posttoday

"ม.44 เรียนฟรี 15 ปี" ต้องวัดที่การนำไปปฏิบัติ

20 มิถุนายน 2559

หลังจากใช้นโยบายนี้แล้ว ต้องดูกันต่อไปว่าผลทีได้จริงๆ ทั้งด้านการเรียนต่อ และภาระค่าใช้จ่าย ดีขึ้นจริงหรือไม่

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

หมวดหน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะลงประชามติว่ารับหรือไม่รับเขียนเอาไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็ก ทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจน จบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

สิ่งที่ระบุไว้ ทำให้มีการตีความว่า การศึกษาภาคบังคับ คือจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกสารทิศ ว่าไม่ส่งเสริมการศึกษาให้เด็ก เพราะที่ผ่านมาให้เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เรื่องนี้ นับเป็นจุดอ่อนที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนำมาโจมตี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เคยสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะให้เรียนฟรี 15 ปี เพื่อให้ประชาชนจะได้ไม่สับสนและมีความสบายใจ แต่ในเวลาต่อมา หัวหน้า คสช.ก็ใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ 28/2559 เรื่องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ระดับก่อนประถมการศึกษา (อนุบาล) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) หรือเทียบเท่า รวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์

ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิบายว่า คำสั่ง เรื่องจัดการศึกษาดังกล่าว เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขยับดูแลเด็กเรื่องเรียนฟรีถึงชั้นอนุบาล แต่คำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องนี้ เป็นการลัดขั้นตอนเงื่อนไขเรื่องเวลาลง ให้เริ่มใช้มาตรการเรียนฟรีตามที่รัฐบาลคิดไว้ ซึ่งหากรอรัฐธรรมนูผ่านประชามติ ก็ต้องรออีกหลายเรื่อง เช่นต้องรอกฎหมายลูก กฎหมายประกอบ รอแผนการศึกษาแห่งชาติ กว่าจะนำรัฐธรรมนูญใหม่ไปดูแลเด็กได้อาจจะต้องรออีกนับ 10 ปี แต่คำสั่งนี้ ไม่ต้องรอจนกว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และหลังจากนี้ กฎหมายเรื่องไหนหรือระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่ยังไม่สอดคล้องกับคำสั่งนี้ ศธ.ก็ต้องไปดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วประเด็นการศึกษาจะมี 4 เรื่องที่ต้องทำไปด้วยกัน คือ เรื่องของ โอกาสการเข้าถึง( Access)ความเสมอภาคเท่าเทียม(Equity)คุณภาพ (Quality)และประสิทธิภาพในการจัดการ(Efficiency) และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา น่าจะเป็นประเด็นหลักของกฎหมายนี้  ซึ่งต้องการให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนสูงที่สุดในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องมี ค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ  อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ใน ม.44 ข้อ(1) ค่าจัดการเรียนการสอน (2) ค่าหนังสือเรียน (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน (4) ค่าเครื่องแบบนักเรียน (5) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (6) ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามประกาศเกิดขึ้น

“ตอนนี้เรียนฟรีถึง ม.3 เราก็เจอปัญหานี้อยู่แล้ว  การเพิ่มเวลาเรียนฟรีเป็น 15 ปี โดยที่ปัญหานี้ยังคงอยู่  จึงอาจจะไม่ช่วยประเด็นด้านโอกาสทางการศึกษาเท่าที่ควร  แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ต้องฝากคือ  หลังจากใช้นโยบายนี้แล้ว  ต้องดูกันต่อไปว่าผลทีได้จริงๆ ทั้งด้านการเรียนต่อ และภาระค่าใช้จ่าย  ดีขึ้นจริงหรือไม่  ที่ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นค่าใช้จ่าย เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ได้ง่าย แม้มีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายแม้เพียงไม่กี่บาท คือ คนที่มีรายได้น้อย และตามประกาศแล้ว โจทย์แรกเรื่องการเข้าถึงการศึกษา  รัฐบาลได้ตอบมาดีระดับหนึ่ง แต่โจทย์ต่อมาซึ่งยากกว่า คือ  ทำอย่างไรให้เด็กใช้โอกาสที่เพิ่มขึ้น  และทำยังไงให้เด็กที่เรียนอยู่ในระบบจนจบออกไปมีคุณภาพ  และมีทักษะตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ" คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์กล่าว

สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยปกติแล้ว นานาชาติ จะอุดหนุนการศึกษาให้ประชาชนแค่เพียง 9 ปี การประกาศอุดหนุน 15 ปี ย่อมเป็นผลบวกกับรัฐบาล แต่เชื่อว่าคนทั่วไปอยากเห็นนโยบายนี้อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าเป็นแค่ประกาศ

"สิ่งที่ต้องดูในนโยบายนี้ คือเรื่องการนำไปปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ ว่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ และที่ต้องไม่ลืม คือ เรียนฟรี ยังเป็นเรื่องของการอุดหนุนตามความจำเป็น เป็นการช่วยขั้นต่ำที่ไม่ได้หมายถึงฟรีทุกอย่าง บางรายการอาจจะมีค่าใช้จายเพิ่ม ซึ่งแต่ละบางโรงเรียนอาจจะหาช่องทางเก็บเงินจากผู้ปกครองเพิ่ม อย่างไรก็ตามคำสั่งนี้น่าจะช่วยกลุ่มคนที่ขาดแคลนได้ถ้านำไปปฏิบัติอย่างรัดกุม"อาจารย์จุฬาฯกล่าว