posttoday

ศึกหมอรอบด้าน ทำ ‘30บาทฯ’ ระส่ำ

08 กรกฎาคม 2559

ดูเหมือนว่าข้อขัดแย้งเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ที่สงบมาสักระยะหนึ่งกำลังเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ดูเหมือนว่าข้อขัดแย้งเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ที่สงบมาสักระยะหนึ่งกำลังเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง

สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ไม่รับรองชื่อ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ ผู้ใกล้ชิดชมรมแพทย์ชนบทและใกล้ชิดเอ็นจีโอ ให้เป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ทั้งที่เป็นตัวเก็งเพียงคนเดียว ด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 14 ต่อ 13

ไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมบอร์ดถึงไม่รับรอง แต่ดูจากรูปการณ์แล้วมี “เสียงกระซิบ” ไปยังกรรมการสัดส่วนข้าราชการประจำ เพราะมิเช่นนั้น เสียง “โน” คงไม่ไปในแนวทางเดียวกัน จนคว่ำชื่อหมอประทีปได้อย่างเฉียดฉิว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ยังไงก็ “นอนมา”

เพราะเพียงไม่กี่วัน ก่อนจะเลือก “กองเชียร์” เอารายชื่อบอร์ดมากางดูแล้วค่อนข้างชัวร์ว่า ถ้าปล่อย “ฟรีโหวต” หมอประทีปจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น เพราะบรรดาบอร์ดสายข้าราชการประจำนั้น หลายคนมีสายสัมพันธ์อันดีกับ สปสช. และทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ไม่น่าจะโหวตโนได้

แม้ หมอปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) จะยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนล็อบบี้ แต่หลายเสียง โดยเฉพาะในชมรมแพทย์ชนบทปักใจเชื่อไปแล้วว่ามาจากฝีมือ “หมอหลวง” อดีตคณบดีศิริราชคนนี้แน่นอน

แต่หากสังเกตขบวนการถล่ม สปสช.อย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่หมอปิยะสกล จะเข้ามารับตำแหน่ง ผ่านการใช้หน่วยงานอย่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำให้เกิดความเสียหายภาครัฐ (คตร.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ภายใต้การดูแลของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เข้ามาไล่บี้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อกล่าวหาเรื่อง “ใช้เงินผิดประเภท” ออกมา ด้วยเหตุนี้ ข้อกล่าวหาว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ “โรงพยาบาลขาดทุน” และประเทศไทยไม่พร้อมในการมีนโยบายนี้ จึงได้ออกมาจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แม้จะไม่ปรากฏเรื่อง “ทุจริต” แต่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ในขณะนั้นก็ถูกหางเลขคำสั่งมาตรา 44 ให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย และแม้จะใช้เวลาตรวจสอบนานนับปี อีกทั้งไม่เจอข้อผิดพลาดใดๆ นพ.วินัย ก็ถูกฟรีซตำแหน่ง ไม่ให้กลับไป สปสช. โดยที่ไม่มีความผิด

การเข้ามาตรวจสอบของ คตร.กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ตามไปสู่การวินิจฉัยว่า “ใช้เงินผิดประเภท” โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปจนถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งผลกระทบกับเงินกองทุน และกับกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้รับเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอให้ออกคำสั่ง “มาตรา 44” เพื่อแก้ล็อกให้การใช้เงินกองทุน “บัตรทอง” ของ สธ.ในหลายประเด็นเป็นไปได้อย่างราบรื่น

แต่ก็น่าสนใจ เพราะคำสั่งถูกเสนอไปยังรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.พ.แล้ว ทว่าสุดท้ายกลับเพิ่งจะมีประกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงลือว่า “ทหารใหญ่” ขอร้องให้ชะลอ เนื่องจากถ้าออกมาแล้วจะทำให้ นพ.วินัย พ้นผิดจนต้องคืนตำแหน่งให้ จึงต้องรอเวลาให้ นพ.วินัย พ้นวาระไปก่อน

เรื่องความพยายามจัดการ “สปสช.” และความพยายามจัดการกับระบบหลักประกันสุขภาพ จึงไม่ได้อยู่แค่ที่ รมว.สาธารณสุข หรือตัวกระทรวงเท่านั้น แต่อันที่จริง “อีนุงตุงนัง” กว่านั้นมาก

สมรภูมิสุดท้ายถูกโฟกัสไปยังการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2545 ที่ล่าสุด นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. บอกว่า ได้ข้อสรุปเรื่องเอา “เงินเดือนบุคลากร” ออกจากกองทุน สปสช. และเอาเงินกลับไปยัง สธ.เรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าใน พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข “บอร์ด สปสช.” จะมีสัดส่วนของ “กระทรวงหมอ” มากขึ้น เพราะถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ รายเดียวของกองทุนบัตรทอง แต่ปัจจุบันกลับมี “ปลัด สธ.” นั่งอยู่เพียงคนเดียว

ว่ากันว่าโครงสร้างบอร์ดใหม่ใน พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข ให้มีตัวแทน สธ.มากถึง 7 คน ซึ่งแน่นอน หากเป็นเช่นนี้ คนของ สธ.จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในบอร์ดทันที จากเดิมที่ให้ “ภาคประชาชน” รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิสายแพทย์ชนบทและสายตระกูล ส.เสียงดังอยู่นาน

ขณะเดียวกัน หากข้อเสนอเรื่องร่วมจ่ายให้เฉพาะ “ผู้ยากไร้” เท่านั้น ที่ได้รับสิทธิบริการฟรี ส่วนกลุ่มรายได้อื่นๆ อาจต้อง “ควักกระเป๋า” ตกผลึกทันก็อาจถูกบรรจุลงไปใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ไปสู่การเป็นนโยบาย “สงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย” แทน

ด้วยเหตุนี้ หากกระบวนการเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ อยู่ในคอนโทรล ด้วยเหตุนี้ หาก พ.ร.บ.ใหม่ เข้าทางกระทรวงหมอ ผลที่ตามมาก็คือ ภาคประชาชนย่อมไร้อำนาจต่อรองไปโดยปริยาย

และอาจแปลได้อีกอย่างว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค กำลังตกอยู่บน “ปากเหว” เป็นที่เรียบร้อย