posttoday

กำนันทำเอง เชียร์รธน.ไม่เกี่ยว"ประยุทธ์"

10 กรกฎาคม 2559

"ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ คสช. เรามีหน้าที่ต้องดูแลส่วนได้เสียของประเทศไทย ผมคิดเห็นโดยสุจริตว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เรามีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน"

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดตัวรอบใหม่กับบทบาท “องครักษ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้วยการส่งเสียงเชียร์แบบสุดตัว พร้อมเปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวนำเสนอจุดเด่นจุดดีแบบไม่ห่วงภาพลักษณ์ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติ ท่ามกลางข้อกังขาว่าการขยับรอบนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มี “สัญญาใจ” หรือ “ผลประโยชน์” แอบแฝงหรือไม่

สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์กับการประกาศจุดยืน “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญแบบตรงไปตรงมาว่า “ชอบ” และ “พอใจ” ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะตอบสนองข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชนเรื่องการปฏิรูปประเทศ

ก่อนหน้านี้มวลมหาประชาชนออกมาชุมนุม 204 วัน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศโดยทันที ทำก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะไม่ต้องการให้วงจรเลวร้ายทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาเกิดขึ้นอีก เนื่องจากจะทำให้ประเทศชาติ ประชาชน เดือดร้อน

ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปของมวลมหาประชาชนมี 5 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง ทั้ง พรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง ขั้นตอนเลือกตั้ง หวังให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม สนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชนที่แท้จริง 2.ปฏิรูปเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นสร้างความเสียหายยิ่งใหญ่ให้กับประเทศมาก

3.ปฏิรูปกระบวนการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เป็นรูปธรรม ป้องกันไม่ให้นำเอานโยบายประเภทประชานิยมมาใช้เพื่ออ้างว่าจะช่วยคนจน และกลายเป็นเรื่องการทำมาหากินของฝ่ายการเมือง 4.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และ 5.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มวลมหาประชาชนเรียกร้อง

ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน อธิบายว่า การร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเอาไว้ มากกว่าที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องไว้เสียอีก ทั้งนี้ มวลมหาประชาชนพิจารณาในประเด็นเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นสำคัญ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน

“ผมออกมาแสดงความเห็นว่าชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเหตุผลอย่างนี้ ไม่มีเบื้องหลังเป็นอย่างอื่น”

ถามว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเพราะต้องการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือต่อรองอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ สุเทพย้อนไปถึงช่วงหลังรัฐประหารว่า ตั้งแต่ คสช.เข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาประเทศไทย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง จะเห็นว่าก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก่อนที่มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนตัวไปบวชแล้วเป็นเวลาปีกว่า

“ผู้ที่เป็นแกนนำ กปปส.ทั้งหลายก็ไปบวช ไม่มีใครได้ประโยชน์หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล เป็น สนช.ก็ไม่มี ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ผมไปบวชไม่เคยพบปะพูดคุยปรึกษาหารือ หรือว่ารับฟังความเห็น ไม่เกี่ยวข้องกัน ผมเจอ พล.อ.ประยุทธ์ ในงานศพ งานพิธีต่างๆ เป็นครั้งคราว จนถึงเดี๋ยวนี้ไม่มีการติดต่อพูดจาหรือโทรศัพท์”

สุเทพ เล่าว่า ในส่วนของการให้คำแนะนำเรื่องการปฏิรูปมีอยู่ครั้งเดียวหลังยึดอำนาจใหม่ ปลัดกระทรวงกลาโหมได้เชิญแต่ละฝ่ายไปพูดคุยถามว่า สำหรับการปฏิรูปประเทศ กปปส.เห็นอย่างไร ก็กราบเรียนไป ต้องการเห็นปฏิรูปตามนั้นเพียงครั้งเดียว

ในส่วนของการชี้แจงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญลงในเฟซบุ๊กสิบกว่าวันนั้น ช่วงแรกมีคนติดตามมากบ้างน้อยบ้าง ตั้งแต่หลักแสนจนถึงหลักหมื่น เป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งคนเขาต้องการได้ยินว่าส่วนตัวเขามีความคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เมื่อรู้ว่าประกาศจะไปลงประชามติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญนี้

“ที่ผมจัดเฟซบุ๊ก ผมก็ถือว่าได้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย ผมไม่ได้มาชักชวนใครให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผมอธิบายกับพี่น้องประชาชนว่า ผมอ่านรัฐธรรมนูญ ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมดแล้ว และผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดี เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในประทศไทย และวางกรอบกฎเกณฑ์กติกาของบ้านเมืองได้ตรงจุด ตรงประเด็น ตรงใจที่ประชาชนเรียกร้อง ผมก็อธิบายในรายละเอียดว่าแต่ละเรื่องตรงใจอย่างไร และประกาศว่าจะไปลงประชามติตั้งใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ” 

“ผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ คสช. เรามีหน้าที่ต้องดูแลส่วนได้เสียของประเทศไทย ผมคิดเห็นโดยสุจริตว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติก็จะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี เรามีโอกาสที่จะพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล เราแสดงออกของเรา ไม่มีจะต้องไปคิดเห็นในแนวทางเดียวกับ คสช.หรือไม่ อย่างไร

...ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับท่านอาจารย์บวรศักดิ์ร่างผมก็เห็นด้วย เพราะเป้าหมาย กปปส. คือการปฏิรูปประเทศ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งเขียนได้กว้าง และลึกกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนเสียอีก ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับคนใน คสช. ผมก็ไม่รู้ ไม่ได้ถาม ไม่ได้ตรวจสอบกับเขาว่าเขาคิดอย่างไร จนถึงเดี๋ยวนี้”

กำนันทำเอง เชียร์รธน.ไม่เกี่ยว"ประยุทธ์"

หลายคนโจมตีว่าสุเทพดูจะเจาะจงพูดแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่า “ก็ผมชอบก็ต้องพูดด้านดีสิ คนไม่ชอบก็พูดด้านร้ายทุกวัน เป็นธรรมดา คนรักคนชอบเจอจุดที่เห็นว่าพอใจ คุณก็ต้องพูดเรื่องที่คุณชอบ ผมไม่ได้ไปวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ผมบอกว่าผมชอบรัฐธรรมนูญตรงไหนบ้าง อีกทั้งปกติเวลาออกเฟซบุ๊กก็ได้แค่ 4-5 นาที พูดอะไรไม่ได้มาก”

สุเทพ เล่าให้ฟังว่า อาจมีจุดที่ไม่ถูกใจในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ภาพรวมยังเห็นว่าดี ส่วนตัวไม่ชอบให้มี สส.แบบบัญชีรายชื่อ เพราะคิดว่าไม่ได้ออกแรงไปหาเสียง ไปสัมผัสประชาชน ไม่ต้องตากแดดตากฝน ไม่ต้องไปไหว้ใคร อาศัยพึ่งใบบุญของพรรค ได้มาเป็น สส. ได้เป็น สส.แล้วก็ไม่ไปเยี่ยมเยียนประชาชน ไม่ดูแลเขตพื้นที่ ไม่ต้องเดือดร้อน เงินเดือนได้เท่ากัน สิทธิทุกอย่างเท่ากันหมด จึงไม่ต้องการเห็น สส.ประเภทนี้

“ผมต้องการเห็น สส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเท่านั้น ประเภทเดียว แต่เราไม่ใช่คนเดียวในประเทศไทยที่จะกำหนดอะไรได้ คนอื่นเขาก็มีความคิดและเหตุผล มองว่าคะแนนที่ไม่ชนะ ไม่ควรจะโยนทิ้งไป เขาก็มีความคิดของเขาดี ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเกินไปเมื่อช่างน้ำหนักกับส่วนอื่นอีก 99% ดีกว่า ผมไม่ชอบตรงนี้ก็ไม่เอามาเป็นประเด็น”

อดีตเลขาธิการ กปปส. ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ทุกคนก็บอกว่ายาก คงต้องรอชาติหน้า แต่ถ้าคุณไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาเขียนไว้ว่าจะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจทั้งหมด พร้อมบอกด้วยว่าคนที่จะมาเป็นกรรมการมีคุณสมบัติอย่างไร ตำแหน่งประธานต้องเป็นคนที่ไม่ได้เป็นตำรวจมาก่อน บังคับเลยว่าต้องแก้กฎหมายให้เสร็จภายใน 1 ปี

นอกจากนี้ ในเรื่องจริยธรรม คุณธรรม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ใช้บังคับกับตุลาการรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สส. สว. นักการเมือง รัฐมนตรีทุกคน 

ตรงนี้มีน้ำหนักกว่าคราวก่อน ที่พูดเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนเขียน แต่วันนี้บอกชัด มีมาตรฐานกำหนดเลย ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่สามารถเขียนมาตรฐานทางจริยธรรมเสร็จภายใน 1 ปี ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทุกคนเลย นั่นแข็งแรงมากๆ

สุเทพ อธิบายว่า อีกสิ่งที่ประชาชนบ่นคือ สส.หาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ไปเป็น กมธ.งบประมาณ และแปรญัตติ เพิ่มโครงการ เพิ่มเงิน แล้วรัฐมนตรีก็รู้ สส.ก็รู้ แต่ต่อไปนี้ไม่ได้ ถ้ารู้ว่า สส. สว. ไปทำแล้วถูกร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ หากพบว่าผิดก็จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต กลับมาไม่ได้อีก ถ้าใครไปมีส่วนในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ออกไป แล้วมีความผิด ครม.รู้เห็นมีส่วน ก็ให้พ้นตำแหน่งทั้งคณะ และต้องชดใช้เงินเสียดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องการเห็น

ก่อนหน้านี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ ส่วนตัวก็เคยไปแถลงข่าวสนับสนุนที่โรงแรมอินเตอร์คอนฯ แต่พอดีถูกคว่ำในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนทำประชามติเลยทำอะไรไม่ได้มาก แต่คราวนี้ประชาชนยังไม่มีโอกาสได้อ่านรัฐธรรมนูญกันมาก กกต.พิมพ์ผิดๆ ถูกๆ และบางส่วนยังส่งไปถึงเลย

“ผมจึงออกมาบอกกับประชาชนว่า ผมคิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ แล้วผมก็ทำเฟซบุ๊กเพราะเป็นเรื่องที่สะดวก ไม่ต้องไปประชุมกับใครเกิน 5 คน ผิดกฎหมาย ผมไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย กฎหมายบอกว่าอย่าไปบอกใครว่าให้รับหรือไม่รับ แต่ชอบไม่ชอบตรงไหนวิจารณ์ได้ ผมก็ทำเท่าที่ทำได้ตามกฎหมาย”

“ผมก็บอกแล้วว่า ผมไม่คิดที่จะลงไปสมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว ผมไม่คิดกลับไปพรรคประชาธิปัตย์  ไม่คิดกลับไปตั้งพรรคการเมือง ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นห่วงอีกแล้ว ผมเป็นห่วงประเทศมากกว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน ผ่านประเทศขาดทุน อย่างน้อยก็ขาดโอกาสที่จะปฏิรูปในด้านต่างที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้”

สำหรับโค้งสุดท้ายมีแผนจะทำอย่างไรต่อไปหรือไม่ สุเทพ กล่าวว่า ไม่มีแผนทำไปตามสถานการณ์และตามที่กรอบของกฎหมายอนุญาต ถ้ากฎหมายไม่ห้าม ป่านนี้อาจไปตั้งเวทีแล้ว แต่เมื่อเขาห้ามก็ทำเท่านี้ มีอะไรที่จะทำได้ก็ว่ากันตามกฎหมาย

ส่วนจุดยืนที่แตกต่างระหว่าง กปปส. และประชาธิปัตย์นั้น สุเทพ กล่าวว่า “อย่าเอาผมไปโยงกับประชาธิปัตย์ คุณต้องเชื่อผมว่า ผมออกจากประชาธิปัตย์ และไม่กลับประชาธิปัตย์อีกแล้ว เพราะฉะนั้นพรรคจะทำยังไงก็ไม่ใช่เรื่องของผม ผมจะทำยังไงก็เป็นเรื่องของผม ไม่เกี่ยวกับพรรค พรรคจะไปสั่งผมก็ไม่ได้ ผมจะไปสั่งพรรคก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องห่วงอนาคตพรรค เป็นเรื่องของพรรค พรรคก็ไม่ต้องห่วงอนาคตของผม เรื่องของผม”

ในส่วนสมาชิกที่ยังสวมหมวกสองใบนั้น สุเทพ มองว่า ประชาชนแต่ละคนเขามีจุดยืนของตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครทั้งนั้น คนไปโมเมเอาเองว่าเขาต้องเป็นอย่างงั้น มีหมวกสองใบ สามใบ เขามีหมวกใบเดียวคือ ประชาชน ยกเว้นสมาชิกพรรค กรรมการบริหารพรรคหนึ่งพรรคใดก็คิดไปตามนั้น แต่ประชาชนคิดแง่ประชาชน ไม่ได้หมายความว่าต้องผูกปี ตีตราจองคิดนอกกรอบไม่ได้ 

แนวคิดที่ผ่านมาเรื่องรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปไหม หลังจาก ปชป. มา กปปส.

เมื่อผมออกมาร่วมต่อสู้กับมวลมหาประชาชน เราก็หลอมความคิดเข้ากับมวลมหาประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความคิดชัดเจน เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในด้านต่างๆ ขนานใหญ่ ที่เราเรียกว่าการปฏิรูปประเทศ

เคารพกฎหมายหัวใจสู่ "ปรองดอง"

สำหรับภารกิจสำคัญอย่างการคลี่คลายความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง นั้น สุเทพ มองว่า คนพูดเรื่องปรองดองเป็นนามธรรมมาก สิ่งที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายต้องเคร่งครัดให้ได้ผล ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง เท่านี้ก็ไม่มีเหตุที่จะไปเรียกใครมานั่งคุยสร้างความปรองดอง

“ผมก็ทำตามกฎหมาย คุณก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คุณกับผมก็ไม่ต้องมีเรื่องกัน แต่ถ้าคุณทำผิดกฎหมายแล้วมาบอกว่าต้องรอประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อน อย่างนี้ก็ปรองดองไม่ได้ นักการเมืองจะเห็นแย้ง มองไม่เหมือนกันไม่เป็นไร คุณจะคิดเห็นแตกต่างกันยังไงก็ได้ แต่คุณห้ามทำผิดกฎหมาย

...การที่คุณไม่ทำผิดกฎหมาย ยกพวกตีกัน โฆษณาชวนเชื่อแบ่งแยกดินแดน อย่างนี้ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ  พวกผม กปปส. ไม่ต้องชวนไปร่วมวงปรองดองกับใคร เพราะผมไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ถ้าทุกคนทำแบบนี้ก็จบ”

สุเทพ อธิบายว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้แก้ปัญหาปรองดองด้วยการว่าไปตามกฎหมาย และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนิรโทษกรรมล้างผิด

ทั้งนี้ ถ้าคนคิดง่ายๆ ว่าทำผิดกฎหมายแล้วมานิรโทษ ต่อไปคนก็ไม่กลัวกฎหมายหรอก ส่วนตัวไม่เรียกร้องเรื่องนิรโทษกรรม ทั้งที่ตัวเองเป็นจำเลยอยู่มาก ก็ไปสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องเคารพกฎหมาย เคารพ ยอมรับกระบวนการยุติธรรม อย่าคิดว่าถ้าเราถูกลงโทษ แล้วไม่ยุติธรรมไม่ได้

“ผมนั่งทำสำนวนแก้ข้อกล่าวหาเยอะมาก ทั้งกบฏ ก่อการร้าย บุกรุกสถานที่ราชการ เป็นอั้งยี่ เป็นซ่องโจร เยอะแยะไปหมด เยอะมาก เขียนคำให้การมาเป็นปีๆ ก็ยังไม่จบ ไม่เห็นต้องหนีไปไหนก็ยังต้องสู้คดี เตรียมตัวสู้คดีในศาล ยังไม่นับรวมคนนู้น คนนี้หาเรื่อง ทั้งธาริต (เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ)  ฟ้อง เอสซีแอสเสท ฟ้องบ้าง ก็ไปสู้คดีทุกคดี”

สุเทพ ย้ำว่า เรื่องการเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย เป็นหัวใจ ถ้าทำเรื่องนี้ บ้านเมืองก็เรียบร้อยไปเอง ไม่ต้องเรียกให้ใครมาปรองดองกับใคร

“คุณกับผมยังโกรธกันได้เหมือนเดิม แต่ว่าคุณทำผิดกฎหมายไม่ได้ จะลุกมาชกผมผิดกฎหมาย ดักตีกบาลผมผิดกฎหมายไม่ได้ ถ้าคุณไม่ทำผิดกฎหมาย ผมไม่ทำผิดกฎหมาย ผมกับคุณก็ไม่มีเรื่อง ถึงไม่ชอบกันก็ช่วยไม่ได้ จะไปบังคับให้คุณกับผมมารักกันได้ยังไง เป็นเรื่องของหัวใจ ไม่ต้องกังวล แค่อย่าผิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย”

ถามว่ามีบางฝ่ายออกมาโจมตีว่าถูกกลั่นแกล้งเอาผิดทางกฎหมาย สุเทพ ตอบทันทีว่า  “แล้วทำไมผมไม่พูดอย่างนั้นบ้างล่ะ ผมก็ถูกดำเนินคดีเหมือนกัน ธาริตตั้งข้อหาผมเยอะแยะไปหมด ทำไมผมไม่ร้องอย่างนั้นบ้างล่ะ แกล้งก็แกล้งไป ก็ต้องต่อสู้ตามข้อเท็จจริง ตามพยานหลักฐาน”

“ผมคิดว่าอย่าพูดเอาแต่ได้ ระบบศาลยุติธรรมของประเทศไทย ผมถือว่ามีมาตรฐาน มีมาตรฐานมาเป็นร้อยปีแล้ว เพราะฉะนั้นต้องเคารพ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้เปรียบ แล้วต้องบอกว่าศาลไม่ยุติธรรม อย่างนี้คนพูดก็ไม่ยุติธรรม เราต้องเคารพตรงนี้ก่อน เรามีตั้ง 3 ศาล ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ผมสู้คดีกับคุณวาสนา (เพิ่มลาภ อดีต กกต.) มา 3 ศาล ผมก็สู้” สุเทพ กล่าว

กำนันทำเอง เชียร์รธน.ไม่เกี่ยว"ประยุทธ์"

งานเด่นคสช.ปฏิรูปคืบหน้า หนุนยึดที่ดินสปก.สร้างความเป็นธรรม

ผ่านมา 2 ปีกว่ากับการบริหารประเทศของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับแม่น้ำ 5 สาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต เลขาธิการ กปปส. ที่เคยเป็นแกนนำร่วมกับมวลมหาประชาชนออกมาเรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ประเมินความคืบหน้าการปฏิรูปสามารถเดินหน้าไปได้หลายเรื่อง

“ผมว่า คสช. ตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจ เขาสามารถที่จะทำให้สิ่งที่เป็นความหวังประชาชนได้หลายอย่าง ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย พวกเย้วๆ ก็ต้องอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกมาทำความวุ่นวาย ประชาชนใช้ชีวิตปกติสุขได้ อันที่สอง เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมถือว่า คสช.ทำได้ดี เอาจริงเอาจัง อยากให้เขาทำแบบนี้เข้มข้นต่อไป สาม หลายอย่างที่เขาทำได้เลย ใช้อำนาจ คสช. ทำได้เลย ยกตัวอย่าง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ คำสั่ง คสช. จัดการศึกษาภาคบังคับโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 15 ปี ตรงนี้ถือเป็นการเริ่มการปฏิรูปการศึกษาแล้ว”​

“ผมหนุนสุดตัว เพราะผมเป็นคนบ้านนอก คนยากคนจน คนบ้านนอกเสียเปรียบไม่มีโอกาสได้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่กระบวนการศึกษาเพราะว่าโรงเรียนอนุบาลบ้านนอกไม่มี ในอำเภอ ตัวเมือง​โรงเรียนอนุบาล บางแห่งก็แพงวันนี้เขาบังคับ เขาจะจัดการศึกษาตั้งแต่ขั้นอนุบาลก่อนวัยเรียน นี่เป็นการสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าเป็นแบบเดิมก็แพ้ตั้งแต่แรก เราอายุ 8 ปี ​เข้า ป.1 เขาเรียน เอ บี ซี ​วัน ทู ทรี เรายังมา เอ เขียนผิด เขียนถูกต่างกันมา ดังนั้น จะมาบอกผมเชียร์ สนับสนุน ก็เชียร์จริงๆ เพราะว่ามันดี”

ถามต่อเนื่องไปถึงคำสั่ง คสช. 36/2559 มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย   ทั้งนี้ มีด้วยกัน 13 ข้อ เพื่อดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน หรือบางรายคำที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่คืนเพื่อให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดที่ดินตามกฎหมายไม่ยอมดำเนินการตามคำพากษา

สุเทพ กล่าวว่า ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้อง ส่วนตัวเคยเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดิน เคยเป็น รมต. ถูกกล่าวหาใส่ร้ายเยอะแยะ รัฐบาลหลังๆ ก็ละเลยไม่ได้ทำ ทิ้งเอาไว้ วันนี้เขามาสะสางเป็นเรื่องที่ดี ให้เกิดความเป็นธรรม ทั่วถึงก็ว่าไป ใครที่มีที่ดินมากมาย แล้วเป็นที่ดินของรัฐเขาก็เอามาจัดสรร เป็นเรื่องปกติ ​กำหนดกฎเกณฑ์ กติกา

“ตอนแรก ผมเข้าไปเป็น รมช.เกษตรฯ สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ​มีนโยบายเอาที่ดินของรัฐที่ราษฎร ครอบครองทำกิน มาทำการปฏิรูป โดยเราบอกว่า ถ้าใครถือครองที่ดินอยู่ให้เอามาคืน แล้วมาจัดให้เขาตามจำนวนที่เขาครอบครองอยู่จริง ตอนนั้นคิดไม่เกิน 50 ไร่​ ถ้าเขาทำจริงๆ  ก็ดี อย่างน้อย 500 ไร่ ก็มีอย่างน้อย 10 ครอบครัว ที่เขาได้”​

“มันไม่มีการแก้ไขกฎหมาย เขาเล่นงานผมเสร็จแล้วเวลาจะทำไม่กล้าทำ ติดอยู่ตรงนั้น ไม่ทำอะไร ปัญหาหมักหมม  ผมคิดว่า ปัญหา มีเยอะ แต่ว่า ตรงไหนทำได้ต้องรีบทำ ไม่ยืดเยื้อต่อไป พอจะเข้าไปจัดที่ดินก็ไป ติดขัดหรือมีกลุ่ม คล้ายๆ อิทธิพลยึดครอง เกรงใจติดขัดไม่สามารถมาปฏิรูปได้”

สุเทพ ระบุว่า การแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแปลงว่า พื้นที่ที่เอามาให้คนจน จริงๆ มีกฎหมายที่กำหนดไว้ชัดว่าที่ดินที่จัดให้ โดยกฎหมายปฏิรูปที่ดินขายต่อให้คนอื่นไม่ได้ เปลี่ยนมือได้ตามมรดก พ่อให้ลูก แต่วันนี้ต้องมาบังคับตรงนี้ให้ชัดไม่งั้นวันหน้าคนจนบุก ​ต่อไปจะไปเอาที่ไหนมาให้  เขาต้องทำไปพูดให้ประชาชนเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ทำการเกษตรที่ดินเป็นปัญหาหนึ่ง น้ำก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง​ต้องแก้ทุกปัญหา อันไหนทำได้ ต้องทำทันที อันไหนติดขัดต้องคิดหาวิธีการต่อไป เช่น เรื่องการโซนนิ่งการเกษตร พื้นที่ไหนเพาะปลูกพืชชนิดไหน ​ถ้าวันนี้ทำให้ชัดเจนก็ดี บางพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวก็ทำอย่างอื่นซึ่งต้องไปดูแลเขา ทั้งวิธีการเพาะปลูก เรื่องการแปรรูป การตลาด จริงๆ มีโอกาสที่จะทำให้สำเร็จได้ ช่วงที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่แบบนี้

สำหรับเรื่องยางพารา สุเทพ อธิบายว่า สถานการณ์ในขณะนี้แตกต่างจากอีกสมัยที่เคยมีส่วนรับผิดชอบแก้ปัญหาราคายาง จากกิโลกรัมละ 37-38 บาท  มาเป็น  170-180 บาท  วันนี้พื้นที่ปลูกยางเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศ​และต่างประเทศ  ขณะที่เศรษฐกิจโลก​ความต้องการใช้น้อยลง มีปัญหาเรื่องดีมานด์ซัพพลาย

​สิ่งที่​ทำได้เร็ว คือเรื่องของการส่งเสริมให้มีการใช้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าในประเทศไทยให้มากขึ้น ​ประเทศเราส่​งออกยางพารา 80-90% ใช้ในประเทศน้อยมาก มันอาจต้องมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน สินค้าสำเร็จรูปจากยางพาราในประเทศไทย โดยต้องมีแรงจูงใจ
เป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลก่อนว่าจะสร้างนิคมยาง แต่ก็ยังไม่เกิดซักที วันนี้น่าจะเกิดได้เพราะคำสั่ง คสช. เป็นกฎหมาย สามารถทำได้เร็ว ซึ่งต้องมีหลายมาตรการ ต้องมีคนที่นั่งทำงานเป็นการเฉพาะ​

ยกตัวอย่าง สมมติที่ภาคใต้ คนที่มีสวนยางถึงเวลาต้องตัดโค่น กรีดมา 29-30 ปี วันนี้ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายก็อาจกำหนดให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งวันนี้อยู่ในการยางแห่งประเทศไทย โดยออกเป็นมาตรการ​ถ้าสวนยางเหล่านี้โค่นยางแล้วไปปลูกปาล์มน้ำมัน  ก็จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ จูงใจให้พื้นที่ที่เคยปลูกยางเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกปาล์ม ปริมาณยางพาราก็น้อยลงอีกทาง

“ที่พูดไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ประเทศมาเลเซียทำตัวอย่างให้เราเห็นพื้นที่ปลูกยางลดน้อยลงมาก เขาหันมาทำเรื่องปาล์มน้ำมันมาก ของเราปาล์มน้ำมันยังไม่พอบริโภคภายในด้วยซ้ำ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง”​

สุเทพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ ก่อนจะจัดการเลือกตั้งทั่วไป ตรงนี้เป็นจุดยืนที่เราไม่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้  สาเหตุที่เราสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเรามีความรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการไปในทิศทางที่มวลมหาประชาชนตั้งความหวังไว้ ก็มีง่ายๆ เท่านั้น ตรงไปตรงมาชัดเจน