posttoday

รธน.ใหม่ยึดหลักสากล ลดการเอาเปรียบด้านเศรษฐกิจ

14 กรกฎาคม 2559

การร่างรัฐธรรมนูญได้ดูหลักสากลโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิเสรีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) ร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาในหัวข้อ “เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนลงประชามติ” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ข้างสถานทูตจีน)

ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. คนที่ 1 ชี้แจงว่า กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.เริ่มดูจากปัญหาและวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อดูว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่ง กรธ.พบว่าสภาพปัญหาเกิดจาก 3 ประการ คือ 1.ประเทศไม่เจริญ/ย่ำอยู่กับที่ เหมือนพัฒนาแต่ยัง เช่น ถนนมีน้ำรอการระบาย

2.ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งการศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ และ 3.ความแตกแยกของคนในสังคม สาเหตุของปัญหาต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ คือ ทุจริตคอร์รัปชั่น และความไม่เชื่อมั่นในสถาบันการเมือง

นอกจากนี้ ปัญหาเงินหลวงไม่ได้อยู่ที่เดียว แต่กระจายไปที่ต่างๆ และยังพบว่าความเชื่อมั่นสถาบันการเมือง และระบบราชการมีปัญหาถือว่าย่ำแย่มาก จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวใหม่ รวมทั้งกฎหมายต้องได้รับการปรับปรุงด้วย เพราะกฎหมายไทยใช้ระบบอนุมัติ อนุญาต ขึ้นอยู่กับดุลพินิจเจ้าหน้าที่ จนเกิดคำถามมาตรฐานอยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญ กรธ.ไม่ได้มองแค่การเมือง แต่รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน และไม่ได้ดูแค่วันนี้พรุ่งนี้ เพราะประเทศไทยในปี 2012 เมื่อเทียบกับชาติอื่นถือว่าตกต่ำ การจัดอันดับการศึกษาไทยเมื่อเทียบเพื่อนบ้านเหนือกว่าเล็กน้อย จะทำให้เด็กมีคุณภาพในอาเซียนได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายและความไม่เป็นธรรม วินัย ระบบการเมืองไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ถือเป็นปัญหาค่อนข้างมาก ระบบราชการหย่อนประสิทธิภาพ ไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ต่อเนื่อง ที่ผ่านมาไม่เคยมีการมองระยะยาว และบริบทการเมืองไทยไม่มีพรรคไหนอยู่นาน

“ปัญหาที่กล่าวมาพันกันหมด และ กรธ.เห็นว่าจำเป็นต้องแก้เป็นการด่วน และการร่างรัฐธรรมนูญได้ดูหลักสากลโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิเสรีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย แต่ถ้าจะจำกัด จำเป็นต้องตราเป็นกฎหมาย และหลักสองประการ สิทธิเสรีภาพเท่าเทียม จึงไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ต้องทำให้ทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพได้เหมือนกับคนอื่น ทั้งในทางเนื้อหาและรูปแบบการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ แต่ต้องมีข้อจำกัดเป็นพิเศษ และถ้ารัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้สามารถชุมนุมได้ แต่ถ้าแบบที่ผ่านๆ มาคงไม่มีใครยอมรับได้ แต่ถ้าทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ละเมิดกฎหมาย และไม่ละเมิดผู้อื่นสามารถทำได้”

ด้าน ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรธ. กล่าวว่า ร่างนี้ไม่มีส่วนหรือหมวดเขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยตรง ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ในส่วนบทบัญญัติตามมาตราต่างๆ ได้พูดถึงเศรษฐกิจ หากดูร่างรัฐธรรมนูญนี้มี 279 มาตรา 16 หมวด 1 บทเฉพาะกาล ทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศจากปัจจุบันสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ด้านเศรษฐกิจมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น การเอารัดเอาเปรียบ ทว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ กรธ.คิดจากการรับฟังความเห็นหลายภาคส่วน อาจไม่สมบูรณ์ 100% แต่ด้วยเนื้อหาที่ทำเชื่อมั่นว่าจะพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างดี

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีอย่างเป็นธรรม จนก่อให้เกิดอะไรหลายอย่างตามมา คือ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่รัฐธรรมนูญนี้บัญญัติอีกแบบไม่ได้บอกใช้ระบบอะไร แต่บอกว่าระบบที่ให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ทั่วถึง

“การเดินไปด้วยกันธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อมจะให้เท่ากันคงไม่ใช่ แต่ใครมีอำนาจใหญ่กว่าและทุบคนที่มีศักยภาพเล็กกว่านั้นทำไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบัญญัติ เพื่อให้ทุกคนระวังอย่างสมเหตุสมผลเพื่อเตือนสติ”

ขณะที่ นรชิต สิงหเสนี กรธ. ชี้แจงว่า สิ่งที่ กรธ.ทำอยู่ในกรอบโรดแมปตั้งไว้ไม่เปลี่ยน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสากลไม่ได้คิดขึ้นเอง ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือการเมืองการปกครอง และสิ่งที่หลายฝ่ายห่วงกังวลไม่ใช่เนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ห่วงสถานการณ์ปัจจุบันและขั้นตอนการลงประชามติ

อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญนี้หากประกาศใช้บังคับ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ 100% เต็มที่ แม้ไม่ได้เขียนในรัฐธรรมนูญ เพราะ กรธ.ใช้แนวคิดใหม่ จากเมื่อก่อนสิทธิเดิมประชาชนต้องเรียกร้อง แต่ครั้งนี้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เช่น การศึกษา และการพยาบาล หากรัฐไม่ทำประชาชนสามารถฟ้องร้องรัฐได้

นอกจากนี้ การปฏิรูปยังระบุชัดเจนด้านอะไรบ้าง และ กรธ.ยังได้ระบุอีกว่าต้องทำอะไร ใครเป็นผู้ทำ ชัดเจน เช่น การปฏิรูปตำรวจต้องทำให้เสร็จ 1 ปี ถ้าไม่เสร็จก็ใช้ระบบอาวุโส ไม่สามารถใช้ความเหมาะสมได้ และกระบวนการยุติธรรมอัยการต้องเข้ามามีส่วนร่วม การวิเคราะห์หลักฐานต้องมีหน่วยงานทำได้มากกว่าหนึ่งหน่วยขึ้นไป และขั้นตอนสืบสวนมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการชัดเจน

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมรับฟังซักถาม โดยเฉพาะประเด็นถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่ง นรชิต อธิบายว่า ก็ต้องหาคนร่างใหม่และไม่ทราบว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน และเมื่อต้องเขียนใหม่ก็มีความเป็นไปได้ว่าไม่ต้องทำประชามติ เมื่อร่างเสร็จก็นำทูลเกล้าฯ ทันทีเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ขณะเดียวกัน มีคำถามว่า ประชาชนมีทางเลือกใดบ้าง สส.เขตสังกัดต่างพรรคที่ต้องการเลือก ประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ชี้แจงว่า ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปรับตัว โดยต้องส่งผู้สมัคร สส.เขต ที่คนนับถือ และตัวผู้สมัครต้องดูพรรคที่สังกัดคนนิยมหรือไม่ ซึ่ง กรธ.ไม่ได้คิดเองแต่มาจากการสอบถามความเห็น รวมถึงผลสำรวจต่างๆ