posttoday

รัฐกู้ระเบิด "แก่-จน-เจ็บ"

10 กรกฎาคม 2559

สภาวะใช้เงินหมดก่อนเสียชีวิตกำลังเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ไทยต้องเผชิญ

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

เมื่ออัตราการออมของคนไทยก่อนวัยเกษียณ 55-60 ปีต่ำมาก ขณะที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขยับอายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มจาก 70-80 ปีขึ้นไปเฉลี่ยที่กว่า 90 ปี สภาวะใช้เงินหมดก่อนเสียชีวิตจึงกำลังเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ไทยต้องเผชิญ ซึ่งตามข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า ไทยเป็นสังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี 2548 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เพราะสัดส่วนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีถึง 10% ของประชากรทั้งประเทศ และกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” หรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 20% ในปี 2564 หรืออีกเพียง 5 ปี

จากแนวโน้มดังกล่าว รัฐบาลจึงต้องกู้ระเบิด แก่-จน-เจ็บ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังหามาตรการกระตุ้นให้บริษัทเอกชนจ้างผู้สูงอายุทำงานเพื่อให้มีเงินยังชีพต่อ ไม่ต้องรอแต่เงินบำนาญชราภาพเดือนละ 600 บาทจากรัฐบาล ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอยังชีพ

รมว.คลัง กล่าวว่า กลุ่มที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนชั้นกลางและระดับล่าง ที่ไม่ใช่พวกที่ได้เงินเดือนหรือมีรายได้สูง คนเหล่านี้เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ยังมีศักยภาพที่จะทำงานได้ เช่น ให้ผู้สูงอายุมานั่งที่ฝ่ายต้อนรับ หรือตามมหาวิทยาลัย ในต่างประเทศจะจ้างผู้สูงอายุทำงานเอกสาร ทำงานแอดมินหรือฝ่ายจัดการได้

“นี่เป็นหนึ่งในมาตรการดูแลผู้สูงอายุให้มีงานทำต่อโดยใช้มาตรการทางภาษีมาสนับสนุน เช่น หากจ้างผู้สูงอายุทำงานจะให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีน้อยลง เป็นต้น” รมว.คลัง กล่าว

อย่างไรก็ดี การดูแลผู้สูงอายุนั้น คลังจำเป็นต้องวางระบบใหม่ทั้งหมด เพราะความเจริญทางการแพทย์และเทคโนโลยีทำให้คนมีอายุยืนมากขึ้น ในขณะที่ประเทศมีการออมเพื่อวัยเกษียณต่ำสวนทางกัน จึงต้องปรับนโยบายให้สอดคล้อง ซึ่งเห็นว่าจะต้องเพิ่มการออมภาคบังคับที่มีอยู่ในขณะนี้ผ่านกองทุนประกันสังคม (สปส.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน และการออมผ่านกองทุนหุ้นเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็ยังไม่เพียงพอ

“เชื่อหรือไม่แรงงานระดับกลางที่ทำงานอยู่ 14 ล้านคน ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก จึงอยากให้มีการเพิ่มการออมส่วนนี้ ซึ่งจะช่วยให้เมื่อแรงงานสูงอายุขึ้นแล้วมีรายได้เพียงพอใช้หลังเกษียณ โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ให้บริษัทเอกชนทุกแห่งที่มีการจ้างแรงงานตามคุณสมบัติที่จะกำหนดในภายหลัง จะต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน” รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ หลังจากปี 2560 จะทบทวนเงินยังชีพของคนชรา ที่รัฐบาลจ่ายให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 600 บาท/เดือน เพราะพบว่าแต่ละปีมีผู้สูงอายุที่ไม่มารับเงินมากพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้ และมีงานทำ แต่เงินจำนวนนี้ กรมบัญชีกลางจ่ายขาดให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นไปจัดการจ่ายให้ตามรายชื่อที่ลงทะเบียน แม้ไม่มีคนมารับ แต่เงินก็ไม่กลับมาสู่ส่วนกลาง โดยหลังเริ่มใช้ระบบเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์แล้ว กรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตรงไปให้กับผู้สูงอายุที่รับสวัสดิการนี้เข้าบัญชีพร้อมเพย์ ก็จะรู้ว่ามีคนที่ไม่มารับเงินสวัสดิการส่วนนี้เท่าไหร่

“สิ่งที่คลังจะทำคือ นำเงินส่วนที่ไม่มีคนมารับมาเกลี่ยใหม่ให้กับคนที่รับเงินเดือนละ 600 บาทอยู่ อาจจะทำให้เขาได้เงินมากขึ้นมาเป็นเดือนละ 1,000 บาทก็ได้ ซึ่งผู้สูงอายุได้ประโยชน์เต็มที่โดยที่ไม่ได้เพิ่มเงินงบประมาณเลย” อภิศักดิ์ กล่าว

ท่ามกลางนโยบายแก้ปัญหาของรัฐบาลดังกล่าว ด้านเอกชนในวงการแรงงาน นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า มาตรการสนับสนุนบริษัทเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ ต้องการสนับสนุนให้เกิดการจ้างพนักงานระดับล่างทำงาน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอดำรงชีพหลังเกษียณอายุ

ดังนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทต่างๆ จะพากันจ้างผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะที่จริงแล้วความสนใจจ้างคนวัยเกษียณมาทำงานอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทเองด้วย เช่น รูปแบบการจ้างงาน ว่าจะเป็นแบบเต็มเวลาหรือแบบสัญญาจ้าง เนื่องจากรูปแบบการจ้างงานที่ต่างกัน จะมีผลต่อการจัดสรรสวัสดิการให้พนักงาน ซึ่งหมายถึงบริษัทต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มค่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับหรือไม่

ส่วนข้อดีของการจ้างงานคนวัยเกษียณ คือช่วยหาแรงงานชดเชยให้บางสาขางานที่หาแรงงานยาก และแรงงานวัยนี้สั่งสมประสบการณ์มามากทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน จึงเป็นประโยชน์กับองค์กรช่วยอบรม ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังได้ โดยคนวัยเกษียณสามารถทำงานได้หลายสาขาที่เน้นใช้ทักษะด้านภาษา การคิดคำนวณ มากกว่าใช้แรงงานหรืองานที่ใช้ทักษะด้านร่างกายเป็นหลัก

ขณะที่เอกชนผู้จ้างงาน ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า เครือเซ็นทารารับผู้สูงอายุมาทำงานก่อนที่รัฐบาลจะมีแนวคิดออกมาตรการส่งเสริมแล้ว โดยพิจารณารับผู้สูงอายุตามศักยภาพของแต่ละคน เพราะการจ้างงานคนวัยเกษียณจะต้องคำนึงถึงสุขภาพ งานที่ให้คนวัยเกษียณทำจะต้องไม่หนักเกินไป และต้องตกลงเรื่องเวลาทำงานยืดหยุ่นเป็นแบบพาร์ตไทม์

“ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่อยากทำงาน บางคนก็อยากพักผ่อนอยู่ที่บ้าน แต่บางคนมองว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข ผมก็เชื่อว่าถ้ายังทำงานได้ สนุกกับงาน แล้วมีเวทีให้ คนวัยเกษียณก็คงอยากทำงาน เพราะที่ผ่านมาบางคนเกษียณไปแล้วหยุดทำงานเลยจากที่เคยทำงานมาตลอด 30-40 ปี ก็จะรู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่าง ในส่วนของธุรกิจโรงแรมตำแหน่งที่คนวัยเกษียณพอจะทำได้ก็คืองานในออฟฟิศทั่วไป งานแม่บ้านที่ไม่ต้องยกของหนักๆ” ธีระยุทธ กล่าว

ภัทรา จองเจริญกุลชัย รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวเสริมว่า แรงงานวัยเกษียณที่ทำงานกับบริษัทส่วนใหญ่ยังอยากทำงานอยู่ จึงมีนโยบายรับคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานต่อหากมีผลการปฏิบัติงานดี ส่วนแรงงานวัยเกษียณจากองค์กรอื่นๆ บริษัทก็ยินดีรับ โดยทำสัญญากันปีต่อปี หรือสูงสุดสามปี ปัจจุบันมีแรงงานวัยเกษียณทำงานกับบริษัท 107 คน มีอายุสูงสุดอยู่ที่ 81 ปี ทำงานวันละ 3-9 ชั่วโมง ส่วนเงินเดือนให้ตามตำแหน่ง บนแนวคิดแรงงานวัยเกษียณทำงานได้เต็มศักยภาพไม่แพ้ใคร จึงควรได้เงินเดือนตามตำแหน่งที่สมควรจะได้รับ

กรณีประเด็นที่ว่าสำหรับงานโรงแรม พนักงานถือเป็นหน้าเป็นตาขององค์กร หากแขกไปใครมา พบแรงงานวัยเกษียณ จะมีผลต่อภาพลักษณ์องค์กรหรือไม่ ภัทรา กล่าวว่า เป็นผลดีและน่าชื่นชมมากกว่า “ลองดูเวลาที่เราไปประเทศญี่ปุ่น แล้วพบเจอคนสูงวัยทำงาน เรายังเกิดความรู้สึกดี ซึ่งการทำงานของแรงงานวัยเกษียณ เขาย่อมต้องทำงานที่เหมาะสมกับวัยและสุขภาพของเขาอยู่แล้ว เราคงไม่ให้เขาทำงานหนัก หรือยกของหนัก หรือไต่บันไดขึ้นที่สูง ทุกคนได้ทำงานที่เหมาะสมกับวัย สุขภาพ และศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่อย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกับ เกษมกิจ โฮเทลส์ ที่มีในเครือกว่า 17 แห่ง ได้รับสมัครผู้ที่เกษียณอายุแล้ว ในตำแหน่งบัญชี พ่อครัว ซักรีด ซ่อมบำรุง อาหารเครื่องดื่ม และด้านอื่นๆ เช่น ที่ปรึกษา ในสายงานโรงแรม ทั้งแบบทำงานเต็มเวลา และแบบทำงานบางเวลา เพื่อรองรับการขยายสาขาเพิ่ม

นอกจากนั้น สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครนายกได้แนะนำ 15 อาชีพหลังวัยเกษียณ ที่ช่วยให้มีรายได้ ช่วยไม่ให้สมองฝ่อ คือ 1.ที่ปรึกษาผู้บริหารบริษัท 2.นักเขียน-คอลัมนิสต์ นับเป็นอาชีพยอดฮิตของคนวัยเกษียณ 3.อาจารย์-นักวิชาการ 4.วิทยากร นักพูด นักอบรม 5.ธุรกิจเกี่ยวกับต้นไม้-จัดสวน 6.นักลงทุนในตลาดหุ้น 7.ธุรกิจปล่อยเช่า มีบ้านหรือคอนโดมิเนียมให้เช่า 8.ทำอาหาร-ขนม-น้ำผลไม้ขาย 9.ศิลปิน-วาดรูปบนเซรามิก 10.นายหน้าเจรจาซื้อขาย 11.ไกด์นำเที่ยว 12.ธุรกิจขายตรง 13.เย็บเสื้อ-ถักทองานฝีมือ 14.เกษตรกรรมอย่างเรียบง่ายและพอเพียง และ 15.นักจัดรายการวิทยุ

ทั้งนี้ การเลือกงานหลังเกษียณ นอกจากพิจารณาเรื่องสุขภาพแล้ว ต้องเลือกให้เหมาะกับความถนัด ความชอบ นิสัย เป็นการทำงานหาเงิน เพื่อใช้ชีวิตดำเนินไปอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่หักโหมงานหนัก ตามที่แพทย์ผู้จัดรายการสามหมออารมณ์ดีเตือนว่าผู้สูงอายุทั้งหลายหากยังโหมงานหนัก มีโอกาสมากที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย โดยเฉพาะงานที่เครียดมากๆ อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ ก็หวังว่าการแก้ปัญหาผู้สูงวัยรายได้ไม่พอจะไม่เป็นการไปสร้างปัญหาใหม่ให้งบประมาณค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเพิ่ม