 70% ของประเทศแล้ว และคนลาวดูทีวีไทย หากมีสื่อโฆษณาในไทยก็จะโฆษณากับ สปป.ลาว ได้ด้วย อะไรนิยมในไทยก็นิยมที่ สปป.ลาว

สยาม เล่าต่อไปว่า ครั้งที่เข้าไปเริ่มเป็นดิสทริบิวเตอร์ใน สปป.ลาว มีสินค้าจาก 3 บริษัท รวมแล้วหลายร้อยรายการ ด้วยความที่ภาษาลาวกับไทยคล้ายๆ กัน วัฒนธรรมเหมือนกัน ความชื่นชอบเหมือนกัน และคนลาวถือว่าคุณภาพสินค้าไทยเทียบเท่าญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา จึงทำธุรกิจไม่ยาก และอยากแนะนำว่าบริษัทไหนคิดออกไปขยายตลาดต่างประเทศ แต่ไม่เคยทำเลย ก็อยากให้เริ่มที่ สปป.ลาวก่อน เพราะคุณไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ไปได้เลย แต่ต้องดูตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ดูคู่ค้าที่แข็งแรงก่อน

"สยาม" ลูกจ้างท้ายแถว สู่เจ้าพ่อซีแอลเอ็มวีที สยาม-สุพิชชา รามสูต

ทั้งนี้ หลังไปเริ่มใน สปป.ลาว สยามก็ขยายธุรกิจต่อในเวียดนาม ซึ่งทำมาได้ 5 ปีแล้ว โดยในเวียดนามเริ่มด้วยการเป็นแฟรนไชส์ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก และบิวตี้ บุฟเฟ่ต์ จากนั้นต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ในเมียนมาด้วย จนปัจจุบันเป็นแฟรนไชส์ วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก และบิวตี้ บุฟเฟ่ต์ ครอบคลุม 4 ประเทศแล้ว คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และขณะนี้สยามกำลังหารือเตรียมเป็นแฟรนไชส์แบรนด์ด้านความงามเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สยามยังไม่เริ่มเป็นดิสทริบิวเตอร์ในเวียดนามและเมียนมา เพราะอยากทำธุรกิจดิสทริบิวเตอร์ในกัมพูชาและ สปป.ลาว ให้แข็งแรงก่อน จึงค่อยบุกเวียดนามและเมียนมาด้านนี้ ประกอบกับที่ผ่านมาเมียนมายังมีความไม่แน่นอน เช่น ไปสอบถามหน่วยงานหนึ่งบอกว่าสิ่งที่จะทำนั้นทำได้ เมื่อไปสอบถามอีกหน่วยงานกลับบอกว่าทำไม่ได้ จึงยังไม่เริ่ม

สยาม ระบุว่า ปัจจุบันไม่เพียงแต่ออกไปกระจายสินค้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เริ่มรับสินค้าประเทศเพื่อนบ้านเข้ามากระจายในไทยแล้ว เริ่มที่ดาวคอฟฟี่ ที่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์กาแฟอย่างเดียว แต่มีผลิตภัณฑ์อื่นในกลุ่มด้วย โดยสยามตั้งบริษัทย่อยรับเป็นดิสทริบิวเตอร์ในไทย กัมพูชา และเมียนมา และกำลังขยายร้านกาแฟแบรนด์ ดาว เดอ โบลาเวน ขึ้นมาเองที่ไทย เป็นร้านกาแฟที่ใช้วัตถุดิบของดาวคอฟฟี่ ซึ่งอ้วนเป็นคนนครราชสีมา จึงขอเริ่มต้นเปิดร้านกาแฟ ดาว เดอ โบลาเวน แห่งแรกที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เพราะอยากเริ่มต้นร้านกาแฟแบบมีเรื่องราวของเราเอง และมีเรื่องราวให้กาแฟดาวด้วย

อีกธุรกิจที่ทำอยู่ คือ การร่วมหุ้นคนลาวทำลาว ดิวตี้ฟรี มอลล์ ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 บริเวณที่ข้ามจาก จ.หนองคาย มาถึงด่านชายแดนเข้าลาวก็เจอกับลาว ดิวตี้ฟรี มอลล์เลย คาดว่าจะสร้างเสร็จปลายปีนี้และเปิดตัวได้ต้นปีหน้า

ด้านอนาคตที่สยามวางไว้ คือต้องการติดอันดับ 1-5 บริษัทขนาดใหญ่ด้านตัวแทนจัดจำหน่ายและทำช่องทางตลาดครอบคลุมซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่งปัจจุบันเป็นอันดับ 1-5 ของกัมพูชาและ สปป.ลาวแล้ว มูลค่าธุรกิจปัจจุบันของบริษัทในกลุ่มสยามอินเตอร์เนชั่นแนลอยู่ในหลักพันล้านบาท แต่สยามมองว่าหากภาครัฐของไทยอำนวยความสะดวกให้เอกชนส่งออกสินค้าไปประเทศเพื่อนบ้านง่ายขึ้น ขั้นตอนเอกสารไม่ยุ่งยากซับซ้อน ก็มีโอกาสดันมูลค่าธุรกิจแตะหลักหมื่นล้านบาทได้ในอนาคต