posttoday

กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ทุกระดับ คุกอย่ามีไว้ขังคนจน

14 กรกฎาคม 2559

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนไทยได้เห็นนักการเมืองติดคุกหลายคนด้วยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาส่วนใหญ่จากคดีคอร์รัปชั่น

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนไทยได้เห็นนักการเมืองติดคุกหลายคนด้วยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาส่วนใหญ่จากคดีคอร์รัปชั่น แทบไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงกับประเทศที่ได้ชื่อว่าล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรม กับคำพูดที่เสียดแทงว่า “คุกไม่ได้มีไว้ขังนักการเมือง แต่เอาไว้ขังคนจน”เราเห็นภาพผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล ผู้บริหารระดับสูง ภาครัฐ เอกชน ชนชั้นสูง ที่มีเครือข่ายอุปถัมภ์แข็งแกร่ง สามารถวิ่งเต้นให้หลุดคดีได้ต้องสิ้นฤทธิ์เดินคอตกเข้าคุก แม้ว่าจำนวนผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานับหัวได้เพียงไม่กี่สิบรายคงเทียบกันไม่ติดกับขนาดของคอร์รัปชั่นในประเทศไทยที่อยู่ในระดับรุนแรง

กระบวนการยุติธรรมที่เริ่มออกฤทธิ์กับผู้มีอำนาจ เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่สร้าง “ระบบตรวจสอบ” กำเนิดองค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง รวมถึงการ “เปิดพื้นที่” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการเข้าชื่อถอดถอนผู้มีอำนาจได้

สิ่งสำคัญ คือ การตื่นตัวของพลเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้สะท้อนผ่านปรากฏการณ์เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ความขัดแย้งจากสงครามสีเสื้อเหล่านี้ แม้จะเกิดขึ้นแต่ก็เป็นเรื่องปกติในสภาวะ “เปลี่ยนผ่าน” ทางสังคมที่เติบโตขึ้นจนอุดมการณ์ต่างๆ ปะทะกัน นำมาสู่การออกแบบ “หน้าตา” ระบอบประชาธิปไตยใหม่ที่เหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่า ประชาธิปไตยที่ต้องตรวจสอบได้ไม่โกง หรือประชาธิปไตยที่ต้องเคารพเสียงประชาชน

ทั้งหมดนี้ช่วยยกระดับการทำงานในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ตลอดจนการรณรงค์สร้างค่านิยมต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้เข้มข้นขึ้น

แต่แม้ว่าศาจะมีคำพิพากษาสั่งลงโทษมากน้อยแค่ไหน ระบบยุติธรรมไทยยังมีปัญหาต้องปฏิรูปอีกมาก ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ “ตำรวจ-อัยการ-ศาล” ที่ต้องไม่รับใช้ผู้มีอำนาจ ไม่ตัดสินล่าช้า ต้องนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ที่ต้องชื่นชม ป.ป.ช.ในฐานะต้นทางสอบสวน และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยระบบการพิจารณาศาลเดียว มีคำตัดสินออกมาหลายคดี ติดคุกสะท้านวงการกันถ้วนหน้า แต่ถ้าไต่สวนให้เร็วกว่านี้จะช่วยอำนวยความยุติธรรมได้ทันสถานการณ์ขึ้น

นี่ไม่ต้องกล่าวถึงระบบการพิจารณาสามศาลที่ยังล่าช้ากว่าจะจบในชั้นศาลฎีกา บางคดีกินเวลาร่วมสิบกว่าปี หลายคดีประวัติศาสตร์เพิ่งออกดอกออกผลเมื่อปีที่แล้ว เช่น คดีทุจริตจัดซื้อเรือขุด ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่าไปนอนในเรือนจำ คดีทุจริตถมทรายสนามบินสุวรรณภูมิ ศาลจำคุก 2 อดีตผู้บริหาร บทม. คนละ 5 ปี แต่เจ้าตัวหนี ไม่มาฟังคำพิพากษา

ถ้าลงลึกไปดูผลงานศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวมีอีกมาก โดยเฉพาะคำตัดสินคดีนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จอีกหลายสิบคดี ส่วนใหญ่จำคุกหมด แต่ให้รอลงอาญา

ผลจากที่นักการเมืองระดับบิ๊กต้องรับโทษชดใช้กรรมในห้องขัง ช่วยเตือนสติให้กับผู้ที่จะเข้าสู่วงการเมืองที่ต้องมาบริหารประเทศ หากคิดแบบเดิมๆ หวังกอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ ก็ไม่อาจรอดพ้นโทษหรือจะล็อบบี้ด้วยถุงขนมได้ สิ่งที่เราเริ่มเห็น คือ บิ๊กเนมทั้งหลายระวังตัวมากขึ้น การลงมติ ครม.ที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ทำให้รัฐมนตรีหลายคนกลัวติดร่างแหต้องหนีออกจากห้องประชุมมาเข้าห้องน้ำก่อน

อีกปรากฏการณ์ที่กำลังก่อตัว “การลาออกจากตำแหน่ง” ในไทยเราบังคับสปิริตให้เป็นกฎหมายอยู่ใน พ.ร.บ. ป.ป.ช. ทันทีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำตัดสิน แม้ที่ผ่านมาจะมีนักการเมืองยื้อไม่ลาออก แต่ก็ถูกกระแสกดดันจนอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ กฎหมายยังได้สร้างมาตรฐานใหม่ของการแสดงความรับผิดชอบ ลามมาสู่แวดวงคนดังสาธารณะ จนกระทั่ง สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ต้องพักหน้าจอ หลังถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี คดีเบี้ยวค่าโฆษณา อสมท

อย่าให้ถึงขั้นต้องรอศาล ถ้าช่วยกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองหน้าบาง “รับผิดชอบต่อข้อกล่าวหา” เหมือนในต่างประเทศที่นักการเมืองฉ้อฉลอยู่ไม่ได้ เกิดความอับอายต่อสังคม