posttoday

ม.44 แก้โจ๋ซ่าไม่ใช่สูตรสำเร็จ

02 กรกฎาคม 2559

ปัญหานักเรียนตีกัน รวมถึงเด็กแว้น ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในสังคมมานาน แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะระดมความคิด หามาตรการต่างๆ มาใช้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปัญหานักเรียนตีกัน รวมถึงเด็กแว้น ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนในสังคมมานาน แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะระดมความคิด หามาตรการต่างๆ มาใช้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ จนเมื่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาได้ใช้ยาแรงออกคำสั่งพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเด็กแว้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งมาตรา 44 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2558 ห้ามรวมกลุ่มที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถ ผู้ปกครองต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่สนับสนุนและยังครอบคลุมไปถึงร้านมอเตอร์ไซค์ หากพบมีการแต่งรถนำไปสู่การยุยงให้กระทำผิดก็ต้องมีโทษด้วย

แม้ผ่านมาเกือบ 1 ปี มีการจับกุมเด็กแว้นและรวบของกลางตามพื้นที่ต่างๆ ได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังแก้ไม่หมด เช่นเดียวกับปัญหาเด็กอาชีวะตีกัน พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดนักศึกษาโรงเรียนอาชีวะย่านมีนบุรีแห่งหนึ่งก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงคู่อริต่างสถาบัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ประเดิมถูกดำเนินคดีตามคำสั่งมาตรา 44 รายแรก

มุมมองของนักวิชาการอย่าง สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายภาพว่า ทุกปัญหาของวัยรุ่นต้นเหตุมาจากทุนชีวิตที่อ่อนแอ คือ ทักษะ จิตสำนึก ทั้งต่อตนเองและสังคมรอบข้าง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่มีการพัฒนาทักษะ จิตสำนึกดีพอ และเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นก็มีความคึกคะนอง ดังนั้นทุกฝ่ายควรช่วยกันทำให้เด็กเกิดจิตสำนึกทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น

การนำมาตรา 44 มาใช้แก้ 2 ปัญหานี้ สุริยเดว บอกว่า ไม่ได้คัดค้านแนวคิดกฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว เพราะตามหลักจิตวิทยาถ้ามีเหตุทะเลาะวิวาทก็เป็นเรื่องที่ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดการสูญเสีย ซึ่งคำสั่งที่เจ้าหน้าที่สามารถกักตัวผู้ที่ทำผิดได้ 6 ชั่วโมงควบคู่กับดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องนี้ แต่คิดว่าระหว่างช่วงการควบคุมนอกจากจะต้องทำให้เยาวชนหยุดยั้งอารมณ์แล้ว ควรทำให้เกิดความนึกคิดได้ด้วย

สุริยเดว มองบทเรียนปัญหานี้ว่า ความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะกับเยาวชนเท่านั้น เพราะปัจจุบันผู้ใหญ่ก็ใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเรื่องนี้สังคม ครอบครัว ควรมีเวลาพูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้แต่เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา เพราะมาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย แต่มาตรการระยะกลางและยาว พ่อแม่ ครอบครัว สังคม ควรต้องแก้ปัญหานี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปสู่ทางที่ไม่ดี

“รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงลูก เพราะหน้าที่เลี้ยงลูกควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ แต่รัฐบาลควรทำหน้าที่สนับสนุนครอบครัว” สุริยเดว กล่าว

มนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก อธิบายสาเหตุของ 2 ปัญหาที่มีมายาวนานว่า เยาวชนมีความคึกคะนอง และเมื่อรวมกลุ่มกันก็ต้องการสร้างจุดเด่นการยอมรับให้กับตนเองในกลุ่มเพื่อน ประกอบกับเห็นแบบอย่างจากผู้ใหญ่ที่บางครั้งไม่คำถึงถึงกฎกติกาเช่นกัน จึงทำให้คิดว่าเมื่อได้รับการยอมรับก็จะทำให้รู้สึกอบอุ่น

ครูยุ่น กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องในการปฏิบัติ ฉะนั้นการแก้ปัญหาระยะสั้นก็ควรต้องป้องปรามเพื่อไม่ให้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวผู้ใหญ่ควรคำนึงถึงเยาวชนรุ่นหลังที่มองอยู่ไม่ให้ได้รับการซึมซับค่านิยมที่ไม่ดี เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความคึกคะนองอยู่แล้ว

ขณะที่การนำมาตรา 44 มาแก้ปัญหานี้ มนตรี มองว่า มาตรการที่ออกมาถือว่าดี เพราะกระตุ้นหน่วยงาน เจ้าหน้าที่รัฐในการติดตาม ตรวจสอบให้เข้มงวดต่อเนื่อง ซึ่งการนำกฎหมายมาใช้ควบคู่อย่างจริงจัง เห็นได้จากการนำมาใช้กับเด็กแว้น ก่อนหน้านี้สามารถแก้ปัญหาได้ลดน้อยลงไปมาก ดังนั้นถ้าหากหมดยุค คสช. เบื้องต้นควรดำเนินการใช้มาตรการที่เข้มงวดนี้ต่อไป แต่ถึงอย่างไรในระยะยาวควรทำให้ทุกหน่วยสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตนเอง

มนตรี ทิ้งท้ายว่า การนำมาตรา 44 มาใช้นี้ ถือเป็นตัวสะท้อนว่าทำไมกฎหมายระดับมาตรการหน่วยงานที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

มุมมองของนักจิตวิทยา พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายสาเหตุปัญหาเด็กแว้น และนักเรียนตีกันในมุมนักจิตวิทยาว่า มาจากครอบครัวที่ไม่ให้ความสนใจกับเด็ก จึงทำให้รู้สึกขาดความรักจนต้องออกไปหาเพื่อน ยิ่งเด็กสมัยนี้มีความคึกคะนอง จึงทำให้พฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นระบายออกมาชัดเจนมากขึ้น

“การแก้ปัญหาไม่มีความต่อเนื่อง ทำเฉพาะช่วงที่เป็นกระแสเกิดขึ้น ดังนั้นควรเอาจริงมากกว่านี้” พญ. มธุรดา อธิบายให้เห็นภาพ

การนำมาตรา 44 มาใช้ พญ.มธุรดา กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการนำกฎหมายนี้มาใช้ เพราะเสมือนการนำกฎหมายมาเป็นกรอบและใช้การดูแลจากครอบครัวสังคมเข้าไปแก้ไขควบคู่กัน ซึ่งมองว่าจะได้ผลดี ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะช่วง